Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตามที่ ประชาชนทราบทั่วกันแล้วว่า พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล [1] โดยยกเหตุผลในวาทะ: การสลายขั้วการเมือง และเน้นย้ำถึงความสามัคคีของทุกฝ่ายในประเทศ ทำให้เกิดความกังขาว่า ข้ออ้างนี้เป็นเพียงคำใหญ่ที่ไร้ซึ่งความหมายหรือไม่ (meaningless jargon) [2] อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยมีภาระต้องพิสูจน์สิ่งที่ตนเองได้แถลงไว้เป็นสาธารณะ ขณะที่ แกนนำของพรรคให้สัมภาษณ์ว่าพวกตนยินดีจะรับผลที่จะตามมาจากสิ่งที่หลายคนตราหน้าว่าตระบัดสัตย์

เมื่อพรรคเพื่อไทยขยับเช่นนี้ ความตื่นตัวทางการเมืองในโลกโซเชียลมีเดีย นักวิชาการ นักวิเคราะห์ และประชาชนต่างจุดประเด็น เรื่อง ความชอบธรรม (legitimacy) เนื่องจาก มิได้แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าพรรคยึดมั่นฉันทมติของประชาชนอันดับที่ 1 แต่ลึกลงไปในสงครามวิวาทะ กลับเป็นการยืนยันมโนทัศน์ที่ขาดความหลากหลายในรูป 2 ขั้วขัดแย้ง (binary opposite) ได้แก่ ฝ่ายที่สนับสนุนฉันทมติอันดับ 1 เท่านั้น มองว่า พรรคฉันทมติอันดับ 2 ไม่ชอบธรรม ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกลุ่มแรกหลากเลื่อนไปแตะประเด็นถึงความชอบธรรมในความหมายของความไม่ชอบด้วยธรรม เช่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทั้งที่รู้อยู่ การล้มล้างสถาบัน จรรยามารยาททางการเมือง หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมส่วนตัว เป็นต้น เหล่านี้เองไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย (return of history) ที่สิ้นสุดลงเป็นห้วงๆ ด้วยการรัฐประหารตลอด 20 กว่าปีมานี้ แน่นอนมันควรจบที่รุ่นเรา   

ในแง่ดี การเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงพลิกผันเสียที (disruptive era) เพราะโลกอื่น ๆ พลิกผันไปก่อนหน้าแล้ว ทั้งดิจิทัล ไวรัล IO AI Chat GPT ยุคปกติใหม่-ปกติถัดไป (new normal / next normal) และต้องไม่ลืมว่ากว่า 20 ปีมานี้ การเมืองไทยถูกแช่แข็งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งให้กำเนิดกลุ่มผลประโยชน์ที่แสวงหาผลกำไรจากความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เมื่อการเมืองพลิกผัน สังคมไทยก็ย่อมจับตาว่าใครพร้อมจะนำพาประเทศไปข้างหน้า หรือต้านทานความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบซ้ำเดิม

ท่าทีแบบ radical ชนิดที่ง่ายต่อการถูกทำให้เป็นข้ออ้างซ้ำเดิม ยังมีความเหมาะสมเชิงลำดับหรือไม่และมากน้อยเพียงใดบนพื้นที่ทางการเมืองของประเทศที่ยังคงมีความหลากหลายต่ำมาก

เมื่อฉันทมติยืนยันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงเป็นนามธรรม ประชาชนมีจินตนาการมากน้อยแตกต่างกัน ฉากทัศน์ที่พรั่งพรูในสังคมโซเชียลมีเดียก็ล้วนสะท้อนถึงความเห็นต่างกันนั้น พลันที่พรรคเพื่อไทยอาสานำการเปลี่ยนแปลง ในฐานะพรรคฉันทมติอันดับ 2 แต่กลับประสานประโยชน์กับการเมืองโลกเก่าภายใต้วาทะสลายขั้วไปด้วยจึงทำให้เกิดคำถามว่า

อะไรยังคงเป็นโอกาสสำหรับพรรคการเมืองฉันทมติอันดับ 1 หากยึดมั่นเอาการตอบสนองต่อความต้องการเปลี่ยนแปลงของประชาชนเป็นที่ตั้ง มีช่องทางใดที่จะยืนยันฉันทมติอันดับ 1 ของประชาชนหรือไม่

การเมืองไทยโลกเก่าไม่ได้พูดถึง คือ อำนาจสภาเล็ก (little legislature) [3] หรือกลไกกรรมาธิการทั้งที่ เป็นเครื่องยืนยันฉันทมติประชาชนได้ตามสัดส่วน ตามความใน มาตรา 129 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวคือ ต้องมีจำนวนตามหรือใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละพรรคการเมือง โดยสภาเล็กจะมีอำนาจ กระทำกิจการ 1 พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง 1 หรือศึกษาเรื่องใด ๆ 1
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังมีหลายประเภท เป็นต้น กรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ และกรรมาธิการวิสามัญ ที่น่าสังเกตคือ สภาเล็กมีความยืดหยุ่น เฉพาะเรื่องมากกว่า เช่น การเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามตรวจสอบ และแสวงหาข้อเท็จจริงต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณี เหตุสลายการชุมนุมนับตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 การเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
แนวทางแก้ไขปัญหาผู้เรียนกลุ่มชาติพันธุ์  [4] จะเห็นว่า สภาเล็กมีอำนาจในการขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นความคาดหวังของสังคม และเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนทางด้านนิติบัญญัติทางหนึ่ง

