Skip to main content
sharethis
  • การจัดการควบคุมดูแลการชุมนุมสาธารณะขึ้นอยู่ระดับความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศเพราะส่งผลต่อการออกมาตรการที่จะรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
  • แต่ประเทศกึ่งประชาธิปไตยกึ่งอำนาจนิยมอย่างไทยมาตรการที่ออกมามักเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจมากแต่ถูกตรวจสอบน้อย และตำรวจก็สามารถเลือกบทว่าจะเป็นตำรวจในระบอบประชาธิปไตยหรือตำรวจในระบอบอำนาจนิยมก็ได้โดยเลือกใช้มาตรการขึ้นกับเนื้อหาของการชุมนุม
  • การตรวจสอบของไทยมักจะดูแค่ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ตรวจสอบว่ามาตรการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ใช้นั้นได้สัดส่วนกับสถานการณ์การชุมนุมหรือไม่ และไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
  • ทางออกนอกจากจะต้องแก้กฎหมายแล้ว ไทยควรจะต้องถูกตรวจสอบจากกลไกขององค์กรระหว่างประเทศว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่

ประชาไทชวน พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยทบทวนถึงการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาเพื่อสำรวจแนวคิดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการจัดการกับการชุมนุมสาธารณะช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่าเหมือนหรือต่างอย่างไรกับมาตรฐานสากล ปัจจัยอะไรที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กำลังในการปราบปราบการชุมนุมโดยที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ 


พัชร์ นิยมศิลป

พัชร์เล่าว่าเหตุที่ทำให้เขามาสนใจในประเด็นกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่เริ่มมาจากความหงุดหงิดใจเมื่อต้องเจอการวนลูปของสถานการณ์การเมืองไทยร่วมสมัยที่มักเกิดการชุมนุมสาธารณะ ความรุนแรง แล้วก็รัฐประหาร แล้วก็มาชุมนุมใหม่ ก็เกิดคำถามว่าจะออกจากลูปนี้อย่างไร ทำให้ในปี 2558 เขาเลือกไปเรียนกฎหมายต่อที่อังกฤษและได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายชุมนุมกับความเป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศที่ยังเป็นประชาธิปไตยแบบลูกผสมกับระบอบอำนาจนิยม (Hybrid Democracy)

แต่ในปีเดียวกันกับที่พัชร์ไปเรียนกฎหมายชุมนุมสาธารณะของไทยฉบับแรกก็ถูกประกาศใช้พอดีในช่วงรัฐบาลทหาร แม้ว่าเรื่องกฎหมายการชุมนุมสาธารณะจะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรจะต้องมีแล้วก็มีการคุยเรื่องนี้มานานมากกว่า 10 ปีก่อนที่พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จะถูกประกาศใช้ และเขาเองก็เคยเป็นคณะกรรมการร่างกฎหมายชุมนุมสาธารณะของ ปปช. มาก่อน แต่สุดท้ายร่างที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ก็เป็นฉบับที่ร่างขึ้นมาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แม้ว่ากฎหมายจะออกมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างจริงจังจนกระทั่ง 2560 ถึงเริ่มมีการยกเลิกประกาศและคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่มีเรื่องห้ามการชุมนุมทางการเมืองอยู่ไป แต่พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะก็ใช้กันอยู่ได้ไม่นานเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมการชุมนุมแทนอีก พัชร์มองว่าสถานการณ์แบบนี้ทำให้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ถูกใช้จนได้เห็นว่าเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เพราะระยะเวลาที่มีการใช้กฎหมายฉบับนี้ยังถือว่าน้อย และยังมีคดีที่มีการใช้กฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียวก็ยังน้อยอีกทั้งยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่จะมาวางแนวการใช้กฎหมายด้วย

แต่ที่เขาสนใจศึกษาเรื่องกฎหมายชุมนุมในกลุ่มประเทศที่เป็นกึ่งประชาธิปไตย เพราะในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความเป็นประชาธิปไตยบางอย่างอยู่ แล้วพ่วงกับกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยมจึงศึกษากรณีของรัสเซียที่มีการใช้กฎหมายชุมุนมสาธารณะและรูปแบบการปฏิบัติของตำรวจกับผู้ชุมนุมเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล แล้วก็ใช้เรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้คือ ไทย กัมพูชา และมาเลเซีย ก็พบว่าประเทศในกลุ่มนี้มีอาการเดียวกัน

เสรีภาพการชุมนุมในระบอบประชาธิปไตย

“เราแสดงตัวนะว่าเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ โดยเนื้อหามันมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ ตำรวจสามารถสวิตช์ได้ระหว่างตำรวจประชาธิปไตยกับตำรวจในอำนาจนิยม ง่ายๆ ก็คือกฎหมายเปิดช่องให้สองมาตรฐานแล้วตำรวจเองก็มีบุคลิกที่สามารถเปลี่ยนไปมาระหว่างมาตรฐานทั้งสองด้วย”

พัชร์ชี้ว่ากลไกระหว่างประเทศและในกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยรับรองเฉพาะแค่การชุมนุมสาธารณะที่สงบเท่านั้นและลบการชุมนุมที่มีความรุนแรงออกไปจนหมด เขาอธิบายเรื่องนี้ว่าโดยเริ่มจากอธิบายกลไกในระบบประชาธิปไตยที่ใช้ในการตัดสินปัญหาของบ้านเมืองหรือกดดันรัฐบาลที่ตัวเองเลือกเข้าไปคือการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือมีการเลือกตั้งตามรอบเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งประชาชนต้องไปเลือกตั้งเมื่อถึงเวลารัฐบาลเก่าต้องหมดอายุ ถ้าไม่มีการเลือกตั้งตามรอบก็จะเริ่มไม่เป็นประชิปไตยเพราะอำนาจจต้องคืนสู่ประชาชนให้ประชาชนเลือกเข้าไปใหม่ สองคืออำนาจของประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองตลอดเวลา การมีส่วนร่วมนี้ก็จะมีอยู่ 3 เสรีภาพ

หนึ่ง เสรีภาพในการแสดงออก เพื่อที่ประชาชนจะได้บอกว่าต้องการอะไรมีความเห็นอย่างไรเพื่อสร้างแรงกดดันทางสังคมต่อพรรคการเมืองที่ถูกเลือกเข้าไป ประเทศควรจะเป็นอย่างไร รัฐบาลประชิปไตยไม่รับรองสิทธินี้ไม่ได้

สอง เสรีภาพในการชุมนุมเพราะเวลาคนตัวเล็กตัวน้อย มีต้นทุนทางสังคมไม่มากพูดคนเดียวเสียงไม่ดังพอ จึงต้องมารวมตัวกันเยอะๆ ยิ่งรวมตัวกันได้มากเท่าไหร่เสียงยิ่งมีพลัง

สาม เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพนี้จะทำให้การชุมนุมสาธารณะหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานพอที่จะกดดันรัฐบาลได้ ซึ่งความสำคัญของเสรีภาพนี้ก็คือหากมีเพียง 2 เสรีภาพแรกก็จะทำให้การชุมนุมประท้วงเพียงผ่านมาแล้วก็ผ่านไปทำได้แค่ชี้ว่าอะไรคือปัญหา มีอะไรที่ผิดปกติ แต่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่กลไกอื่นๆ เช่น การเคลื่อนไหวเพื่อการแก้รัฐธรรมนูญ คณะกรรมการต่างๆ ที่ภาคประชาสังคมสามารถขับดันเป้าหมายระยะยาวหรือความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

เสรีภาพในการสมาคมจึงทำให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น อยู่ได้ยาวนานขึ้น สามารถพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นได้ และเมื่อเกิดการชุมนุมขึ้นมาก็จะมีการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ชุมนุม มีการรวมตัวมีการแบ่งปันข้อมูลกัน ทำให้ความแหลมคมของข้อเรียกร้องก็จะดีขึ้นเมื่อประสบการณ์ของผู้ชุมนุมมีมากขึ้นก็จะกลายเป็นสถาบันขึ้นมา อย่างเช่นกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกรณีของกลุ่มคนเสื้อแดง รวมไปถึงสหภาพแรงงานด้วยเพราะการนัดหยุดงานหรือรวมตัวออกไปประท้วงเป็นผลลัพธ์แต่แรงงานจะต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานขึ้นมาให้ได้ก่อน

พัชร์อธิบายต่อว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศจึงรวมเสรีภาพทั้งสามอย่างนี้รวมกันเป็นก้อนเดียวกันและรับรองเพียงการชุมนุมที่สงบเท่านั้น  เพราะการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงจะตกเข้าสู่ตรรกะอีกชุดหนึ่งก็คือ ถ้าต้องการให้การชุมนุมมีประสิทธิภาพหรือเสียงดังมากขึ้นก็ต้องมีกำลังและจำนวนคนที่เยอะแล้วเมื่อเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงแล้วจะเป็นการปฏิเสธหรือยับยั้งสิทธิการแสดงออกของคนอื่น

