Skip to main content
sharethis

แม้ว่าในโลกตะวันตกจะมีความสนใจเรื่องการเรียนภาษาจีนกลางลดลงจากเดิม แต่กลายเป็นว่าตะวันออกกลางมีการจัดหลักสูตรภาคบังคับให้นักเรียนต้องเข้าชั้นเรียนเพื่อเรียนภาษาจีนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงกรณีหลักสูตรสอนภาษาจีนในโรงเรียนมัธยมซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ซึ่งอาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าพื้นที่อิทธิพลของสหรัฐฯ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่อิทธิพล 'ซอฟต์พาวเวอร์' ของจีน

ที่มาของภาพประกอบ: Wikipedia และ บุปผาราตรี 3.2

ประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศอาหรับที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง จัดให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนกลางหรือ "จีนแมนดาริน" เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนมัธยมศึกษา ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน โดยที่ชั้นเรียนจะมีการจัดหาผู้คอยอำนวยความสะดวกที่มีหน้าที่คอยช่วยเหลือหรือชี้แนะแนวทางการเรียนรู้ด้วยตัวเองแก่กลุ่มนักเรียน

หม่าหยงเหลียงผู้ที่เปิดสถาบันภาษาจีนในซาอุดีอาระเบีย 2 แห่งในปีนี้กล่าวว่าการที่คนพูดภาษาจีนกลางได้มากขึ้นนั้นแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์การเมือง หม่าหยงเหลียงบอกว่าจีนเป็น "ประเทศที่กำลังกลายเป็นมหาอำนาจ" ที่จะมีบทบาทสำคัญในการ "พัฒนาโลกและการสร้างระเบียบโลกใหม่" ทำให้คนต้องหันมาฝึกพูดภาษาจีนให้คล่องขึ้นถ้าหากพวกเขาต้องการ "ประสานความร่วมมือหรือปฏิสัมพันธ์กับจีน"

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเปิดสถาบันภาษาจีนวิสดอมเฮาส์ในซาอุดีอาระเบียคือความเชื่อที่ว่าการฝึกฝนจนชำนาญใน "ภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในโลก และเป็นภาษาแม่ของคน 1,300 ล้านคน" นั้นนับเป็นการ "พิชิตโลกได้"

ณ สถาบันภาษาวิสคอมเฮาส์ในกรุงริยาร์ด มีนักเรียนสมัครเรียนประมาณ 50 คน มีครูผู้สอนมาจากประเทศจีน ส่วนสถาบันภาษาวิสดอมเฮาส์อีกสาขาหนึ่งที่เมืองเจดดาห์ก็มีนักเรียนสมัครเรียนประมาณ 20 คน

การขยายการศึกษาภาษาจีนเข้าไปในโรงเรียนมัธยมฯ ของซาอุฯ เกิดขึ้นหลังจากที่ในปี 2562 เจ้าฟ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ทำข้อตกลงในเรื่องนี้ไว้ตอนไปเยือนจีน ว่าจะให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับชั้น รวมถึงในมหาวิทยาลัยด้วย

ข้อตกลงดังกล่าวกลายสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของจีนในการผลักดันวัฒนธรรมตัวเองสู่โลก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถดถอยลงหลังจากที่จีนถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกด้านทั้งจากด้านเทคโนโลยีละด้านอุดมการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากความบาดหมางกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีกรณีการสั่งปิดสถาบันขงจื๊อมากกว่า 100 แห่ง ในมหาวิทยาลัยที่ สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และทวีปยุโรป โดยที่สถาบันขงจื๊อนับเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมจีน มีการสั่งปิดสถาบันเหล่านี้โดยข้ออ้างเรื่องความกังวลต่อการแผ่อิทธิพลของจีน นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของจีนที่แย่ลงจากเรื่องนโยบายต่อซินเจียง, ฮ่องกง และประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ ก็มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยตะวันตกหลายแห่งลดจำนวนสถาบันขงจื๊อลงในพื้นที่มหาวิทยาลัยตัวเอง

