Skip to main content
sharethis
  • วงถกกระจายอำนาจแบบไหน ร่วมกันสร้างสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เสนอสวัสดิการพิเศษให้ผู้ปกครองกลุ่มเปราะบาง ย้ำนโยบาย พมจ.ยกระดับสวัสดิการเด็กทั่วถึงและครอบคลุม ท้องถิ่น ระบุ มีอำนาจแต่ระเบียบไม่เอื้อ พ้อ นโยบาย “กระจายอำนาจทิพย์” มาแต่ชื่อไม่มีงบ
  • 'ก้าวไกล' เร่งใช้กลไกรัฐสภา ผลักนโยบายเด็กเล็กถ้วนหน้า 'ประชาชาติ' เตรียมผลักดันกฎหมายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 'ภูมิใจไทย' พร้อมยกมือโหวตสนับสนุน

 

2 พ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วันนี้ (2 พ.ย.) คณะทำงานสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า จัดเวทีนำเสนอข้อมูลและเสวนา  ในประเด็น  “กระจายอำนาจแบบไหน ร่วมกันสร้างสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ณ ห้องประชุมติณสูลานนท์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา โดยช่วงแรกเป็นเวทีเสวนา“เสียงสะท้อนจากชุมชน ผลกระทบจากการไม่มีสวัสดิการถ้วนหน้า”

ข้อมูลวิจัยชี้ชัด เด็กชายแดนใต้มีภาวะขาดสารอาหาร

โซรยา จามจุรี ประธานคณะกรรมกาศูนย์ประสานงานด้านเด็ก และสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) / ม.อ.ปัตตานี  ได้นำเสนอสถานการณ์ของเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่าปัญหาของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ คือ ภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากความยากจนและเข้าไม่ถึงสวัสดิการ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี  มีภาวะเตี้ยแคระแกรน และส่วนสูง น้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอในช่วงแรกของชีวิตเป็นเวลานานและมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง  นอกจากนี้ ผู้เป็นแม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ต้องรับภาระหนักเนื่องจากมีลูกหลายคน ฐานะยากจน และยังมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่

“นโยบายสวัสิดการเด็กเล็กถ้วนหน้าจึงจำเป็นเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับแม่ การลงทุนในเด็กเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เป็นสิทธิที่เด็กๆควรจะได้รับ” ประธานคณะกรรมกาศูนย์ประสานงานด้านเด็กฯ กล่าว

สวัสดิการเด็กเล็กช่วยแก้ปัญหาเด็กในสังคมได้

มังโสด หมะเต๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติวิทย์ อ.จะนะ จ.สงขลา  ปัญหาของเด็กในพื้นที่มีหลากหลายมาก มีทั้งเด็กที่มีพ่อแม่ดูแล และเด็กที่ขาดพ่อแม่ และเห็นว่า สวัสดิการ 3,000  บาท ไม่ใช่ภาระของประเทศ หรือมากเกินกว่าที่รัฐบาลจะสนับสนุน  หากเด็กที่ขาดให้เค้าใช้ชีวิตสังคม จะเป็นการสร้างอาชญากรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้

ท้องถิ่น ระบุ มีอำนาจแต่ระเบียบไม่เอื้อ

ย๊ะย่า ศรีอาหมัด นายกเทศมนตรีตำบลคูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา   กล่าวว่า ท้องถิ่นเกือบทุกแห่งมีปัญหาเรื่องไม่มีระเบียบเบิกจ่ายงบประมาณ อย่างกรณีการกระจายอำนาจด้านการศึกษา แม้จะมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการศึกษา  แต่ขาดงบประมาณดำเนินการ มีแต่อำนาจ

“ประชาชนลำบาก บางครอบครัวไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เทศบาลไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้  ระเบียบไม่เปิดให้เราดำเนินการ  เช่น ระเบียบบอกว่าให้เราช่วยเหลือได้ครั้งละ ไม่เกิน 3,000  บาท ซึ่งเงินแต่นี้ไม่สามารถทำอะไรได้”

นายกเทศมนตรีตำบลคูเต่า  กล่าวต่ออีกว่า แนวทางแก้ปัญหาคือ ต้องมีการจัดสวัสดิการให้ครอบคลุม ในทุกส่วนของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย  เงินงบประมาณ 3,000 บาท  เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก หากเทียบว่าจะทำให้เด็ก โตมาอย่างมีคุณภาพ

