รัฑเถนวาท: การเวียนซ้ำของสถานการณ์ในยุคมืด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ

“เถนวาท”(อ่านว่า เถ-นะ-วาท) คำนี้ จงใจให้คล้ายคลึงกับคำว่า “เถรวาท” (ในแป้นพิมพ์ตัว “ร” กับตัว “น” อยู่ติดกัน) แต่ให้ความหมายที่แตกต่างกัน กล่าวคือ เถรวาท คำนี้มาจากคำว่า “เถระ”(ถิร-ผู้มั่นคง) ซึ่งพระพุทธเจ้าอธิบายดังที่เขียนไว้ในธรรมบทว่า เถระ คือ ผู้รู้ธรรมดับทุกข์ มีกิริยาเป็นปรกติมนุษย์ มักรอบคอบสำรวม ไม่ข้องแวะกับความรุนแรงการเบียดเบียนสิ้นเชิง ท่านเหล่านั้นเจริญชีวิตอย่างสงบอาศัยความรอบรู้ในธรรม [1] และเมื่อเป็นแบบนี้ เห็นได้ชัดว่า คำ “เถระ” ที่ใช้ในภาษาไทยเกิดความคลาดเคลื่อนฟั่นเฝือจากจำกัดความในธรรมบทนี้ กล่าวคือ เถระชาวไทยมีกิริยาไม่เป็นปรกติมนุษย์ นั่นคือ รักจะเป็นอภิมนุษย์ เป็นผู้แสดงฤทธิ์ปาฏิหาริ์ย (ซึ่งพระพุทธเจ้าตำหนิรุนแรงขนาดว่าไม่ต่างจากโสเภณีอวดของลับ) เถระชาวไทยมักไม่สำรวม ข้องแวะกับกิจกรรมส่งเสริมความรุนแรงและการเบียดเบียน เป็นต้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เถระชาวไทยยังเจริญชีวิตตามกระแสโลกด้วยวิชาความรู้ทางโลกหรือเดรัจฉานวิชา สั่งสมทรัพย์สมบัติ ประจบคฤหัสถ์ ไม่ศึกษาคัมภีร์ที่ตนเองปวารณาเองว่าจะศึกษาให้แตกฉาน ดังนั้น คำนาม “เถรวาท” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า คำพูดของเถระ อันบ่งถึงว่าเป็น “เถระ” ที่ร่วมสังคายนาคำสอนของพระพุทธเจ้าครั้งที่ 1 พร้อมกันด้วยวิธีสังคีติ (สวดลงมติ) จึงไม่ปรากฎอย่างเด่นชัดใน เถระชาวไทย อาจเป็นเพราะ ความเป็นเถระชาวไทย ได้เปลี่ยนแปลงลักษณาการให้ขึ้นต่อวัฒนธรรมไปเสียแล้ว เช่น การยืมคำว่า “เถระ” มาใช้ในสมณศักดิ์ อันเป็นการสถาปนาชนชั้นของนักบวชขึ้นเพื่ออำนาจในการปกครองของรัฑภายใต้โฉมหน้าศาสนา เมื่อคำว่า “เถระ” เริ่มมีปัญหา อะไรเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาบ้าง?

เมื่อ “เถรวาท” ศัพท์เดิม ไม่น่าตรงกับ “เถรวาทแบบไทยๆ” จึงคำว่า “เถนวาท” ก็มีสิทธิ์ถูกหยิบขึ้นมาใช้อย่างลำลองเพื่ออธิบายลักษณาการของยุคมืดที่ “เถระ”(ผู้มั่นคง) กลายเป็น “เถนะ”(ผู้ลักขโมย-เงินบริจาคจนมั่งคั่ง) ดังนั้น “เถนวาท” ที่ค่อยๆคืบคลานมาแทนที่ “เถรวาท” ส่งผลให้ บรรดาพระเถนะเหล่านั้น ย่อมสาธยายธรรมเพื่อลาภ ยศ(สมณศักดิ์) สรรเสริญ(รางวัลทางโลกและการถูกยกย่องเป็นครูบาอาจารย์หรืออรหันต์) ที่สุดแล้ว เถนบุคคลก็ได้สิ้นจากความเป็นปรกติมนุษย์ไป นั่นคือ กลายเป็นอภิมนุษย์ เต็มไปด้วยพิธีรีตอง เต็มไปด้วยการบวงสรวงบูชา (เห็นชัดว่า ความเป็นเถระได้ขาดลงโดยปริยายหากถือตามคำอธิบายของพระพุทธเจ้าด้วย) แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคมืด (Medieval era) ซึ่งตามปกติเรามิได้ศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อให้มันเกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ

เนื้อหา

[1] พระเถนะสอนคำสอนที่จับต้องไม่ได้ เพราะคำสอนที่จับต้องได้ ตรวจสอบได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าหลักสำคัญหนึ่งในพุทธศาสนาชื่อ “โอวาทปาติโมกข์คาถา” ซึ่งท่องกันว่า “ทำดี ละเว้นขั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส” เป็นข้อสรุปที่กว้างขวางเกินไป และไม่อาจจับต้องได้เลย หากถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงพูดสรุปแก่นของพระพุทธศาสนาเพียงแค่นี้ คำตอบคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดเพียงแค่นี้ และในคาถาสั้นๆนี้ พระพุทธเจ้าพูดกับพระอรหันต์ด้วย ดังนั้นจึงเป็นว่า คู่สนทนาก็ทราบดีอยู่ในพุทธประสงค์แล้วเพราะเป็นสานุศิษย์ แต่ถ้าย้อนกลับมาถามพุทธศาสนิกชนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะเกิดปัญหาทันทีว่า ขอบเขตของการทำดี วิธีละเว้นชั่ว และแนวทางที่จะทำจิตให้ผ่องใสทำอย่างไร ในเมื่อศัพท์แต่ละคำ พระพุทธเจ้าได้ให้ความไว้ทั้งสิ้น เป็นต้น บุญ, บาป จึงน่าจะอรรถาธิบายว่า “ไม่สะสมสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทุกกรณี 1 ปฏิบัติสิ่งเกื้อกูลจิตให้รู้ ตื่น เบิกบานอย่างสม่ำเสมอ 1 ทำให้จิตรู้ ตื่น เบิก คล่องแคล่วว่องไว ควรการแก่ทำงานต่างๆ 1” หากเป็นแบบนี้ก็จะจับต้องได้มากขึ้น แต่ก็อาจจะเป็นนามธรรมอยู่เพราะเกี่ยวกับจิตใจ มองไม่เห็น วัดผลไม่ได้ แบบนี้ใครที่เจ้าโวหารหน่อยก็สามารถพูดได้ เช่น พระตุจโฉโปฏฐิละ เป็นต้น

ถ้าถามว่าในโอวาทปาติโมกข์คาถามีเท่านี้หรือไม่? คำตอบคือไม่ และคำสอนในคาถาก่อนหน้าของพระพุทธเจ้าก็น่าสนใจกว่า เพราะพอจะมองเห็นได้ วัดผลได้ (ทั้งยังเป็นคาถาต้นพระสูตร) กล่าวคือ ความอดทนเป็นสุดยอดตบะที่ต้องบำเพ็ญ, ความดับทุกข์เป็นสุดยอดของหลักธรรม จงไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ผู้อื่นลำบาก ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้าย กินแต่พอประมาณ อยู่ในที่สงบวิเวก ฝึกจิตให้สม่ำเสมอ เพราะนี่เป็นคำสอนของบรรดาผู้บรรลุธรรมทั้งหลาย [2] ดังนั้น โดยที่ไม่ต้องใช้เกณฑ์อย่างละเอียด เราสามารถจำแนกพระเถระกับเถนะได้จากพฤติกรรมดังกล่าว เพราะใครๆก็พูดได้ว่าตัวกำลังทำดี ตัวกำลังละเว้นความชั่ว ตัวกำลังหลับตาทำจิตบริสุทธิ์ แบบนี้อาจตู่เอาเองก็ได้ ถ้าเราหันมาใช้เกณฑ์ว่า มีความอดทนอดกลั้นหรือไม่? เบียดเบียนเบียดบังหรือไม่? ทำให้ผู้อื่นลำบากหรือไม่? (เพราะพระต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย) ไม่พูดร้ายโจมตีผู้อื่น (ไม่ว่าจะปากปราศัยน้ำใจเชือดคอหรือผรุสวาทก็ตาม) แต่ข้อหลังนี้ ไม่ได้แปลว่า ห้ามเข้าไปถกเถียงเสวนาเพื่อปัญญา แต่ห้ามพูดสิ่งที่ไร้เหตุผล การเพ้อเจ้อ เที่ยวไปตั้งชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ บริภาษด่าคนนั้นคนนี้ (คือ การประพฤติตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีโยนิโสมนสิการ คือ ความคิดโดยลึกซึ้ง) ในพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ถกเถียงกับนักบวชนิครนถ์อยู่บ่อยครั้ง

