Skip to main content
sharethis

เพนกวิน พริษฐ์ และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ร่วมกันถกเสวนา หัวข้อ "การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนากับอำนาจส่วนกลาง" ในงาน “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” เชียงใหม่ เปิดประเด็นทำไมผู้มีอำนาจถึงไม่ชอบคำว่า "กระจายอำนาจ" และประวัติศาสตร์ชาตินิยมแฟนตาซี บาดแผลจากแผลเก่า ร.ศ. 112, แผลเก่าสงครามเย็น และแผลใหม่สงครามเย็นเทียม 

 

30 มิ.ย. 2566 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา เวลา 12.30 – 17.00 น. 'คณะก่อการล้านนาใหม่' จัดกิจกรรมเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ - กระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ” ขึ้นที่โรงแรมไอบิสสไตล์ จ.เชียงใหม่ ภายในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อ "การต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ล้านนากับอำนาจส่วนกลาง" โดยเพนกวิน-พริษฐ์ ชีวารักษ์ และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ทำไมผู้มีอำนาจถึงไม่ชอบคำว่า "กระจายอำนาจ" หรือ "จัดการตัวเอง" 

ภิญญพันธุ์ : คนเราเห็นต่างได้ไม่มีปัญหาแต่ควรเห็นต่างบนฐานข้อมูล ตอนนี้คนจำนวนมากโดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังถกเถียงกันอยู่บนฐานประวัติศาสตร์ ขอใช้คำว่า "ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแฟนตาซี"

พริษฐ์: คำตอบของตนเป็นเรื่องของอดีตกับปัจจุบัน ประการที่หนึ่ง ถ้าเคยอ่านหนังสือชื่อประวัติศาสตร์ไทยโดยสังเขป ของเดวิด เค ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทยที่ล่วงลับไปแล้ว เดวิด เค ชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยตั้งต้นมาจากการรวมศูนย์อำนาจเรื่อยมา อธิบายถึงประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการที่มีเมืองหลวงแล้วก็จะมีหมู่บ้าน หมู่บ้านควบรวมกันกลายเป็นตำบลขึ้นมาเป็นเมืองแล้วก็กลายมาเป็นอาณาจักร

ทิศทางของอาณาจักรต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแนวโน้มดึงอำนาจเข้าเมืองหลวงอยู่ตลอด ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวต่างชาติ ยังไม่ต้องพูดถึงเชียงใหม่เอาใกล้ๆ อย่างเช่น บันทึกว่าด้วยเมื่อเดินทางมาถึงเมืองสุพรรณบุรี ไม่มีอะไรเลยเป็นเมืองที่เงียบสงบ แต่ในขณะที่มาถึงอยุธยาในบันทึกว่าสวยงามมากเลย และเมื่อเวลาผ่านไปประวัติศาสตร์ของการดึงอำนาจเข้าเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ เมืองหลวงโตเดียวขึ้นเรื่อย ๆ ผู้มีอำนาจอาจจะเข้าใจว่าอำนาจจะมั่นคงได้ต้องเป็นไปในทิศทางนี้ตลอด จนลืมข้อเท็จจริงบางอย่างไปว่า

"ในสมัยศักดินาโดยเฉพาะก่อนที่จะมีการวางระบบราชการสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อำนาจทางการเมืองของส่วนกลางสูงขึ้น ก่อนนั้นฝ่ายอำนาจจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมาถามเมืองหลวงทุกเรื่อง เป็นเรื่องปกติ ทางประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเฉพาะด้านที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจเพียงอย่างเดียว สมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ได้มาเจ้ากี้เจ้าการกับเจ้าเมืองเจ้าเมืองหน่วยย่อยต่างๆ กรุงศรีอยุธยามีบทบาทเพียงการสนับสนุน" พริษฐ์ กล่าว

ประการที่สอง "ประวัติศาสตร์จินตนาการ" ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของอดีตเสียทีเดียว ประวัติศาสตร์ถ้าไม่มีใครเล่าต่อก็จะไม่กลายเป็นประวัติศาสตร์ เวลาเราเล่าเราจะใส่หลักฐานอะไรประกอบมักจะมีจินตนาการมีความคิดเห็นของผู้เล่าต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งการเขียนประวัติศาสตร์แบบไทยๆ หลายที่เขาไม่ได้ใช้กันแล้ว เนื่องจากเป็นการเขียนประวัติศาสตร์โดยมีสมมุติฐาน ก่อนรัฐธรรมนูญไทยเขียนเอาไว้ว่าประวัติศาสตร์ไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดความพยายามในการอธิบายว่าคนไทยที่อยู่ในขอบเขตเส้นเขตแดนเดียวกัน พูดภาษาไทยเหมือนกันหมด ปัจจุบันมีเมืองหลวงตรงกลางสั่งการ เข้าใจว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยอดีต พอคนเรามีจินตนาการว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยคนคนเดียว ประวัติศาสตร์แบบนี้กลายเป็นฉบับหลักไปแล้ว และถูกรักษาสถานะเป็นอันศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้น เมื่อนำเสนอเรื่องราวที่ดูขัดกับหลักการนี้มีตัวละครอื่น ดูจะท้าทายกับแนวเรื่องที่ได้เรียนมาตั้งแต่ตอนเด็กก็จะทำให้รู้สึกดิ้นรนไม่ไหว แต่กระตุ้นต่อมบางอย่างที่ประวัติศาสตร์ขวา - รวมศูนย์ ให้คนที่อินที่เรียนบางกลุ่มรู้สึกรับไม่ได้ ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง สิ่งนี้คือความกลัว