“ถ้าอยากเสียงดังคุณก็ตบโต๊ะให้ดังคนอื่นจะได้ไม่พูด ถ้าผมมีกำลังคนเยอะมีความสามารถในการใช้ความรุนแรงได้เยอะ ไอ้คนกลุ่มน้อยๆ จะไม่มีโอกาสได้ชุมนุมเลย เวลาเกิดการชุมนุมขึ้นมาแล้วฉันไม่ชอบฉันจะเอาการชุมนุมของฉันไปถมแล้วพวกนั้นก็จะพูดอะไรไม่ได้ แล้วเมื่อสังคมเป็นแบบนี้แนวคิดเรื่องสังคมประชาธิปไตยก็จะไม่เกิดก็จะมีคนที่พูดได้คนเดียวคือคนที่มีกำลังสูงสุดในรัฐนั้น หรือมีคนจำนวนมากที่มีกำลังพอที่จะไปสร้างการคุกคามคนอื่น ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งที่เป็นอำนาจนิยมแบบเต็มที่ตำรวจก็คือตัวนั้น คือคุณจะชุมนุมฉันจัดตำรวจไป 3-4 กองร้อยไปถมพื้นที่ตรงนั้นแล้วคนอื่นก็ใช้อะไรไม่ได้แล้ว”

ตำตรวจที่เข้าปิดกั้นแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563 ทำให้การผู้ชุมนุมไปรวมตัวกันที่แยกปทุมวันที่อยู่ใกล้เคียงก่อนนำไปสู่เหตุการณ์ตำรวจเข้าใช้กำลังสลายการชุมนุมในช่วงค่ำวันเดียวกัน

กฎหมายเปิดกว้างให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจแต่พร่องการตรวจสอบ

แต่สำหรับการปกครองแบบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งอำนาจนิยมแบบไทยเรื่องนี้ก็จะซับซ้อนขึ้น คือเมื่อรัฐมีไม้ที่ไว้ใช้ความรุนแรงก็จะมีกฎหมายที่เอื้อให้กับการเอาไม้ไปใช้ด้วย

พัชร์กล่าวว่ากลไกของการปกครองแบบผสมจะต้องการมีเลือกตั้งตามรอบเพราะถ้าไม่มีเลือกตั้งตามรอบก็จะกลายเป็นเผด็จการ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งตามรอบแล้วก็ต้องมีสิ่งที่รับประกันได้ว่าจะชนะเลือกตั้งอย่างไร จึงมีการสร้างระบบที่เป็นเกราะป้องกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือสร้างเกราะป้องกันในระบบการเลือกตั้งที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ดูเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมแต่จริงๆ แล้วไม่ยุติธรรมเลย ทำให้พรรคฝ่ายค้านหรือพรรคเล็กที่ต่อให้ชนะเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาลไม่ได้

แต่ส่วนที่เขาสนใจศึกษาคือส่วนที่สอง คือการสร้างเกราะป้องกันจากการชุมนุมบนถนน เพราะเมื่อระบอบประชาธิปไตยต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดให้มีการชุมนุมสาธารณะได้ แต่จะเปิดให้มีชุมนุมอย่างไรในขณะที่รัฐสามารถใช้อำนาจตบได้หรือทำให้การชุมนุมไม่กระทบต่อการปกครองของรัฐ รัฐจึงต้องสร้างเครื่องมือพิเศษขึ้นมาผ่านกฎหมาย

พัชร์ชี้ว่ากฎหมายในระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งอำนาจนิยมนี้จะเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้สูงโดยที่มีการตรวจสอบน้อย ตำรวจจะสามารถคิดมาตรการอะไรออกมาก็ได้หรือวางเกณฑ์อย่างไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ เมื่อกฎหมายเปิดให้ตำรวจใช้ดุลพินิจได้มากก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บังคับบัญชาสั่งมาอย่างไร เช่น กรณีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เหมือนตีเช็คเปล่าให้กับเจ้าหน้าที่ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีการตรวจสอบที่น้อยโดยตัดอำนาจของศาลปกครองออกแล้วให้คดีอยู่ในศาลยุติธรรมทั้งหมด

พัชร์อธิบายว่าตัวศาลปกครองเองถูกออกแบบมาเพราะมองว่าอำนาจรัฐกับประชาชนมีไม่เท่ากัน และเมื่อคดีต้องเข้าสู่ศาลยุติธรรมทำให้ต้นทุนในการสู้คดีของประชาชนสูงขึ้นมากและผู้พิพากษาก็ถูกฝึกมาคนละแบบในเรื่องของการรักษาสิทธิและเสรีภาพ ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมจะมองว่าประชาชนกับรัฐมีสิทธิเท่ากันหมด แต่ศาลปกครองมีมุมมองที่เห็นว่ารัฐมีอำนาจมากกว่า อย่างเช่นเรื่องการพิสูจน์ข้อมูลที่ข้อมูลอยู่ในมือของรัฐหมดประชาชนจะเอาอะไรไปสู้แล้วจะไปเอาข้อมูลมาสู้คดีอย่างไร

ดังนั้นแล้วเมื่อรัฐเลือกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้การตรวจสอบเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ทำได้ยากขึ้น เพราะพอเป็นการออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดบางฉบับก็ห้ามชุมนุมเลย เช่นห้ามชุมนุมในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นการสร้างกลไกบางอย่างเข้าไปข้างใน ถ้าใช้เพื่อป้องกันโควิดก็อาจจะเวิร์คแต่ก็แผงบางอย่างเข้าไปซึ่งก็มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มีการชุมนุม แต่อะไรเป็นสิ่งยืนยันว่าเขาไม่ได้ห้ามหมด

“ถ้าห้ามหมดก็โอเค แต่ผมกำลังบอกว่ามันอยู่ใน Hybrid Regime ไงสามารถสวิตช์ไปสวิตช์มาได้ จะเจออาการแบบนี้ คำถามคือเวลาห้ามเขาเลือกที่จะห้ามตามเนื้อหาหรือห้ามตามรูปแบบที่ออกมาชุมนุม ห้ามรูปแบบยังโอเคนะ เพราะบางรูปแบบมันแฝงด้วยความรุนแรงอยู่ก็เข้าไปห้าม แต่บางทีเป็นการใช้เนื้อหาในการเข้ามาห้ามไง” เขาได้ยกตัวอย่างการกิจกรรม 2 งานที่เป็นการรวมตัวกันในที่สาธารณะเพื่อการแสดงออกเหมือนกันเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564 ที่มีเนื้อหาแตกต่างกันมากแต่อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เหมือนกัน

กรณีแรกคือการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่ข้างทำเนียบรัฐบาลที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การชุมนุมนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมถึง 2 ครั้งในวันเดียวกันรอบแรกในตอนเช้ามืด และรอบเย็นที่ผู้ชุมนุมมาทำการนอนเฉยๆ ในพื้นที่เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมในตอนเช้า โดยทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่อ้างว่าการชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19

ผู้ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้านอนเฉยๆ เรียกร้องปล่อยตัวเพื่อนที่ถูกจับกุมในตอนเช้า ภาพก่อนที่พวกเขาจะถูกตำรวจ คฝ.ที่อยู่รายรอบเข้าจับกุมตัว

กรณีที่สองที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน มีกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสวมชุดไทยเล่นเซิร์ฟสเก็ตในกิจกรรม “รัตนโกเซิร์ฟ” ที่จัดขึ้นที่บริเวณลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ระยะทางกว่า 4 กิโลเมตรซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยในงานดังกล่าวมีทั้งดารานักร้อง นักการเมือง เข้าร่วมและมีหน่วยงานรัฐร่วมสนับสนุนด้วย เช่น กระทรวงวัฒนธรรม จากรายงานข่าวระบุว่ามีคนเข้าร่วม 300 คนและภาพที่ปรากฏออกมามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยขณะทำกิจกรรม อย่างไรก็ตามแม้จะถูกวิจารณ์เรื่องแต่เรื่องนี้จบลงเพียงการแถลงชี้แจงของสองผู้จัดอย่าง อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต หรือ “โจอี้ บอย” และวทันยา วงษ์โอภาสี ที่ตอนนั้นยังเป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐอยู่ว่ามีการป้องกันการระบาดของโรคแล้วและมีความจำเป็นต้องถอดหน้ากากเพราะเป็นกิจกรรมกีฬาอีกทั้งได้ขออนุญาตจัดกับ ศบค.แล้ว

