Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานการณ์พลิกผันในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดแล้วว่า ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนกระทบชิ่งกับการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถสกัดออกมาได้ 2 ปรากฏการณ์ ได้แก่ 1.ข่าวลือ เรื่อง การเดินทางไปพบ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ 2.ข่าวการยืนยันวันเดินทางกลับประเทศไทย ของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร สังเกตได้ว่า ความสนใจทางการเมืองยังคงเป็นเรื่องของตัวแสดงทางการเมือง (actors) เป็นเรื่องของความเลือกที่รักมักที่ชัง บุญคุณและความแค้น แต่สะเทือนเคลื่อนคลอนเป็นอีกหมากตาย (deadlocked) ที่สะท้อนให้เห็นว่าเสียงของประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มิได้เป็นส่วนหนึ่งในสมการ 

พลันที่สถานการณ์พลิกผันเช่นนี้ ความอลหม่านก็ได้เข้ามาแทนที่ ทั้งยังบดบังความเคลื่อนไหว
เพื่อเรียกร้องและยืนยันฉันทมติของประชาชนที่นำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ ไปเสียสิ้น สื่อกลับหลังหันผลิตซ้ำจนล้นเกินในการสัมภาษณ์ จตุพร พรหมพันธุ์ สอดส่องความเคลื่อนไหวทางออนไลน์ของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และอีกหลายตัวแสดงที่ยืนยันหมากตาย เน้นย้ำเรื่องสถานการณ์นองเลือดที่จะต้องเกิดขึ้น โหมกระพือซ้ำๆ อย่างน่ากังวล ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดักทางเอาไว้ หรืออาจแฝงด้วยความคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะตอบโต้ความอธรรม ความอยุติธรรมก็ตาม แต่ท่าทีสาธารณะแบบนี้ น่ากังวล เพราะตอกย้ำคำอธิบายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ซ้ำรอยเดิม” (the return of history) ไม่ว่าจะ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์เดือนตุลาคม สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเป็นการกำหนดหมายล่วงหน้า ไม่ควรเป็นเรื่องของศาสดาพยากรณ์

การทดลองทางความคิดแบบวางเงื่อนไข (irrealis moods) ของตัวแสดงทางการเมือง ในรูปประโยค เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าข้ามขั้ว, จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทักษิณกลับบ้าน, จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประชาชนลงถนน และสร้างความจริงที่เหนือจริง (hyperreality) เช่น วาทะ : “...โลกแห่งความเป็นจริง...” หรือการเฝ้าใส่ใจบทบาท นักวิเคราะห์/นักเล่าข่าว เป็นพิเศษ ปรากฏการณ์ทำนองนี้ โบดริอาร์ด (Baudrillard) เคยอธิบายว่า เทคโนโลยีที่ขยายความเหนือจริงแบบนี้ จะกระตุ้นเร้าความอยาก ปลดปล่อยให้ผู้เสพสื่อ ยิ่งทียิ่งต้องใช้จินตนาการและความคิดของผู้เสพเองเพื่อตอบความปฏิสัมพันธ์ทางการตลาดในระบบเศรษฐกิจ อันนี้เป็นข้อต้องสังเกต เพราะประเทศไทยใช้ Social Media สูงติดอันดับโลกมาหลายปี [1] โฉมหน้าและฉากทัศน์ที่นิยมพูดกันย่อมแตกต่างจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์เดือนตุลาคม ซึ่งการขาดความรู้เท่าทันสื่อ หรือ Digital Literacy ของทุกฟากฝ่าย เห็นได้ชัดแล้วว่า ทำให้สถานการณ์แตกต่างจากปีใกล้สุด คือ พ.ศ.2562 และในหลายการเคลื่อนไหวเกิด Digital Footprint และเป็นเงื่อนไขหนึ่งของหมากตาย (deadlocked) 

“...ทุกฟากฝ่าย ต่างมี Digital Footprint ที่ทำให้เกิดหมากตาย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะ Set Zero...”

