Skip to main content
sharethis

Summary

  • บริษัท Pou Chen ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าระดับโลกสัญชาติไต้หวัน ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลต่อการเพิ่มผลกำไรของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  • การย้ายฐานการผลิตของ Pou Chen ส่งผลให้เกิดการประท้วงหยุดงานของเหล่าพนักงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ตัวอย่างเช่น พนักงานในประเทศเวียดนาม อย่างต่อเนื่องและรุนแรงเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น 
  • แม้ว่าบริษัทอย่าง Pou Chen จะมีสิทธิ์ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นก็ตาม แต่ China Labour Bulletin ชี้ว่าโรงงานต่าง ๆ ควรมีกลไกการสื่อสารเพื่อรับฟังเสียงของพนักงานและปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น
  • เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานได้ดียิ่งขึ้น China Labour Bulletin แนะนำว่าสหภาพแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา ควรได้รับการสนับสนุนด้านการต่อรองร่วม (collective bargaining) เพื่อให้สามารถเจรจากับแบรนด์ดังระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีโรงงาน Baoyi ในหยางโจวซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Pou Chen ผู้ผลิตรองเท้าสัญชาติไต้หวัน ตั้งอยู่ในมณฑลเจียงซูของจีน ปิดตัวลงในเดือน ธ.ค. 2023 ซึ่งสื่อที่ติดตามประเด็นแรงงานในประเทศจีนอย่าง China Labour Bulletin (CLB) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่การรวมตัวของเหล่าพนักงาน รวมถึงการตรวจสอบการรับมือของรัฐบาลท้องถิ่นและสหภาพแรงงาน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สำหรับรายงานชิ้นนี้ของ CLB วิเคราะห์ผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของ Pou Chen ออกจากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนำไปสู่การประท้วงหยุดงานในโรงงานของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดังกล่าว 

กลยุทธ์การลดต้นทุนของ Pou Chen ย้ายฐานการผลิตจากจีนสู่เวียดนามและอินโดนีเซีย

Pou Chen ก่อตั้งขึ้นในปี 1969 เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน ที่เน้นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รองเท้า บริษัทอ้างว่าเป็นบริษัทผลิตรองเท้ารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นผู้ผลิตให้กับแบรนด์ระดับสากลมากมาย อาทิ Nike, Adidas, Asics, New Balance, Timberland และ Salomon เคยมีนิตยสารฉบับหนึ่งไว้ว่า "1 ใน 5 ของรองเท้าที่ผลิตทั่วโลกนั้นมาจาก Pou Chen"

เริ่มแรก Pou Chen ได้เปิดโรงงานในจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี 1988 แตกต่างจากบริษัทไต้หวันบางแห่งที่มุ่งเน้นขยายฐานการผลิตไปในจีนแผ่นดินใหญ่ Pou Chen ได้วางแผนขยายการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 โดยมีการจัดตั้งโรงงานในอินโดนีเซียและเวียดนามในช่วงต้นปี 1992 และ 1994 ตามลำดับ

เริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Pou Chen ได้มีการปรับเปลี่ยนการกระจายตัวของโรงงานเพิ่มมากขึ้น จุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ คือ วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 การหดตัวของตลาดรองเท้าทั่วโลกในปี 2009 ประกอบกับระดับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และกฎหมายสัญญาจ้างแรงงานที่เพิ่งมีการบังคับใช้ในประเทศจีน กระตุ้นให้กลุ่มบริษัทไต้หวันต้องปรับการลงทุนในโรงงานของตนเองท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ รายงานที่เผยแพร่โดย IBTS Investment Consulting Group ในปี 2010 ประมาณการว่าสายการผลิตของบริษัทในเวียดนามและอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น 8.1% และ 8.5% ตามลำดับ ในขณะที่การเติบโตในโรงงานผลิตที่จีนมีเพียง 5.5% เท่านั้น

หลังปี 2011 รัฐบาลจีนได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมอย่างเข้มงวดมากขึ้น กฎหมายเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่การขยายการเข้าถึงประกันสังคมให้กับพนักงานข้ามชาติและแรงงานอพยพ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ส่งผลให้ผลกำไรของ Pou Chen ลดลงอย่างชัดเจน รายงานประจำปีของ Pou Chen ระบุว่ารายได้จากการดำเนินงานลดลงมากกว่า 20% ในปี 2014 อัตรากำไรสุทธิก็ลดลงจากปี 2013 เนื่องจากจีนมีการจัดเก็บเงินสมทบประกันสังคมรวมถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