“ทำไมสองกลุ่มนี้ถูกดูแลไม่เหมือนกัน ถ้าเราไปดูก็จะเจอว่าคนจัดมันคนละพวกกันเนื้อหาที่แสดงออกมันคนละเนื้อหากัน รูปแบบไม่เหมือนกัน แต่ถ้ามองในมุมของการป้องกันโรคมันควรจะมีมาตรฐานใกล้ๆ กันนะ ถ้าเกิดมันไม่มีมาตรฐานก็เป็นหน้าที่รัฐในการเข้าไปจัดการให้มันมีมาตรฐาน”

นอกจากนั้นเขายังยกกรณีที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกนัดชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วก็มีผู้ชุมนุมของอีกฝ่ายที่มาจัดชุมนุมต่อต้านการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกแต่สุดท้ายแล้วกลับมีคนที่ถูกดำเนินคดีอยู่แค่มวลชนฝั่งเดียว ซึ่งทำให้เห็นว่าถ้าเป็นการชุมนุมที่มาเชียร์สนับสนุนรัฐ รัฐก็จะให้จัดได้แต่ถ้ามาชุมนุมคัดค้านรัฐก็จะดำเนินคดี ไปจนถึงการออกข้อกำหนดที่ยกเว้นให้กับการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่รัฐอนุญาตได้ ซึ่งก็ทำให้มีคำถามตามมาว่าแล้วถ้าเป็นกิจกรรมที่รัฐจัดอย่างเช่นการจัดคนมาต้อนรับนายกรัฐมนตรีหรือมีการจัดรับขบวนเสด็จก็จัดได้ใช่หรือไม่

“ถ้าตอบโดยเมคเซนซ์คือถ้ารับเสด็จแล้วไม่ติดโรคเหรอ มันก็ติด ฉะนั้นเมื่อเป็นการรวมกลุ่มประชาชนคุณก็เอามาตรการเข้าไปใส่”

กลุ่มคนเสื้อเหลืองที่มารอรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มารวมตัวกันที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 14 ต.ค.2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวชุมนุมในบริเวณเดียวกัน

พัชร์เห็นว่าถ้ารัฐจะอ้างเรื่องการควบคุมโรคก็ควรจะต้องใช้มาตรการเดียวกัน แต่พฤติกรรมการเลือกใช้กฎหมายแบบนี้ถือเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ในกฎหมายเพราะเมื่อออกกฎหมายมาแล้วก็ควรต้องใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด เจ้าหน้าที่จะเลือกใช้กฎหมายไม่เหมือนกันแบบนี้ไม่ได้

พัชร์ย้ำว่าตามหลักในระบอบประชาธิปไตยรัฐจะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีการคุ้มครองเสรีภาพเสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพื่อทำให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มและออกมาเรียกร้องได้โดยการเรียกร้องดังกล่าวต้องเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ และต้องมีมาตรการทางกฎหมายทำให้เกิดความสงบ

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีหน้าที่ 2 อย่างคือจะต้องอำนวยความสะดวกไม่แทรกแซงการชุมนุมที่สงบและต้องคุ้มครองผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงตำรวจก็ต้องเข้ามาทำให้สงบโดยการจำกัดตัวคนที่ใช้ความรุนแรงให้ยุติการกระทำและแยกคนที่ใช้ความรุนแรงออกไปจากพื้นที่

“ถ้ามีความรุนแรงอยู่ที่เดียวกับความสงบอยู่ ตำรวจต้องคั่นระหว่างกลางแล้วก็ใช้กำลังกับคนที่กำลังใช้ความรุนแรง”

มาตรการของเจ้าหน้าที่ได้สัดส่วนหรือไม่

พัชร์กล่าวว่าในประเด็นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งจะมีมาตรฐานของการใช้กำลังอยู่ แต่โดยหลักแล้วจะใช้กำลังกับการชุมนุมที่สงบไม่ได้ จะใช้กำลังได้แต่การชุมนุมที่ไม่สงบ

การจะใช้กำลังต้องจำเป็นและได้สัดส่วน ทำให้ต้องมาพิจารณาบทบาทของตำรวจต่อว่าการใช้กำลังนั้นเหมาะสมกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือไม่ และมีความจำเป็นต้องสลายการชุมนุมตั้งแต่ต้นหรือไม่

อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามักจะได้เห็นว่าหลายครั้งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เป็นผลสืบต่อเนื่องกันมาจากสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมเดินขบวนเพื่อไปสถานที่เป้าหมายเช่น ทำเนียบหรือบ้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งด่านสกัดกั้นทำให้ฝั่งผู้ชุมนุมเองก็พยายามจะฝ่าไปจนสุดท้ายเกิดความชุลมุนขึ้นมาแล้วเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังกับผู้ชุมนุม

พัชร์มองประเด็นนี้ว่าตำรวจทำให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุมสาธารณะเองไม่ได้ แต่ตำรวจในระบอบแบบ Hybrid Regime มักจะกลายเป็นตัวจุดความรุนแรงขึ้นมา และเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นมาตำรวจก็ไม่ได้แยกว่าจะสลายใคร

พัชร์อธิบายว่าการตั้งกำลังของตำรวจต้องทำไปเพื่อให้การชุมนุมทำได้โดยสะดวกและสงบไปพร้อมกับทำให้คนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แม้ว่าการชุมนุมโดยสงบจะทำให้เกิดผลกระทบกับคนอื่นอยู่บ้างเพราะว่าไม่มีทางที่จะทำให้การชุมนุมโดยสงบไม่เกิดผลกระทบกับคนอื่นเลยเพราะเท่ากับทำให้เสรีภาพในการชุมนุมเกิดขึ้นไม่ได้

“คุณไปตะโกนกลางทุ่งนา หรือจัดชุมนุมกลางทุ่งนาคิดว่าไม่กระทบกับใครแล้วนะ แต่ถามว่าผู้ชุมนุมไปยังไง ถ้าไปจากเมืองต้องใช้ถนนไปใช่ไหม? แล้วคนที่อยู่ระหว่างถนนเส้นนั้นได้รับผลกระทบมั้ย? ก็กระทบอยู่ดี คนมารวมตัวกันมันวุ่นวายโดยสภาพอยู่แล้ว ดังนั้นหน้าที่ของตำรวจในเรื่องนี้คือเข้ามาอำนวยความสะดวก”

พัชร์ย้อนกลับมาในกรณีการชุมนุมของ REDEM ในช่วงปี 2564 ที่ผู้ชุมนุมเดินผ่านไปทางบ้านประยุทธ์ที่อยู่ข้างในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ถนนวิภาวดีรังสิตว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการรับมือผู้ชุมนุมครั้งนั้นต้องพิจารณาถึงว่าการชุมนุมได้ทำให้เกิดความวุ่นวายแค่ไหนอย่างไรและมีมูลเหตุให้ต้องตั้งแนวคอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนามมากั้นถนนหรือไม่

เขามองว่ากรณีนี้พิจารณาได้ง่ายจากในทางกฎหมายเพราะพื้นที่นั้นเป็นเขตทหารที่มีรั้วรอบขอบชิดอยู่แล้วการจะมีภาพว่าผู้ชุมนุมบุกเขตทหารคงเป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ยาก อีกทั้งการตั้งรับในพื้นที่ภายในเขตค่ายทหารก็ทำได้ง่ายกว่าการเอาตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งกั้นถนนด้านหน้าและวางลวดหนาม

“ประชาชนบุกค่ายทหารผมนึกไม่ออกจริงๆ แค่มองเข้าไปในค่ายทหารก็มีรั้วลวดหนาม มีป้อม มีปืน มันไม่เมคเซนส์ที่จะบุกเข้าไป”

พัชร์ย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงหลักความจำเป็นของการใช้มาตรการวางคอนเทนเนอร์พร้อมลวดหนามนี้ โดยสมมติว่าถ้าปล่อยให้การชุมนุมของ REDEM เดินผ่านไปโดยมีตำรวจอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเดินทางผ่านไปได้ก็จะไม่เกิดความรุนแรงหรือต่อให้ผู้ชุมนุมหยุดอยู่หน้าค่ายเหตุการณ์ก็อาจจะเหมือนการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2563 ที่ในเหตุการณ์มีเพียงการปักหลักปราศรัยหรือแม้แต่กรณีที่มีผู้ชุมนุมไปสาดสีปาไข่ที่ ม.พัน 4 พล.1 รอ. ตรงข้ามรัฐสภาก็ยังเป็นกรณีที่นักกิจกรรมบางคนปีนรั้วแล้วโดนทหารดึงเข้าไป แต่ก็ไม่เคยเกิดกรณีที่ผู้ชุมนุมยกพวกเข้าไปบุกค่ายทหาร

การชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 11 เมื่อ 29 พ.ย.2563

ทั้งนี้คำถามต่อมาการตั้งแนวกั้นแบบนี้กลายเป็นตัวจุดฉนวนความรุนแรงได้หรือไม่

“ถ้าเกิดเขาเดินผ่านหน้าบ้านประยุทธ์ไปเนี่ย มันไม่มีอะไรบอกเลยว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ก็ปล่อยเขาเดินไปดิ แล้วคุณก็จัดระเบียบข้างนอก คุณเอาเครื่องมือป้องกันไปตั้งไว้ทำไมเยอะแยะ เอาคอนเทนเนอร์เอารั้วลวดหนามไปกั้นถนนวิภาวดี กันทางเดินเขาทำไม ถ้าเขาไม่มีเจตนาจะเข้าไปอยู่แล้วคุณไปตั้งด่านไว้ทำไม แล้วทำไมต้องกันข้างนอก เวลากั้นถึงไม่กั้นเข้ามาข้างใน ถ้าต้องการป้องกันการบุกเข้าไปทำไมไม่กั้นรั้วในค่ายทหาร เอาคอนเทนเนอร์เข้าไปปิดในกำแพง”

พัชร์เทียบกรณีการจัดการป้องกันที่บ้านประยุทธ์กับการจัดการป้องกันของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต่างกัน ในกรณีของ สตช.เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปิดกั้นถนนพระราม 1 แต่ป้องกันข้างในหลังรั้วกำแพงของ สตช.แทนเพื่อกันการขว้างของ ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์ถ้าไม่คลุมไว้ก็ถอดออกไปเลย ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมกรณีของชุมนุมบ้านประยุทธ์ถึงจัดการแตกต่างกัน เพราะว่าถ้าผู้ชุมนุมเชื่อว่าเขามีสิทธิที่จะเดินเขาก็จะฝ่าก็กลายเป็นการจุดฉนวนให้เกิดการปะทะ

เพราะฉะนั้นจึงคำถามตามมาอีกว่ามาตรการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ทั้งการป้องกันและการใช้กำลังเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ เพราะตามมาตรฐานสากลแล้วจะกำหนดว่าเจ้าหน้าที่จะต้องอำนวยความสะดวก แล้วก็วางข้อจำกัดไว้แล้วก็จะมีการตรวจสอบตามหลังถึงการวางข้อจำกัดดังกล่าว และจะต้องมีการตรวจสอบตามเช็คลิสต์ 3 ข้อ

  1. กฎหมายให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ไว้หรือไม่
  2. การดำเนินงานของตำรวจเป็นไปตามจุดประสงค์ของกฎหมายหรือไม่
  3. การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นั้นได้สัดส่วนหรือไม่

ประเด็นเรื่องกฎหมายให้อำนาจไว้หรือไม่ กรณีของไทยก็อาจจะอ้างว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่และถูกเอามาใช้แบบครอบจักรวาล

ประเด็นที่สอง จุดประสงค์ในการใช้มาตรการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ อย่างการอ้างใช้มาตรการเพื่อป้องกันโรคระบาดแต่การเอาน้ำไปฉีดเกี่ยวอย่างไรกับจุดประสงค์ของกฎหมายแล้วยิ่งเอาน้ำไปฉีดในช่วงที่โรคกำลังระบาดก็ยิ่งทำให้เชื้อกระจายออกไปมากขึ้นหรือการใช้แก๊สน้ำตาก็ทำให้คนที่โดนต้องถอดหน้ากากออกมาล้างก็ทำให้โรคกระจาย

ประเด็นที่สาม เรื่องความได้สัดส่วนนี้ พัชร์ยกตัวอย่างการใช้รถเมล์แดงที่เป็นรถเก่าติดไฟได้ง่ายเพราะมีส่วนประกอบของไม้มาใช้ในการปิดกั้นเส้นทาง ซึ่งก็เคยเห็นกันมาแล้วว่ารถชนิดนี้ถูกเผาได้ง่ายจากเหตุการณ์เมื่อพฤษภาคมปี 2535 ไปจนถึงการใช้รถเมล์ ปอ.ที่เป็นรถแก๊สที่ระเบิดได้มาใช้ ทั้งที่เจ้าหน้าที่เองก็มีแบริเออร์ที่ปลอดภัยกว่าอยู่แล้วก็ตาม หรือเรื่องการใช้ลวดหนามของเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ไม่ให้ใช้ลวดหนามด้วยด้วยเช่นกันเพราะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ แต่ถ้าจะต้องใช้จริงๆ ก็ต้องเป็นกรณีเกิดจลาจลแล้วเท่านั้น

การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อ 21 ต.ค.2563 ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ แฟ้มภาพ

พัชร์ตั้งคำถามว่าการใช้มาตรการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่นั้นนอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลแล้วยังกลายตัวจุดฉนวนความไม่พอใจของผู้ชุมนุมด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อประชาชนเชื่อว่าเขามีสิทธิ์ที่เดินไปสถานที่นั้นได้โดยสงบแต่เมื่อมีการกั้นเส้นทางไว้ทางเจ้าหน้าที่เองได้คิดถึงสถานการณ์ที่จะเกิดต่อจากนั้นไว้หรือไม่ว่าจะเป็นอย่างไรและจะกลายเป็นว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองเป็นคนสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรง หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีมาตรวัดแล้วก็ต้องตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำตามมาตรวัดนั้นหรือไม่

พัชร์เห็นว่าในส่วนที่ของประเด็นเรื่องเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ไปตามจุดมุ่งหมายของกฎหมายหรือไม่นั้น บางครั้งศาลที่มีหน้าที่ตรวจสอบครั้งก็ไม่ทำและการที่ศาลไม่ตรวจสอบก็เป็นปัญหา ถึงแม้ว่าในหลายคดีศาลจะตรวจสอบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นไปตามจุดประสงค์เรื่องการป้องกันโรคตามข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังนั้นที่ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนจึงไม่ผิดและศาลก็มีคำพิพากษาในเรื่องนี้ออกมาบ้างแล้ว แต่ยังมีกรณีที่ศาลพิพากษาหลุดแนวไปเลยคือมองว่าเมื่อจำเลยในคดีไปอยู่ในที่ชุมนุมที่เจ้าหน้าที่ห้ามชุมนุมแล้วจึงถือว่าได้กระทำความผิดแล้ว ในกรณีแบบนี้เท่ากับว่าศาลไม่ได้ทำการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เลย

แต่พัชร์กล่าวว่าที่ผ่านมาส่วนที่ไม่ค่อยถูกตรวจสอบโดยศาลมากนักคือ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่ โดยในการตรวจสอบส่วนนี้คือการดำเนินการของเจ้าหน้าที่จะต้องผ่าน 2 ข้อแรกมาแล้ว

“แม้คุณจะทำถูกกฎหมายตามคู่มือและกฎหมายเขียนทุกอย่าง ศาลก็ต้องเข้ามาเช็คอยู่ดีว่ามันจำเป็นมั้ย มันได้สัดส่วนมั้ย ซึ่งตรงนี้เป็นดุลพินิจที่องค์กรตุลาการมาเซ็ตมาตรฐานว่าอย่างไหนถึงเรียกว่าจำเป็น อย่างไหนถึงเรียกว่าได้สัดส่วน”

อย่างไรก็ตาม ศาลเองก็มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมด้วย จึงเกิดคำถามว่าในกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการสกัดกั้นและสลายขบวนเดินของผู้ชุมนุมนั้นจะต้องมีการขอหมายศาลก่อนหรือไม่

พัชร์ตอบในประเด็นนี้ว่าการ “สลายการชุมนุม” คือการทำให้พื้นที่ที่กำหนดไว้ไม่มีผู้ชุมนุมอยู่ สมมติว่ามีคนอยู่ 5 คนชุมนุมอยู่ตามจำนวนที่กฎหมายระบุไว้แล้วมีตำรวจเข้าไปจับทั้งหมดเลย 5 คนก็นับเป็นการสลายการชุมนุม หรือแม้ว่าจะมีผู้ชุมนุมอยู่แค่ 2 คนแล้วตำรวจจับไปหมดเลยเขามองว่าในทางกฎหมายแล้วต้องถือว่าเป็นการสลายการชุมนุมด้วยเช่นกัน และเมื่อถือว่าเป็นการสลายการชุมนุมแล้วเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปขอหมายศาลมาก่อน

คำถามต่อมาคือแล้วถ้าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบจะสามารถสลายการชุมนุมได้ตามแผนการใช้กำลังของตำรวจเลยหรือไม่?

