Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 รัฐสภามีมติยึดตามข้อบังคับที่ 41 เป็นผลให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 พร้อมกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งในวันเดียวกันให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและให้มีผลทันทีนับตั้งแต่วันที่สั่ง ก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตามที่ได้รับฉันทมติประชาชนเป็นอันดับที่ 1 อย่างไรก็ตาม วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคที่ได้รับฉันทมติลำดับที่ 2 ได้ออกแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า

“...เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่เห็นชอบ เนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้...”

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน กระดานทางการเมืองเดินหน้าเข้าสู่จุดอับจนอยู่ก่อนแล้ว จากการแบ่งฝักฝ่ายเป็นขั้วตรงข้าม (binary opposites) ภายใต้วาทกรรม “ขั้วประชาธิปไตย” และ “ขั้วเผด็จการ” ดังนั้น วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนมีฉันทมติให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงในฐานะขั้วประชาธิปไตย เป็นที่มาของพัฒนาการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค แต่ในวันนี้จะย้อนแย้งลักลั่นก็ตรงที่พรรคอันดับหนึ่งคงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว และยังเสี่ยงต่อการไม่สามารถร่วมเป็นพรรครัฐบาลได้ด้วย   

ฝุ่นควันของสภาวะอลหม่านแห่งนิติสงครามเพิ่งเริ่มต้น วิวาทะทางการเมืองกลับเผ็ดร้อนต่อเนื่อง อารมณ์ของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยกำลังปะทุและเสี่ยงต่อการลุกลามอย่างไม่คาดฝัน ฉากทัศน์ของความวุ่นวายไร้ขื่อแปเริ่มถูกอ้างถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ สภาพแวดล้อมเช่นนี้ฉุดให้สังคมกลับเข้าสู่จุดอับจน เช่นเดียวกับกระดานทางการเมือง ถ้าหมากทุกตัวเดินต่อไปไม่ได้ การรัฐประหารจะกลายเป็นข้ออ้างล้าหลังที่เริ่มทันสมัยในการล้างเกมกระดานนี้ใหม่ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลและมวลชนอาจตกอยู่ในภยันตรายที่ยิ่งใหญ่กว่าการกวาดล้างในยุคเผด็จการทหารที่ผ่านมาอย่างน่ากังวล

เมื่อโลกยังคงเดินตามทฤษฎีและอุดมการณ์ เกมกระดานการเมืองไทยยังพอเดินหมากต่อได้ไม่กี่ตา โอกาสการชะลอเกมหมากตาย ยังคงเป็นเรื่องที่ควรพยายามอย่างยิ่งให้เป็นไปได้ เพราะการเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ.2566 ไม่เป็นคุณกับประเทศไทยอย่างอุกฤษฎ์ จึงความชั่วร้ายที่น้อยกว่า (lesser evils) ยังน่าเลือกกว่าปีศาจผู้ชั่วร้าย (evil itself) ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่ข้ออ้างที่จะเทียวละเมิดฉันทมติของประชาชนดังเช่นคนทรยศ  แต่เหล่านักการเมือง นักยุทธศาสตร์ นักเคลื่อนไหว ควรบริหารจัดการความขัดแย้งตามหลักการร่วมกัน 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ต้องยอมรับความจริงว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยไม่เคยได้รับผลดีระยะยาวจากพลังของการเคลื่อนไหวปลุกระดมเลยสักครั้ง และในหลายครั้งความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของแกนนำได้ทอดสะพานให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งผลักประเทศไทยให้ถอยหลังไปอีก เฉพาะอย่างยิ่งใน 8 ปีที่ผ่านมานี้ อาจกล่าวได้ว่า การแบ่งฝักฝ่ายเป็นขั้วตรงข้าม (binary opposites) และต่อสู้กันทางวาทะและวาทกรรม หากพูดกันอย่างไม่เกรงใจก็ยังไม่ก่อให้เกิดอะไรใหม่ นักทฤษฎีคนสำคัญอย่างชิเชคมองความเป็นศัตรูคู่อาฆาตว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ซ้ำรอยเดิม [1] หรือจะถึงกับถูกเรียกว่าการทะเลาะกันที่สูญเปล่า (nihilism) ตามคำอธิบายของบาดียู [2] ตัวแบบประชาธิปไตยเดิมภายใต้คาถาสั้น ๆ รูปแบบเดิม ๆ ได้หมดอายุไปแล้ว ตราบที่ไม่กระเสือกกระสนสู่ตัวแบบใหม่ “งาช้างก็ไม่มีวันงอกจากปากสุนัข” ปรากฏการณ์ ณ ขณะนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน

ไม่เคยมีทางตรงสำหรับกระดานทางการเมืองไทย กว่าครึ่งค่อนของตัวแสดงทางการเมืองที่เป็นเพียงขุนนางที่ผ่านการเลือกตั้ง (elective aristocracy) ใยแมงมุมแห่งอำนาจที่ซับซ้อน ซ่อนเร้น รัฐที่พันลึก เป็นปลักตมที่พร้อมจะยัดเยียดความสูญเปล่า สิ้นหวัง แบ่งฝักฝ่าย ในโลกที่ตัวแบบประชาธิปไตยหมดอายุท่ามกลางความสิ้นหวังและรอยแผลลึก (trauma) ของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มใช้สุญนิยม อนาธิปไตย และแนวความคิดแบบสุดโต่ง (radical) เข้าเยียวยาความผิดหวังซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด    

หากตัวแสดงทางการเมืองที่อ้างตนเป็นขั้วประชาธิปไตย อาสาสร้างการเปลี่ยนแปลง มีความยึดมั่นในหลักทฤษฎีประชาธิปไตยร่วมสมัยจริง “ทางออกจากหมากตาย” ก็ไม่น่าเป็นเรื่องเกินจินตนาการ เว้นแต่ อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่ซ้ำรอยเดิม ที่หมั่นสร้างวีรบุรุษเป็นขุนนางผ่านการเลือกตั้งดังที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ซึ่งไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้นเลยดังที่กล่าวไป

เมื่อปัญหาสาธารณะไม่มีทางออก หลายคนสรุปไปแล้วว่าถึงทางตัน จึงท้าทายสติปัญญาให้หาทางออก ดังต่อไปนี้  (และเชิญชวนทุกคนร่วมหาทางออกที่หลากหลายเพื่อก่อกวนให้สภาพขั้วอ่อนกำลัง)

(1) ยอมรับความจริงร่วมกันว่า ทุกสูตรของการจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าใครจะถูกหรือผิดก็ตาม ล้วนเสี่ยงต่อความวุ่นวายในกระดานทางการเมืองไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการรับประกันกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแน่นอนจากการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร และต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำดิน แต่ควรเป็นการลืมตาอ้าปาก พรรคเพื่อไทยควรประกาศจัดตั้งรัฐบาล
สัญญาประชาคม และชูหลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberated democracy)

(2) รายละเอียดของสัญญาประชาคมนั้น ควรประกอบด้วยการสัญญา ต่อไปนี้

(2.1) กรณีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งยังไม่มีพื้นที่อภิปรายในรัฐสภา ควรวางเป้าหมายให้กลับมาพิจารณาในคราวที่ สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่จากการเลือกตั้ง ได้รับการโปรดเกล้าฯ และควรให้ทราบทั่วกันว่า ประชาชนมีฉันทมติให้สมาชิกวุฒิสภามีบทบาทอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามฉันทมตินั้น ข้อนี้ย่อมทำให้ประเด็นดังกล่าวเป็นโจทย์สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทน

(2.2) หลักการที่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคที่ได้รับฉันทมติจากประชาชนแถลงไว้ รัฐบาลสัญญาประชาคม ภายใต้การอนุญาตของพรรคก้าวไกลควรโอบรับเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย และไม่ว่าพรรคก้าวไกลจะตัดสินใจในขั้นสุดท้ายเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลประการใด ควรประกาศสาธารณะเชิญพรรคก้าวไกลให้ดำเนินการเป็นผู้นำเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 128 และมาตรา 129 ทั้งนี้ ควรยืนยันอำนาจในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญตามพรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปภาษี ให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้พิจารณาด้วย อันเป็นการให้เกียรติแก่พรรคที่ได้รับฉันทมติอันดับหนึ่งอย่างสมควร ภายใต้สภาวการณ์ที่น่าอึดอัดนี้

