Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องราวของ “หยก” ธนลภย์ ผลัญชัย นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต้องคดี 112 อายุน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎระเบียบการแต่งกายของนักเรียนด้วยการแต่งชุดไปรเวทมาเรียน ประกอบกับถูกโรงเรียนปฏิเสธ “ผู้ปกครอง” ซึ่งทางโรงเรียนให้เหตุผลว่าเป็นผู้ปกครองที่ไม่ใช่พ่อแม่ และไม่ได้กำกับดูแลให้หยกปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน จึงทำให้โรงเรียนปฏิเสธสถานภาพการเป็นนักเรียนของหยก และต่อมาได้โอนเงินค่าเทอมคืนให้หยกโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ ขณะที่หยกเองยังยืนยันที่จะเข้าเรียนและร่วมกิจกรรมวิชาการที่โรงเรียนจัดขึ้น แต่ถูกปฏิเสธจากครู เพื่อนนักเรียน และกลุ่มผู้ปกครองตามที่เป็นข่าวล่าสุด

คำถามสำคัญคือ สิ่งที่หยกเรียกร้องต้องการกับสิ่งที่ผู้บริหาร ครู เพื่อนนักเรียน และผู้ปกครองต้องการ แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ “ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ” หรือไม่ ถ้าหาก “ไม่ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ” ควรจะมีแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างไร

มีวิธีตอบคำถามคล้ายกันนี้ที่น่าสนใจมากคือ วิธีการทางปรัชญาแบบชาร์ลส์ เทย์เลอร์ (Charles Taylor) นักปรัชญาชาวแคนาเดียน เขาตั้งคำถามว่าในสังคมประชาธิปไตยที่พลเมืองมีความคิดความเชื่อทางศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง และโลกทัศน์เกี่ยวกับความหมายและคุณค่าของชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งความคิดความเชื่อและโลกทัศน์เหล่านนั้น อาจมีทั้งด้านที่ขัดแย้งกันและด้านที่สอดคล้องกันอยู่ สังคมควรมีวิธีการอย่างไรที่จะให้พลเมืองที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างและขัดแย้งกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเคารพเสรีภาพที่จะแตกต่าง และมีความอดกลั้น (tolerance) ต่อความคิด ความเชื่อและการกระทำของคนอื่นๆ ที่ตนไม่เห็นด้วย จากคำถามดังกล่าว เทย์เลอร์เสนอว่า

1. สังคมประชาธิปไตยจำเป็นต้องมี “คุณค่าแกนกลาง” (core values) ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้สถาบันทางการเมืองและทางสังคม (รัฐบาล, รัฐสภา, ศาล, หน่วยงานราชการ, ประมุขของรัฐ, เจ้าหน้าที่รัฐ) รวมทั้งพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนยึดถือร่วมกัน ได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือหลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ เป็นต้น และ

2. ต้องจัดการศึกษาทั้งในระบบ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสนับสนุนให้พลเมืองเป็นผู้ที่มี “อิสรภาพทางศีลธรรม” (moral autonomy) โดยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความคิดความเชื่อทางศาสนา ปรัชญา และคุณค่าทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพื่อที่จะเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค (free and equal citizens) ที่สามารถเข้าใจ ยอมรับ เคารพ และอดกลั้นต่อความคิดเห็น ความเชื่อ การเลือกวิถีชีวิตที่แตกต่างและหลากหลายของคนอื่นๆ และตระหนักในอิสรภาพของตนเองที่จะเลือกความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ หรือคุณค่าที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่ตนเองเห็นว่าดี เหมาะกับอุปนิสัย หรือการใช้ชีวิตในแบบของตนเอง ตราบที่ยังเคารพสิทธิและเสรีภาพแบบเดียวกันของคนอื่น หรือไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น (ดู Taylor, Secularism and Freedom of Conscience)

จากวิธีการตั้งคำถามและการให้คำตอบแบบเทย์เลอร์ ถ้านำมาใช้อธิบายเรื่องราวของหยก โรงเรียน (ผู้บริหาร ครู นักเรียน) และผู้ปกครองนักเรียน เราจะพบว่าข้อเรียกร้องของหยกกับความต้องการของโรงเรียนและผู้ปกครอง “ไม่ได้ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ” เพราะทุกฝ่ายไม่สามารถปฏิเสธคุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตยได้ และถือเป็นบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนในฐานะสถาบันการศึกษาของรัฐที่ต้องจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีอิสรภาพทางศีลธรรม เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาคที่สามารถเข้าใจ ยอมรับ เคารพ และอดกลั้นต่อคนอื่นๆ ที่มีความคิด ความเชื่อทางศาสนา โลกทัศน์ทางปรัชญา คุณค่าทางศีลธรรม หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากตนเอง

แน่นอนว่านักเรียนทุกคนก็ย่อมต้องการที่จะมีอิสรภาพในการเลือกชีวิตที่ดีตามความคิดความเชื่อของตนเอง มากกว่าที่จะถูกบังคับยัดเยียดให้ทำตามความเชื่อที่ตนเองไม่มีสิทธิ์เลือก บรรดาผู้ปกครองก็ย่อมจะภาคภูมิใจมากกว่าที่ได้เห็นลูกๆ ของตนเองเติบโตอย่างผู้ที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองและเคารพสิทธิมนุษยชนของคนอื่น แทนที่จะเติบโตภายใต้การถูกครอบงำด้วยความคิดความเชื่อแบบเผด็จการอำนาจนิยมที่ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขา หรือทำให้พวกเขากลายเป็นเสมือน “ซอมบี้” ที่ขาดความกล้าหาญที่จะคิดด้วยตนเอง และเลือกการใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง

ดังนั้น ถ้าทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับ “คุณค่าแกนกลาง” ร่วมกัน คือหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ ข้อ 26 “สิทธิในการศึกษา” ความตอนหนึ่งที่สอดคล้องกับข้อเสนอของเทย์เลอร์ว่า “การศึกษาจะต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน การศึกษาจะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรมและมิตรภาพระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือศาสนาทั้งมวล” ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะหันหน้าพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

ผมคิดว่ายังไม่สายที่ทุกฝ่ายจะหาวิธีการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน โดยยึด “สิทธิในการศึกษา” ดังกล่าวเป็นตัวตั้ง

การที่บางโรงเรียนลงโทษพักการเรียนนักเรียน 1 ภาคเรียน เพราะแต่งชุดไปรเวทมาเรียนเพื่อเรียกร้องสิทธิในการแต่งกาย นั่นคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เพราะการ “ผิดระเบียบ” เรื่องแต่งเครื่องแบบนักเรียนไม่ควรจะถูกลงโทษรุนแรงถึงขนาดตัดสิทธิทางการศึกษา 1 ภาคเรียนขนาดนั้น

ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีข้อพิสูจน์ว่าการแต่งชุดไปรเวทมาเรียนได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น หรือทำให้โรงเรียนเสียหาย และทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลง เพราะมีตัวอย่างโรงเรียนในไทยที่อนุญาตให้นักเรียนแต่งชุดไปเวทมาเรียนบางวันได้ หรือโรงเรียนนานาชาติให้นักเรียนแต่งไปรเวทมาเรียน ก็ไม่มีผลกระทบทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลงแต่อย่างใด

เหตุผลที่ว่า แต่ละโรงเรียนก็มีกฎระเบียบของตนเอง ถ้าอยากแต่งไปรเวทก็ไปเรียน กศน.หรือโรงเรียนนานาชาติสิ แม้จะเป็นจริงว่า “แต่ละโรงเรียนก็มีกฎระเบียบของตนเอง” แต่จะอ้างเหตุผลข้อนี้เพื่อละเมิด “สิทธิในการศึกษา” โดยไล่นักเรียนออกเพียงเพราะแต่งกายผิดระเบียบไม่ได้ (ยกเว้นเป็นความผิดร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้อื่น) ความผิดระเบียบเรื่องการแต่งกายควรมีมาตรการอื่นในการจัดการ ไม่ใช่การพักการเรียนหรือไล่ออก

หรือพูดอย่างถึงที่สุด ต่อให้ปล่อยหยกแต่งไปรเวทมาเรียนเพียง “คนเดียว” ก็ไม่ส่งผลเสียหายอะไรแก่คุณภาพการศึกษาของโรงเรียน ข้อเท็จจริงบอกได้เพียงว่า “หยกล้มเหลวในการรณรงค์ยกเลิกเครื่องแบบ” เพราะไม่มีเพื่อนนักเรียนเอาด้วย แต่การที่เพื่อนนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองไม่เอาด้วย ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะไล่หยกออก เพราะนั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิในการศึกษาของหยก ซึ่งเป็นสิทธิที่เป็น “core values” ของระบอบประชาธิปไตยที่ใหญ่กว่ากฎระเบียบของโรงเรียน ซึ่งกฎระเบียบใดๆ ของโรงเรียนจะขัดแย้ง หรือถูกนำมาอ้างเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้

ผมคิดว่าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ตั้งแต่ครู ผู้บริหารโรงเรียน ไปจนถึงกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้บนพื้นฐานของการปกป้องสิทธิทางการศึกษาของนักเรียน ไล่หยกออกได้ก็ไม่เกิดผลดีใดๆ ต่อโรงเรียน และระบบการศึกษาไทยโดยรวม กลับแสดงถึง “ความไร้มนุษยธรรม” ของการใช้อำนาจมากกว่า

การเคารพและปกป้องสิทธิทางการศึกษาต่างหากที่แสดงถึง “ความเป็นอารยะ” ของโรงเรียน กระทรวงศึกษา และระบบการศึกษาไทยโดยรวมที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องคุณค่าพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และปกป้องสิทธิทางการศึกษา อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคน

 

ที่มาภาพ https://prachatai.com/journal/2023/08/105697

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net