Yue Yuen ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Pou Chen บริหารโรงงานผลิตรองเท้าขนาดใหญ่ในตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ในเดือน เม.ย. 2014 คนงานกว่า 40,000 คน ได้หยุดงานประท้วงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญไม่ครบถ้วน รวมถึงความกังวลที่ว่าโรงงานในตงกวนจะถูกปิดตัวลง ในขั้นต้น เวียดนามได้กลายเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมในการย้ายฐานการผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยส่วนแบ่งการผลิตรองเท้าของเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2015 ในขณะที่ส่วนแบ่งของจีนลดลงเหลือเพียง 25%

ในปี 2020 การระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ได้ทำให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง Pou Chen ประสบกับภาวะขาดทุนทางการเงินอย่างหนักถึง 2 พันล้านดอลลาร์ไต้หวันในปีนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ตามมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหมายความว่าบริษัทไม่สามารถกู้คืนรายได้และผลกำไรจากการดำเนินงานให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้

การลดลงของรายได้ ประกอบกับนโยบายการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของจีน และความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผลักดันให้ Pou Chen เร่งเพิ่มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน จากรายงานประจำปีของ Pou Chen ในปี 2015 ประมาณ 25% ของการผลิตของ Pou Chen อยู่ในประเทศจีน แต่ในปี 2019 ตัวเลขดังกล่าวลดเหลือเพียง 13% และ ณ ปี 2022 ได้ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น ในขณะเดียวกัน กำลังการผลิตในอินโดนีเซียได้เพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 46% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนอีกประมาณ 40% ที่เหลือจะอยู่ที่เวียดนาม

การประท้วงเรียกร้องเพิ่มค่าแรงของแรงงานเวียดนาม 

ขณะที่ Pou Chen ย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้น การประท้วงและการหยุดงานของเหล่าแรงงานก็เริ่มเกิดขึ้นในโรงงานต่าง ๆ หลังปี 2010 มีการบันทึกเหตุการณ์การประท้วงอย่างน้อย 7 ครั้งในโรงงานของ Pou Chen ที่เวียดนาม (ดูตารางด้านล่าง) การประท้วงเหล่านี้มีขนาดใหญ่และเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ทำให้ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งนโยบายบางอย่างของฝ่ายบริหารโรงงาน และนำไปสู่การที่ Pou Chen ตัดสินใจจำกัดการขยายกิจการในประเทศ

การหยุดงานประท้วงส่วนใหญ่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การเรียกร้องค่าจ้างที่ดีขึ้น ในเดือน มิ.ย. 2011 คนงานมากกว่า 93,000 คน ใน 2 โรงงานของ Pou Chen ได้หยุดงานประท้วง ซึ่งถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนามจนถึงปัจจุบัน เหล่าคนงานไม่พอใจกับค่าจ้างที่ต่ำ ค่าล่วงเวลา โบนัส และอาหารโรงอาหารที่คุณภาพต่ำ พวกเขาเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้างรายเดือน 500,000 ดอง (ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่การเจรจาล้มเหลวหลังจากที่บริษัทตกลงเพิ่มให้เพียง 200,000 ดอง (ประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ในปี 2016 ได้เกิดการหยุดงานประท้วงเกี่ยวกับค่าจ้างอีกครั้ง พนักงานจำนวน 17,000 คน จากทั้งหมด 21,600 คน ของ Pou Chen ในเบียนหัว ได้หยุดงานเป็นเวลา 3 วันในเดือน ก.พ. 2016 คนทำงานต่อต้านการจัดรูปแบบใหม่ที่ใช้เวลาทำงานในการคำนวณโบนัส ซึ่งคนทำงานเชื่อว่าจะนำไปสู่การลดเงินเดือนอย่างไม่เป็นธรรม ในที่สุด Pou Chen ก็ยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของคนทำงานและยกเลิกนโยบายดังกล่าว รวมถึงยินยอมจ่ายค่าจ้างให้กับคนทำงานสำหรับช่วง 3 วันที่หยุดงานประท้วงด้วย เหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ถูกบันทึกไว้ในเดือน มี.ค. 2018 เมื่อฝ่ายบริหารเปิดตัวนโยบายค่าจ้างใหม่ การประท้วงที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานหลายพันคนซึ่งปิดกั้นทางหลวงระหว่างนครโฮจิมินห์และดงไน บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องถอนนโยบายดังกล่าวออก