แต่ทว่า ดูเหมือนจีนจะได้พื้นที่ใหม่ในการแผ่ขยายอิทธิพลด้วย "อำนาจอ่อน" หรือ "ซอฟท์พาวเวอร์" ของพวกเขา นั่นคือภูมิภาตตะวันออกกลาง


"อำนาจอ่อน" ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีนในตะวันออกกลาง

เจฟฟรีย์ กิล อาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สแห่งแอดิเลด ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการที่ภาษาจีนแพร่หลายไปทั่วโลก กล่าวว่า ความสนใจเรียนภาษาต่างชาติภาษาใดภาษาหนึ่งมักจะเป็นไปตามกระแสของภูมิศาสตร์การเมืองในตอนนั้นด้วย

กิล บอกว่าการที่ในตะวันตกมีความสนใจต่อภาษาจีนน้อยลงเป็นเพราะอิทธิพลของเรื่องที่ความสัมพันธ์จีนกับชาติตะวันตกแย่ลงผ่านความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้คนรู้สึกอยากเรียนภาษาจีนน้อยลงไปด้วย ในขณะที่ประเทศภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับจีนดีกว่าและมีความต้องการเรียนรู้ภาษาจีนมากกว่า รัฐบาลจีนก็จะพยายามส่งเสริมการเรียนและสอนภาษาจีนในสถานที่เหล่านั้น จนทำให้ภาษาจีนยังคงเป็นภาษาที่มีพลังและมีคนต้องการเรียนเพิ่มขึ้นในพื้นที่เหล่านี้

ฟานหงต้า ศาสตราจารย์สถาบันตะวันออกกลางศึกษาจากมหาวิทยาลัยนานาชาติเซียงไฮ้ กล่าวว่า การที่มีคนสนใจเรียนจีนกลางมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการที่จีนในภูมิภาคตะวันออกกลางมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีมาก จากเดินที่ตะวันออกกลางเคยเป็นพื้นที่อิทธิพลของสหรัฐฯ และไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเรียนรู้ภาษาต่างชาติเป็นกุญแจสำคัญสำหรับใช้เป็นอำนาจอ่อนในการสร้างชุดคำอธิบายและภาพลักษณ์ทางบวกให้กับประเทศ

ฟานหงต้า บอกอีกว่าการที่รัฐบาลซาอุฯ, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนมากขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธืระหว่างจีนกับตะวันออกกลางนั้นเป็นไปในทางบวกต่อกันมากขึ้น

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีประชากรอยู่ 8.3 ล้านคนและเป็นแหล่งน้ำมันสำรองที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 7 ของโลก พวกเขาเป็นประเทศแรกในประเทศแถบอ่าวอาหรับที่มีการระบุให้ภาษาจีนกลางอยู่ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของประเทศ สถานทูตจีนในกรุงอาบู ดาบี  UAE ระบุว่าจีนข่วยให้ UAE ริเริ่มโครงการภาษาจีนในโรงเรียน 100 แห่ง เมื่อปี 2562 และมีการขยายไปสู่โรงเรียนรัฐ 158 แห่ง

ปะเทศอียิปต์ก็เคยลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับจีนเมื่อปี 2563 ในเรื่องที่จะบรรจุภาษาจีนกลางลงในหลักสูตรการศึกษาเป็นวิชาเลือกสำหรับภาษาที่สองในโรงเรียนประถมและมัธยมฯ

ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี ของอิหร่านได้เสนอร่างกฎหมายให้มีการบรรจุภาษาจีนกลางไว้เป็นหนึ่งในภาษาต่างชาติที่สามารถสอนในโรงเรียนมัธยมฯ ได้ทั่วประเทศ หลังจากที่ไรซีได้เดินทางไปเยือนจีนเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

เห็นได้ชัดว่า จีนส่งอิทธิพลต่อตะวันออกกลางอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเมื่อตอนเดือน ธ.ค. 2565 ที่สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางไปเยือนการประชุมซัมมิทระดับภูมิภาคกับเหล่าผู้นำจากกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับที่ร่ำรวยแหล่งน้ำมัน ในอีก 3 เดือนถัดจากนั้นทางการจีนก็ทำให้โลกประหลาดใจด้วยการเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างซาอุฯ และอิหร่าน เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เคยมีความขัดแย้งต่อกันกลับมาคืนดีกัน ไม่ว่าจะเป็น อิหร่านกับโมรอคโคและอียิปต์, UAE กับกาตาร์ รวมถึง ตุรกีกับอียิปต์

