Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีออกจากสารบบ กรณีสื่อมวลและประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องขอให้สั่งเพิกถอนข้อกำหนด ตัดเน็ต ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงโควิดระบาดของรัฐบาลประยุทธ์ ปี 64 เหตุได้มีคำขอให้จำเลยหรือ พล.อ.ประยุทธ์ บังคับกระทำการใดๆ หรือไม่กระทำการอื่นใดอีก และข้อกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกให้สิ้นผลบังคับไปแล้ว นอกจากนี้ศาลยังยกอุทธรณ์ของจำเลยด้วยเหตุไม่โต้แย้งเหตุผลคำขอคุ้มครอง

16 ม.ค.2567 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า วันนี้ (16 ม.ค.67) เวลา 9.00 น. ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาในคดีสื่อมวลชนและประชาชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 ก.ค. 2564 ซึ่งมีเนื้อหาห้ามนำเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” และมีอำนาจให้รัฐบาลสามารถสั่งให้ กสทช. ระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้บริการได้ 

คดีนี้ภายหลังการฟ้องและศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของโจทก์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกข้อกำหนดฯ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 และศาลแพ่งมีคำพิพากษาจำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจากข้อกำหนดที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนั้นสิ้นผลไปแล้ว แต่ทั้งฝั่งโจทก์และจำเลยต่างไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว จึงมีการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ โดยในวันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า การอ่านคำพิพากษามีขึ้นที่ห้องพิจารณาคดี 606 ศาลแพ่ง รัชดา ในเวลา 09.00 น. โดยทนายความโจทก์ ตัวแทนโจทก์ และผู้รับมอบฉันทะจำเลยเดินทางมาถึงก่อนแล้ว ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นไปตามปกติของศาล ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือตำรวจศาลมาเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ภายในห้องพิจารณาคดีมีนัดพิจารณาคดีอื่นร่วมด้วย จนกระทั่งเวลาราว 09.25 น. ผู้พิพากษาจึงเข้าห้องพิจารณาคดีและเริ่มอ่านคำพิพากษา

สำหรับคดีนี้สื่อมวลชนและประชาชนที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องประกอบด้วย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ 

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังรายงานรายละเอียดเพิ่มเติมในการอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ แยกประเด็นอุทธรณ์ได้ดังนี้

  • (1) ฝั่งโจทก์อุทธรณ์ว่า ถึงแม้จำเลยจะมีคำสั่งยกเลิกข้อกำหนดฯ แล้ว แต่ข้อกำหนดฯ ดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในระหว่างช่วงที่มีการประกาศจนถึงวันที่ยกเลิก การยกเลิกจึงไม่เท่ากับการเพิกถอนข้อกำหนดฯ ที่ทำให้ผลของข้อกำหนดฯ ระงับสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการออกข้อกำหนดฯ ดังกล่าวยังเป็นการออกบทบัญญัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่มีฐานทางกฎหมาย จำกัดสิทธิเสรีภาพของโจทก์และประชาชนเกินสมควร ไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ดังนั้นแล้ว ศาลจึงต้องพิพากษากลับให้มีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดฯดังกล่าว จึงจะเป็นธรรมต่อโจทก์
  • (2) ฝั่งจำเลยอุทธรณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลในชั้นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา เพราะทั้งนี้แม้จำเลยจะยกเลิกข้อกำหนดฯ ไปแล้ว แต่เนื้อหาบางส่วนของคำสั่งศาลมีผลเป็นการวินิจฉัยในเนื้อหาอันเป็นประเด็นแห่งคดีในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลย โดยที่จำเลยยังไม่มีโอกาสได้ยื่นคำให้การและนำพยานเข้าสืบสู้คดี อันเป็นการวินิจฉัยโดยฟังพยานโจทก์ฝ่ายเดียว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการนำเนื้อหาในส่วนดังกล่าวของคำสั่งศาลไปใช้อ้างอิง จึงขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำวินิจฉัยในคำสั่งดังกล่าว

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สรุปใจความคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างย่อไว้ด้วยว่า

อุทธรณ์ของโจทก์ในคดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้ง 12 ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 ส.ค. 2564 โดยมิได้มีคำขอให้จำเลยบังคับกระทำการใดๆ หรือไม่กระทำการอื่นใดอีก ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ข้อกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวตามฟ้องได้ถูกยกเลิกให้สิ้นผลบังคับไปแล้ว การที่ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้ต่อไปย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อคำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ทั้ง 12 ในคดีนี้ ศาลจึงชอบที่จะใช้ดุลยพินิจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเสียได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 12 ประการอื่นไม่เป็นสาระแก่การวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นด้วย พิพากษายืน

ด้านอุทธรณ์ของจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การร้องขอคุ้มครองชั่วคราวขอให้ชะลอการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ของโจทก์ทั้ง 12 นั้นเป็นส่วนหนึ่งเพื่อบังคับตามคำพิพากษาคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนที่โจทก์ทั้ง ๅ/ ได้รับ จนกว่าการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องร้องจะถูกพิพากษาคดีถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรค 1 (2) มาตรา 255 (2) (ง) ประกอบมาตรา 267 วรรค 1 ซึ่งศาลชั้นต้นเพียงเห็นเป็นที่พอใจว่าคำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่นำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอออกมาบังคับใช้ก่อนจะมีผลวินิจฉัย

ดังนั้นแล้วคำสั่งในส่วนของคำร้องขอจึงมิใช่การวินิจฉัยในเนื้อหาประเด็นแห่งคดีที่เกินขอบเขตและเป็นผลร้ายแก่จำเลย ทั้งที่จำเลยยังไม่มีโอกาสได้ยื่นคำให้การและนำพยานเข้าสืบ อันเป็นการวินิจฉัยโดยฟังพยานโจทก์ฝ่ายเดียวที่จะสร้างความเสียหายให้เกิดแก่จำเลย การที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์เป็นเรื่องที่ต้องกล่าวต่อไปในชั้นพิจารณา อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ยกคำร้องของโจทก์ทั้ง 12 ว่ามาตรการที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวมมาใช้ หรือเหตุอันสมควรประการอื่นๆ ที่ศาลจะมีคำสั่งต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลอุทธรณ์จึงไม่สามารถแก้คำสั่งศาลชั้นต้นได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net