Skip to main content
sharethis

ไรเดอร์ และสมาชิกครอบครัวไรเดอร์ผู้เสียชีวิต ยื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน จี้ บ.แพลตฟอร์ม ไรเดอร์ต้องเข้าถึงประกันอุบัติเหตุ ขอภาครัฐช่วยจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือกรณีไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ ขาดรายได้ พิการ และเสียชีวิต ด้านกระทรวงแรงงาน รับให้คำตอบใน 7 วัน 

 

30 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (30 ส.ค.) เวลา 10.31 น. ที่บริเวณหน้าห้องศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพไรเดอร์ และญาติสมาชิกครอบครัวไรเดอร์ที่เสียชีวิตจากการทำงาน เดินทางมายื่นหนังสือที่กองทุนเงินทดแทน เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเจรจากับบริษัทแพลตฟอร์ม ให้มีการอำนวยความสะดวกและเยียวยาไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน และขอให้มีการตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือไรเดอร์ ระหว่างพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ และไม่สามารถไปทำงานได้ และเงินเยียวยาถ้ากรณีไรเดอร์เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน โดยมี เกษมสันต์ เครือเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และ กนกนันท์ วีรินานันท์ ผู้อำนวยการ สำนักกองทุนเงินทดแทน เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหารูปแบบแรงงานสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์ และบริษัทแพลตฟอร์ม ซึ่งทางบริษัทแพลตฟอร์มจ้างงานไรเดอร์ในลักษณะของแรงงานจ้างทำของ หรือแรงงานอิสระ ไม่ได้นิยามเป็น "ลูกจ้าง" หรือแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 อย่างไรก็ตาม นักสิทธิแรงงานพบว่า บริษัทแพลตฟอร์มมักมีการละเมิดสิทธิแรงงานบ่อยครั้ง และปฏิบัติต่อ 'ไรเดอร์' เปรียบเสมือน 'ลูกจ้าง' โดยเฉพาะประเด็นการใช้อำนาจบังคับบัญชาเกินขอบเขต อาทิ การใช้อำนาจลงโทษไรเดอร์ การกำหนดขอบเขตวิธีการทำงาน การลดค่าตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม หรืออื่นๆ 

นอกจากนี้ การจ้างงานไรเดอร์ในฐานะแรงงานอิสระ ทำให้ไรเดอร์ประสบปัญหา เข้าไม่ถึงสิทธิแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ตามหลักเสี่ยงภัยอันเกิดจากการทำงาน และบริษัทแพลตฟอร์มจะไม่ถูกบังคับต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเสียหายแก่ลูกจ้าง หรือไรเดอร์ เกี่ยวกับอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยด้วยโรค หรือการเสียชีวิตอันเกิดจากการทำงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเงินทดแทนลูกจ้าง 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทแพลตฟอร์มจะมีประกันอุบัติเหตุ และเงินชดเชยให้กับไรเดอร์ แต่ก็มีขั้นตอนยุ่งยางซับซ้อน และใช้เวลานาน 

สุภาพร พันธ์ประสิทธิ์ ตัวแทนไรเดอร์ กล่าวว่า วันนี้เธอมาเรียกร้องให้ไรเดอร์ เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และให้มีการจัดตั้งกองทุนทดแทนช่วยเหลือไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุ

สุภาพร พันธ์ประสิทธิ์

"จากที่ไปช่วยหลักกรณีของแพร (จิรวรรณ คงใหญ่)  ไรเดอร์ อายุ 20 ปี ผู้เสียชีวิต คือยังไม่ได้รับความคุ้มครอง และความเป็นธรรมจากทุกหน่วยงานและจากคู่กรณี และตัวเธอเองก็เคยประสบอุบัติเหตุมาเหมือนกัน เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เหมือนกัน ยังไม่ได้เยียวยา หรือได้เงินชดเชยอะไร ซึ่งมันทำให้พวกเราต้องมาในวันนี้"  

"มาที่นี่เพื่อจะมาเรียกร้องวิงวอนความเห็นใจ ให้ทางกระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือเราตรงส่วนตรงนี้" ตัวแทนไรเดอร์ กล่าว

สุภาพร กล่าวต่อว่า ขั้นตอนขอเงินชดเชยเยียวยาจากบริษัท ถ้ากรณีที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ บริษัทจะให้ใช้ พ.ร.บ.จักรยานยนต์ฯ ก่อน และถ้ามีค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากนี้ ถึงให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาล ประกันสังคมส่วนใหญ่ มาตรา 39 และมาตรา 40 และสิทธิ์บัตรทอง ถ้าไม่มีอีก ถึงทำเรื่องของเงินชดเชยจากบริษัท โดยที่ไรเดอร์ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน ซึ่งไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่มีทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน และติดปัญหาเรื่องใช้เวลานานมากในการขอเบิกเงินของบริษัท