กิลระบุว่า เมื่อจีนเล็งเห็นว่ายังคงไม่มีสัญญาณความตึงเครียดใดๆ เกิดขึ้นกับตะวันตกในช่วงนี้ จีนก็มีแนวโน้มที่จะเพ่งเป้าหมายไปที่ทวีปแอฟริกา, ภูมิภาคตะวันออกกลาง และ ลาตินอเมริกา ให้เป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะแผ่ขยาย "อำนาจอ่อน" ผ่านทางการเรียนภาษาจีน

แต่ก็ต้องเป็นเรื่องที่ยังคงต้องดูกันต่อไปว่าภาษาจีนจะฝังรากในตะวันออกกลางได้หรือไม่


แต่การเรียนภาษาจีนในตะวันออกกลาง ก็ยังมีอุปสรรค

ซาอุฯ เป็นประเทศที่มีประชากร 37 ล้านคน และมีคลังน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ซาอุฯ เป็นประเทศพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาเป็นเวลายาวนาน และในตอนนี้ก็กำลังพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนในเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องการค้าน้ำมัน คือรวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยี, โครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งเรื่องอาวุธด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้ เป็นแผนการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของเจ้าฟ้าชาย บิน ซัลมาน

Ma เปิดเผยว่าในซาอุฯ เพิ่งจะมีการเปิดตัวสถาบันขงจื๊อแห่งใหม่เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ซาอุฯ ยังได้รับเชิญร่วมกับอิหร่านและ UAW ให้ไปเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจ BRICS ที่มีบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ เป็นสมาชิกด้วย กลายเป็นการแผ่ขยายกลุ่ม BRICS ให้ใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ ยังมีนักวิเคราะห์บอกว่า การที่ประเทศตะวันออกกลางเหล่านี้จัดให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศของพวกเขา ยังนับเป็น "การแสดงออกแบบต่างตอบแทน" ให้กับอำนาจอ่อนของจีน จากที่ตะวันออกกลางต้องการกระขับสัมพันธ์กับจีนผ่านทางโครงการริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

อย่างไรก็ตามการพยายามจะจัดให้มีการเรียนการสอนในประเทศโลกอาหรับก็ยังคงมีปัญหาต่างๆ เช่นการที่นักเรียนอาหรับมองว่าภาษาจีนกลางไม่ได้น่าดึงดูดให้เรียนมากเท่าภาษาจากยุโรป เนื่องจาก "มุมมองเรื่องประวัติศาสตร์" และการขาดแคลนครูผู้สอนที่เป็นชาวจีน

นอกจากนี้แล้วถึงแม้ว่าจีนจะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ในวงการธุรกิจก็ยังไม่ได้มีการใช้ภาษาจีนกันอย่างแพร่หลาย ถึงแม้ว่าจะมีธุรกิจบางแห่งใน UAE ที่มีฐานปฏิบัติการในจีนจะส่งพนักงานของตัวเองไปยังสถาบันขงจื๊อเพื่อเรียนภาษาจีน แต่ โมฮัมหมัด อับดุล รอห์มัน มาฮารูน อธิบดีแห่งศูนย์วิจัยสาธารณะดูไบก็บอกว่า จำนวนคนที่ถูกส่งไปเรียนก็ยังมีไม่มากนักเพราะชาวอาหรับกับชาวจีนยังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสนทนาตั้งแต่ก่อนหน้านี้มาจนถึงปัจจุบัน

โดยที่ใน UAE ที่เป็นหนึ่งในแหล่งธุรกิจและศูนย์กลางการขนส่งรายใหญ่ในตะวันออกกลาง มีบริษัทที่ชาวจีนเป็นเจ้าของอยู่มากกว่า 6,000 บริษัท บาฮารูนบอกว่าถึงแม้ว่าการที่กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับจะมีการเปิดการค้ากับจีนและมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนมากขึ้นทำให้เกิดความต้องการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับจีน แต่ภาษาจีนกลางก็ยังไม่ใช่ภาษาที่ใช้กันแพร่หลายเมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ ที่ชาวต่างชาติใช้กันใน UAE อย่างภาษาฮินดี หรือ ภาษาอูรดู ซึ่งใข้กันในอินเดียและปากีสถานมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องที่ประเทศตะวันออกกลางขาดครูที่เป็นเจ้าของภาษาจีนจริงๆ และปัญหาจากประสิทธิด้านการศึกษาของประเทศอาหรับเอง