ดังนั้น ประเด็นเกี่ยวกับจริยศาสตร์นี้ ไม่จำเป็นต้องใช้วาระจิตหรืออิทธิฤทธิ์เข้าตรวจสอบ ใช้พฤติกรรมก็เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็จะพอแยกระหว่างพระเถนะกับพระเถระได้ หากเป็นพระเถนะแล้วก็เท่ากับเป็นโมฆบุรุษนั่นเอง

[2] พระเถนะพยายามสถาปนาคำสอนตัวเป็นที่หนึ่ง เป็นทางเดียว เพื่อแบ่งแยกและสร้างความรุนแรง

ประเด็นนี้ คล้ายคลึงกับแนวคิดของซีเปรียนนูส ที่ศาสนจักรยืมมาสร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัวและความเกลียดชังตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษ และยังทรงพลังอยู่จนถึงทุกวันนี้ที่ว่า “นอกพระศาสนจักรไม่มีความรอด” (Extra Ecclesiam nulla salus) กล่าวคือ ต้องเป็นสำนักคิดของตัวเอง(อตฺตโนมติ) เท่านั้นที่จะได้รับความรอดพ้นในที่สุด (สำนักคิดอื่น แม้จะคิดคล้ายกันแต่ก็ไม่อาจจะได้รับความรอดได้) จะเห็นได้ว่าความคิดนี้ทำให้เกิดการตีตราผู้อื่นว่า “นอกรีต” (Heretic) และที่สุดเมื่อผสมผสานกับการเมืองแบบลึงค์เป็นศูนย์กลาง (คือ การเมืองแบบรัฑ) การประหารฆ่าฟันผู้หญิงและผู้เห็นต่างจึงเริ่มต้นในชื่อการล่าแม่มด (หลักฐานแรกๆของการล่าแม่มด ศาลศาสนาได้หาเรื่องฆ่าผู้หญิงก่อนผู้ชาย)

หากมีใครจะสวนโต้ว่า พุทธศาสนา ไม่ก้าวร้าวถึงขนาดจะฆ่าใครได้ ก็แนะนำให้ดูแนวคิดสุดโต่งของพระวีรธู(Ashin Wirathu) ในพม่า เหตุผลที่ชาวพุทธไม่บังอาจฆ่าใครตามอำเภอใจอย่างในยุคกลางได้ ก็เพราะ ศตวรรษที่ 21 โลกได้ยอมรับกฎหมายสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยที่สุด ก็มีการตกลงว่าการละเมิดชีวิตอย่างไร้เหตุผลระดับนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ กระนั้น ก็ยังมีผู้ปฏิบัติอยู่อย่างไม่รู้จักอาย (อลัชชี)  แม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็ตาม เป็นต้น การละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การค้ากามโสเภณีในฐานะวัตถุทางเพศ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เนื่องมาจากแนวคิดที่พยายามจะกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างด้วยความรุนแรงทั้งสิ้น ข้อสังเกตสำคัญในประเด็นนี้คือ พระเถนะมักสนับสนุนความรุนแรงแบบนี้ ควบคู่กับ ความยินดีในทรัพย์ ประจบคฤหัสถ์ แสวงหาลาภ สักการะมากมาย ไม่ถือสันโดษ