(2.3) 8 พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเดิม ต้อง ออกแถลงการณ์ว่าด้วยสัญญาประชาคมของตน ที่จะมีผลผูกพันไม่ทางใดทางหนึ่งกับรัฐบาลสัญญาประชาคม และเพื่อให้กระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรดำเนินต่อไปได้พลางก่อน พรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลสัญญาประชาคมเพิ่มเติมด้วยเหตุจำเป็นเรื่องเสียงในรัฐสภา 376 เสียง ควรทำสัญญาประชาคมกับประชาชนด้วย มีกำหนดบรรยากาศที่พอเหมาะพอสม มีความพอประมาณให้การขับเคลื่อนรัฐบาลภายใต้ข้อจำกัดนี้ไปข้างหน้า

(2.4) รัฐสภานำโดยรัฐบาลสัญญาประชาคม ลงนามข้อตกลงร่วมกัน (ถ้าเป็นไปได้ หรือถ้าเป็นไปไม่ได้ลงนามเฉพาะพรรค และบุคคลที่เข้าร่วมเพื่อจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่) ริเริ่ม หลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberated democracy) ทั้งนี้ หลักการดังกล่าวย่อมมีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์เข้าใจรูปแบบและวิธีการเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน (educated) ในยุคที่ต้องขับเคลื่อนข้อถกเถียงกันด้วยข้อมูล จึงขอสรุปหลักการ โดยสังเขปต่อไปนี้

แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือในหลายงานของ ออฟเฟและพรอยส์ (Offe and Preuss) [3] มองว่า เป็นทางออกสำหรับวิกฤตความคลั่งอุดมการณ์ การหลอกตนเอง ท่าทีและบุคลิกลักษณะทางการเมืองที่ไม่มีความผ่อนปรน วาทกรรมกีดกันจากผลการเลือกตั้ง เพราะให้คุณค่ากับรายละเอียดและความรอบคอบที่ตกผลึกได้จากการถกเถียงอภิปราย วิธีการเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเดียวกับวาทะ : “โลกสวย” หรือ “สันติวิธีจอมปลอม” เพราะนักกิจกรรมทั้งหลาย (activists) ยังคงใช้กระบวนการฟา (facilitation)ในงาน และหลายครั้งได้เกิดวิธีการที่ทรงพลังในการลดทอนอำนาจกดบังคับ ทั้งบุคคลที่ปฏิบัติการทำนองนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นในการยืนเคียงข้างประชาชน เป็นต้น กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ทั้งนี้ รวมถึงขบวนการกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่มที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล เหล่านี้ล้วนหลีกเลี่ยงลักษณะอย่างสุดโต่ง (radical) แต่ก็ไม่ดัดจริต และค่อนข้างมีวุฒิภาวะในวงสนทนา

หลักการรับฟังเสมอ (เอาดี อัลแตแรม ปารฺแตม : audi alteram partem) เป็นท่าทีสำคัญของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือโดยไม่ต้องมีข้ออ้างใด ยัง (Young) [4] ได้อธิบายให้ชัดเจนขึ้นว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเป็นกลาง และไม่มีอคติ อีกทั้งวาทะ : “ความเป็นกลาง” ยังกีดกันความแตกต่างในตัวมันเอง เพราะเป็นการลดทอนความหลากหลาย แม้แต่เรื่องของเหตุผลและตรรกะที่แม่นตรงก็ตาม ไม่ควรจะเป็นเสียงเดียวที่วงประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือต้องสมาทาน ในวงดังกล่าวสามารถประกอบด้วยส่วนผสมที่เป็นไปไม่ได้ที่สุดหลาย ๆ แบบ เช่น น้องหยก ป้าเป้า ป้าลักษณ์ หมอณรงค์ คำ ผกา บัณฑิต (อาร์ณีญาญ์) วสันต์ สิทธิเขตต์ หรือแม้แต่การสร้างความแปลกใหม่ให้แก่วงปรึกษาหารือ เช่น ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจนถึง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ต้องถูกยืนยันความเป็นไปได้ วงสนทนาที่สามารถสร้างและทำงานเก็บประเด็นอย่างหลากหลายนี้ รัฐบาลสัญญาประชาคมต้องให้การสนับสนุนให้เกิดอย่างกว้างขวาง แพร่หลาย เพื่อผลลัพธ์ทางบวกจากความตื่นตัวทางการเมือง และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