อาห์เหม็ด อะบูดูห์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของ องค์กรคลังสมองอังกฤษ แชททัมเฮาส์ กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศอย่างซาอุฯ และ UAE จะมีนโยบายสนับสนุนภาษาจีน แต่ก็มีปัญหาความไร้ประสิทธิภาพในระบบการศึกษาของพวกเขาเอง จนทำให้ไม่สามารถสร้างคนที่มีทักษะด้านภาษาต่างประเทศได้มากพอ เช่นในซาอุฯ มีการเรียนการสอนภาษาจีนแบบปีเดียว โดยเน้นการเรียนแบบท่องจำ

อะบูดูห์ ยังชี้ให้เห็นว่า เจตจำนงทางการเมืองของในการส่งเสริมภาษาจีนในกลุุ่มประเทศตะวันออกกลางไม่ไปด้วยกันกับเรื่องการให้งบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาขาดครูเจ้าของภาษาจากจีน เพราะมันแพงมากที่จะจัดหาครูผู้สอนจากจีนมาที่ประเทศอาหรับเมื่อเทียบกับการฝึกอบรมครูจากประเทศอาหรับเหล่านั้นเอง

การที่ครูน้อย ทำให้ครูที่มีอยู่ทำงานหนักขึ้นด้วย หลายคนต้องทำงานสอนในชั้นเรียน 26-28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีครูบางคนบอกว่าพวกเขาไปสอนภาษาจีนที่ UAE ผ่านโครงการที่สนับสนุนโดยสถาบันขงจื๊อ และครูที่จะไปสอนได้ก็ต้องผ่านเงื่อนไขสูงมาก นอกจากการต้องจบปริญญาโทขึ้นไปแล้ว ยังต้องมีประสบการณ์สอนภาษาจีนในต่างประเทศอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งจะได้แต้มต่อถ้าหากเคยทำการสอนในประเทศตะวันตกมาก่อน อีกทั้งยังต้องมีใบรับรองการสอบวัดระดับภาษาจีนกลางและภาษาอังกฤษด้วย

อย่างไรก็ตามในประเทศจีนมีโรงเรียนรัฐอยู่หลายแห่งที่บรรจุการเรียนการสอนภาษาอาหรับไว้ในหลักสูตรวิชาบังคับ และในตอนนี้ก็มีการเรียนการสอนภาษาอาหรับในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษารวม 37 แห่งในจีน ซึ่ง บาฮารูน มองว่าในจีนอาจจะมีคนพูดอาหรับได้มากกว่าจะมีชาวอาหรับที่พูดภาษาจีนได้เสียอีก เพราะในจีนมีชาวจีนเชื้อสายมุสลิมอยู่จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ชาวจีนยังมีการลงทุนด้านประโยชน์กับประเทศอาหรับทำให้เป็นแรงจูงใจในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมอาหรับมากขึ้นจนมีคนจีนสนใจเรียนรู้ภาษาอาหรับมากขึ้นด้วย

อะบูดูห์กล่าวว่า ชาวจีนหลายคนมองว่าการเรียนภาษาอาหรับเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูดสำหรับการเรียนภาษาต่างประเทศเพราะว่าภาษาอาหรับจะ "เป็นประโยชน์มากถ้าหากคุณปฏิสัมพันธ์ทางการเงิน, การค้าขาย, การลงทุนในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งกับความสนใจที่จะกระจายทางเลือกของตัวเอง"

เรียบเรียงจาก

Mandarin learning boom as China extends its soft power in Middle East, South China Morning Post, 15-09-2023

Middle East’s Mandarin push sets the tone for ‘convergence’ with China on trade, South China Morning Post, 22-09-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net