ในบรรดาพระเถนะที่สนับสนุนให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือพูดให้ร้ายผู้อื่น แน่นอน อีกบทบาทหนึ่งก็จะสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ (Spiritual leader) ผู้เข้าถึงธรรมะชั้นสูง (พระอริยบุคคล) สังเกตจากคำสรรเสริญเยินยอของบรรดาศิษย์ที่ยกครูขึ้นชั้นอรหันต์บ้าง โพธิสัตว์บ้าง และหลักฐานสำคัญ ก็คือ คำสอนของพระเถนะเหล่านั้นจะเน้นเกี่ยวกับสำนึกของความเป็นพวกเขา พวกเรา มีการใช้สรรพนามแทนพวกเขาพวกเรา นั่นคือ แบ่งแยกกลุ่มของตัวออกจากสังคมทั้งหมด อาจประนามสังคมบ้าง เยินยอตัวเองว่าเป็นกลุ่มผู้มีบุญบ้าง นั่นคือ สำนึกของความลุ่มหลง (โมหจริต) ว่าตัวเป็นที่หนึ่ง เป็นทางเอก เป็นทางเดียว กล่าวคือ หากไม่มีตัวเองแล้ว พระศาสนานี้ คงต้องถึงแก่การวิบัติ ซึ่งแนวคิดเรื่อง ผู้มีบุญ (ผีบุญ) ลักษณะนี้ ใช้ได้เสมอกับชาวไทยที่มีสำนึกเรื่องผี สาง และความงมงายดังกล่าวกลับเป็นสิ่งที่จะปิดกั้นความเป็นอริยบุคคลแม้ชั้นต้น อย่างโสดาบัน เสียเอง ในชื่อ “สีลพฺพตปรามาส” (misapprehension of virtue and duty) ซึ่งไม่ว่าจะใช้หลักการใดมาวิเคราะห์ แม้แต่หลักการที่หยาบที่สุด เป็นต้น สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ บรรดาพระเถนะเหล่านี้ก็พ้นหรือไม่อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะของเถรวาททุกประการ

[3] พระเถนะไม่ห้ามศิษย์เอกที่สุดโต่ง แต่กลับพึงพอใจศิษย์เอกที่สุดโต่งนั้น เพื่อปกป้องประโยชน์ตน

บรรดาลูกศิษย์ของพระเถนะเหล่านี้จะมีลักษณะร่วมกัน (Stereotype) กล่าวคือ มีอารมณ์ที่วิปริตแปรปรวนคล้ายกับมีอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า หรือ ไบโพลาร์ (Depression or bipolar disorder) ควรรู้ว่า ผู้มีความผิดปรกติของสารเคมีในสมองในระดับที่ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะฝึกปฏิบัติจิต เช่น พระวินัยห้ามผู้ที่เป็นโรคลมชัก (epilepsy) บวช โดยจะถามว่า อะปะมาโร (เธอเป็นโรคลมชักมั้ย?) ซึ่งควรรู้ว่า โรคนี้เคยเป็นกันมากในแคว้นมคธ อาการของโรคนี้คาบเกี่ยวกับอาการทางจิตเวช เช่น อาการประสาทหลอน (hallucination) อาการหลงผิด (delusion) หรือความผิดปรกติทางอารมณ์ (Mood disorder) จึงเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างยิ่งในการปฏิบัติจิต เพราะ ผู้ป่วยจะไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ

เพราะชื่อว่า “ธรรมะ” ก็คือแนวทางการฝึก (มรรค) ในท้ายที่สุด “ทุกข์” สงบ ระงับ ตามลำดับ เมื่อสั่งสมเหตุแห่งกุศลตามคำแนะนำของอาจารย์ตนไปเรื่อยแล้ว ย่อมเกิดผลในที่สุด ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่มักลืมตั้งคำถามกันว่า “ฝึกฝนจิตใจตั้งนาน เหตุใดจิตใจจึงไม่พัฒนาไปในทางที่สงบเย็นลง” และการที่ละเลยการตั้งคำถามเช่นนี้ ก็อาจแปลว่า ไม่มีกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รวมถึงอาจารย์ก็มิได้ช่วยเหลือด้วย หรือแม้แต่ตัวอาจารย์เองก็เช่นกัน แบบนี้ ความดับทุกข์จะเป็นอันหวังได้อย่างไร ก็เป็นแต่เพียงความหลงคิดว่าตัวดับทุกข์ได้เท่านั้น ท้ายที่สุด ก็กำเริบขึ้นเต็มรูปแบบเมื่อมีเหตุมากระทบ