พัชร์กล่าวว่าถ้ามองตามมุมของผู้ชุมนุมคือถ้าชุมนุมโดยสงบตำรวจจะสลายการชุมนุมได้ก็ต้องไปขอหมายศาลมาก่อนเพื่อกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุมแล้วก็ปล่อยให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ แต่ถ้ามองจากสายตาของตำรวจแล้วก็มีอยู่ 2 ทางคือเมื่อการชุมนุมไม่สงบก็ใช้กำลัง แต่ถ้าสงบก็ไปขอหมายศาลเพื่อที่จะใช้กำลัง

“มันเลยเกิดการลัดวงจรขึ้นมาได้ ถ้าตำรวจไม่อยากไปเสียเวลากับศาลก็สร้างสถานการณ์ความรุนแรงขึ้นก่อน แล้วเหตุความไม่สงบตรงนั้นลามไปถึงการชุมนุมส่วนที่ยังสงบอยู่ก็ได้” พัชร์ยกกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อ 17 พ.ย.2563 ที่หน้ารัฐสภาที่ในการชุมนุมมีส่วนที่สงบแล้วก็ส่วนที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา หรือกรณีการเดินขบวนของ REDEM ที่เกิดสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน

ตำรวจที่อยู่หลังแนวแบริเออร์ปูน 2 ชั้นพร้อมแนวลวดหนามฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่พยายามเปิดแนวกั้นที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563

พัชร์กล่าวว่าเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วตำรวจจะทำการสลายการชุมนุมทั้งหมดได้หรือไม่? และเจ้าหน้าที่มีการกำหนดกรอบพื้นที่ที่ใช้แก๊สน้ำตาไว้เฉพาะในส่วนที่เกิดการปะทะหรือไม่? เพราะในเหตุการณ์ก็จะเห็นว่าเมื่อเกิดเหตุปะทะกันผู้ชุมนุมบางส่วนก็ถอยออกจากพื้นที่ด้านหน้าที่เกิดการปะทะเข้าไปในส่วนการชุมนุมที่สงบสิ่งแล้ว ดังนั้นหน้าที่ของตำรวจคือจะต้องเข้าไปคุ้มครองการชุมนุมส่วนที่ยังสงบอยู่ด้วย และตีกรอบการใช้กำลังให้มีแค่ส่วนที่เกิดเหตุการณ์การใช้กำลังเท่านั้น

การเดินขบวนไปบ้านประยุทธ์เมื่อ 7 ส.ค.2564 บริเวณแยกดินแดงของกลุ่มทะลุฟ้า แต่ถูกแนวสกัดของตำรวจที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์กั้นทางบนถนนวิภาวดีที่มุ่งหน้าไป ทำให้มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามเข้ารื้อถอนแนวกั้น แต่มีผู้ชุมนุมอีกส่วนพยายามประกาศให้อยู่ในความสงบด้วยรถเครื่องเสียงซึ่งอยู่ห่างจากแนวกั้นมากกว่าร้อยเมตร อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่มีการยิงแก๊สน้ำตาใส่มาตกลงบนรถเครื่องเสียงและเหตุการณ์ดังกล่าวทำ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวยที่อยู่บนรถได้รับบาดเจ็บจากกระสุนแก๊ซน้ำตาจนสูญเสียตาขวาไป

เขากล่าวต่อว่าภาพที่เขาเห็นคือตำรวจไม่ได้ทำการคุ้มครองการชุมนุมส่วนที่สงบ แล้วตำรวจก็บอกว่าแยกได้ลำบากหรือแยกไม่ได้แต่ทำได้แค่อยู่ในแนวหน้าที่ปะทะกันอยู่เท่านั้นไม่ได้เข้าไปในแนวด้านหลัง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ประกาศว่าผู้ชุมนุมที่อยากได้ความคุ้มครองจะต้องถอยออกไปจากพื้นที่ด้านหน้าและตำรวจจะคุ้มครองการชุมนุมอยู่

ถอยแล้วก็ยังต้องอยู่ในความสงบด้วย ส่วนคนที่ใช้ความรุนแรงก็จะเสียความคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมไปแต่เสรีภาพอื่นๆ ก็ยังมีอยู่เช่นสิทธิในการมีชีวิตหรือการไม่ถูกทรมาน

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้ามได้ทุกมาตรฐาน

พัชร์กล่าวว่ามีไกด์ไลน์ที่วางกรอบแนวปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการดูแลและการใช้กำลังการชุมนุมไว้ ทั้งในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (2020) ที่เป็นการตีความกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR)ข้อที่ 21 เรื่องสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ แล้วก็ยังมีมติที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีการออกเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ส่วนประเทศไทยเองก็มี คู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) ซึ่งเขาเห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามหลักสากล แต่คู่มือตำรวจเองก็ยังมีช่องที่เปิดให้เจ้าหน้าที่มีดุลพินิจมากเกินไป

“เมื่อคุณใช้ดุลพินิจก็มีคำถามว่าคุณใช้ยังไง ใช้แบบไทยๆ หรือใช้แบบเป็นสากล?”

พัชร์มองว่าเรื่องนี้ตำรวจเองมีศักยภาพพอที่จะทำตามมาตรฐานสากลได้ แต่ก็มีช่องว่างให้ปฏิบัตินอกหลักสากลได้เหมือนกัน คือถ้าเจ้าหน้าที่อยากออกจากแนวปฏิบัติสากลก็ใช้วิธีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศได้เองแล้วอีกสามวันถึงค่อยไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ แล้วเมื่อจะต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินก็ใช้แค่ ครม.ในการต่ออายุ โดยไม่มีสภาอยู่ในกระบวนการตรวจสอบการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเลย

คู่มือ คู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) ภาคผนวก จ หน้า 255

คู่มือ 2 คู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) ภาคผนวก จ หน้า 256

“แม้กระทั่งรัฐบาลประชาธิปไตยปกติอย่างยิ่งลักษณ์เองหรือรัฐบาลอภิสิทธิ์เองก็มีการใช้ลักษณะนี้คือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมม็อบ ถามว่าทำไมใช้แล้วมันดีก็เพราะมันมีเกราะป้องกันการตรวจสอบและใช้ดุลพินิจได้กว้าง ประกาศล่วงหน้าก็ได้ด้วย” พัชร์ชี้ว่าการใช้กฎหมายที่ยกเว้นการตรวจสอบและเปิดให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้มากนี้ถูกระบุเอาไว้ในคู่มือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของตำรวจด้วยโดยไม่ได้มีการพิจารณาเลยว่าเกิดเหตุจลาจลจนเกินขอบเขตแล้วหรือไม่ แต่แค่มี “แนวโน้ม” จะเกิดก็ประกาศให้พื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ยิ่งประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยิ่งเกิดความเสี่ยงเพราะอำนาจจะไปตกอยู่กับทหาร อย่างเช่น การสลายการชุมนุมปี 53 ก็มีการใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

จะมองยังไงก็ไม่มาตรฐาน: คุยกับอดีตครูฝึก ตำรวจไทยสลายม็อบถูกหลักหรือไม่

ความรุนแรงในสายตาตำรวจไม่เท่ากันในสายตาของผู้ชุมนุม

ทั้งนี้พัชร์เห็นว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในคู่มือแนวปฏิบัติของตำรวจไทยจะเขียนออกมาได้ดีทั้งเรื่องการใช้กำลังหรืออาวุธ แต่ปัญหาของคู่มือตำรวจไทยคือเรื่องการจัดประเภทว่าการกระทำใดบ้างที่ถือว่าเป็นความรุนแรง โดยกำหนดปัจจัยหลักไว้ว่า ผู้ชุมนุมยังอยู่ในการควบคุมของแกนนำหรือไม่ทำให้เจ้าหน้าที่มองว่าความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากทั้งกลุ่มโดยไม่ได้แยก ทั้งที่จริงๆ แล้วตำรวจจะต้องแยกการจัดการคนที่ใช้ความรุนแรงออกแล้วคุ้มครองผู้ชุมนุมที่ยังปฏิบัติตามแกนนำ ซึ่งเรื่องนี้ในคู่มือไม่ได้มีการเขียนไว้อย่างละเอียดมากพอ

พัชร์ยกอีกตัวอย่างว่าในกรณีที่ผู้ชุมนุมโยนขวดน้ำ เขาเคยลองถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามองเรื่องนี้อย่างไรก็พบว่าเจ้าหน้าที่มองว่าการชุมนุมเสียความสงบแล้วจึงถือเป็นความรุนแรง และเจ้าหน้าที่ก็มองว่าเมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นแล้วก็สามารถใช้กระสุนยางได้เพราเกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว ดังนั้นแล้วเกณฑ์ในการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ก็จำเป็นจะต้องกำหนดให้ละเอียดกว่าที่มีอยู่ในคู่มือ