เสนอสวัสดิการพิเศษให้ผู้ปกครองกลุ่มเปราะบาง            

จุฑารัตน์ สถิรปัญญา รองศาสตราจารย์จากสาชาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    กล่าวว่า  สวัสดิการของเด็กเป็นสิ่งที่สังคมต้องเตรียมไว้ให้เด็ก คณะทำงานมีการเก็บข้อมูลแบบย่อส่วน ฉายให้เห็นภาพผู้ดูแลเด็กที่เป็นคุณแม่ รับหน้าที่เป็นแม่บ้าน รับจ้าง ค้าขาย พ่อทำประมง  อาชีพอื่นจะน้อย ศาสนาอิสลาม 70.1 เปอรืเซนต์  หนี้สินครัวเรือน 71 %  ในส่วนการได้รับเงินอุดหนุน อยู่ที่ 89 %  11 % ไม่ได้รับ โดยแบ่งเป็นอยู่ระหว่างดำเนินการ 6 เปอร์เซ็นต์  มี 1 เปอร์เซ็นต์ที่มีรายได้เกิน   ซึ่งรายจ่ายเกี่ยวกับเด็กของครอบครัวส่วนใหญ่จะเป็นค่าอาหารเด็ก

นอกจากนี้ จุฑารัตน์ กล่าวเพิ่มเติม ถึงข้อเสนอของผู้ปกครองต่อรัฐบาล ในการดูแลเด็กปฐมวัย ว่า ขอให้มีสวัสดิการเรียนฟรีตั้งแต่ประถมถึงปริญญาตรี ในที่นี้รวมถึงชุด อุปกรณ์ ต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้มีคุณภาพ  พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าถึงได้ รวมถึงมีสวัสดิการพิเศษสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มเกราะบางด้วย

จากนั้นเป็น เวทีเสวนา “กระจายอำนาจแบบไหน ร่วมกันสร้างสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”  

ย้ำนโยบาย พมจ.ยกระดับสวัสดิการเด็กทั่วถึงและครอบคลุม

วิไลวรรณ  สุวรรณรักษา  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสงขลา  กล่าวว่า ในจังหวัดสงขลา มีเด็ก 0-6 ปี ที่พมจ.ต้องดูแลประมาณ 185,000 คน ได้รับสิทธิตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 90,000 กว่าคน ส่วนที่เหลือจะมีทั้งที่อยู่ระหว่างจัดการข้อมูล และเปลี่ยนผู้ปกครองที่ดูแล พม.ตั้งเป้าว่าจะพยายามยกระดับสวัสดิการเด็กแรกเกิดให้ทั่วถึงและครอบคลุม สามารถตรวจสอบได้ และยกระดับศูนย์อนุบาลเด็กประถมวัยที่เป็นของรัฐ มีทั้งหมด 29 ศูนย์ ซึ่งรวมไปถึงการดูแลเด็กที่ไร้สัญชาติด้วย

ท้องถิ่น พ้อ นโยบาย “กระจายอำนาจทิพย์” มาแต่ชื่อไม่มีงบ

วิศาล จิรภาพพงษ์พันธ์ รองนายกเทศมนตรีนครยะลา  กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของเทศบาลนครยะลา แบ่งเป็น 2 ส่วน ในเรื่องการรวบรวมข้อมูล คือการรับหน้าปัญหาต่าง ๆจากประชาชน ส่วนที่ 2 ในเรื่องของศูนย์เด็กเล็กที่มีทุกมุมเมือง จะมีปัญหาเรื่องการสรรหาครูพี่เลี้ยงมืออาชีพที่หาค่อนข้างยาก รวมไปถึงครูพี่เลี้ยงที่ดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งมีส่วนของระเบียบต่าง ๆ ทำให้จ้างไม่ได้  ส่วนกรณีการกระจายอำนาจเช่นเดียวกับอบต.คูเต่า คือมีอำนาจแต่ไม่มีงบประมาณ หรือบางเรื่องมีงบประมาณแต่ไม่มีอำนาจ

การสร้างทรัพยากรบุคคลที่สำคัญคือการพัฒนาเด็กตั้งแต่ 0-6 ปี  ไม่ควรจำกัด การใช้รายได้เป็นตัวตั้งสามารถทำได้ แต่นโยบายนี้ควรจะถ้วนหน้า ในฐานะท้องถิ่นการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ แต่ส่วนกลางต้องเอื้อด้วย

สอดคล้องกับ เทศบาลหาดใหญ่ พล.ต.ท.สาคร ทองมณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่  กล่าวว่า ในเรื่องของการกระจายอำนาจ ส่วนกลางไม่ได้กระจายจริงเหมือนที่เทศลาลยะลานำเสนอ ให้แต่อำนาจแต่ไม่ให้งบประมาณ  ทั้งนี้ การกระจายอำนาจควรจะให้ท้องถิ่นคิดเอง ลงมือทำเอง รัฐส่วนกลางสนับสนุนงบประมาณ

สำหรับในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่  มี 6 ศูนย์ ที่มีน้อยเพราะต้องบริหารจัดการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม นครเทศบาลหาดใหญ่ไม่ได้ทอดทิ้งเด็กในส่วนอื่น เช่น ส่วนเด็กๆชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนแออัด ซึ่งยอมรับว่าเด็กๆเหล่านี้ยังมีที่ตกหล่นจากสวัสดิการต่าง ๆ  เทศบาลพยายามเข้าไปดูแลจัดกิจกรรมให้ ประสานคนในพื้นที่ให้สอนเด็กให้สามารถ อ่านออกเขียนได้

จรัส ชุมปาน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษชำนาญการด้านพัฒนาสังคม อบจ.สงขลา  กล่าวเสริมว่า  การดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ อบจ. ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ แต่ติดที่ระเบียบงบประมาณในการจ่ายเงิน ที่ไม่สามารถทำได้

ก้าวไกล เร่งใช้กลไกรัฐสภา ผลักนโยบายเด็กเล็กถ้วนหน้า

เดชรัต สุขกำเนิด  ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล นำเสนอ 5 ประเด็นที่เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลกรณีนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า   ดังนี้  1.นโยบายให้แบบถ้วนหน้า เพราะหากไม่ให้เพื่อแก้ปัญหาการตกหล่น  2.ส่วนที่จะเพิ่มขึ้นจาก 600 บาท ในเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 1,200  บาท ที่จะสามารถทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเงินจำนวน 3,000 บาท จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก แต่ต้องยอมรับว่าต้องใช้งบประมาณมากขึ้นด้วย 3. การดูแลหลังการคลอดโดยขยายวันลาจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ส่วนแม่ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีรายได้จะได้เงินจากรัฐหลังคลอดจำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน  รวมถึงจะได้กล่องของขวัญ 3,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าที่ต้องการ 4. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  เสนอให้งบประมาณท้องถิ่นพิจารณาขยายการดูแลเด็กของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งท้องถิ่น อบต.เทศบาล สถานรับเลี้ยงเด็กของชุมชน  โดยรวมทั้งประเทศประมาณ 20,000 ล้านบาท  รวมถึงอาหารของเด็กจะเพิ่มให้อีก 9 บาท/คน โดยส่วนอาหารนี้ขอให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน  รวมถึงการสนับสนุนค่าเดินทาง-รับส่งเด็กนักเรียนในพื้นที่ด้วย  ในด้านความรู้สำหรับเด็กสนับสนุนให้ 1,000 บาท/คน/ปี สำหรับเด็กเล็ก  1,500 บาท/คน/ปี สำหรับเด็กโต และ 2,000  บาท/คน/ปี สำหรับเยาวชน  ทั้งหมดนี้เป็นวงเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท

เดชรัตน์ กล่าวอีกว่า กรณีการผลักดันนโยบายนี้ในส่วนสภาผู้แทนราษฎร อาจจะผลักดันผ่านการพิจารณากฎหมายงบประมาณ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ  และการผลักดันกระจายอำนาจ เรื่องของกฎ ระเบียบ งบประมาณ และจัดตั้งกรรมาธิการเพื่อเข้ามาดูแลประเด็นดังกล่าว

ประชาชาติ เตรียมผลักดันกฎหมายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ โฆษกพรรคประชาชาติ  กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ  พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐต้องดูแลและพัฒนาเด็กก่อนเข้ารับการศึกษา แต่จะทำอย่างไรให้เป็นนโยบายที่นำไปปฏิบัติได้  ทั้งนี้จากข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมเสวนาได้นำเสนอในเวที ปัญหาอยู่ที่งบประมาณ และระเบียบต่าง ๆ  ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ทำให้รัฐบาลนำไปเป็นนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าให้ได้ แต่เงินจะจำนวนเท่าใดเป็นเรื่องของวิธีการ ดังนั้นพรรคประชาชาติ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันพระราชบัญญัติสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

ภูมิใจไทย พร้อมยกมือโหวตสนับสนุน

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ พรรคภูมิใจไทย  กล่าวว่า ที่จริงแล้วพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า แต่ก็ได้ติดตามการทำงานมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาเนื่องจากไม่ได้ให้แบบถ้วนหน้า จึงยังมีเด็กที่ตกหล่นไมได้รับเงิน อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ทุกคนได้อย่างทั่วถึงยังมีข้อจำกัด  ทั้งนี้ การดำเนินการของพรรคภูมิใจไทย ยินดีจะสนับสนุนและผลักดันให้เกิดนโยบายนี้ได้  รวมถึงการมีนโยบายเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net