Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วาทะอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2012 : แช่แข็งประเทศไทย [1] สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจที่ ยับยั้ง กีดกัน และกดทับความหลากหลาย มีประชาชนอาจเป็นนับพันชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการกดปราบนี้ หลายคนเสียชีวิต พิการ บาดเจ็บ เป็นผู้ต้องขัง สิ้นเนื้อประดาตัว และไม่ได้รับความยุติธรรม เช่นเดียวกับที่กระบวนการแช่แข็งเพื่อยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์เป็น แต่ปัจจุบัน ปี พ.ศ.2566 หรือกว่า 10 ปีต่อมา “การเมืองหลากหลายต่ำ” เป็นปรากฏการณ์จริงที่เป็นผลตามมาเนื่องด้วยอุปมานั้น ในเมื่อความหลากหลายไม่หวนคืนกลับสู่ความเป็นพหุนิยม (pluralism) ซึ่งเป็นดัชนีทางการที่ใช้ชี้วัดประชาธิปไตย เช่น การตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ [2] การผลิตซ้ำของสื่อแบบขั้วตรงข้าม [3] หรือกระทั่งวังวนของความขัดแย้งแบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ (antagonism) สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกโดยเขลาของรัฐประหาร การชุมนุมแบบรับใช้นาย และวิกฤตการณ์รัฐสภา 20 กว่าปีของประเทศไทย

การเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2566 ปรากฏผลการเลือกตั้งที่เชื่อได้ว่า ฉันทมติของประชาชนแทงทะลุกำแพงอำนาจที่แช่แข็งประเทศไทย ปรากฏการณ์ที่พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยในฐานะ 2 ตัวแสดง ที่ถูกกระทำย่ำยีจากขั้วตรงข้ามได้รับฉันทมติอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ยืนยันโอกาสที่สังคมไทยจะปลดปล่อยกระบวนการทางรัฐสภาให้พ้นจากการครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ แต่ที่กำลังวิวาทะกันอยู่คือ ขนาดของการปลดปล่อย และระดับของการหลุดพ้นจากการครอบงำ ต้องไม่ลืมว่า สภาพจริงของการเมืองไทยยังเสื่อผืนหมอนใบ ความหลากหลายทางการเมืองต่ำ หรืออาจถึงขั้นต่ำมาก ระบบและกลไกที่ออกแบบไว้ต้านทานความหลากหลายยังทำงานอยู่เข้มข้น เห็นจากคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลพ่วงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอีกหลายคดีที่รอคอย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลอยู่ แม้กระทั่งการใช้ทฤษฎีตัวประกันกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยด้วย ล้วนเป็นหนึ่งในขบวนการเดียวกัน [4]

การเมืองไทยไม่เคยมีปัญหาในการฉายภาพผลลัพธ์ชวนฝัน (the ends) แม้สักครั้ง เพราะแต่ละรอบในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะให้กำเนิด ดาวเด่น นักฝัน ไอดอล หรือแกนนำปราศรัยที่เต็มเปี่ยมวาทศิลป์ สม่ำเสมอเรื่อยมา และก็เช่นกันที่การเมืองไทยมีปัญหาทุกครั้งเกี่ยวกับวิธีการ (the means) ต่างฝ่ายก็ต่างผิดหลักการ หรือวิธีการไม่มากก็น้อย ผู้ที่ผิดต่อความเชื่อของอีกฝ่ายจะถูกขยายแผล ตีตราเป็นยักษ์มาร
เป็นผี เป็นคนชั่วหยาบของอีกฝ่าย เรื่องเหล่านี้เป็นเพียง the return of history ภายใต้สนามการเมืองหลากหลายต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงความด้อยพัฒนาของการเมืองไทยจากต้นเหตุที่ได้กล่าวไปแล้ว โลกทัศน์ที่นักการเมืองออกท่าแบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ (antagonism) แต่ก็พร้อมจะลอยนวลพ้นผิด (impunity) เป็นความด่างพร้อยสำคัญของธรรมาภิบาล (good governace) ว่าด้วยความรับผิดรับชอบ (accountability)

ขบวนการทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ตื่นขึ้น (woke) ภายใต้ละครการเมืองที่แสร้งว่ารบกัน (ซึ่งในปี พ.ศ.2566 เปิดเปลือยให้เห็นได้ชัดแล้วว่ามิได้เป็นเช่นนั้น) ท่ามกลางการแช่แข็งด้วยอำนาจกดปราบจนความหลากหลายต่ำ การแพร่ความเกลียดชัง (hate spreaders) ท่าทีผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ (antagonism) ทำให้เกิดขบวนการสุดโต่งที่ไม่เสแสร้ง แต่เป็นอันตรายต่อตนเองและหลักการ เป็นต้น การกำราบอธรรมด้วยอธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง หรือการชูแนวคิดแบบ the end justify the means เช่น ถ้าความต่ำช้าและป่าเถื่อนจำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายก็ไม่ควรลังเลให้ลงมือกระทำได้ทันที ในหลายพฤติกรรมเหล่านี้ก้ำกึ่งระหว่างการผลักดันให้สังคมไทยไร้ขื่อแปกับการใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็นเพื่อทวงถามหลักการประชาธิปไตยที่สูญหายในทัศนะของ Zizek อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของทุกนักคิดไม่ใช่สัจธรรมสากล แต่สุขภาพจิตและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่างหากที่เป็นเรื่องจริง

คำถามคือ ภายใต้วิธีคิดแบบเดิมๆ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่ปลดปล่อยสังคมจากปีศาจร้ายตัวเก่าไปสู่ปีศาจร้ายตัวใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องล้าหลังมากแล้วในสังคมประชาธิปไตยแบบพหุนิยม

ในสภาพหลากหลายต่ำเพียง 2 ขั้ว (bipolarity) สิ่งที่รัฐบาลอายุสั้นในสภาวะเปลี่ยนผ่านควรรับประกัน ได้แก่ การดำรงขันติธรรม (tolerance) และหนุนเสริมสภาพหลายขั้ว (multipolarity) เพื่อเติมเต็มพหุนิยมทางประชาธิปไตย (pluralist democracy) ตัวอย่างในปัจจุบัน เช่น พรรคไทยสร้างไทย ที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยแต่ไม่แก้ไข ม.112 พรรคประชาชาติที่มีแนวคิดทางการเมืองและวัฒนธรรมอีกเฉดหนึ่ง พรรคเป็นธรรมที่พยายามแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ พรรคเพื่อไทรวมพลังที่น่าจับตาเรื่องพัฒนาการ แม้แต่ พรรคไทยภักดีที่ rebranding [5] หรือพรรคเล็กอื่นๆ ที่มีจังหวะและท่วงทำนองของตนเองด้วย อาทิเช่น พรรคสามัญชน พรรคเส้นด้าย พรรคเปลี่ยน พรรคเสรีรวมไทย เหล่านี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้
ถ้ากระแสผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ (antagonism) ยังคงรุนแรง

เป็นหน้าที่ของทุกพรรคการเมือง และทุกตัวแสดงทางการเมือง ที่จะส่งเสริมพหุนิยมทางประชาธิปไตย เพื่อฟื้นฟูเสรีภาพทางวิชาการและความคิดเห็นทางการเมือง ที่ถูกกดปราบอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษ

ฉันทมติ (consensus) หากพิจารณาจากทฤษฎีเก่า ย่อมไม่ใช่เรื่องของการตอบสนองทุกเสียงที่เสนอ แต่เป็นเรื่องของการตัดบางเสียงออก และในเมื่อมีการตัด กีดกัน ไม่สามารถประสานรวมได้จึงต้องแยกกันย่อมทำให้เกิดภาพทำนองมิตรแท้ศัตรูถาวร (friend-enemies distinction) (ดู Carl Schmitt [6]) และอาจพัฒนาไปถึงท่าทีผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ (antagonism) Schmitt ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ผลิตคำอธิบายนี้ ในบริบทการเรืองอำนาจของการเมืองแบบขั้วตรงข้าม และพร้อมจะละเมิดความมั่นคงร่วมกัน (collective security) ดูเหมือนว่า คำอธิบายนี้ไม่เก่าเลยสำหรับการอ่านปรากฏการณ์การเมืองไทยแม้มีคนรุ่นใหม่มาร่วมด้วยแล้ว

การเมืองอย่างสร้างสรรค์ในความหมายของพรรคเพื่อไทย [7] หรือการเมืองใหม่ในความหมายของพรรคก้าวไกล (ทั้งจาก เรื่อง identity politics หรือวิธีการสื่อสารทางการเมืองแบบใหม่ก็ตาม) ยังเดินตามความคิดเรื่อง friend-enemies distinction ของ Schmitt ตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ซึ่งมีผีความขัดแย้งขั้วตรงข้าม
ผีคอมมิวนิสต์ ผีอะไรจากอดีตมาหลอกหลอนหรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหลากหลายทางการเมืองต่ำย่อมถีบทึ้งให้พัฒนาการทางการเมืองถดถอย แต่ถ้าตั้งต้นจะ set zero เพื่อฟื้นฟูพหุนิยมทางประชาธิปไตยหลังจากถดถอยมากว่า 20 ปี แนวคิดใหม่ๆ ที่ควรเข้ามาแทนที่ ท่าทีผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ (antagonism)

อาจเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจของ Chantal Mouffe ในงานเขียนหลายชิ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) เช่น บทความชื่อ Why the left needs a political adversary not a moral enemy (Mouffe, 2001) [8] หรือแปลไทยว่า ทำไมฝ่ายซ้าย (ควร) ปรารถนาคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่ใช่ศัตรูทางศีลธรรม

Mouffe ชี้ว่า พหุนิยมทางประชาธิปไตยควรเป็นการมองแบบ agonism หรือคู่ขัดแย้ง (struggle) มากกว่า anta-agonism ที่มีนัยยะของการต่อต้าน (anti, against) ดังนั้น ศัตรูทางการเมือง ควรเหลือเพียงคู่ต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ก็ทำได้เต็มที่ หลากหลาย เสรี ตราบเท่าที่ไม่เบี่ยงเบนองศาไปสู่วิธีคิดแบบสุดโต่ง

ดังนั้น คู่ขัดแย้ง หรือความขัดแย้ง เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อแสดงคุณลักษณะของพหุนิยม แต่ไม่ใช่ข้อความที่ว่า ความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์เดียวสำหรับพหุนิยม หรือทุกเรื่องกลายเป็นความขัดแย้งทั้งสิ้น เพราะจะย้อนแย้งกับพหุนิยมเอง สำหรับประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberate democracy) ที่ถูกกังขาว่า จะไปด้วยกันได้กับการดำรงอยู่ของความขัดแย้งหรือไม่ สามารถยืนยันความเป็นไปได้ผ่านรัฐที่อนุญาตให้ต่อสู้กันทางความคิดอย่างหลากหลายของกลุ่มขบวนการ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในการผลัดกันครองอำนาจนำ (แบบเฉพาะส่วน) จนสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นวาทกรรมของตนได้ ตราบเท่าที่ไม่ทำลายประโยชน์สาธารณะซึ่งประชาชนต่างเห็นพ้องต้องกันแบบสัมพัทธ์ ณ ขณะนั้น

ท้ายนี้ กว่า 20 ปีที่ประชาธิปไตยไทย ถดถอยสู่ความไม่หลากหลายจากที่ไม่ค่อยหลากหลายอยู่แล้ว บัดนี้ หดแคบเหลือเพียงศัตรูคู่อาฆาต แยกมิตรแยกศัตรูไม่ได้ รัฐหลุดประพฤติตนเถื่อนถ่อย ชนชั้นนำย่ามใจแสดงความไร้ขื่อแป เสรีภาพทางวิชาการถูกกดปราบ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นหุ่นเชิดที่ทยอยรอวันจับโกหกได้ ถ้าจะปลดปล่อยประเทศไทยสู่พหุนิยมทางประชาธิปไตย แรกสุด คือ “คู่ต่อสู้ไม่ใช่ศัตรู”

ตื่น (woke) จากมนต์สะกดที่เสกเป่าให้ประชาชนเห็นกันและกันเป็นศัตรู
พหุนิยม ไม่ได้ มีแต่เรื่องดีๆ ยังรวมถึง เรื่องแย่ๆ รวมถึง คนน่ารังเกียจแต่ก็ยังเป็นคน ถึงที่สุดแล้ว การยืนยันว่าคนควรถูกปฏิบัติตามหลักการขั้นต่ำ ต้องยืนยันกันเข้มข้น ความรุนแรง ความขัดแย้ง ความสุดโต่ง  เพียงอย่างเดียวไม่ใช่ พหุนิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่อำนาจนิยมทั้งหลายไม่ใช่ประชาธิปไตย


 

อ้างอิง

[1] https://prachatai.com/journal/2012/11/43670

[2] https://thestandard.co/ministry-of-foreign-affairs-spokesman-dissolving-party-is-a-step-back-in-politic/

[3] โปรดดูใน ปกาสิต วัฒนา, ทิพรัตน์ บุบผะศิริ, พัน ฉัตรไชยยันต์ และวุฒิพล วุฒิวรพงศ์. (2563). “การเมืองยุคแบ่งขั้วกับการปฏิบัติการข่าวสารบนสื่อโซเชียลมีเดีย ในช่วง พ.ศ.2557-2562”. วารสารรามคำแหง ฉบับรัฐประศาสนศาสตร์, ปีที่ 3, ฉบับที่ 3, หน้า 68-106.

[4] https://www.dailynews.co.th/news/2620102/

[5] https://thestandard.co/thai-pakdee-party-rebranding/

[6] ดูแนวคิดของ Schmitt ในหนังสือ The Concept of the Political (ปี 1932 : 2475)

[7] แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2566

[8] https://transversal.at/transversal/0401/mouffe/en

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net