Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนอ่าวกุ้ง ภูเก็ต ข้อหาบุกรุก-ทำลายทรัพย์สิน หลังถูกเจ้าของโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญ ฟ้องร้อง ก่อนหน้านี้ชาวบ้านอ่าวกุ้ง เคยมีข้อพิพาท คัดค้านเจ้าของโครงการสร้างท่าเทียบเรือฯ เนื่องจากกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศ และอาชีพประมงท้องถิ่น

 

5 ก.ย. 2566 มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน รายงานวันนี้ (5 ก.ย.) ศาลอุทธรณ์ ภาค 8 จังหวัดภูเก็ต ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง 5 สมาชิกแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ้าวกุ้ง ถูกเจ้าของโครงการสร้างท่าเทียบเรือสำราญ ฟ้องร้องต่อศาลภูเก็ต ในข้อหาร่วมกันบุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 5 คน มีการบุกรุกและทำลายรั้วลวดหนามผ่านที่ดินของโจทก์เข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ป่าชายเลน

ภาพบรรยากาศการฟังความพิพากษาวันนี้ ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต

ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน สรุปเนื้อความคำตัดสินพิพากษา ระบุว่า สำหรับข้อหาร่วมกันบุกรุก ศาลวินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์ หรือเจ้าของโครงการท่าเทียบเรือนั้น เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งไม่อาจกำหนดแนวเขตที่แน่นอนได้ ทั้งที่ยังไม่เคยมีการดำเนินรังวัดตรวจแนวเขตให้ถูกต้อง เพื่อแบ่งแยกแนวเขตที่ดินของโจทก์ และป่าชายเลน อันพิจารณาได้ว่าที่ดินที่จำเลยผ่านเข้าไปนั้นเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธ์ครอบครอง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำโดยมีเจตนาบุกรุก จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุก

อีกข้อหาคือ การทำให้เสียทรัพย์นั้น ไม่ปรากฏในอุทธรณ์โจทก์ว่า โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างใด หรือที่ถูกต้องเป็นเช่นไร คงมีเพียงคำขอให้พิพากษากลับคำตัดสินศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าเป็นอุทธรณ์ ศาลไม่รับวินิจฉัย 

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจา่กกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ออกมาร่วมคัดค้านการสร้างท่าเทียบเรือสำราญและกีฬาอ่าวกุ้งมารีน่า เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่า ขั้นตอนและกระบวนการการสร้างท่าเทียบเรืออาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบป่าชายเลน ทำให้สัตว์น้ำลดลง ส่งผลต่อการประกอบอาชีพประมงของคนในพื้นที่ 

นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2563-2565 ชาวบ้านท้องถิ่นที่ตกงานและขาดรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ซบเซา ได้หันกลับมาทำงานประมงในอ่าวกุ้งเยอะขึ้น เพื่อหาเลี้ยงประทังชีพ จึงทำให้ชาวบ้านกังวลอย่างมากว่า การสร้างท่าเทียบเรือจะทำให้แหล่งอาหาร และสัตว์น้ำ ที่ช่วยพยุงชีพพวกเขาในช่วงวิกฤตหายไปด้วย 

แผนที่: อ่าวกุ้ง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

สำหรับส่วนของคดีความ เกิดขึ้นเมื่อ ธ.ค. 2562 เจ้าของโครงการท่าเทียบเรือได้ยื่นฟ้องแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ชายเลนอ่าวกุ้ง 5 คนเป็นคดีอาญา ข้อหาบุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต​ เป็นหมายเลขดำที่ อ.1216/2562 โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 5 คน มีการบุกรุกและทำลายรั้วลวดหนามผ่านที่ดินของโจทก์เข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ป่าชายเลน

โดยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยทั้ง 5 คนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากการฟ้องของโจทก์เป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบจำเลย หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1) ซึ่งจุดประสงค์ของโจทก์ต้องการฟ้องปิดปาก เพื่อให้จำเลยและกลุ่มเคลื่อนไหวหยุดเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือของของโจทก์ แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากศาลเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริตในการฟ้องคดี และในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ ศาลได้มีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป

ภายหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง ในชั้นพิจารณาคดี จำเลยทั้ง 5 คน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากหากต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวอาจต้องใช้หลักทรัพย์มูลค่า 50,000 บาท ต่อคน รวม 5 คนอาจต้องใช้หลักประกันถึง 250,000 บาท ซึ่งศาลก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เพราะเห็นว่าจำเลยเป็นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์ที่หลบหนี และไม่เคยมีพฤติกรรมเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวชั่วคราวไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล โดยคดีมีกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 9 ส.ค. 2565 และนัดสืบพยานจำเลย 10-11 ส.ค. 2565

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดภูเก็ตได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เนื่องจากโจทก์นำสืบได้ไม่แน่ชัดว่าที่ดินที่จำเลยทั้ง 5 คน เดินผ่านนั้น เป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำการโดยมีเจตนาบุกรุก จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก ส่วนที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าทำลายรั้วลวดหนาม ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยเป็นการสันนิษฐานเองว่า จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ทำลายรั้วลวดหนาม ไม่มีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลชั้นต้นยกฟ้อง ทางโจทก์ ได้ยื่นขออุทธรณ์ ก่อนที่ต่อมา วันนี้ (5 ก.ย.) ศาลอุทธรณ์ได้มีการยกฟ้องทั้ง 2 ข้อหา 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net