อนึ่ง พ.ร.บ.จักรยานยนต์ฯ กำหนดอัตราจ่ายเงินชดเชยกรณีการขาดรายได้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน ส่วนกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ กำหนดอัตราเงินชดเชยรายละ 35,000 บาท 

ตัวแทนไรเดอร์ กล่าวว่า เธออยากเรียกร้องให้มีการชดเชยทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้ต้องทำเรื่องเอกสารนาน 15-30 วัน ซึ่งไรเดอร์บางคนรอไม่ได้ เนื่องจากไม่มีเงินจำนวนมาก และต้องหาเลี้ยงครอบครัว

"เราอยากได้ชดเชยทันที ไม่ใช่รอ 15 วัน ยื่นเอกสารไปแล้ว รอ 30 วันยื่นเอกสารไปแล้ว ตีกลับมาเอกสารไม่ผ่าน ก็ต้องยื่นใหม่ๆ เราจะกินจะอยู่ยังไง ครอบครัวเราจะอยู่ยังไง บางทีเคยโดนหลายครั้ง และต้องถอดเฝือกตัวเองออกมาขับรถ เพื่อเลี้ยงครอบครัว" สุภาพร ระบุ

'ขวัญ' ไรเดอร์วัย 30 ปี วันนี้มายื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน เนื่องจากเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวโดยเฉพาะเรื่องกองทุนช่วยเหลือไรเดอร์ ให้มีการเยียวยาช่วยเหลือเวลาไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุทันที 

ขวัญ ไรเดอร์

ขวัญ ระบุว่า เขาเคยประสบอุบัติเหตุจราจร ถูกรถยนต์เบียดจากด้านหลังจนไปชนกับรถคันด้านหน้า จนทำให้บาดเจ็บกระดูกเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ขวัญ ประสบปัญหาใช้เวลาค่อนข้างนานในการขอเงินชดเชยเยียวยาจากบริษัทแพลตฟอร์ม 

"มันจะมีการยื่นใบรับรองแพทย์ ใบสำเนาบันทึกประจำวันจากโรงพัก 

"พอยื่นไป อีก 3 วัน เขาจะแจ้งตอบเมลกลับมา เอกสารไม่ผ่านให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม เราก็ส่งอย่างนี้ เป็นอาทิตย์ถึง 2 อาทิตย์ แล้วไม่ได้เงิน ก็เลยไม่เอา ต้องฝืนมาวิ่งงานต่อ ไม่งั้นเราก็ไม่มีกิน ตอนนี้เราต้องวิ่งมากชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ได้ยอดเท่าเดิม" ขวัญ กล่าว

ขวัญ กล่าวว่า เขาอยากให้รัฐบาลช่วยคุยกับทางแพลตฟอร์ม ให้มีเจ้าหน้าที่ตรงนี้โดยตรง เวลาที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุแบบนี้ ให้มีเจ้าหน้าที่คอยซัปพอร์ตไม่ใช่ให้ไรเดอร์เข้าโรงพยาบาล รักษาตัวเสร็จ และก็ต้องมาขอเอกสารมาเดินเรื่องเอง ถ้ามีเจ้าหน้าที่มาคอยเดินเรื่อง ประสานงานให้ เรื่องก็จะไวขึ้น 

สุภาพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เธออยากให้ไรเดอร์เข้ามาเป็นแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เนื่องจากจะได้รับการคุ้มครองเวลาเจ็บป่วย และไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน และอยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ช่วยออกมาตรการคุ้มครองแรงงาน และควบคุมบริษัทแพลตฟอร์ม ไม่ให้มีการลดค่าตอบแทนและสวัสดิการของไรเดอร์โดยพลการ

นอกจากนี้ ญาติของจิรวรรณ คงใหญ่ ไรเดอร์วัย 20 ปี ผู้เสียชีวิตระหว่างทำงานส่งของผ่านแพลตฟอร์มเดินทางมาวันนี้ เพื่อมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับหลานของเธอ 

สำหรับ จิรวรรณ คงใหญ่ เป็นไรเดอร์ วัย 20 ปี ประสบอุบัติเหตุระหว่างทำงานที่หน้ากรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ภาพของจิรวรรณ คงใหญ่