“ถ้าตำรวจเอะอะอะไรก็ใช้กระสุนยางได้คุณไม่ต้องไปใส่ชุดให้มันเพ้อเจ้อก็ได้ ชุด คฝ.แพงจะตายแถมร้อนด้วย มีอะไรก็ยกปืนขึ้นยิงเลย มันมีหลายเรื่องที่มันตลกในการดูแลการชุมนุมสาธารณะในประเทศเรา”

พัชร์ยังกล่าวถึงปัญหาที่ตำรวจในชุดเครื่องแบบสีกากีที่เข้าไปดูแลการชุมนุมสาธารณะพร้อมกับอาวุธปืน หรือแม้กระทั่งการติดเข็มบอกยศชื่อเข้าไปซึ่งอาจถูกฉวยใช้เป็นอาวุธหรือทำให้คนติดบาดเจ็บเองได้ ทั้งที่กฎหมายก็กำหนดไว้แล้วเรื่องการจะใช้อาวุธกระสุนยางต้องเป็นเจ้าหน้าที่เฉพาะทางในหน่วยเท่านั้น หรือการมีอาวุธปืนกระสุนจริงก็ต้องมีสถานการณ์จำเป็นเท่านั้นและต้องเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษ

เขายังเห็นว่า แม้ในคู่มือของตำรวจเองก็มีการไล่ระดับการใช้กำลังตามสถานการณ์ แต่การใช้กระสุนยางของไทยใช้อย่างผิดวิธีการมาโดยตลอดคือถูกเอามาใช้ในการยิงไล่ ทั้งที่กระสุนยางมีไว้เพื่อยิงให้หยุดการกระทำที่อาจก่ออันตรายอย่างเช่นมีการวิ่งถือระเบิดเข้าใส่แนวตำรวจแล้วการยิงก็ต้องเป็นการยิงไปที่ระดับขา หรือถ้าสุดท้ายคนที่วิ่งเข้าใส่หยุดการกระทำไปก่อนแล้วหันหลังถอยกลับไปเองตำรวจก็ไม่สามารถยิงได้เพราะภัยคุกคามหยุดลงแล้วแต่ก็ต้องใช้มาตรการอย่างอื่นเข้าไปจับกุมตัวเพื่อดำเนินคดีเพราะการครอบครองวัตถุระเบิดเป็นความผิดตามกฎหมาย

คู่มือ 3 คู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) หน้า 193

“มันจะเมคเซนส์ไหมละเขากำลังหนีแล้วไปยิง มันจะเมคเซนส์ก็ต่อเมื่อเขาเอาไม้ทุบคนอื่นอยู่แล้วยิงคนนั้นเพื่อให้เขาหยุด แต่มันบอกได้ไหมละว่าเขาทำอะไรอยู่ในขณะที่ตำรวจยิง ถ้าพิสูจน์ได้ก็มีเหตุผลในการยิง แต่ในหลายครั้งมันไม่เป็นแบบนั้น เพราะกระทั่งสื่อเองก็ถูกยิง”

นอกจากนั้นคำอธิบายในคู่มือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่จะเลือกระดับการใช้กำลัง ถ้าให้คนทั่วไปมาอ่านก็จะมีภาพที่ต่างจากเจ้าหน้าที่ ตัวอย่างของ “สถานการณ์ทั่วไป” ที่ระบุในคู่มือคือการชุมนุมที่เป็นระเบียบและอยู่ในกรอบของกฎหมาย เช่น ชุมนุมในพื้นที่ที่ราชการกำหนด ไม่กีดขวาง ไม่เคลื่อนที่หรือเดินประท้วง ไม่รุกล้ำการจราจรหรือทางเท้าถาวร ไม่บุกรุกสถานที่ราชการ

คู่มือ 4 คู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) หน้า 193

พัชร์มองว่าการกำหนดพฤติการณ์ไว้แบบนี้เป็นปัญหาเพราะเท่ากับทำให้การชุมนุมจะต้องอยู่แค่บนฟุทบาทเท่านั้น นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นอีกปัญหาว่าในมุมมองของเจ้าหน้าที่ยังไปดูเนื้อหาของการพูดในที่ชุมนุมและถือเป็นสัญญาณของสถานการณ์รุนแรงด้วย

“ม็อบที่มีลักษณะการเรียกร้องเป็นการแก้ไข 112 ถึงโดนความรุนแรงเยอะ”

คู่มือ 5 คู่มือการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) หน้า 194

พัชร์อธิบายว่าหลักที่ควรจะเป็นคือไม่ควรเข้าไปจำกัดการชุมนุมโดยเนื้อหา เว้นแต่การชุมนุมนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยก็เข้าจำกัดได้เพื่อป้องกัน dilemma  ของประชาธิปไตยที่จะทำลายตัวเองหรือเป็นการชุมนุมที่ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานคนอื่น และจริงๆ แล้วพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ของไทยเองก็ไม่ได้เปิดให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจำกัดเนื้อหาการชุมนุมได้อยู่แล้วแต่ให้จำกัดเรื่องเวลา สถานที่และวิธีการได้

พัชร์ยังชี้ให้เห็นอีกว่าสถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐนับเป็นความรุนแรงอย่างการบุกรุกสถานที่ ถ้าย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ขบวนเดินไปบ้านประยุทธ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตั้งแนวคอนเทนเนอร์กั้นเอาไว้ ภาพที่ผู้ชุมนุมมองเห็นคือพวกเขาเชื่อว่าเขามีสิทธิเดินผ่านไปได้โดยสงบแต่มีการกั้นไว้ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับมองเห็นภาพว่าเป็นสถานการณ์ที่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อผู้นำไม่ทำตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ มีการบุกเข้าไปยึดครองว่าครบองค์ประกอบการใช้ความรุนแรงแล้วการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จึงเกิดขึ้นตามมา

แม้กระทั่งการใช้กระสุนยางหรือรถน้ำในคู่มือของเจ้าหน้าที่ก็ระบุว่าให้ใช้ได้ในสถานการณ์ที่เกิดจลาจลแล้ว แต่ในสถานการณ์จริงก็มักจะเห็นภาพว่าทางเจ้าหน้าที่เริ่มใช้อาวุธควบคุมฝูงชนเหล่านี้แม้กระทั่งกับการตัดรั้วลวดหนามหรือเป็นสถานการณ์ที่ห่างไกลจากความหมายของการจลาจลอย่างเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมของเยาวชนที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2563

พัชร์มองว่าถ้ามีการตัดรั้วลวดหนามจริงแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่พยายามเข้าไปจับ แล้วแผงแนวกั้นของเจ้าหน้าที่เองก็ปิดเส้นทางหมดจนเข้าไปจับไม่ได้เอง ทำให้เห็นปัญหาในการวางมาตรการป้องกันของเจ้าหน้าที่เองว่าไม่ได้มีการวางมาตรการระยะสั้นเอาไว้ แล้วก็มองว่าจะเกิดความรุนแรงตั้งแต่แรกจนไปสร้างแนวกั้นลักษณะนี้ขึ้นมาทำให้ตำรวจไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่พอจะจัดการได้ก่อนเหตุการณ์จะลุกลามบานปลายหรือจะเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุก็ทำไม่ได้

เขาเปรียบเทียบว่าถ้าเปลี่ยนจากผู้ชุมนุมตัดลวดหนามเป็นการทำอะไรบางอย่างกับแนวโล่กระบองของตำรวจ ตำรวจยังมีกลยุทธว่าจะเปิดโล่ออกแล้วให้เจ้าหน้าที่ในแถวสองก็ดึงผู้ก่อเหตุเขาหลังแนวโล่แล้วปิดโล่ แต่พอเจ้าหน้าที่ปิดกั้นเส้นทางร้อยเปอร์เซนต์ทำให้ตำรวจจัดการกับสถานการณ์ไม่ได้เลยก็มีคำถามตามมาว่าวิธีการแบบนี้ดีต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เองอย่างไร

“ถ้ามีคนมาทำร้ายผู้ชุมนุมแล้วตำรวจจะเข้าไปช่วยอย่างไร คือคิดแต่จะป้องกันอย่างเดียวไง แต่จริงๆ ทั้งหมดนี้มันละเลยพื้นฐานการทำหน้าที่ของตำรวจในการดูแลคุ้มครองผู้ชุมนุม”