แง่นี้ เป็นว่า การมีอยู่ของบรรดาพระเถนะ ได้บำรุงเลี้ยงผู้ป่วยไว้ หรือแม้แต่พระเถนะผู้นั้นเองก็เป็นผู้ป่วย ซึ่งในทางการแพทย์การปล่อยให้ผู้ป่วยจิตเวชใช้ชีวิตอยู่โดยควบคุมตัวเองได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นอันตราย ยกตัวเองเช่น ลัทธิหลงผิดที่ลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย เป็นต้น และเหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในยุคกลางเช่นเดียวกัน ในเวลานั้นนักบวชรวมถึงฆราวาสก็ต่างอ้างว่า ตัวเองได้รับการประจักษ์จากพระเจ้าหรือบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์กันทั้งนั้น เพราะชาวตะวันตกเองก็ได้นับถือศาสนาผีมาก่อนไม่ต่างจากชาวเอเชีย ท้ายที่สุด ศาสนจักรจึงต้องสร้างกลไกลขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด เป็นต้น สมณกระทรวงการแต่งตั้งนักบุญ (Congregation for Causes of Saints) แม้ว่าจะไม่มีประสิทธิภาพที่สุดก็ตามที

ที่สำคัญพุทธศาสนายังเป็นศาสนาที่ไม่มีคำสอนในลักษณะสุดโต่ง นอกจากนี้ ยังวิจารณ์ลัทธิที่มีแนวคิดสุดโต่งว่าเป็นความคิดที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ) อีกด้วย เช่น แนวคิดเอกการณวาท คือ ทุกอย่างเกิดจากเหตุเดียว เพราะพุทธศาสนามองเรื่องปัจจัยและผลสืบเนื่องจากปัจจัยว่ามีความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้น ชาวพุทธที่โยนว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุเดียว เป็นมิจฉาทิฏฐิในตัวเอง เพราะนั่นไม่นับเป็นท่าทีของพุทธศาสนา

[4] พระเถนะเกิดขึ้นเพราะการบิดเบือนคำสอน หรือเกิดขึ้นเพราะอะไร?

พระเถระที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอาจตั้งข้อสังเกตว่า บรรดาพระเถนะที่นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆนั้น เกิดมาจากการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธองค์ และนี่เองคือคำถามว่า จริงหรือที่การบิดเบือนทำให้เกิดพระเถนะ หรือจะถามอีกแง่หนึ่งว่า เราจะยุติการบิดเบือนคำสอนโดยการแช่แข็งคำสอนได้หรือไม่? ซึ่งการศึกษาทางปรัชญาในปัจจุบันได้ขยายทรรศนะเรื่องนี้อย่างกว้างๆ แล้วว่า “เราไม่อาจยุติการบิดเบือนได้ หากเราจะใช้คำว่านั่นคือ การบิดเบือน ในทำนองเดียวกัน เราไม่อาจจะแช่แข็งคำสอนได้อีก ไม่ว่าจะเผด็จการเพียงใด” ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดสำนักคิดทางการตีความใหญ่ 2 สำนักคิด แต่บรรดาพระเถระในประเทศไทยหยุดอยู่ที่สำนักคิดแรกมากกว่าสำนักคิดหลัง (ไม่แน่ว่า เพราะยังไม่ได้ศึกษา หรือเพราะศึกษาแล้วไม่ถูกจริต) ดังนี้คือ

4.1 การตีความขึ้นกับการแปลงภาษา (Tran-code) และเรียบเรียง (Adaptation) เพราะมีตัวบทเดียว