ย่าของจิรวรรณ ระบุว่า เรื่องการช่วยเหลือจากทางบริษัทแพลตฟอร์มในกรณีนี้ บริษัทมีการมาเยี่ยมจิรวรรณ ในวันที่ประสบอุบัติเหตุที่โรงพยาบาลเมื่อ 14 มิ.ย. 2566 ก่อนที่ไรเดอร์วัย 20 ปี จะเสียชีวิตในวันถัดมา นอกจากนี้ บริษัทแพลตฟอร์มช่วยเหลือวันสวดศพ เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท และมาเยี่ยมวันฌาปนกิจ และไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย

สำหรับจิรวรรณ ไรเดอร์วัย 20 ปี ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเลี้ยงครอบครัว ต้องเรียนและทำงาน การขาดเธอไปทำให้ครอบครัวคงใหญ่ ขาดคนดูแลครอบครัว ขณะที่ในส่วนของคดีความยังไม่มีความคืบหน้าจากทางตำรวจมากนัก 

"อยากให้ตำรวจเดินเรื่องให้เรียบร้อย ให้น้องได้รับความยุติธรรม เพราะเขาตายในหน้าที่ 

"ติดต่อตำรวจ ก็อ้างว่าต้องรอใบชันสูตร ผ่านมา 2 เดือนถึงจะได้ ได้มายังไม่รู้ว่าจะต้องยังไงต่อ" ย่าของจิรวรรณ กล่าว 

ทั้งนี้ หลังจากการยื่นหนังสือ ทางกระทรวงแรงงาน ได้เชิญตัวแทนไรเดอร์ เข้าไปหารือกันต่อ 

กระทรวงแรงงาน รับให้คำตอบใน 7 วันทำการ

เวลา 12.05 น. สุภาพร และตัวแทนไรเดอร์ คนอื่นๆ ได้เดินทางออกมาจากห้องประชุมกับกระทรวงแรงงาน

สุภาพร กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงานรับเรื่องไว้แล้ว แต่ว่าการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงแรงงานเพียงฝ่ายเดียว ต้องไปคุยกับหลายหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และรับปากว่าจะทำให้อย่างเร่งด่วน โดยจะมีคำตอบให้ภายใน 7 วัน 

อย่างไรก็ตาม สุภาพร ระบุด้วยว่า ภาครัฐเคยมีการเชิญตัวแทนบริษัทแพลตฟอร์มให้มาเจรจาหาทางออกกับไรเดอร์หลายครั้งแล้ว แต่บริษัทแพลตฟอร์มมักบ่ายเบี่ยงไม่ส่งตัวแทนมาร่วมหารือ เพื่อหาทางออก  

สุภาพร ระบุว่า ส่วนตัวเธอค่อนข้างกังวลบ้างว่าอาจจะไม่ได้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง แต่ก็เชื่อว่าอาจจะมีแสงแห่งการแก้ไขปัญหาเข้ามาเร็วๆ นี้ เนื่องจากเราขับเคลื่อนเรื่องนี้มานานแล้ว และมีหลายองค์กร และหลายหน่วยงานให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้เกิดการแก้ไขขึ้นมาจริงๆ  

รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ขอ รบ.และหน่วยงานรัฐ เร่งช่วยเหลือไรเดอร์ ตามข้อเรียกร้อง

สื่อเฟซบุ๊ก Thai Voice รายงานด้วยว่า วันนี้ (30 ส.ค.) วรวุฒิ โตวิรัตน์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ได้รับมอบหมายจาก สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคฯ ให้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ กลุ่มพี่น้องไรเดอร์ ที่ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้พิจารณาเร่งจัดตั้งกองทุน เพื่อชดเชยรายได้ให้กับกลุ่มไรเดอร์ กรณีที่ต้องประสบอุบัติเหตุ ซึ่งจะทำให้ขาดรายได้ 
รวมถึงกรณีที่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ทั้งการชดเชยจากบริษัท มีเงื่อนไขมากมาย และมีข้อจำกัดต่างๆ จึงทำให้ไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ดังกล่าวได้ และหากเข้าถึงสิทธิ์การชดเชย ก็ไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในอาชีพที่เกิดขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการในการคุ้มครองแรงงานในส่วนนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในความเสี่ยงของอาชีพ รวมถึงการ ผลักดันให้กลุ่มพี่น้องไรเดอร์ เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 

วรวุฒิ กล่าวด้วยว่า กรณีข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น อยากให้ผู้มีอำนาจรับฟังด้วยความจริงใจ และพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะคนกลุ่มนี้ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง ทั้งจากการทำงาน และการพบปะผู้คน มีหลายกรณีที่ถูกคุกคาม ทั้งทางกายและวาจา แต่กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์: ไรเดอร์ต้องเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับประกันอุบัติเหตุ-กองทุนเงินทดแทนกรณีขาดรายได้ พิการ เสียชีวิต