เหล่าคนทำงานผู้แข็งกร้าวที่โรงงานของ Pou Chen ในเมืองเบียนหัว ได้หยุดงานประท้วงอีกครั้งในปี 2022 หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก คนทำงานระบุว่าบริษัทลดโบนัสสิ้นปีของพวกเขาลง เหลือเพียง 1-1.5 เดือน จาก 1.9-2.2 เดือนในปีก่อน ๆ

คล้ายกับจีน สหภาพแรงงานในเวียดนามถูกควบคุมโดยรัฐ และสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมายเพียงแห่งเดียวคือสมาพันธ์แรงงานเวียดนาม (VGCL) ซึ่งครอบงำโดยรัฐบาล แม้จะมีการทดลองต่าง ๆ ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาต่อรองร่วม มีการจัดการกรณีพิพาทแรงงานได้ดีขึ้น และอนุญาตให้คนทำงานจัดตั้งองค์กรตัวแทนแรงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงาน VGCL ในองค์กรต่าง ๆ

อาจเป็นเพราะความขัดแย้งด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม ทำให้ Pou Chen ยินดีที่จะร่วมมือกับสหภาพแรงงานมากขึ้น บริษัทประกาศว่าพวกเขาได้บรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานก่อนที่จะประกาศลดโบนัสสิ้นปีในทั้งปี 2022 และ 2023 อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ช่วยแก้ไขความไม่พอใจของคนทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากคนทำงานยังคงหยุดงานประท้วงในปี 2022

อย่างไรก็ตาม Pou Chen ก็ไม่ได้ยอมรับสหภาพแรงงานตลอดเวลา ในเมียนมา Pou Chen ปราบปรามสหภาพแรงงานด้วยการไล่พนักงานเกือบ 30 คน ออกหลังจากการประท้วงในปี 2022 ที่เรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้าง

ความจำเป็นในการเสริมสร้างการต่อรองร่วมในประเทศกำลังพัฒนา

การที่บริษัท Pou Chen ย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ประโยชน์จากคนทำงานที่มีอยู่จำนวนมากและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนทำงานเวียดนาม ส่งผลให้สหภาพแรงงานของอินโดนีเซียรู้สึกกดดันมากขึ้นในการรวมตัวปกป้องสิทธิของเหล่าพนักงาน

จากประสบการณ์ของคนทำงานจีนและเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าบริษัทลูกของ Pou Chen ดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลกำไร ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก การปรับนโยบายค่าจ้าง และการลดโบนัส

ความสำเร็จเบื้องต้นของแรงงานเวียดนาม ยังชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้กับการลดต้นทุนของนายจ้าง ไม่เพียงแค่เป็นการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่อาศัยพลังอำนาจการรวมตัวของคนทำงาน  หากเสียงของคนทำงานไม่แข็งแกร่งพอที่จะต่อรองกับบริษัท บริษัทก็จะดำเนินการตัดสินใจเหล่านั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในระหว่างการเยือนอินโดนีเซียเมื่อปี 2023 องค์กร CLB ได้เข้าพบกับ สหภาพแรงงานแห่งชาติอินโดนีเซีย (SPN) และรับทราบเกี่ยวกับข้อตกลงร่วม (Collective Agreement) ระหว่าง Pou Chen และสหภาพแรงงาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่เห็นสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการต่อรองร่วมกับบริษัท แต่ตัวแทนของ SPN ก็ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายที่สำคัญ คือ แบรนด์ระดับโลกไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมกระบวนการต่อรองและเปิดเผยรายละเอียดของคำสั่งซื้อจากโรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขึ้นค่าจ้างให้แก่คนทำงาน

เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานในภูมิภาคเหล่านี้ สหภาพแรงงานและองค์กร NGO ในประเทศพัฒนาแล้ว ควรสนับสนุนความพยายามในการต่อรองร่วมในประเทศกำลังพัฒนา อย่างแข็งขัน สหภาพแรงงานภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน ควรร่วมมือกันกดดันให้แบรนด์ระดับโลกเข้าร่วมในการเจรจาค่าจ้างและหารือเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานระหว่างการต่อรองร่วม ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปกป้องสิทธิแรงงานทั่วโลก


ที่มา:
Shift of strikes to Pou Chen's factories in southeast Asia underscores need for support in unions' collective bargaining (China Labour Bulletin, 27 March 2024)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net