(2.5) รัฐสภานำโดยรัฐบาลสัญญาประชาคม ลงนามข้อตกลงร่วมกัน (ถ้าเป็นไปได้ หรือถ้าเป็นไปไม่ได้ลงนามเฉพาะพรรค และบุคคลที่เข้าร่วมเพื่อจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่) กำหนดพื้นที่ทำงานทางการเมืองร่วมกัน (co-political working space) เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยโลกเก่า โดยวาระนโยบายระดับชาติที่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่าสำคัญ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ ปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาไทย เหล่านี้ไม่ควรเปลี่ยนแปลงพลิกผันตามความไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์

(3) รัฐบาลสัญญาประชาคม ต้อง ประกาศว่ารัฐบาลตนเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ เนื่องด้วย ฉันทมติของประชาชนตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตยเกิดอุบัติเหตุ และเผชิญกับคลื่นลมปั่นป่วนอันสุดวิสัยจะแก้ไขหลายประการ (แม้นักการเมืองพรรคก้าวไกลได้พยายามสุดความสามารถแล้วก็ตาม) ดังนั้น เมื่อประคับประคองการใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยโลกเก่าพอเหมาะพอสมแล้ว อำนาจที่กดทับมติมหาชนซึ่งค่อยคลี่คลายไปแล้วจากการได้มาของสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ผลทางบวกที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วจากการทำงานของพรรคก้าวไกลในฐานะผู้ขับเคลื่อนคณะกรรมาธิการของรัฐสภา และคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็เห็นสมควรที่รัฐบาลต้องสัญญาว่า อาศัยความเห็นพ้องต้องกันกับพรรคก้าวไกลที่สามารถแถลงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสได้ จะกำหนดให้มีการทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภา  

จากข้อเสนอให้ทุกฝักฝ่ายร่วมกันหาทางออกจากหมากตายกระดานนี้ ด้วยท่าทีประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในโลกเก่า และพยายามที่จะผลักวงสนทนาปลายปิดที่ไร้ทางออก ให้พ้นจากการต่อรองทางธุรกิจการเมืองล้วน หรือการยืนหยัดอุดมการณ์ตนแบบสุดโต่ง หรือการทำงานลับหลังประชาชนในเงามืด สู่การขับเน้นวงสนทนาทุกระดับที่โปร่งใส เป็นสาธารณะ มีลักษณะออนไลน์ ตามขนบการสื่อสารแห่งยุคสมัย เรื่องแบบนี้ไม่ใช่อุดมคติแต่ประการใด หลายครั้งพรรคก้าวไกลได้ทำเช่นนั้นไปแล้ว หลายครั้งตัวแสดงทางการเมืองแม้ขั้วอื่น ๆ ก็ยังได้ทำ เป็นต้น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มัลลิกา บุญมีตระกูลจึงไม่ใช่เรื่องเกินจินตนาการ แต่อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นกับเกมการเมือง และตัวละครในโลกเก่าอีกเช่นกันว่าต้องการให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่จารึกและตราหน้าท่านไว้ว่าอย่างไร ? เพราะวันนี้ฉันทมติของประชาชนได้สำเร็จไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และแทนที่จะดื้อรั้นต่อความเปลี่ยนแปลง      ก็ควรจะเดินเกมกระดานทางการเมืองอย่างคนมองไกล เพื่อปิดฉากสงครามขั้วที่ยืดเยื้อมาหลายปีดีดักทุกคู่ขัดแย้งไม่ควรโยนภาระให้ประชาชนเป็นผู้แบกในการถูกดำเนินคดีจากการประท้วงอีกต่อไปแล้ว 

“รัฐบาลสัญญาประชาคมและประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” คือทางออก  


 

แนะนำหนังสืออ้างอิง

[1] Zizek, Slavoj. (2008). Violence : Six Sideway Reflection. Retrieved from https://aordet.files.wordpress.com/2018/04/zizek-z-violence-2008.pdf

[2] Badiou, Alain. (2001). “Philosophical considerations of some recent events”. Theory and Event. October, 2001.

[3] Offe, C and Preuss, U. (1991). Democratic institutions and moral resources. In D.Held (ed.), Political Theory Today. Cambridge : Polity.

[4] Young, I. (1990). Justice and Politics of Difference. Princeton: Princeton University Press.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net