ไรเดอร์คือกลุ่มอาชีพที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด พวกเขาช่วยรับส่งของ-คน-อาหาร ลดช่องว่างระหว่างผู้บริโภคและการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรตาม สิ่งที่ไรเดอร์ทุกคนกำลังเผชิญในตอนนี้คือสภาวะการทำงานที่เสียงอันตราย เมื่อท้องถนนคือออฟฟิศ อุบัติเหตุในหลายครั้งก็เป็นสิ่งที่ยากจะเลี่ยง

การที่บริษัทแพลตฟอร์มกำหนดสถานะการจ้างงานแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า “ไรเดอร์” เป็นเพียงพาร์ทเนอร์ ของบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ทั้งๆ ที่บริษัทถือสิทธิขาดในการกำหนดรูปแบบการทำงานของไรเดอร์ให้มีลักษณะเป็นแรงงานอิสระที่ถูกจำกัดอิสระไม่ต่างไปจากลูกจ้างประจำ ส่งผลให้ไรเดอร์ ไม่ได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมตามหลักเสี่ยงภัยอันเกิดจากการทำงานและบริษัทแพลตฟอร์มไม่ถูกบังคับต้องรับผิดชอบจ่ายค่าทดแทนความเสียหายให้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับการประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยด้วยโรคหรือการเสียชีวิตอันเกิดจากการทำงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเงินทดแทนลูกจ้าง แม้ทางบริษัทแพลตฟอร์มจะมีประกันอุบัติเหตุและเงินชดเชยให้กับไรเดอร์ แต่กระบวนการยื่นขอเบิกเงินค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังใช้เวลานาน กระบวนการช่วยเหลือเยียวยาที่ล่าช้าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของไรเดอร์และสะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมเท่าเทียมของระบบ

กรณีที่ไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุระหว่างระหว่างการทำงาน แม้โดยส่วนใหญ่ ไรเดอร์จะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ฯ (ซึ่งเป็นประกันที่ต้องจ่ายเอง) ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แต่ไรเดอร์ต้องสำรองจ่ายไปก่อน หากค่ารักษาเกินไปจากจำนวนนี้ ไรเดอร์สามารถทำเรื่องเบิกกับบริษัทแพลตฟอร์มได้ แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กระบวนการดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อน ทั้งยังมีการเรียกขอเอกสารหลายครั้ง ทำให้กระบวนการกินระยะเวลานาน 

ในส่วนของเงินชดเชย กรณีที่ไรเดอร์ต้องแอดมิดเป็นผู้ป่วยใน ทาง พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ฯ กำหนดอัตราจ่ายเงินชดเชยกรณีขาดรายได้วันละ 200 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน ส่วนกรณีที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ กำหนดอัตราเงินชดเชยไว้ที่รายละ 35,000 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของประกันสังคม มาตรา 40 ที่ไรเดอร์หลายรายเลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อรับความคุ้มครอง กรณีประสบอุบัติเหตุ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วัน กรณีพิการ ทุพพลภาพ จะได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวน 500 - 1,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี ติดต่อกัน ในส่วนกรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท 

หากลองพิจารณาสิทธิประโยชน์ข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่า จำนวนเงิน ทั้งค่ารักษาและเงินชดเชย นั้นเป็นจำนวนที่เล็กน้อยเกินกว่าจะเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ ทั้งยังเป็นการเยียวยาในระยะสั้น การเรียกร้องจากบริษัทแพลตฟอร์มเองก็มีความซับซ้อน การเข้าถึงสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในชีวิตการทำงานทั้งหลายที่เหล่าไรเดอร์ควรจะได้จึงเต็มไปด้วยอุปสรรค จนหลายรายเลือกที่จะก้มหน้ายอมรับชะตากรรม เพราะไม่สามารถยืนหยัดเพื่อต่อสู้-เรียกร้องในกระบวนการที่กินระยะเวลาที่ยาวนาน

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ขอเรียกร้องให้บริษัทปรับปรุงนโยบายในการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล-เงินชดเชย ให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ลดความซับซ้อน รวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาที่ต้องรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์เร่งด่วน ในส่วนของภาครัฐ จะต้องทำงานร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มในการจัดตั้งกองทุนเงินชดเชย-เยียวยาที่ครอบคลุม กรณีที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน จนเป็นเหตุให้ขาดรายได้ พิการ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net