เมื่อรัฐขับเคลื่อนด้วยความกังวล ความกลัวในเรื่องของการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเพราะรัฐมองว่าทุกอย่างต้องอยู่กับส่วนกลาง ทั้งตัวประวัติศาสตร์ที่เล่ามาจากศูนย์กลางอย่างไร้รอยต่อ เป็นเส้นตรงมาเรื่อย ๆ 

ภิญญพันธุ์: ขอขยายความเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมแฟนตาซี เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์เราจะพูดประวัติศาสตร์ในแง่มุมของความเป็นเหตุเป็นผล การคุยแง่ของเหตุและผลในโลกทุกวันนี้ ไม่ค่อยมี พากันไปด้วยอารมณ์ต่างๆ สุดท้ายมันนำไปสู่ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง เรียกว่าการเผชิญหน้าอะไรกันก็แล้วแต่ถ้าเราสามารถอธิบายได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานี้คืออะไร เป็นอย่างไร ผ่านกรอบความกลัวของรัฐและฝ่ายที่สนับสนุนความคิดแบบขวาของรัฐ จะขออธิบายผ่านสิ่งที่เรียกว่า 3 บาดแผล ได้แก่ แผลเก่า ร.ศ. 112, แผลเก่าสงครามเย็น และแผลใหม่สงครามเย็นเทียม

หนึ่ง ร.ศ. 112 คือ การเสียดินแดนที่รัฐพยายามอธิบายในสมัยสมบูรณ์และอาญาสิทธิราชย์ รูปประธรรมที่ชัดเจน คือการเสียดินแดนที่คนยุคหลังเห็น ทำให้เกิดการหวาดกลัวชาติตะวันตกพวกฝรั่ง เป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า ชาติเราไม่สามารถสู้กับฝรั่งได้ การเสียอวัยวะเพื่อแบ่ง เพื่อรักษาชีวิตนั่น ก็คือการแบ่งดินแดน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัญหากับฝรั่ง ซึ่งคนยุคผมก็ทันคือช่วงวิกฤตฟองสบู่แตก การโจมตีของพ่อมดการเงินจอร์จโซลอส IMF ทุกวันนี้จอร์จโซลอสยังถูกนำมาเล่าว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงของฝ่ายสื่อประชาธิปไตย นี่คือพลังของบาดแผลอันนี้กับปรากฏการณ์จริงๆ ที่มันเกิดขึ้น บาดแผลของร.ศ. 112 ฝังอยู่ในความทรงจำ เพราะสิ่งเหล่านี้มันอยู่ในแบบเรียน มีเรื่องอื่นอีกที่ถูกบันทึกแต่ไม่ถูกเล่าหรือหรือห้ามเล่า เส้นเหล่านี้เป็นเส้นเรื่องหลักที่เราเข้าใจ แต่ในเหตุการณ์จริงมันมีหลายๆ อย่างเกิดขึ้น สยามเผชิญหน้ากับอังกฤษ สยามสูญเสียดินแดนหัวเมืองมลายูให้กับอังกฤษ สยามสูญเสียดินแดนตะวันออกให้กับฝรั่งเศส ในความจริงแล้วใครกันแน่ที่เสียดินแดน คนเสียดินแดนจริงๆ คือเจ้าประเทศราช เรื่องเล่าหลักเหล่านี้มันทับเรื่องเล่ารอง อย่างกบฏ ร.ศ. 121 ช่วงพ.ศ. 2445 หลังปฏิรูปปี พ.ศ. 2442 ได้ 3 ปี คือความไม่พอใจที่รัฐเข้ามาจัดการบริหารประเทศ แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในกระแสหลักไม่ถูกบันทึกในแบบเรียนแน่นอน เป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีใครเกิดทัน

สอง คือบาดแผลช่วงสงครามเย็น ในระดับที่พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายของเราเล่าได้ คือการปะทะกันระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ความน่ากลัวของมันคือการที่ลาวเขมรเวียดนามแตกถูก domino communicate จุดที่กลัวมากที่สุด คือจุดที่ชนชั้นนำโดยเฉพาะชนชั้นกลางไทยกลัวคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดง ซึ่งคือการสิ้นชาติ ในความหมายหนึ่งการถูกยึดครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ความกลัวอย่างเดียว แต่เกิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง ตอนนี้ฝ่ายขวาบางคนคือคอมมิวนิสต์เดิม ที่ได้เขียนข่าวโจมตีคนที่เคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันยังไปเชียร์จีนซึ่งเขายังยึดวิธีคิดแบบอยู่ในสงครามเย็น

"สาม แผลใหม่สงครามเย็นเทียมผมอยากจะนับตั้งแต่ปลาย 2540 ที่ฝ่ายขวาพยายามดึงอุดมการณ์ทางราชาชาตินิยมเข้ามา พยายามโจมตีพรรคไทยรักไทย พยายามที่จะปั่นข้อมูลต่างๆ เพื่อจะโจมตีจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2557 ซึ่งเข้มข้นมาก มาผสมกันสร้างความหวาดกลัวว่าประเทศไทยจะสูญสิ้นความเป็นไทยแบบเดิม ที่เป็นรูปประธรรมอย่างหนึ่งก็คือผังล้มเจ้าในช่วงปี พ.ศ. 2553 ซึ่งตอนท้ายไก่อู (พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด) ก็สารภาพว่าไม่มีมูลความจริง" ภิญญพันธุ์ กล่าว

ประวัติศาสตร์แฟนตาซีเกิดขึ้นมาจากพอร์ตเรื่องเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็มากับสื่อมวลชนฝ่ายขวาที่ปั่นข่าวข้อมูล เพื่อเล่าประวัติศาสตร์แบบที่เขาจินตนาการสร้างความกลัวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์รู้สึกนึกคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบที่เราเห็น

