Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ ชี้เกษตรกรไทยมีโอกาสจากความต้องการอาหารของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นแต่กำลังจะต้องเผชิญความท้าทายหลายปัจจัย พร้อมมีข้อเสนอ 13 ข้อถึงรัฐบาลให้เน้นการพัฒนาการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตร แก้ปัญหาเรื่องที่ดิน มองมาตรการพักหนี้ 3 ปีเพียงบรรเทาปัญหาหนี้สินเกษตรกรและเอสเอ็มอีเท่านั้นและไม่ยั่งยืน ทั้งนี้เขาเห็นว่าที่รัฐบาลจะลดมาตรการแทรกแซงราคาเกษตรเป็นเรื่องที่ดี 

10 ก.ย. 2566 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ นำเสนอความเห็นและมีข้อเสนอถึงรัฐบาลผ่านสื่อมวลชน ถึงเรื่องการใช้มาตรการพักหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้ของเกษตรกร ที่แม้จะช่วยแก้วิกฤติหนี้ของเกษตรกรได้แต่ก็ไม่ยั่งยืน ควรที่จะต้องพัฒนาการผลิตไปด้วยเพื่อเกาะไปกับโอกาสที่ประชากรโลกกำลังต้องการอาหารมากขึ้นและรับมือกับปัจจัยท้าทายในอนาคต

รศ.ดร.อนุสรณ์เห็นว่าภาคเกษตรกรรมไทยในอนาคตจะเผชิญกับความท้าทายทั้งจากปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงรุนแรงจากภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น ฐานทรัพยากรธรรมชาติลดลง พื้นที่เกษตรกรรมลดลง โลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป การกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมไทยจึงต้องอาศัยการฟื้นตัวที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ให้ได้ ต้องอาศัยนโยบายระยะยาวมากกว่ามาตรการระยะสั้นเพียงแค่บรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า

รศ. ดร. อนุสรณ์ ประเมินว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าราคาอาหารจะปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลโดยตรงจากปรากฎการณ์เอลนีโญ การห้ามส่งออกสินค้าเกษตรของหลายประเทศ สงครามรัสเซียยูเครนปิดกั้นแหล่งผลิตและการส่งออกธัญพืชสำคัญจากทะเลดำ ผลของการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันล่าสุด มีการใช้พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนปลูกพืชเพื่อพลังงาน มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร สัญญาณของระบบการผลิตอาหารไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลกเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2549 และพุ่งสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2550-2551 และ ในปี พ.ศ. 2553-2554   ราคาอาหารและธัญพืชหลัก (ข้าว ข้าวสาลีและข้าวโพด) ปรับตัวสูงในช่วงเวลาดังกล่าว และกลับมารุนแรงเพิ่มขึ้นอีกในช่วงสงครามรัสเซียยูเครนปี พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและอาจมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น

อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติชี้ว่ายุทธศาสตร์ของไทยในการเป็นครัวของโลกจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับภาคเกษตรกรรมให้มีความเข้มแข็ง เดิมนั้นภาคเกษตรกรรมของไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบอยู่แล้ว แต่ขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดีประกอบกับไม่ได้มีการลงทุนภาคเกษตรกรรมไทยอย่างมีเป้าหมาย ไม่มีการลงทุนระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีพอจึงทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยอ่อนแอลง ความต้องการอาหารในการเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นได้สร้างโอกาสให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยโดยเฉพาะการผลิตข้าว

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวถึง มาตรการพักหนี้ 3 ปีของรัฐบาลใหม่ว่า  มาตรการพักหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เป็นมาตรการระยะสั้นที่ทำได้เพียงบรรเทาปัญหากับดักวิกฤติหนี้สินเกษตรกร ที่บรรเทาความเดือนร้อนและช่วยแบ่งเบาปัญหาทางการเงินจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของเกษตรกรเท่านั้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ เห็นว่ารัฐบาลต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นเกษตรกรกลุ่มไหนและขนาดของหนี้สินมีเพดานเท่าไหร่ เมื่อ ธนาคาร ธกส. ดำเนินตามนโยบายพักหนี้ 3 ปีแล้ว รัฐบาลก็ต้องหาเงินงบประมาณมาชดเชยรายได้ของธนาคารเฉพาะกิจด้วย ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็ติดค้างภาระหนี้สะสมที่ต้องชดเชยรายได้ให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้งระบบและภาระผูกพันต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท และ ขณะนี้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-Fiscal Policy) ตามกรอบวินัยการคลัง แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ได้อีกประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท

อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลจะใช้ช่องทางนี้ในการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ท 10,000 บาทด้วยการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน และ ต้องการแจกเงินภายในเดือนกุมภาพันธ์ แล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องการพักหนี้ให้เกษตรกรอีก 3 ปี พักหนี้ให้เอสเอ็มอี ที่ต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นล้านบาท รัฐบาลต้องไปขยายเพดานการก่อภาระชดเชยและภาระผูกพันคงค้างตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังเพิ่มขึ้นอีก รัฐบาลมีภาระหนี้ผูกพันจากการชดเชยโครงการต่างๆ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังสูงถึง 1.03 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้ที่ไม่ได้นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะ สูงถึง 8.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาระหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาล 6 แสนล้านบาท และภาระผูกพันส่วนที่ยังไม่รับรู้อีก 2.32 แสนล้านบาท     

รศ. ดร. อนุสรณ์ ยังเห็นว่ามาตรการพักหนี้เอสเอ็มอีผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดจริยธรรมวิบัติ (Moral Hazard) ในระบบการเงินของประเทศ หรือ ไปอุ้มกิจการผีดิบ (Zombies) ที่ไม่สามารถแข่งขันได้แล้ว ประกอบกิจการไม่ได้แล้ว หรือไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคใหม่แล้ว อาศัยเงินสาธารณะให้สามารถดำเนินการกิจการไปได้แบบทุลักทุเลบนต้นทุนของเงินภาษีประชาชนส่วนใหญ่ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมหรือไม่  

อย่างไรก็ตาม มาตรการพักหนี้อาจมีความเหมาะสมสำหรับกลุ่มเกษตรกรและกิจการบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิดเมื่อปี พ.ศ. 2563-2564 และยังอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ คือ ก่อหนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่าด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยที่กลุ่มเกษตรกรและกิจการเหล่านี้มีแนวโน้มฟื้นฟูได้ หรือ เป็นกิจการที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องหรือมีหนี้สินสูง หากได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่านการพักหนี้ ปลอดการจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยระยะหนึ่ง ก็จะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ได้อีกครั้งหนึ่ง  

รศ. ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการกึ่งการคลังที่ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร ธกส ธนาคาร ออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงไทย ในรูปแบบต่างๆ เช่น พักหนี้ อุดหนุนราคา เพิ่มทุน ค้ำประกันหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือชดเชยรายได้ อาจกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลังได้และอาจเป็นภาระหนี้สาธารณะในอนาคต จึงต้องติดตามและเอาใจใส่เช่นเดียวกับการก่อหนี้ที่ปรากฎในงบประมาณด้วย เพราะภาระผูกพันและภาระหนี้เหล่านี้จะไม่แสดงในงบประมาณ

อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติมองว่ามีประเด็นที่จะต้องจับตาเพื่อประเมินความเสี่ยงทางการคลังของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐผ่านสามประเด็นดังนี้

ประเด็นแรก หากใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ พักหนี้ให้เกษตรกร และ เอสเอ็มอี ตลอดจนสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัล ต้องเพิ่มทุนหรือจัดสรรเงินอุดหนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือไม่ อย่างไร 

ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงและผลบวกต่อเศรษฐกิจ อันส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากการดำเนินการตามนโยบายเป็นอย่างไร

ประเด็นที่สาม หนี้คงค้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้งที่รัฐบาลค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน มีอยู่เท่าไหร่กันแน่   

รศ. ดร.อนุสรณ์ เสนออีกว่า แนวทางที่ยั่งยืนกว่า และ ส่งผลในระยะปานกลางและระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดนโยบายและมาตรการประชานิยมเกินขนาดและนำมาสู่ปัญหาฐานะทางการคลังในอนาคต ก็คือ การปรับโครงสร้างภาคการผลิต การบริหารจัดการทางด้านอุปทาน ในส่วนของภาคเกษตรกรรมนั้นต้องแปรรูปพืชผลเกษตรเพิ่มมูลค่าด้วยการลงทุนทางด้านวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตผลการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ผ่านช่องทางต่างๆ  ลดต้นทุนโดยเฉพาะค่าปุ๋ย ค่าอาหารสัตว์ ปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้มากขึ้น การใช้มาตรการและนโยบายเหล่านี้จะแก้ปัญหายั่งยืนกว่า

อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติเสนอถึงส่วนของธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ เอสเอ็มอี ด้วยว่าจะต้องมุ่งที่การเพิ่มผลิตภาพทุน และ ผลิตภาพแรงงาน ผ่านการลงทุนทางด้านการพัฒนาทักษะ และ เทคโนโลยี มุ่งสร้างเครื่องหมายการค้า และ เอาการตลาดนำการผลิต ขยายตลาดใหม่ ลดต้นทุนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินกิจการ ภาครัฐเองก็ต้องลดต้นทุนให้กับเกษตรกรและกิจการเอสเอ็มอี ด้วยการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการทั้งหลาย ทั้งระบบประปา ระบบบริหารจัดการน้ำและการชลประทาน ระบบไฟฟ้าและพลังงาน ระบบโทรคมนาคม ระบบคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ ระบบการบังคับใช้กฎหมายและระบบใบอนุญาตต่างๆ การติดสินบนทุจริตคอร์รัปชันต้องลดลงอย่างชัดเจน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีสินค้าเกษตรอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องมีแนวทางที่ปกป้องผู้ผลิตภายใน และ การอุดหนุนราคาโดยไม่ผิดหลักการขององค์การการค้าโลก เพิ่มการแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาดในโครงสร้างตลาดและโครงสร้างการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทำให้ “เกษตรกร” และ “ผู้ประกอบการขนาดย่อมขนาดเล็ก” มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทย  

รศ. ดร. อนุสรณ์กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลลดบทบาทของมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจำนำหรือมาตรการประกันราคาเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และ การที่ผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน บอกจะไม่ใช้มาตรการแทรกแซงกลไกตลาดหรือฝืนกลไกตลาดถือได้ว่ามาถูกทาง เพราะมีหลักฐานในเชิงประจักษ์มากมายว่า ถึงที่สุดมาตรการแทรกแซงราคาหรือแทรกแซงกลไกตลาด เราไม่สามารถเอาชนะพลังของตลาดได้ และ จะเกิดต้นทุนมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจและเป็นภาระภาษีจำนวนมาก แม้ในผลิตภัณฑ์ที่ไทยผลิตและส่งออกมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกอย่างข้าวก็ไม่สามารถกำหนดราคาในตลาดโลกได้ เวลานี้ ราคาข้าวโลกพุ่งสูงขึ้นจากการงดส่งออกข้าวของหลายประเทศ และมีการคาดการณ์ว่า ผลกระทบของเอลนีโญต่อภาคเกษตรกรรมทั่วโลกจะรุนแรง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจึงเป็นโอกาสของภาคส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรของไทย รัฐบาลต้องไปพิจารณาด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์จากภาคส่งออกกระจายมายังผู้ผลิตอย่างชาวนาให้มากขึ้น พร้อมกับการดูแลไม่ให้ คนจนหรือชนชั้นกลาง ต้องเผชิญกับราคาข้าวและอาหารที่แพงขึ้น    

อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติกล่าวอีกว่า มาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นจำนำหรือนโยบายประกันราคาก็ตามคงจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในรัฐบาลชุดนี้ หากรัฐบาลจำเป็นต้องนำกลับมาใช้อีกในอนาคต ก็ควรนำมาใช้ระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาหรือเกษตรกรเมื่อราคาพืชผลตกต่ำและผันผวนเท่านั้น การแทรกแซงราคาที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานานๆ เพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบตลาด ระบบการผลิตและฐานะทางการคลังของรัฐบาล และ ไม่สามารถสร้างรายได้หรือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาหรือเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ เมื่อพักหนี้บรรเทาปัญหากับดักวิกฤติหนี้สินแล้ว ก็ต้องมุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มอำนาจของเกษตรกรในโครงสร้างการผลิตและโครงสร้างการตลาด ตนมีข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ดังต่อไปนี้

ข้อแรก ต้องมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานการถือครองที่ดินอย่างเหมาะสม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดิน จัดตั้งกองทุนที่ดินเพื่อเกษตรกร รวมทั้งการพลักดันให้มีการเก็บภาษีที่ดินเพื่อกระตุ้นให้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการผลิต การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆ  เนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากกว่า 330 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่าๆ และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินกว่า 90% ของทั้งประเทศ

นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุด ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) เป็นอัตราส่วนซึ่งมีค่าระหว่าง 0 และ 1 สัมประสิทธิ์จีนีที่ต่ำ แสดงความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ ความมั่งคั่งและทรัพย์สิน หากเข้าใกล้เลข 1 แสดงว่า มีความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์

เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองหรือถือครองที่ดินขนาดเล็กมาก ทำให้การจัดการที่ดินเพื่อสร้างผลผลิตไม่มีประสิทธิภาพและไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด  เกษตรกรรายย่อยถือครองที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ และ ขนาดของที่ดินถือครองโดยลูกหลานก็เล็กลงเรื่อยๆจากการแบ่งซอยที่ดินให้ลูกหลาน เมื่อลูกหลานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ก็ขายที่ดินให้นายทุนไป ทำให้ชาวนาหรือเกษตรกรส่วนใหญ่ขณะนี้ไม่มีที่ดินของตัวเอง

ข้อสอง ไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อ ไตรลักษณะของภาคเกษตรกรรมของไทย   อันประกอบด้วย เกษตรดั้งเดิม เกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ทางเลือก ในขณะที่โลกเผชิญความท้าทายทางด้านความมั่นคงอาหารและพลังงาน

ข้อสาม ใช้ เทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ เพื่อ เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปสินค้าเกษตร 

ข้อสี่ เพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย    เพิ่มสวัสดิการให้ชาวนาและเกษตรกร

ข้อห้า ทยอยลดระดับการแทรกแซงราคาลง (แต่ต้องไม่ยกเลิกทันที) โดยนำระบบประกันภัยพืชผลและตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามาแทนที่ ทำให้ “ไทย” เป็นศูนย์กลางของตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรของภูมิภาค

ข้อหก พัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร

ข้อเจ็ด จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้ WTO, FTA, AEC นอกจากนี้เรายังต้องเตรียมตัวรับมือกับข้อตกลงการเปิดเสรีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (CEPT-ทำข้อตกลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536) และข้อตกลง ATIGA ต่อข้าวไทย เช่น การปรับลดภาษี ไทยลดภาษีศุลกากร         ในสินค้าข้าวให้เหลือ 0% ตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆ จัดข้าวอยู่ในบัญชีสินค้าที่มีการอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List) จึงค่อยทยอยลดภาษี ประเด็นเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ประเด็นเรื่องมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เราทำข้อตกลงเอาไว้เรื่องมีผลต่ออุตสาหกรรมเกษตรกรรมและการผลิตข้าวในไทย เราจึงต้องมีมาตรการรับมือเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรและประเทศโดยรวม  

ข้อแปด ส่งเสริมการขยายฐานในรูป Offshore Farming เกษตรพันธะสัญญาโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

ข้อเก้า การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมและเดินหน้าสู่ยุทธศาสตร์ ครัวของโลก รัฐควรลดบทบาทแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตรลง ลดการบิดเบือนกลไกราคา

ข้อสิบ จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้มากและหลากหลายและพัฒนาไทยสู่การเป็น “ครัวของโลก” และทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยของโลก

ข้อสิบเอ็ด ทำให้ชาวนาหรือเกษตรกรทั้งหลายเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้นปล่อยสินเชื่อถึงเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง โรงสี หรือ บริษัทค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลาย บูรณาการการบริหารจัดการกองทุนที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเร่งรัดแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

ข้อสิบสอง ลงทุนระบบการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถผลิตพืชผลได้ทั้งปี ขณะนี้พื้นที่เกษตรกรรมประมาณร้อยละ 80 อยู่นอกเขตชลประทาน มีเพียง 20% เท่านั้นที่อยู่ในระบบชลประทาน เกษตรกรส่วนใหญ่หรือสมาชิกในครัวเรือนจึงเคลื่อนย้ายหาอาชีพอื่นนอกภูมิลำเนาทำนอกฤดูกาล เกษตรกรประมาณ 25 ล้านคนมีรายได้เฉลี่ยเพียง 5,000-6,000 บาทต่อเดือน ต่ำกว่า ค่าแรงขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมมาก

ข้อสิบสาม แรงงานในภาคเกษตรเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยสมาชิกครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 28-29 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลต่อกระบวนการผลิตและผลิตภาพของภาคเกษตรกรรมในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net