ดังนั้นพัชร์จึงเห็นว่ามาตรการของเจ้าหน้าที่ก็ต้องเทียบกับมาตรฐานสากลว่าคืนอื่นเขาทำกันอย่างไร เพราะถ้าดูแค่ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐเท่านั้นก็จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำถูกหมดเลย แล้วเวลาฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่าตัวเองทำตามมาตรฐานสากลก็มีคำถามว่าใช้มาตรฐานใดเอาของประเทศใดมาใช้ เพราะไม่เช่นนั้นการเอาตัวอย่างจากประเทศที่ไม่เป็นสังคมประชาธิปไตยมาวางก็จะเกิดปัญหา

“มาตรฐานสากลที่เราพูดถึงคือมาตรฐานตามยูเอ็น มาตรฐานตามสหภาพยุโรป มาตรฐานที่เป็นประเทศประชาธิปไตย ไม่ใช่เอามาตรฐานไหนมาวางก็ได้”

แต่ไม่ใช่แค่เรื่องแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พัชร์ยังเห็นว่าในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะของไทยเองก็ยังมีปัญหาในตัวเองด้วย อย่างเรื่องที่กำหนดให้ต้องแจ้งจัดการชุมนุม โดยเขาเทียบเรื่องนี้กฎหมายของประเทศฟินแลนด์ที่เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงกับมอลโดว่าที่ยังเป็นประเทศกึ่งประชาธิปไตยคล้ายไทย

พัชร์กล่าวว่าในฟินแลนด์มีการกำหนดเรื่องแจ้งจัดชุมนุมไว้เช่นกัน แต่ในกรณีที่การชุมนุมจะมีคนเข้าร่วมจำนวนน้อยก็ไม่ต้องแจ้งจัดการชุมนุมเพราะไม่ต้องการการดูแลจากเจ้าหน้าที่รัฐ การชุมนุมประเภทนี้เช่นการไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่มากันไม่กี่สิบคน หรือการชุมนุมแบบแฟลชม็อบที่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อคนรอบข้าง ไม่มีการใช้เครื่องเสียงมีแค่การชูป้าย หรือ การชุมนุมที่ไม่มีการขวางการจราจร เช่น จัดบนฟุตบาทหรือลานกว้างของเมือง แต่ของฟินแลนด์กลับไปกำหนดให้การชุมนุมที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องแจ้งจัดการชุมนุมแทนอย่างเช่นการใช้สีเพราะเมื่อใช้แล้วสีจะไหลลงสู่แหล่งน้ำเป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ประเทศโลกที่หนึ่งเขาให้ความใส่ใจ

ส่วนของมอลโดวาก็ยังกำหนดให้การชุมนุมที่มีคนจำนวนน้อยต่ำกว่า 50 คนไม่ต้องแจ้งจัด เขาเปรียบเทียบว่าจำนวนคน 50 คนนี้ก็เทียบได้กับนักเรียนในห้องเรียนหนึ่งห้อง ถ้าครูหนึ่งคนสามารถจัดการได้ ตำรวจหนึ่งคนก็น่าจะจัดการ กฎหมายของประเทศเหล่านี้ก็อาจจะพอเป็นตัวอย่างได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่ใช้ในการจัดการการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ได้

ทั้งนี้เมื่อผู้สัมภาษณ์ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดการปราบปรามการชุมนุมในสหรัฐฯ หรือในฝรั่งเศส ซึ่งมักเป็นประเทศที่คนไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมทางการเมืองในไทยยกมาใช้เปรียบเทียบเพื่อให้ความชอบธรรมกับการปราบปรามการชุมนุมในไทย

พัชร์มองว่าแตกต่างกันเพราะในกรณีเหล่านั้นเข้าข่ายเป็นการจลาจลไปแล้วและย้ำว่าหากปล่อยให้เกิดการจลาจลก็จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้มีการชุมนุมสาธารณะไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่เข้าควบคุมการจลาจลที่เกิดขึ้นอยู่

“การชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยสงบแล้วจบด้วยความรุนแรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาอีกว่าความรุนแรงนี้มันเกิดขึ้นจากมือที่สามมาก่อหรือเปล่า มันเกิดจากเจตนาตั้งต้นของผู้ชุมนุมเองหรือไม่ หรือมันเป็นการจุดประเด็นหรือเป็นการจุดประกายจากตัวอำนาจรัฐเองหรือเปล่า”

“คุณปล่อยให้เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางง่ายๆ สุดท้ายเจ้าหน้าที่นี่แหละจะใช้กระสุนยางยิงผู้ชุมนุมให้มันกลายเป็นการจลาจลจะได้ปราบ ก็บิดกุญแจสตาร์ทซะสิ กระสุนยางก็อยู่ในมือแล้วนี่ คุณยิงไปสามนัดก็ได้เรื่องแล้ว รถน้ำไม่มีเหตุให้ยิงก็ไปยิงสีใส่เขา ผู้ชุมนุมไม่โกรธได้ไงก็โกรธดิ โกรธแล้วก็ขว้างของใส่ ตำรวจก็ลุยได้ละ”

การตรวจสอบการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้เมื่อพูดถึงการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อการชุมนุมแล้วอีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือกระบวนการตรวจสอบการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายหรือไม่ มีกลไกหลักๆ ดังนี้

  1. ฝ่ายบริหารหรือการตรวจสอบภายในฝ่ายบริหารของตำรวจ หรือหน่วยงานภายในเช่น จเรตำรวจ
  2. กลไกจากทางรัฐสภา เช่น กมธ. ชุดต่างๆ จะสามารถเรียกผู้เกี่ยวข้องไปตรวจสอบได้แค่ไหนผลออกมาเป็นอย่างไร
  3. ศาล ที่จะต้องเข้ามาสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิด และ
  4. องค์กรอิสระต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช. ) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำหรับการตรวจสอบภายในหน่วยงานตำรวจเอง พัชร์ระบุว่าในคู่มือของตำรวจเองก็ระบุขั้นตอนการรายงานการปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ตั้งแต่ก่อนปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีการเขียนแผนงานว่าจะดูแลการชุมนุมอย่างไร ถ้ามีการใช้กำลังจะใช้อย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง รูปแบบการใช้กำลังเป็นอย่างไรและระดับการใช้กำลังจะใช้ระดับใด หลังจากเสร็จภารกิจก็ต้องทำรายงานสรุปส่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่าดูแลการชุมนุมไปอย่างไรบ้าง ก็จะมีการตรวจสอบย้อนหลังว่าเกิดความผิดพลาดอะไรบ้างเป็นเรื่องปกติของทางตำรวจ หรือถ้าผู้ชุมนุมเห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามกฎหมายก็สามารถร้องเรียนหน่วยงานภายในอย่างเช่นจเรตำรวจได้ แต่ก็มีคำถามว่าหน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบจริงๆ มากน้อยแค่ไหน

ส่วนกลไกรัฐสภา พัชร์กล่าวว่าในไทยก็มีคณะกรรมาธิการตำรวจและคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน  แต่เขาเห็นว่าฝ่ายหลังทำงานมากกว่าฝ่ายแรก แล้ว กมธ.ก็ออกรายงานการตรวจสอบมาก็เป็นการชื่นชมการทำงานของตำรวจเสียมากกว่าจะเป็นการตรวจสอบการทำงานจริงๆ

ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยปรากฏรายงานผลการสอบสวนหรือมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดชอบทางคดีต่อการใช้ความรุนแรง ทั้งที่เหตุเกิดตั้งแต่ 2563 แล้วแสดงว่าเกิดความผิดปกติบางอย่างขึ้นในหน่วยงานของตำรวจเองและแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานไม่มีความโปร่งใสเลย

ภาพโดย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ถ่ายขณะที่ขวดแก้วถูกปามาจากตำรวจ คฝ.มาตกใส่หน้ากลุ่มช่างภาพ จากเหตุการณ์นี้ชาลินี ถิระศุภะ หรือ “เจน” ช่างภาพข่าวในเหตุการณ์ได้รับบาดเจ็บที่ตาขวา

“แต่สิ่งที่เจอคือตำรวจตรวจสอบแล้วบอกว่าไม่ผิดในทุกกรณี แต่ความรุนแรงมันเห็นๆ เรามีภาพที่ดินแดงตำรวจถือก้อนหินขว้างใส่ผู้ชุมนุม มันจะไม่มีความผิดเกิดขึ้นเลยเหรอ หรือการใช้รถน้ำฉีดน้ำสีที่ผสมเคมีเกินส่วนใส่ผู้ชุมนุมไม่มีเลยเหรอที่การตรวจสอบย้อนหลังแล้วเจอวันมันผิดปกติ” และพัชร์ยังยกตัวอย่างกรณีที่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะต้องใส่เครื่องแบบ 