พริษฐ์: เรื่องที่หนึ่ง การที่ตนพูดคำว่า "รัฐไทย" ในที่นี้ ตนไม่เอาประชาชนเข้ามาอยู่ในสมการ แค่อำนาจการปกครองของชนชั้นนำพูดด้วยกัน แปลว่าเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์อำนาจคือชนชั้นปกครอง มีแนวโน้มที่จะรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ลพบุรี อู่ทองรวมอำนาจกันมาตั้งอาณาจักรอยุธยา พระบรมไตรโลกนาถก็มีการรวมอำนาจขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งสมัยพระนเรศวร, พระเจ้าปราสาททอง จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ โดยใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้อำนาจกับพระราชวัง หรือราชสำนักหรือรัฐบาลกลาง เทรนแบบนี้ยังไม่เคยมีการพลิกอย่างมีนัยยะสำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีการต่อสู้ของภาคประชาชนมาเรียกร้องการกระจายอำนาจบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด

เทรนการรวมศูนย์ของรัฐไทยมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เทียบกับรัฐเวียดนามในตอนหลังจากผ่านพ้นอาณานิคมฝรั่งเศสผ่านพ้นสงครามเวียดนามมา ประเทศเวียดนามอันเกิดมาจากการปฏิวัติ จากการต่อสู้ของคนโฮจิมินทร์เป็นแกนนำและจากหลายส่วน รวมถึงชนกลุ่มน้อยต่างๆ เวียดนามมีหลายชาติพันธุ์ สาเหตุสำคัญที่สามารถปฏิวัติสำเร็จได้เพราะชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เอาด้วย ชนกลุ่มน้อยในเวียดนามเขาอยู่เป็นจังหวัดของเขาเอง เป็นแคว้นของเขา ทั้งที่เวียดนามเป็นรัฐเผด็จการคอมมิวนิสต์แท้ๆ แต่การกระจายอำนาจเต็มเปี่ยม สามารถเลือกผู้ปกครองโดยที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ตัวชี้วัดก็คือในพื้นที่ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้นำผู้บริหารก็จะเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย ไม่มีการแต่งตั้งคนจากฮานอยเข้าไป

"เมืองไทยไม่เคยเป็นรัฐที่พลิกผันอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อให้ผ่านการปฏิวัติ 2475 มาก็ยังไม่เปลี่ยนผ่านเสียทีเดียว ไทยยังผูกขาดอยู่กับอำนาจของชนชั้นปกครอง คนก็เลยคิดว่าการรวมศูนย์อำนาจเป็นหัวใจของรัฐไปด้วย ขณะที่รัฐอื่นๆ มีความหลากหลายและกระจายอำนาจกัน เขาก็อยู่กันได้ก็ไม่เห็นว่าประเทศจะแตกสลาย ถ้าจัดการกันดีๆ จะเห็นได้ว่าการที่รัฐยังรวมศูนย์อยู่นาน เพราะว่าอำนาจมันยังกระจุกกับฝ่ายจารีต แต่ถ้าอำนาจมันกระจายกับประชาชน เอานิยามรัฐไทยเท่ากับประชาชนไทย เท่ากับประชาชาติไทย ผมคิดว่าการกระจายอำนาจไม่เป็นประเด็นเลยเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนจะมีอำนาจ" พริษฐ์ กล่าว

เรื่องที่สอง ประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยจินตนาการไว้เป็นเส้นเดียวมาตลอดว่าคนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ความจริงก็คือประวัติศาสตร์สามารถขีดเส้นประวัติศาสตร์ได้มากกว่า 1 แบบ ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรง เป็นไปได้ไหม ถ้าจะอธิบายประวัติศาสตร์ว่าเกิดจากท้องถิ่นเล็กๆ หลายๆ ท้องถิ่น แล้วค่อยขยายเติบโตมาเป็นหน่วยการเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นอาณาจักรเป็นรัฐอะไรก็ว่ากันไป ทำให้เห็นแขนงที่มารวมกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เส้นเรื่องล้านนาก็มีล้านช้าง ก็มีอีกเส้นนึงมาฟั่นกันเป็นเกลียวกลายเป็นรัฐไทยในยุคสมัยใหม่ เห็นชาติในอีกแบบหนึ่ง ชาติที่มีความหลากหลายและทุกคนสามารถที่จะเป็นตัวเองได้ในส่วนนี้

ถ้าพูดว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นเส้นเดียว ก็จะทำให้เห็นว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน มีการรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง ขนาดยุคประวัติศาสตร์เรายังเรียกตามชื่อยุคเมืองหลวงว่าสุโขทัย อยุธยา ธนบุรีรัตนโกสินทร์ เรียนประวัติศาสตร์มา ก็จะรู้ว่ามันไม่ตรงตามหลักการเรียนวิชาประวัติศาสตร์สักเท่าไหร่ 

ในช่วง 40 - 50 ปีที่ผ่านมา มีกระแสฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา รณรงค์ให้ใส่หม้อห้อม เดิมทีมีความพยายามที่จะไม่พูดถึงล้านนามีเพียงในแบบเรียนสั้นๆ ว่าเป็นชื่อเก่าของมณฑลพายัพภาคเหนือ ในปัจจุบันนี้ได้รวมเป็นแผ่นดินไทยแล้ว แต่พอกระแสการพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมันยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และไทยเมื่อไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ได้ของล้านนาของท้องถิ่น เพราะว่ากระแสสำนึกขยายตัวก็จำเป็นต้องหาอะไรบางอย่างมาตรึงเป็นมุดยึดโยงท้องถิ่นเข้ากับส่วนกลาง ถ้าเป็นทางเหนือก็คือพยายามกล่าวถึงว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปในที่ต่างๆ ทางเหนือ จากนั้นก็ตามไปสร้างอนุสาวรีย์ เพราะคำว่าท้องถิ่นมีสถานะรองอยู่ในตัว ต้องมีส่วนกลางก่อนถึงจะมีท้องถิ่นได้ แล้วมันก็ต้องสร้างอะไรสักอย่างเพื่อตอกย้ำสถานะว่าใช่ท้องถิ่น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของรัฐที่มันใหญ่กว่าผ่านอนุสาวรีย์พระนเรศวร