วิธีคิดนี้เห็นได้ชัดมากในการแปลภาษาปาลี นั่นคือ เราแปลงรหัส (Code) ภาษาปาลีไปสู่ภาษาไทย หรือที่เรียกกันว่า การแปลหรือแต่งกระทู้ธรรม อันที่จริงมีคำกล่าวที่นานเกือบครึ่งศตวรรษแล้วของ David Mandelbaum ที่ว่า “ไม่มีทางที่คุณจะแปลงภาษาจนนำไปสู่ความจริงทางสังคมอันเดียวกันได้” เมื่อเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะตีความตามตัวอักษร หรือการพยายามตีศัพท์โดยรอบคอบที่สุดก็ตาม ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าลงรอยกันสนิทพอดีในความหมายทางภววิทยา และพอความจริงทางสังคมแม้จะคล้ายคลึงกันแต่ไม่อาจเท่ากับกัน วิธีคิดที่เรียกว่า พหุนิยมทางญาณวิทยา (epistemological pluralism) และเมื่อเป็นแบบนี้ เราจะได้คำอธิบายที่มีมากกว่าหนึ่งเสมอ และการตีความย่อมหลากหลายขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่แม้ว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับการไม่อาจแทนที่กันได้ทางความหมาย แต่โดยทั่วไป มีนักคิดชื่อ Umberto Eco เห็นว่าหากไม่ตีความเกินจริง (Over-interpretation) ก็พอที่จะมองเห็นหลัก หรือร่องรอย (Trace) แห่งความสอดคล้องต้องกันได้อยู่บ้าง แนวการตีความแบบนี้อาจสรุปย่นย่อว่า เป็นการตีความแบบตามร่องรอยที่ผู้เขียนทิ้งไว้ (Readerly Text) ผ่านการศึกษาสัญลักษณ์ (Symbol) ต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยเป็นที่นิยมมาก อาจเพราะ เล่นหวย และติดพนัน เป็นต้น

4.2 การตีความอิสระหลากหลาย เลื่อนไหล ไม่ตายตัว เพราะตัวบทมากมายและซ่อนเร้น

กล่าวโดยง่าย คือ การทำลายความหมายที่ผูกขาดในตัวบทนั้นลง ดังนั้น แปลว่าตีความได้หลากหลายไปหมด วิธีนี้นำเสนอและพัฒนาโดย Roland Barthes กล่าวคือ ไม่ตั้งการผูกขาดตัวบทไว้ก่อน จึงมีช่องทางที่หลากหลายมาก(และมิได้มีการควบคุม)ในการตีความตัวบทนั้น เมื่อเป็นแบบนี้ก็อาจจะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่า จะมีการตีความที่ผิด หรือเป็นอันตรายหรือไม่? ซึ่งวิธีการที่จะวินิจฉัยนี้ไม่ยากอย่างที่คิด นั่นคือ ใช้เงื่อนไขที่มีอยู่เป็นข้อกำหนด นั่นคือ แสวงหากฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นกฎในลักษณะข้อตกลงภาพกว้าง มิใช่รายละเอียด เป็นต้น พุทธศาสนามีข้อตกลงที่เป็นกรอบแห่งการตีความอยู่หรือไม่ และกรอบนั้นได้กำหนดหรือบังคับมากน้อยเพียงใด ซึ่งการตีความดังกล่าวหากเราถือว่าจะติดตามกรอบนั้นอยู่ ก็ตีความได้หลากหลายตราบที่อยู่ในกรอบนั้น เว้นแต่เราจะปฏิเสธกรอบนั้นด้วย ซึ่งก็ต้องประกาศให้ชัดว่า มิได้ถือกรอบตรงนี้อีกต่อไป หากว่าเป็นเรื่องของตัวบทหรือการตีความแล้ว ก็สามารถสืบสาวหาเหตุได้ไม่ยากเย็น

อาจมีผู้กล่าวว่า การเปิดเสรีให้มีการตีความนั้นจะทำให้เกิดความอลหม่านขึ้น (Chaos) ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกิดขึ้นเพราะผลสืบเนื่องแบบนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่งในมุมที่สร้างสรรค์ การตีความฝ่ายสร้างสรรค์ก็ย่อมมีที่ทางที่จะผลิตชุดคำอธิบายดีๆที่จะขยายผลให้เห็นจริงต่อไปได้ด้วย แต่ที่แน่ๆ การกล่าวอ้างว่า สำนักของตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวก็แผ่วเบาลงไป ในเมื่อได้รับสิทธิ์แห่งการตีความอย่างเท่าเทียมแล้ว ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของพระธรรมกถึกที่จะสื่อสารสิ่งที่ตัวเองตีความว่าจะโน้มน้าวหรือชี้ให้ผู้ฟังรู้จักวิธีการตีความของตนอย่างไร (ไม่เกี่ยวกับผู้อื่น) นั่นหมายความถึง การคืนสิทธิ์ในการเลือกให้กับผู้รับสาร ได้คิดเอง พิจารณาเอง และเลือกด้วยเจตจำนงอิสระของตัวเอง (ตราบเท่าที่การเลือกหรือกระบวนการฝึกฝนนั้นไม่เบียดเบียน ไม่รบกวน ไม่เข้าข่ายที่ผิดกฎหมาย)