ตำรวจที่เข้าปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส เมื่อ 31 ต.ค.2564  (ภาพโดย แมวส้ม ประชาไท)

ภาพชายที่ใช้อาวุธปืนยิงปะปนอยู่ในกลุ่มตำรวจควบคุมฝูงชน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2565 (ภาพโดย แมวส้ม ประชาไท)

“ความผิดปกติเกิดขึ้นตั้งเยอะแต่เราไม่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษหรือได้รับรู้เลยว่ามีการลงโทษปลดออกไล่ออกหรือแม้กระทั่งการลงโทษทางวินัยทุกอย่างเงียบ”

พัชร์มีความเห็นต่อกลไกตรวจสอบของศาลว่าในขณะที่ยังไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกลงโทษแต่คดีการชุมนุมทางการเมืองหลายคดีที่ไปถึงศาลแล้วซึ่งเป็นเพียงคดีที่รัฐจะไปลงโทษผู้ชุมนุม แต่การจะตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายกลับยังไม่มี คดีที่ผู้ชุมนุมฟ้องกลับก็มีจำนวนน้อยมาก เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็แค่คดีสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อ 17 พ.ย.2563 ที่มีอยู่ในศาลแพ่งกับศาลปกครอง ทั้งที่มีคนได้รับผลกระทบเยอะมากแต่คนฟ้องกลับไม่มี ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ตัดอำนาจศาลปกครองด้วย

อย่างไรก็ตาม พัชร์ยังเห็นว่าในส่วนขององค์กรอสิระยังมีหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบอยู่บ้างเหมือนกันและทำรายงานออกมาค่อนข้างดีคือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เช่นในกรณีเหตุการณ์ที่ดินแดง กสม.ก็มีการลงไปตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ กสม.นอกจากการเสนอรายงานแล้วเขาก็ไม่ได้มีอำนาจอะไร แล้วการทำงานของ กสม.ก็ยังขึ้นอยู่กับกรรมการแต่ละชุดด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็น กสม. ปปช. หรือผู้ตรวจการแผ่นดินมีบทบาทน้อยในการตรวจสอบ

“กลุ่มที่กระตือรือร้นจริงๆ ในความพยายามตรวจสอบการใช้กำลังเข้าเจ้าหน้าที่คือภาคประชาสังคม”

ทางออกก็ยังต้องแก้กฎหมาย แต่ต้องถูกตรวจสอบมาตรฐานจากกลไกระหว่างประเทศเพิ่ม

พัชร์มองว่ายังต้องมี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะอยู่และเป็นเรื่องดีที่มีแต่ก็ต้องแก้ไขเนื้อหากฎหมายที่ยังเป็นปัญหาด้วยในหลายๆ จุด แต่เรื่องแรกและสำคัญที่สุดคือกฎหมายเองต้องมีสมมติฐานก่อนว่าการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการชุมนุมจะสงบ

“มันจะเป็นคุณกับผู้ชุมนุมคือผู้ชุมนุมไม่ต้องพิสูจน์ว่าการชุมนุมสงบอย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐต้องพิสูจน์ว่าคนที่จะมาชุมนุมไม่สงบอย่างไร คุณต้องสันนิษฐานไว้ก่อนเลยคุณมาโดยสงบและรัฐจะต้องเข้าไปดูแลคุณ ยกเว้นแต่รัฐมีหลักฐานว่าคุณเตรียมการมาก่อความชุลมุนวุ่นวายไม่สงบ”

เรื่องถัดมาที่ต้องแก้ไขคือกลไกการตรวจสอบความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการใช้กำลังนอกเหนือไปจากการตรวจสอบว่าทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าศาลไม่ทำก็ต้องบังคับให้ศาลเข้ามาตรวจสอบเพราะเดิมไม่มีเรื่องนี้ระบุในกฎหมาย

พัชร์ชี้ว่าตอนนี้ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ตาม ICCPR แต่ถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องดีเพราะผลที่จะเกิดขึ้นคือคดีต่างๆ ที่ศาลตัดสินแล้วสามารถส่งไปต่อที่คณะกรรมการประจำของ ICCPR ได้แล้วเขาจะตั้งกลไกที่คล้ายศาลขึ้นมาทบทวนคำตัดสินนั้นว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่

“ลองมีกลไกแบบนี้เกิดขึ้นแล้วศาลไม่ตัดสินตามมาตรฐานสากลสิ ก็จะเห็นเลยว่าศาลเราไม่ได้ยึดถือตามมาตรฐานสากล”

พัชร์ยกตัวอย่างกรณีเบลารุสที่ให้สัตยาบรรณพิธีสารเลือกรับนี้ไว้ ที่ถึงแม้ตัวเขาเองจะไม่รู้ว่ารัฐบาลเบลารุสที่เป็นรัฐเผด็จการมีแรงจูงใจอะไรที่ไปให้สัตยาบรรณไว้ แต่เมื่อให้สัตยาบรรณเข้าร่วมไปแล้วเมื่อคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมขึ้นไปจบที่ศาลสูงของเบลารุสแล้วก็ถูกส่งต่อไปให้คณะกรรมการของ ICCPR ทบทวนจนสุดท้ายกลายเป็นบรรทัดฐาน จนทำให้คณะกรรมการนี้มีคดีจากเบลารุสเต็มไปหมดเลย หรือกระทั่งรัสเซียเองก็ยังให้สัตยาบรรณไว้เหมือนกันและยังไปเข้าร่วมกับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปด้วยทำให้เวลาตำรวจใช้อำนาจขัดกับมาตรฐานสากล

นอกจากนั้นพัชร์ยังเห็นว่าการวางแนวคำพิพากษาของศาลเองก็เป็นเรื่องสำคัญในการวางกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากคดีที่ผู้ชุมนุมฟ้องเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ในคดีที่ผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีศาลเองก็วางหลักที่ก้าวหน้าได้ เช่นเรื่องกรณีที่ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ที่ปกติจะมองจากพฤติกรรมของผู้ชุมนุมเป็นหลัก แต่ถ้าศาลมาพิจารณาความได้สัดส่วนการวางมาตรการของเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้เห็นว่าศาลไม่สามารถลงโทษผู้ชุมนุมได้เพราะการวางมาตรการของเจ้าหน้าที่ไม่ได้สัดส่วนตั้งแต่แรก แต่พัชร์ก็ยังเห็นว่าการที่ประชาชนมีช่องทางในการฟ้องคดีด้วยแต่ที่มีอยู่ตอนนี้มันมีน้อย

ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่จำเป็นต้องมาชุมนุม

“ถ้าผู้ชุมนุมเข้ารวยเขาไม่ไปชุมนุมหรอก เขาไปใช้สื่ออย่างอื่นกดดันจริงปะ เขาลงไปชุมนุมเพราะมันเป็นเครื่องมือที่เบสิคมากๆ แล้วคนพวกนี้เหรอจะมาเสียเวลากับศาล”

“ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วกลไกของระบบมันทำงานต้นทุนในการวิ่งไปหาพรรคการเมืองแล้วขอให้ช่วยอะไรแล้วพรรคการเมืองช่วยดันเข้าสภาน้อย มันจะง่ายกว่ามาชุมนุมสาธารณะ”

พัชร์ยกตัวอย่างกรณีสวิสเซอร์แลนด์ที่ประชาชนเองสามารถใช้กลไกในท้องถิ่นและง่ายที่จะไปหาผู้แทนของตัวเองว่าต้องการอะไรมากกว่าที่จะไปจัดชุมนุมสาธารณะ ส่วนการชุมนุมสาธารณะก็จะเป็นเรื่องระดับประเทศหรือเรื่องระหว่างประเทศ หรือประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียร์ก็ไม่ค่อยมีการชุมนุมใหญ่ๆ เหมือนกัน

ส่วนประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบกลางๆ ยังต้องมีต้นทุนในการลงไปชุมนุมบนถนนเพื่อสนับสนุนญัตติเข้าไปในสภายังจำเป็นและสำคัญ อย่างเช่นในอังกฤษ ที่มีการชุมนุมเพื่อผลักดันประเด็นเข้าไปในสภาและเป็นเรื่องระดับระหว่างประเทศ การชุมนุมจึงยังจำเป็นตามระบอบประชาธิปไตย

“เป็นประชาธิปไตยมากไม่ต้องมีการชุมนุมก็ได้ แต่ถึงมีประชาธิปไตยการชุมนุมก็เป็นส่วนเสริมอยู่ดี หรือถ้าผู้แทนไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนมีตัวเลือกอื่นมั้ยระหว่างที่อยู่ในรอบของการเลือกตั้ง ก็ลงถนนไม่งั้นจะให้ไปไหน” พัชร์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net