สภาเล็กมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อเท็จจริง ส่งเอกสาร หรือแสดงความคิดเห็น โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะต้องสั่งการด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรค 4 ทั้งยังทำงานได้ตลอดเวลา ไม่ต้องหยุดพักตามสมัยประชุม

แม้มิได้บริหารราชการแผ่นดิน แต่โดยเขตอำนาจที่กระทำได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หากดำเนินกลยุทธ์ ถ่วงดุล ตรวจสอบ กำกับทิศทาง อย่างเป็นระบบ ไม่เล่นการเมืองแบบโลกเก่า การวิเคราะห์ผลกระทบเฉพาะเรื่อง การตั้งข้อสังเกตแล้วแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบและปฏิบัติ ย่อมสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน อ้างถึง ความในข้อบังคับ ข้อ 105 วรรค 4 [5] ที่กำหนดให้ประธานสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการหรือไม่ เป็นหลักฐานยืนยันอำนาจในการติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะของสภาเล็กได้เป็นอย่างดี

แต่ความขัดแย้งต้องไม่เป็นมาตรฐานของสภาเล็ก เพราะการทำงานร่วมกันแม้ขัดแย้งทางความคิดควรเป็นมาตรฐานของการเมืองโลกใหม่ การใช้อำนาจนิติบัญญัติที่นำไปสู่การกำกับดูแล และติดตามอำนาจบริหารก็ยังคงต้องอาศัยมติที่ประชุม การปรึกษาหารือ และวัฒนธรรมร่วมภายในรัฐสภา ดังนั้น การขับเคลื่อนวาระประชาชนตามต้นทุนที่มีจึงต้อง มิได้เป็นไปเพื่อความพอใจของกลุ่มผลประโยชน์ใด เพราะสภาเล็กไม่ใช่เวทีแสดงบทบาทและเรียกคะแนนนิยมทางการเมืองแบบสภาใหญ่ ประชาชนเองก็ควรต้องจับตาด้วยว่า ใครกระทำเช่นนั้น

ห้วงเวลาที่ผ่านมา กลไกกรรมาธิการยังเป็นการเมืองโลกเก่า เป็นต้น การรับเบี้ยประชุมโดยน่าสงสัยว่าเข้าประชุมหรือไม่ การแต่งตั้งที่ไร้ความจำเป็น การวิวาทที่ไร้สาระในที่ประชุม เช่น ที่เลยเถิดเป็นเรื่องทางการเมือง ผลประโยชน์ [6] หรืออาจเลวร้ายได้ถึงกดทับทางเพศ [7] และบ่อยครั้งด้วยที่บทบาทของบุคคลในวงงานกรรมาธิการสร้างความปั่นป่วนและแรงกระเพื่อมทางการเมือง จึงบัดนี้ เป็นโอกาสและความท้าทายของพรรคการเมืองฉันทมติอันดับ 1 ที่จะยืนยันฉันทมติของประชาชนด้วย กลยุทธสภาเล็กในสภาใหญ่เพื่อสร้างมิติใหม่ของการเมืองไทย และคาดหวังผลประโยชน์ที่จะตกกับประชาชนได้อย่างไม่ต้องสงสัย

เริ่มจาก การผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมของกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ
อันเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงก็น่าจะเป็นการแสดงออกต่อสาธารณชน ซึ่งอุดมการณ์ ความจริงใจ
และความโปร่งใส ได้ดี ---- กลยุทธสภาเล็กในสภาใหญ่ ถึงควรเอาไปใช้ด้วยประการฉะนี้

 

อ้างอิง

[1] https://prachatai.com/journal/2023/08/105382

[2] การใช้คำใหญ่อาจเป็นไปได้ทั้ง meaningless jargon หรือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาจริง ๆ เช่น บทความ เรื่อง Resilience : meaningless jargon or development solution ดูใน https://www.theguardian.com/global-development-professionals-network/2013/mar/05/resilience-development-buzzwords และในทำนองเดียวกันการใช้คำใหญ่ก็อาจเป็นเทคนิคการตลาดทางการเมืองด้วยของทุกฟากฝ่าย

[3] คณะกรรมาธิการ โปรดดูในเอกสารเผยแพร่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=8511

[4] https://www.thaipost.net/x-cite-news/424592/

[5] ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562

[6] ผู้จัดการออนไลน์ (เมษายน, 2565). ปธ.กิจการสภาฯ ร่อนหนังสือถึง กมธ.-ส.ส.คุมประพฤติ ที่ปรึกษา-ผู้ช่วย ส.ส. หลังมีเรื่องร้อง กก.จริยธรรม กว่า 30-40 เรื่อง ใน https://mgronline.com/politics/detail/9650000034103

[7] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ (พฤศจิกายน, 2019). ปารีณา ไกรคุปต์ : มองทะลุวิวาทะ เสรีพิศุทธ์-ปารีณา สะท้อนสังคมไทยตกอยู่ในภาวะตาบอดทางเพศ ใน https://www.bbc.com/thai/thailand-50613855

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net