สรุปแล้วพระเถนะดูเหมือนจะเกิดขึ้นเพราะการแช่แข็งคำสอน มากกว่า การปล่อยเสรีให้ตีความคำสอน

[5] อะไรคือการเวียนซ้ำของสถานการณ์ในยุคมืดบ้าง? 

ตั้งแต่เริ่มยุคมืดตอนต้น (ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายสำนักเริ่มไม่เหมือนกัน) แต่ที่ปรากฎขึ้นคือ การเรืองอำนาจของขุนนางที่เข้ามาร่วมแทรกแซงในศาสนจักร และบรรดานักบวชก็เล่นการเมืองภายใต้หน้ากากของนักบุญผู้มีศรัทธา ในสมัยนั้น ศาสนจักรไม่ห้ามนักบวชแต่งงานมีครอบครัว แต่ทว่าก็ยังถือเรื่องผัวเดียวเมียเดียว (ตามอิทธิพลโรมัน) แม้กระนั้น เรากลับพบในประวัติศาสตร์ว่า บรรดาคาร์ดินัลกลับมีหลายเมีย และแต่ละเมียมีลูกหลายคน นี่เป็นจุดที่ทำให้เกิดแย่งชิงอำนาจขึ้นเสมอในยุคกลาง และทั้งๆที่คำสอนของคริสตศาสนา คือ “ความรัก” และพระเยซูผ่านพระคัมภีร์ได้กำกับด้วยคำอธิบายที่มีนัยทางจริยศาสตร์ด้วยว่า “เมื่อท่านปฏิบัติต่อใครก็ตามที่ต่ำต้อยที่สุด ก็เท่ากับปฏิบัติต่อเราด้วย” (มัทธิว 25:37-40) หรือคำสอนที่ว่า “ชนชั้นปกครองต้องรับใช้ผู้อื่น ทุกคนต้องมีชีวิตหรือยอมสละชีวิตเพื่อผู้อื่น”(มาระโก 10:41-45) ซึ่งในข้อหลังนี้ พระเยซูในฐานะอาจารย์ยังทำการล้างเท้าลูกศิษย์เพื่อเป็นแบบอย่างอีกด้วย (ซึ่งขัดกับสำนึกของคนไทยที่ว่าอาจารย์ไม่ควรล้างเท้าให้ศิษย์) แต่กระนั้นก็ดี บรรดานักบวชชั้นปกครองของศาสนจักรในยุคมืดก็มิได้ปฏิบัติตามหลักจริยศาสตร์อันชัดเจนนี้ ต่างก็ประพฤติเช่นเดียวกับบรรดาพระเถนะทุกวันนี้ คือ สอนคำสอนที่จับต้องไม่ได้ ออกไปทางการเทศนาปราศัยให้เคลิ้มฝัน ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง สถาปนาคำสอนของตัว ของพวกตัว เป็นทางเดียว ทางเอก ด้วยการทำการสังคายนาเพื่อประนามลัทธินอกรีต (ซึ่งที่จริง คืออีกกลุ่มอำนาจหนึ่งถือตามแนวคิดนั้น จึงได้กวาดล้างไปในคราวเดียว) ทั้งยัง ส่งเสริมพวกที่มีความศรัทธาอย่างสุดโต่ง พวกบ้าคลั่งทางศาสนา ซึ่งที่จริงอาจจะเป็นบรรดาผู้ป่วยทางจิต เป็นต้น แนวคิดในการทรมานตัวเองเกินพอดี หรือ การสนับสนุนให้รบในสงครามครูเสด และที่สำคัญ แม้ว่าศาสนจักรจะเรืองอำนาจในยุคมืดถึงขีดสุดแล้วก็ตามในแง่ของการอนุรักษ์และพิทักษ์หลักธรรมคำสั่งสอน แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ประสบความสำเร็จในการต้านทานความคิดอันหลากหลายของมนุษย์ในการเข้าถึงคัมภีร์ได้ จนที่สุด การอนุรักษ์ก็ทำไม่สำเร็จ และการป้องกันการตีความก็ทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่า เรื่อง “เงิน ผลประโยชน์ อำนาจ ชนชั้น” เป็นตัวแปรของยุคมืด