จากความพลิกผันและต่างเป็นหมากตายดังกล่าว ทำให้เกิดข้อเสนอทางวิชาการภายใต้กรอบคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป (incremental approach) แตกต่างจากกรอบความคิดปฏิวัติวงการ (breakthrough approach) และกรอบความคิดแบบพลิกผันสุดขั้ว (radical approach) ดังนี้ 

(1) รัฐบาล ปี พ.ศ.2566 ต้องเป็นรัฐบาลอายุสั้น เฉพาะกาล มีระยะเวลาดำเนินการที่จำกัดและชัดเจน หรือเป็นรัฐบาลที่สร้างข้อตกลงอิงพื้นฐานความคิดเห็นของประชาชนรายเทอม ซึ่งมีบั้นปลายเป็นการยุบสภา คืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน และดำเนินการเลือกตั้งใหม่ 

(2) คุณลักษณะของรัฐบาล ปี พ.ศ.2566 ต้องเป็นรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) เพราะตั้งขึ้นบนพื้นฐานของการดูดซับความขัดแย้งของสังคมไทยที่กดทับไว้กว่า 8 – 20 ปี กลับเข้าไปสู่ระบบการเมืองรัฐสภา และต้องรับรองเสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย ที่ห่างหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยไปกว่า 20 ปีแล้ว – กระบวนการฟื้นฟูจึงไม่สามารถทำสำเร็จได้ในรัฐบาลนี้โดยสภาพ 

“...ความเป็นจริง คือ การเคลื่อนไหวของประชาชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา สร้างบาดแผลลึก (trauma) ในจิตใจของประชาชนฝ่ายเดียว ทุกความพ่ายแพ้ยับเยินของประชาชนและคนไร้เสียง สิ่งที่ตามมาคือพิธีกรรมให้ชนชั้นนำและนักธุรกิจผลัดอำนาจขับเคลื่อนรัฐบาลด้วยข้ออ้างต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ...” 

(3) รัฐบาล ปี พ.ศ.2566 ต้องเป็นรัฐบาลสัญญาประชาคม กล่าวคือ จำเป็นต้องสัญญากับประชาคมชัดเจน และยืนยันฉันมติประชาชนที่ว่า พรรคก้าวไกลได้รับฉันทมติอันดับที่ 1 และพรรคเพื่อไทยได้รับฉันทมติอันดับที่ 2 ทั้งสองพรรคมีเป้าหมายที่ “...ประชาชนคาดหวังความเปลี่ยนแปลง...” หากจำเป็นอย่างยิ่งต้องเป็นอื่นจากนี้ ต้อง เป็นการแถลงการณ์ร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดรับชอบ (accountability) – ประชาชนควรจับตาด้วยว่า พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีความจริงใจอย่างที่ได้มอบความหวังให้หรือไม่ เพราะความจริงและการปฏิบัติได้จริงต้องถูกยืนยันจากพรรคก้าวไกล ในปัจจุบัน ตัวแสดงทางการเมืองที่แสดงออกได้น่าสนใจและสร้างสรรค์ เป็นต้น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ทั้งที่มีท่าทีจริงจังในการอภิปรายจนเป็นเอกลักษณ์ แต่กลับมีการสื่อสารที่ก้าวร้าวน้อยกว่านักการเมืองวาทศิลป์ดีหลายคนเสียอีก --- ในเวลานี้ การสื่อสารสาธารณะของทั้งสองพรรคมีปัญหา และกระทบสัญญาประชาคม

“...มองอย่างรอบด้าน ทุกตัวแสดงทางการเมืองทิ้ง Digital Footprint ที่จะก่อให้เกิดวิวาทะและกลายเป็นข้ออ้างได้อย่างไม่สิ้นสุด ทุกตัวแสดงกลายเป็นน้องใหม่ หน้าใหม่ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงพลิกผันควรยอมรับความจริงกันว่า เวทีแสดงแบบใหม่นี้ทุกคนต่างพลาดร่วมกัน แค่จะมากน้อยต่างกันเท่านั้น...”

(4) ประเด็นหมากตายเกี่ยวกับการแก้ไขและปฏิรูปกฎหมายที่จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ไม่เฉพาะแต่ ม.112 ไม่ควรถอย/ยกเลิก/ดำเนินการเป็นอื่น แต่ให้เป็นเรื่องของกระบวนการทางรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ เพื่อเป็นการยืนยันฉันทมติประชาชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลที่ควรอายุสั้น --- ในเมื่อสื่อจงใจที่จะผลิตซ้ำเสียแล้วเรื่องการถอยไม่ถอย ก็ควรจะเป็นบทบาทพรรคเช่นเดียวกับ ข้อ (3) ทำให้ชัดเจนโปร่งใส (transparency) เพราะข่าวลือ เป็นต้น ข่าวลือการเดินทางของธนาธรไม่เป็นคุณกับขบวนการ และไม่ซื่อตรง (integrity) 

(5) หน้าที่หลักประการหนึ่งของรัฐบาลสัญญาประชาคม คือการเป็นสนามในการเปลี่ยนผ่าน 
การปรับตัว และการก่อกำเนิดพรรคการเมืองใหม่ที่ คล้าย (หรือไม่คล้ายก็ได้) พรรคก้าวไกล [2] เพื่อสร้างความหลากหลายให้ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองไทย การดำรงอยู่ของรัฐบาลใหม่ที่ควรอายุสั้น จะช่วยให้เกิดการผลัดใบอย่างค่อยเป็นค่อยไป (incremental approach) ลดอุณหภูมิทางการเมืองด้วยวิธีปรึกษาหารือประชาชน (deliberated democracy) ที่ไม่สูญเสียหลักการใหญ่แต่ก็ไม่อาจได้ทั้งหมด

ในระยะเปลี่ยนผ่านจะเบียดขับระบบขั้วตรงข้าม (bipolarity) นักการเมืองความคิดเก่า สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ หรือผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวกับกระแสความเปลี่ยนแปลงให้ทยอยหมดตัวแสดงไป
ในสนามเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสนามเล็ก และการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่จะมาถึง การดำเนินนโยบายเช่นนี้ จะลดข้ออ้างในการแทรกแซงทุกรูปแบบจากทุกฟากฝ่าย เว้นแต่ ประสงค์เล่นละครฉากใหญ่ให้แทรกแซง เพื่อสร้างวีรบุรุษ (Heroic) ซึ่งเป็นวิถีการเมืองแบบเก่า ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2481 เป็นอย่างน้อย  

(6) ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนแล้วว่า ฉากทัศน์และภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย พ.ศ.2566 จะมีทิศทางที่ดีได้ก็ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm-shift) หรือการเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) ซึ่งประชาชน ร่วมกันกับนักวิชาการ ปัญญาชน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักการเมืองทุกระดับ ควรสถาปนาวาทกรรม “ความหลากหลาย” (diversity) (ไม่เฉพาะความหลากหลายทางเพศ) เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเมืองที่สามารถสร้างพื้นที่ก่อกำเนิด (becoming) สร้างวงสนทนาโดยใช้หลัก facilitation และต้อนรับการปรับตัวของ “ผู้สูงอายุ” ท่ามกลางการเป็นสังคมผู้สูงอายุให้ยิ่งทียิ่งมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่ภาพแบบปรองดอง หรือสมานฉันท์ แต่เป็นการแทนที่ด้วยการบริหารจัดการความขัดแย้งร่วมสมัย ซึ่งต้องมีองค์ประกอบของคู่ขัดแย้ง ความไม่เห็นด้วย การทะเลาะเบาะแว้งทางความคิด ดราม่า ไวรัล การผลัดกันดำเนินกลยุทธ์และความแตกต่าง ความแปลกแยก ความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน บรรจุในนิเวศทางการเมืองดังกล่าว --- อันที่จริงความหลากหลายขนาดนี้ เป็นตัวตนของพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วยซ้ำไป  


สรุป
ถ้าเรามีความหวังที่ไม่ลมๆ แล้งๆ อย่างจริงใจว่า ฉากทัศน์และภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว ประชาชนก็ไม่ควรหยุดอยู่ที่ ประชาธิปไตยแบบยึดติดกับตัวแสดงทางการเมือง การโยนให้เป็นเรื่องของ รัฐบาลสัญญาประชาคม และมีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องนอกสภาคอยส่งเสียงทวงสัญญา ก็เป็นข้อเสนอหนึ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งที่สุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงไม่คาดฝัน ลดข้ออ้างและการผลิตซ้ำความขัดแย้งเพื่อหาผลประโยชน์ หากคาดหวังความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้จริง ก็เห็นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะ ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติวงการ (breakthrough approach) หรือพลิกผันสุดขั้ว (radical approach) เกิดขึ้นได้เลย แม้กระทั่ง ปรากฏการณ์การเลือกก้าวไกล หรือแม้กระทั่งสุนทรพจน์ปราศรัยที่โดดเด่น รูปลักษณ์ บุคลิกที่น่าเชื่อถือ สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น ในประวัติศาสตร์หลังปี พ.ศ.2475 ดังนั้น ก็ไม่ควรที่จะยืนยันจะมุ่งหน้าสู่ประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ซ้ำรอยเดิม ในเมื่อโฉมหน้าของทุกสรรพสิ่ง (IoT) ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว --- สังคมผู้สูงอายุร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังการรัฐประหาร ปี พ.ศ.2549 จึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนระบบการเมืองให้พ้นเงื้อมมือของเผด็จการอำนาจนิยม เผด็จการอำนาจทุน ให้รุกคืบได้อย่างมีนัยสำคัญ ชัยชนะยังไม่ใช่วันนี้ในเกมยาว

รัฐบาลสัญญาประชาคม (เฉพาะกาล) เป็นทางออก



อ้างอิงสถิติจาก
[1] รายงาน Digital 2023 Global Overview ของ Melwater 
[2] https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=643
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net