คำว่า “ล้านนา” แปลว่าอะไร ร้อยทั้งร้อยตอบว่าล้านนาคือภาคเหนือตอนบน มีแนวโน้มที่ว่าอดีตจะต้องเป็นเหมือนปัจจุบัน เป็นการสื่อโดยนัยว่าเราจะพิจารณาถึงล้านนาได้ก็ต่อเมื่อต้องพิจารณาส่วนกลางควบคู่ไปด้วย พิจารณาล้านนาโดดๆ ไม่เอื้อ ต้องพิจารณาคู่กับสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ไปด้วย ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนมุมมองว่าล้านนาก็คือล้านนา เพราะว่าล้านนาในอดีตไม่ได้อยู่ในเส้นแบ่งพรมแดนปัจจุบัน เพียงแต่ว่าพื้นที่ส่วนมากของล้านนาอยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นการสร้างกรอบเอาไว้แล้วพอพูดถึงล้านนาจะเป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นภาคๆ หนึ่งของประเทศไทย เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะมีประวัติศาสตร์ของพวกเรากันเอง แต่อย่างน้อยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ศึกษาจากท้องถิ่นเองโดยไม่ต้องไปคำนึงหรือตั้งต้นที่ศูนย์กลางอำนาจได้หรือไหม เช่น ทำอย่างไหร่ที่เชียงดาวจะสร้างอนุสาวรีย์ของเจ้าหลวงคำแดงเพราะเป็นวีรบุรุษท้องถิ่น เป็นตำนาจท้องถิ่นของที่นั้น

ภิญญพันธุ์:  กลับมาที่เรื่องสงครามเย็น สงครามเย็นโดยความเชื่อน่าจะจบ 66/2523 (คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เกิดขึ้นจากการนำแนวทางการเมืองนำการทหารมาใช้ในการเอาชนะการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ คำสั่งนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากท่าทีทหารสายแข็ง มาสู่สายกลางมากขึ้น) ความจริงไม่ใช่ยังสู้กัน จบสงครามกับคอมมิวนิสต์ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์สร้างขึ้นตอนนั้น (สร้างเสร็จ พ.ศ. 2526) ในตอนนั้นมือไม้ของรัฐบาลกลาง คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ จังหวัดพะเยาเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2520 เพราะว่าพะเยาเป็นเขตสีชมพู, สีแดง

ดังนั้นการขีดเส้นจังหวัดต่างๆ คือการสร้างชาติในสเกลที่เล็กลง ผู้ว่าฯ เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงมากในสมัยก่อน รุ่นผมทันนักเล่าข่าวปรีชา ทรัพย์โสภา คือสรยุทธในปัจจุบัน แต่เป็นรายการวิทยุ ข่าวยามเช้า ทุกคนต้องฟัง เล่าข่าวสนุกมาก ตอนท้ายจะเอาผู้ว่าราชการฯ มาพูด ทำให้คนรู้สึกว่าขาดผู้ว่าฯ ไม่ได้ นายอำเภอ, กระทรวงมหาดไทย ส่วนภูมิภาค ขาดไม่ได้ ดังนั้นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คือแขนขาของนายอำเภอและผู้ว่าราชการ

ตอนรณรงค์รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 มีประเด็นกระจายอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยผู้รณรงค์จะถือธงเขียวตองอ่อน ขณะที่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กลุ่มอภิรักษ์จักรี ที่ร่วมกันต่อต้าน จะถือธงเหลือง ขณะนั้นฝ่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญชนะ ซึ่งกลไกที่เป็นอุปสรรคมากคือกระทรวงมหาดไทย

พริษฐ์: ประวัติของคำนี้เกี่ยวข้องกับอำนาจส่วนกลางด้วย ระหว่างคำว่า ล้านนากับลานนา ที่ใช้มาตั้งแต่โบราณเคยใช้คำว่าล้านนา แปลมาจากคำศัพท์ภาษาบาลีคือ "ทสลกฺขเขตฺตนคร " อ่านว่า (ทะ-สะ-ลัก-ขะ-เขด-ตะ-นะ-คะ-ระ) แปลว่า " เมืองสิบแสนนา" จนมาเป็นประเทศราชของสยามคือมาเป็นเมืองขึ้นของกรุงเทพฯ

แต่ก่อนชาวใต้ก็คือชาวสยาม ชาวเหนือก็คือชาวไทยญวน อยู่ในเขตปิง วัง ยม น่าน ไม่ค่อยสุงสิงกัน อาจจะมีการค้าขายกัน แต่ไม่ได้มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐาน แยกกันอยู่ ส่งเครื่องบรรณาการ ส่งสวยกันเท่านั้น สมัยก่อนคนภาคกลางจะรู้จักคนล้านนาจะรู้จักผ่านคำเขียน ผ่านอักษรที่เจ้าล้านนาจะส่งไปสมัยก่อนอักษรธรรมล้านนาไม่มีวรรณยุกต์ คือพูดมีวรรณยุกต์แต่เขียนไม่มีวรรณยุกต์ พอคนเอามาแปลตกวรรณยุกต์ก็กลายเป็นลานนา แปลให้ราชสำนักโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการทอนอักษรให้ดูตัวต่อตัว ชนชั้นนำไทยในกรุงเทพฯ เลยเข้าใจว่าภาคเหนือเรียกว่าลานนา เวลาเขียนตำรา เขาก็ใช่เป็นคำว่าลานนาเพิ่มคำว่าไทยด้วยจะได้ย้ำ มามีการออกแบบตำราเรียนซึ่งรวมถึงคนล้านนาด้วยจะต้องเรียน แล้วก็เรียนเป็นร้อยปีไม่ใช่เรียนสั้นๆ ความทรงจำของคนจำนวนหนึ่งกลายเป็นลานนาไป เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นคำว่าล้านนาเมื่อ 30-40 ปีนี้ มีคนไปศึกษาประวัติศาสตร์แบบที่ไม่ผ่านตำราเรียนกระทรวงศึกษาธิการ คนกลับไปดูในจารึก กลับไปดูในคัมภีร์ใบลานไม่ใช่เอกสารในตำราเรียนของกระทรวง เป็นคำว่าล้านนาจึงเกิดการรณรงค์ให้เปลี่ยนกัน เพียงแต่ว่าชื่อสถานที่มันถูกตั้งขึ้น ก่อนที่จะมีการตระหนักคำว่าล้านนาขึ้นมาใหม่

ขนาดแค่คำคำเดียวชื่ออาณาจักรโบราณ ยังสามารถแปรเปลี่ยนแค่มีไม้โทหรือว่าไม่มีไม้โทได้ แสดงให้เห็นถึงว่าละส่วนกลางสามารถที่จะครอบงำอัตลักษณ์ของคนล้านนาได้อย่างไรด้วยการเอาไม้โทออก

ตอนเปิดตัวอนุสาวรีย์สามกษัตริย์มีการออกหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่าล้านนาไทย ตอนนั้นวงวิชาการเถียงกันหนักมากว่าจะเป็นล้านนาหรือลานนา ฝั่งล้านนาเห็นว่าจะมีการเปิดตัวอนุสาวรีย์สามกษัตริย์จึงชิงใช้คำว่าล้านนาในหนังสือเปิดตัวเป็นการโจมตีตั้งแต่ตอนนั้น และเป็นการแสตมป์รับรองผ่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มากเพราะเป็นคำที่ใช้ในอนุสาวรีย์เจ้า พอกระแสสำนึกความเป็นล้านนามันหมุนคำว่าล้านนาไม่ให้เป็นลานนา แต่แปลว่ารัฐไทยจะอนุญาตให้หมุนได้ก็ต่อเมื่ออ้างอิงไปด้วยกับราชาชาตินิยมคืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ภิญญพันธุ์ : เราค้างกับการพูดถึงเรื่องอาณานิคมภายใน คนในห้องนี้น่าจะชินกับคำว่าจักรวรรดินิยม การล่าจักรวรรดินิยม ได้พูดถึงอังกฤษฝรั่งเศสไปแล้ว อาณานิคมภายในมันถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ในรัฐแถบลาตินอเมริกามาก่อน แบบนี้เราจะอธิบายกับสังคมไทยได้อย่างไรความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม ในกรณีนี้ถ้าดูจากการรวมศูนย์อำนาจสยาม มีคนใช้โมเดลนี้อธิบายอยู่อย่างน้อย คือธงชัย วินิจจะกูล, ไชยันต์ รัชกุล อธิบายถึง ล้านนา, มลายู, ล้านช้างหรืออีสานทุกวันนี้ตกเป็นอาณานิคมภายในของสยาม แสดงว่าสยามเองเป็นรัฐที่แย่งชิงกับฝรั่งเศสและอังกฤษ Tamara Loos ที่พยายามอธิบายในหนังสือ Subject Siam อธิบายถึงสยามที่ไปควบคุมหัวเมืองมลายูไป ใช้แนวคิดแบบความทันสมัยแบบทางเลือก ต่างกับที่ยุโรปใช้ในประเทศตัวเองเพราะว่าเลือกบางอย่างปฏิเสธบางอย่าง เช่น มองเห็นว่าคนในประเทศเป็นแค่ subject  คือคนที่ไม่มีอำนาจในการเมือง พูดง่ายๆ ว่าอย่างการปฏิรูป พ.ศ. 2442 ต่างๆ  คุณคิดว่าคนไทยเลือกตั้งได้ไหม กระทั่ง พ.ศ. 2475 เราถึงจะมีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งในระดับชาติและในระดับเทศบาล เราเคยได้รับการเรียนการสอนจากในบทเรียนว่าท้องถิ่นแห่งแรกคือคือสุขาภิบาลท่าฉลอม ซึ่งสุขาภิบาลท่าฉลอมแต่งตั้งคนเข้าไปดูแลเป็นคนของกรุงเทพฯ

อาณานิคมภายในคือการปกครองโดยกรุงเทพ เพื่อผลประโยชน์ของคนโดยเฉพาะเจ้านายในกรุงเทพ คนในล้านนา, ล้านช้างอะไรก็แล้วแต่เป็นเพียงคนที่อยู่ในสถานะรองเป็นเพียงแค่ subject เท่านั้นในวิธีคิดแบบนี้แน่นอน พอเป็นดีเบต เป็นข้อถกเถียงทางสังคมศาสตร์ ก็มีข้อโต้แย้งว่าไม่ใช่หรอก เป็นเพียงแค่การผนวกกลืน ไม่ใช่ระบบอาณานิคมอะไร ถ้าจะมองแบบนั้น ผมมองว่าให้มองความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แล้วคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ใช่ชนชั้นนำก็ตกอยู่ในสถานะที่พอกันหรือจะพูดได้ว่าคนล้านนา, มลายูอะไรก็ตามแต่ถูกรวบมาให้เสมอกัน แต่ไม่มีสิทธิที่จะเท่ากับชนชั้นนำในกรุงเทพฯ

พริษฐ์: ระบบอาณานิคมภายใน internal colonialism ตัวอย่างหนึ่งที่ใช้ได้อย่างชัดเจน คือ อังกฤษกับเวลส์ เวลส์เป็นภาคตะวันตกของอังกฤษถูกยึดครองมานาน 600 ปี คนเวลส์จะถูกอังกฤษเลือกปฏิบัติ เช่น เวลามีงบประมาณจะต้องเอาไปพัฒนาพื้นที่เวลส์มักจะไม่ค่อยได้ ต้องติดต่อราชการเป็นภาษาอังกฤษถ้าเป็นภาษาเวลส์จะไม่ถูกคุยด้วย

มีนักวิชาการฝ่ายขวาถกเถียงมาว่าไม่มีหรอกระบบอาณานิคมภายใน เพราะเขาเอาไปเปรียบเทียบกับอังกฤษ คำว่า citizen กับ subject ที่พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ citizen คือเป็นพลเมืองมีสิทธิ์ในการ participate กับการเมืองไม่มากก็น้อย ผมไม่แน่ใจจะใช้คำว่าเลือกตั้งได้ไหม เพราะว่ามี citizen อีกหลายอัน ที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้งโดยตรง ในยุคโบราณที่ต้องมีส่วนร่วมแน่ ๆ คือ citizen ในนิยามของโลกตะวันตกคือรัฐจะรับรองและคุ้มครองสิทธิ์ ในการใช้ชีวิตทางสังคมบางประการค่อนข้างสมบูรณ์ subject คือผู้ที่อยู่ใต้อำนาจจะไม่ได้รับสิทธิ์เท่าสิทธิ citizen เช่น คนอังกฤษขึ้นรถไฟชั้น 1 ของอังกฤษได้แต่คนอินเดียซึ่งเป็น subject ของอังกฤษคือคนในอาณานิคมแต่ไม่ใช่คนอังกฤษ คนอินเดียต้องขึ้นรถไฟชั้น 3 ห้ามขึ้นรถไฟชั้น 1 ชั้น 2 อย่างนี้เป็นต้น นักวิชาการบางท่านก็จะบอกว่าเมืองไทยไม่ได้มีการแบ่งแยกแบบนี้ เป็นวิธีคิดที่ตื้นเขินวิธีการอย่างที่จะมองว่าคนเราเป็นพลเมืองเท่ากันหรือเปล่า คือการมองว่าเราอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันหรือไม่ ซึ่งในการตั้งมณฑลพายัพเวลาที่ออกพระราชบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติประถมศึกษา, พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร ไม่ได้ถูกใช้พร้อมกันทั่วประเทศ

ในอังกฤษใช้วิธีการแบ่งแยกแบบพลเมืองชั้น 1 ชั้น 2 เป็น subject เป็น citizen เพราะว่าไกลอย่างอินเดียกับอังกฤษไกลกัน และอังกฤษเป็นประเทศเล็ก อินเดียเป็นประเทศใหญ่ เขาก็เลยกลัวว่าอินเดียจะมาเป็นใหญ่เหนือคนอังกฤษ เขาจะใช้ระบบนี้ แต่ว่ารัสเซียจะใช้วิธีการล่าอาณานิคมกับประเทศเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ เหมือนตอนที่กำลังบุกยูเครน จะไม่ได้เดินเรือข้ามสมุทรรับยึดเมืองไกลๆ เขามองว่ารัสเซียไปประเทศใหญ่อยู่แล้ว ยึดประเทศเล็กๆเข้ามาไม่ได้ส่งผลอะไรกับเขา อีกทั้งการเป็นประเทศใกล้กัน ความแตกต่างกัน อาจจะอยู่ในระดับที่พอรับได้ เขาจะมีวิธีการกำหนดคลาสของ citizen อีกแบบหนึ่ง

"รัสเซียประกาศว่า ต่อให้มาจากจอร์เจีย คาซัคสถาน ยูเครน ฟินแลนด์ โปแลนด์ ที่อยู่ในจักรวรรดิรัสเซีย สามารถที่จะมาเป็นข้าราชการของพระเจ้าซาร์ได้เสมอกัน แต่มีเงื่อนไขคือจะต้องไม่พูดภาษาถิ่นตนเอง หากลองเปรียบเทียบกับไทย ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีการแบ่งแยกว่าข้าราชการจะต้องเป็นคนไทยคือคนสยาม ส่วนคนล้านนาราชสำนักในอดีตจะมองว่าเป็นคนลาว มีคำพูดของข้าหลวงสยาม ใช้คำว่าเป็นชนชาติอันไม่ควร จะว่าขี้เกียจบ้าง สติปัญญาไม่หลักแหลมบ้าง ลองไปหาอ่านดูได้ ในหอจดหมายเหตุ มีรายงานอยู่ว่าพวกข้าหลวงชาวสยามที่ขึ้นมาปกครองเชียงใหม่ตอนนั้น มองชาวเชียงใหม่อย่างไร  เขาก็เสนอกันว่าต้องให้ชาวสยามเป็นคนปกครอง เพราะว่าชาวล้านนาไม่เท่าทันโลก จนได้รับคำแนะนำว่าถ้าเป็นการแบ่งแยกมีความเสี่ยงที่จะเกิดกบฏ แบ่งแยกดินแดน มีข้อสรุปคือให้กลืนลาวเป็นไทย โดยเฉพาะชนชั้นนำ พวกเจ้าทั้งหลาย สามารถที่จะเป็นใหญ่ เป็นโตในกรุงเทพได้ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ว่าฯ เป็นอธิบดีได้ เสมอกันกับคนสยาม แต่มีข้อแม้คือต้องพูดภาษาสยาม ห้ามติดสำเนียงถิ่น ต้องเรียนแบบคนสยาม คิดแบบคนสยาม แล้วคุณจะได้เป็นคนสยาม ยิ่งถ้าเป็นชนชั้นนำมาก่อนเขาจะดูแลว่าคุณเป็นคนชนชั้นนำด้วยกัน คล้ายกับกระบวนการที่เรียกว่า  Russification คือทำให้เป็นรัสเซีย เราจะเรียกสิ่งนี้ว่า Siamization ได้ไหม" พริษฐ์ กล่าว

ทราบไหมว่าทำไมสีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถึงเป็นสีม่วง ตราเป็นช้างเผือก ดอกไม้ดอกสัก ช้างเผือกมาจากตราสัญลักษณ์จังหวัดเชียงใหม่คือช้างเผือกในเรือนแก้ว เป็นช้างเผือกที่เจ้าหลวงธรรมลังกาค้นพบแล้วเอาถวายเป็นบรรณาการสมัยรัชกาลที่ 2 และสมนาคุณให้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ช้างเผือกจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการจงรักภักดีที่เจ้านายเชียงใหม่มีให้ราชวงศ์จักรี ผู้ที่มีส่วนในการเรียกร้องตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ให้ใช้สัญลักษณ์เป็นเก้งเผือก เพราะว่าเป็นสัตว์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ตำนานว่าพระยามังรายออกล่าสัตว์มาเจอเก้งเผือกแม่ลูกที่ดุมาก กล้าหาญมาก สามารถเอาชนะหมาล่าเนื้อได้ คิดว่าที่ตรงนี้ต้องมีอะไรดี เลยตั้งพื้นที่ตรงนั้นเป็นเมืองเชียงใหม่ จึงเสนอให้ใช้เก้งเผือกแม่ลูก แต่สุดท้ายก็ใช้สัญลักษณ์ช้างเผือกแทน

ทำไมต้องใช้สีม่วง อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ แรกเริ่มจะใช้สีแสด เพราะจังหวัดเชียงใหม่  ตั้งวันพฤหัสบดี  อยากให้ใช้สีประจำวันจะได้สะท้อนอัตลักษณ์ ปรากฏว่าคณะกรรมการบอกไม่ได้ ควรเป็นสีม่วงตามสีลูกเสือของมณฑลพายัพคือสีบานเย็นหรือสีม่วงอ่อน แต่เพื่อไม่ให้ซ้ำกับสีของมณฑลเทศาภิบาลที่สยามตั้งขึ้นเพื่อปกครองล้านนา จึงกลายเป็นสีม่วงเข้ม ขณะที่สัญลักษณ์ดอกไม้ต้องเป็นดอกสัก ทั้งที่ล้านนาสิ้นชาติเพราะไม้สัก เนื่องจากทางเหนือมีไม้สักทำให้คนอยากได้ ทำให้ถูกใช้รูปแบบระบบอาณานิคม เพื่อเข้ามาเอาไม้สัก เมื่อมหาวิทยาลัยถูกเรียกร้องจากกลุ่มท้องนิยมที่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัย สยามอนุญาตให้ตั้งได้ แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ต้องมีอัตลักษณ์ตามที่กล่าวไป คำอธิบายเหล่านี้มีในจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภิญญพันธุ์ : ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพ แต่ไม่มีชื่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เช่น ศิลปากร แพทยศาสตร์ จุฬา เกษตรศาสตร์ ตอนนั้นที่เรียกร้องกัน ถูกใช้คำว่า “มหาวิทยาลัยภาคเหนือ” แต่แน่นอนคำว่าเชียงใหม่สะท้อนวิธีคิดแบบเขตจังหวัด แบบกระทรวงมหาดไทยเป็นส่วนภูมิภาค สุดท้ายแบบที่เพนกวินว่า จึงมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงความเป็นอาณานิคมสยาม

ในอดีตมีกลไกในโรงเรียนในการควบคุมผู้คนอย่างไร

ภิญญพันธุ์ : ชนชั้นนำสยามสร้างโรงเรียนที่อย่างที่เรารู้จักกันเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน ความตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนเพื่อที่จะมาอยู่ในหน่วยงานของรัฐ ในช่วงแรก ผลิตพวกงานเสมียรเพื่อที่จะมาข้าราชการชั้นล่างในสยามต้องพูดไทย สะกดไทยได้ ต้องเขียนไทยเป็น เจ้าทั้งหลายต้องสื่อสารได้ตามมาตรฐานภาษาไทยหมด

พริษฐ์: วันก่อนผมไปดูกรุของเจ้าลำปางคนหนึ่ง เชื่อไหมว่าไม่มีเรื่องล้านนาสักเล่มเลย เจอแต่ขนบธรรมเนียมวังสยาม เครื่องราช กกุธภัณฑ์ เรื่องผ้า ประวัติศาสตร์ ทำเนียบยศ หนังสือภาษาอังกฤษเยอะแยะ แต่ไม่มีเรื่องล้านนาแม้แต่เล่มเดียว เรื่องเดียวที่พอจะเป็นเรื่องล้านนาได้คือหนังสืองานศพของแม่เขา

ภิญญพันธุ์ : รัฐต้องการผลิตคนแบบนั้นขึ้นมา ผลิตคน แต่เมื่อตำแหน่งไม่พอ ชนชั้นนำเห็นว่าคนหนีจากอาชีพของตนเอง คนไม่ทำนากันแล้ว  ก็เลยต้องเปลี่ยนมาเป็นพอสอนให้มีความรู้ติดตัว ระบบการศึกษาไทยตอนแรก ไม่ได้ต้องการจะสร้างคนที่มีความรู้เพื่อที่จะไปพัฒนาประเทศแบบที่เราพูดกันทุกวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะล้านนาแต่เป็นทั้งประเทศ เรามักจะเทียบไทยกับญี่ปุ่น แต่ความจริงไม่ใช่ญี่ปุ่นมองไปข้างหน้า เขาปฏิรูปเมจิ เพื่อที่ยกฐานคน ส่งคนสามัญชนไปเรียนเมืองนอก ญี่ปุ่นสร้างตัวเองด้วยการสร้างตนเป็นประเทศอุตสาหกรรม แล้วก็นำไปสู่ชาตินิยม แต่สยามไม่ได้มองอย่างนั้น ไม่ได้ต้องการพัฒนาศักยภาพของพลเมือง สุดท้ายก็ต้องกลับมาที่คณะราษฎร ในหลักหกประการ ที่ประกาศถึงการศึกษาเองอย่างชัดเจน แม้แต่มหาวิทยาลัยทั้งสี่ ยกเว้นจุฬา ก็เกิดขึ้นในยุคคณะราษฎร

พริษฐ์ : การศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญมากในกระบวนการ การกลืนทุกคนให้กลายเป็นคนไทย คนล้านนาเมื่อก่อนเรียกตนเองเป็นคนไทย แต่ว่าไทยคนละอย่างกับสยาม อย่างน้อยแยกกันเป็นไทยเหนือ ไทยใต้  คำกราบบังคมทูลของสมเด็จเจ้าฟ้าวชิราวุธ ที่ไปถวายคำแนะนำให้รัชกาลที่ 5 เพราะตอนแรกใช้ระบบแบบอังกฤษ แบ่งแยกคนไทยเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง คนลาวหรือล้านนาเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้เกิดจลาจลในเมืองเชียงใหม่ ยกพวกตีกันหน้าคุ้มหลวงเชียงใหม่ ขุนนางล้านนารู้สึกถูกลดชั้น จึงถูกแนะนำว่าถ้าทำให้ลาวเหล่านี้มาพูดไทยเหมือนเราได้ ความนึกคิด ก็จะคล้ายกับเราก็จะมีน้ำใจสมัครสมานสามัคคีกับเราเอง โจทย์ของการตั้งโรงเรียนอีกแบบหนึ่งคือทำให้ทุกคนพูดภาษาไทย อย่างน้อยพูดภาษาไทยกลางได้

ในช่วงแรกชาวบ้านไม่กล้าส่งลูกเข้าโรงเรียนไทยเพราะกลัวอ่านอักษรธรรมไม่ออก ตัวเมืองไม่ออก พระไตรปิฎกถูกเขียนเป็นภาษาล้านนา มีความกลัวลูกตกนรก กลัวลูกไม่รู้จักอักษรธรรม หลักจากใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา นายอำเภอได้จับคนที่ไม่ส่งลูกเข้าเรียนอย่างจริงจัง จับไปขังไว้ที่ว่าการอำเภอ จนกว่าจะยอมส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน  

พระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารเองก็จะมีข้อยกเว้น ให้กับเกณฑ์ทหารให้พระภิกษุที่รู้ธรรม ไม่รู้ธรรม ถ้าเพิ่งบวชก็ต้องไปเกณฑ์ทหาร คำว่ารู้ธรรมหมายถึงอ่านพระไตรปิฎกในภาษาไทยออก  ภาษาล้านนาไม่นับ เคยเป็นเรื่องใหญ่ มีเจ้าหน้าที่มาจับเณรกำลังเรียนไป ทำให้ชาวบ้านประท้วงที่ต้องเรียนตัวอักษรไทย

ภิญญพันธุ์ : เสริมเรื่องวัด แต่เดิมวัดจะมีโบสถ์ ไว้สังฆกรรม วัดๆ หนึ่งจะมีโบสถ์ แล้วก็มีวัดหลายรอบ มาอยู่ในกลุ่มอุโบสถเดียวกัน เป็นเครือข่ายเดียวกัน สยามพยายามให้ทุกวันมีโบสถ์ หนึ่งวัด หนึ่งอุโบสถ เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง มาพร้อมการปกครองสงฆ์  โดยมีพระราชบัญญัติสงฆ์ มีเจ้าคณะจังหวัด มาพร้อมระบบราชการพระในยุคนั้น ก่อนหน้านั้นพระ ไม่ได้อยู่ในกลไกแบบนี้ในบ้านเมือง 

"หนึ่งในข้อหาที่ครูบาศรีวิชัยโดนมีข้อหาขัดขวางไม่ให้เรียนหนังสือไทย และหนึ่งในเงื่อนไขการปล่อยตัว คือต้องสนับสนุนการตั้งโรงเรียนไทย อักษรธรรมยังเป็นประเด็นในการตั้งรัฐรวมศูนย์ ตัวอย่างเช่นพระเวลาไปโบสถ์ต้องมีใบสุทธิ คือเอกสารการรับรองการเป็นพระ ซึ่งออกโดยรัฐส่วนกลางเป็นภาษาสยาม แต่ครูบาศรีวิชัยออกใบสุทธิเอง เป็นตัวเมือง หลังสร้างถนนคนดอยสุเทพ มีพระจำนวนมากเอาใบสนธิที่เป็นภาษาไทยไปคืน  บอกว่าจะมาใช้ใบสนธิของครูบาศรีวิชัย ดังนั้นอักษรธรรมล้านนาคือการขัดขืนอำนาจของรัฐสยาม แต่ต่อมา อักษรไทยล้านนาค่อยๆ หาย มีการฟื้นฟู ช่วงทักษิณ อย่างป้ายเชียงใหม่เริ่มมีตัวเมืองมากขึ้น" พริษฐ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net