สุดท้ายแล้ว ไม่มีเรื่องของมนุษยธรรมตั้งแต่แรก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่มีเรื่องของสิทธิมนุษยชน เพราะนั่นเป็นแค่คำปราศัย

สรุป

คริสตศาสนาในยุคมืดเคยผลิตซ้ำคำว่า “อิสระ,เสรีภาพ” มาก่อนหน้าพุทธศาสนา และครั้งหนึ่งก็เคยลากทุกอย่างเข้าความเป็นคริสตศาสนาทั้งสิ้น มากไปกว่านั้น ยังได้ผูกขาดการตีความไว้ (จนถึงทุกวันนี้) แต่เราก็น่าจะเห็นด้วยตาแล้วว่า ความหลงผิดของศาสนจักรทำให้เกิดอะไรบ้างในปัจจุบัน โดยที่ศาสนจักรเองไม่อาจรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย ลำพังแค่สงครามระหว่างนิกายคาทอลิกกับโปรแตสแตนท์ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องตายกี่ครั้งจึงจะชดเชยผู้บริสุทธิ์ที่ล้มตายไปเพราะความป่าเถื่อนนั้นได้ แน่นอนที่สุด ศาสนาพุทธนิกายเถนวาทก็เช่นกัน ซึ่งกำลังเดินเข้าสู่ความเป็นผู้เก่าแก่ที่สุด เป็นคำสอนดั้งเดิม  แต่กลับเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ซ้ำร้ายการยืนเคียงข้างวรรณะที่ต่ำที่สุดอย่าง “จัณฑาล” แบบที่เจ้าชายสิทธิตถะพยายาม (แม้ว่าพระองค์จะทำได้ไม่ดีนัก) ก็ไม่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย เพราะเถนวาท รักแต่คนรวย รักแต่คนที่ประกอบด้วยวุฒิ 3 (ชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ) และถ้ามีใบกระดาษก็ยิ่งดี จะใบอนุโมทนา ใบธนบัตร ใบอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่ไม่มีให้ก็คือ ความเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ กลายเป็นว่า เถนวาทไม่อาจเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ได้อีกต่อไป นอกจากพึ่งไม่ได้แล้ว ยังแบมือขอและขูดรีดเอากับผู้ศรัทธาด้วยคำขู่ว่าจะต้องตกนรก ลักษณาการแบบนี้คือยุคมืดชัดๆ

 

 

อรรถาธิบาย

[1] “ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ อหึสา สญฺญโม ทโม ส เว วนฺตมโล ธีโร โส เถโรติ ปวุจฺจติ” ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัตถวรรค 19 ต้นเรื่องคือพระพุทธเจ้าทรงปรารถเรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ ผู้มีรูปร่างเล็กเหมือนเด็ก แลดูเหมือนสามเณรมากกว่าพระอรหันตสาวกรูปอื่น โดยทรงกล่าวมีใจความว่า “ความเป็นเถระนั้นไม่ขึ้นกับความแก่ชราแต่ขึ้นปัญญา”

[2] “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรัง วิเหฐยนฺโต อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกเข จ สํวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ อธิจิตเต จ อาโยโค เอตํ พุทธาน สาสนํ”(โอวาทปาฏิโมกขคาถา) จุดนี้มีข้อสังเกตว่า มหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ในสูตรที่ตรงกันนี้ ผู้พูดคือ วิปัสสีพุทธเจ้า (ไม่ใช่เจ้าชายสิทธัตถะสมณโคดม) และขึ้นต้นด้วย “ขนฺตี ปรมํ ตโป.....” ไม่ใช่ “สพฺพปาปสฺส อกรณํ...” และนั่นอาจเป็นสำนึกของเถระผู้สังคายนาที่จะทำให้ธรรมะนี้เป็นสากล (คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายสอนแบบนี้) เป็นการรับรองจริยศาสตร์แบบพุทธไปในคราวเดียวกันด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท