Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจคน กทม. 44.2% มองว่าการเคลื่อนไหวสันติวิธีไม่รุนแรงคือต้องถูกกฎหมายด้วย ผู้วิจัยชี้ปัญหาทัศนคติดังกล่าวเป็นการจำกัดกรอบวิธีการเคลื่อนไหวเรียกร้องว่าต้องถูกกฎหมายแม้จะเป็นวิธีที่ไม่ได้ทำให้มีคนเจ็บหรือล้มตาย และมิหนำซ้ำรัฐยังสรรหากฎหมายมาทำให้การชุมนุมนั้นผิดกฎหมายได้ตั้งแต่เรื่องความสะอาด เครื่องขยายเสียง ไปจนถึง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

เมื่อวานนี้ 23 ส.ค.2566 ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแถลงผลสำรวจทัศนคติของประชาชนในกรุงเทพต่อประเด็นการชุมนุมทางการเมืองในแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง โดยการสำรวจครั้งนี้มี รศ. ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา และอุเชนทร์ เชียงเสน เป็นคณะวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย "สันติวิธีในทางปฏิบัติท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง"

ทั้งนี้ในรายงานวิจัยดังกล่าวเป็นการสำรวจความเห็นประชาชนในกรุงเทพจำนวน 500 คนระหว่างวันที่ 19 พ.ค.- 6 มิ.ย.2566  โดยมีจุดประสงค์เพื่อทราบว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวในแนวทางไม่ใช้ความรุนแรงอย่างไร โดยมีการแบ่งช่วงอายุของกลุ่มประชากรที่ทำสำรวจเป็น 4 ช่วงวัยคือ เบบี้บูมเมอร์( 59-77 ปี) ร้อยละ 21 เจน X (44-58  ปี) ร้อยละ 31 เจน Y (26-43 ปี) ร้อยละ 34 และเจน Z (18-25 ปี) ร้อยละ 14 ซึ่งกำหนดให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับสัดส่วนของจำนวนประชากรแต่ละช่วงวัยเนื่องจากผู้วิจัยมีสมมติฐานว่าระดับการยอมรับในวิธีการเคลื่อนไหวเรียกร้องและประเด็นเนื้อหาที่เรียกร้องสัมพันธ์กับกลุ่มช่วงวัย และในการทำสำรวจมีการกระจายตัวกลุ่มเพศและอาชีพที่หลากหลายจากทั้ง 6 โซนในกรุงเทพ

ผลสรุปการวิจัยพบว่าทัศนคติของประชาชนต่อการเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมองว่าแนวทางดังกล่าวหมายการเคลื่อนไหวที่ไม่ผิดกฎหมาย (44.2%) แม้ว่าในทางวิชาการเกณฑ์ความถูกผิดกฎหมายไม่ใช่เกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่เพราะเกณฑ์ที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ การกระทำที่จะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางกายภาพหรือล้มตาย และการกระทำที่ทำให้ทรัพย์สินของเอกชนหรือรัฐเสียหาย ซึ่งเกณฑ์เรื่องการไม่ทำให้บาดเจ็บล้มตายนั้นเป็นที่ยอมรับทั่วไป ส่วนการทำให้ทรัพย์สินเสียหายนั้นยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่

การยอมรับว่าวิธีการใดเป็นสันติวิธีแบ่งสัดส่วนตามช่วงวัย

ทั้งนี้ทัศนคติที่จำกัดการเคลื่อนไหวที่เป็นสันติวิธีต้องเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายส่งผลให้มีการยอมรับในวิธีการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ยังอยู่ถูกจัดเป็นสันติวิธีที่ไม่ได้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บล้มตายหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายน้อยลงไปด้วย และในเงื่อนไขของประเทศไทยที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเลือกใช้กฎหมายต่อการชุมนุมได้ทุกครั้ง เช่นกฎหมายเรื่องการรักษาความสะอาด การใช้เครื่องขยายเสียง ร่วมทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ยิ่งทำให้ขอบเขตการกระทำที่ถูกกฎหมายและถูกยอมรับว่าเป็นสันติวิธีน้อยลงไปด้วย  

ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มตัวอย่างอีก 28.4% หรือ 1 ใน 4 ยังมองว่าการเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธียังต้องไม่กระทบสิทธิของคนอื่น อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องโดยการชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อคนอื่นเพราะการเลือกใช้ปฏิบัติการท้าทายขัดขวางช่องทางปกตินั้นก็เพื่อเรียกร้องผู้คนให้หันมาสนใจและกดดันผู้มีอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งปฏิบัติการดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อผู้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงมากน้อยต่างกันไป ซึ่งวิธีการที่สร้างผลกระทบมากแม้จะสร้างแรงกดดันได้มากแต่ก็อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม

ผลสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นอีกว่าการให้คำนิยามในสันติวิธีของกลุ่มตัวอย่างยังสอดคล้องกับการยอมรับในวิธีการและรูปแบบการประท้วงด้วยว่าเป็นสันติวิธีหรือไม่ วิธีการที่กระทบผู้อื่นน้อยที่สุดหรือแทบไม่กระทบเลยอย่างการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างการผูกโบว์ขาว ใส่เสื้อดำ ติดสติกเกอร์ ได้รับการยอมรับมากถึง 89.4% ตามมาด้วยการบอยคอตไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ 70.4% และเดินขบวนประท้วง 70.2%  ส่วนในกลุ่มวิธีการที่สร้างผลกระทบให้ผู้อื่น เช่น การปักหลักชุมนุมบนถนนไปจนถึงการชุมนุมในอาคารสนามบินจะได้รับการยอมรับว่าเป็นสันติวิธีน้อยลงไปตามลำดับตั้งแต่ 41%-13%  ส่วนกลุ่มวิธีการที่ค่อนข้างชัดเจนว่าทำให้เกิดการบาดเจ็บทางกายภาพ เช่น ขว้างขวดน้ำ วัตถุ ยิงพลุตอบโต้เจ้าหน้าที่ และทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสันติวิธีมากที่สุด

นอกจากนั้นการยอมรับในประเด็นเนื้อหาการชุมนุมว่าเรื่องใดเป็นสิทธิที่ทำได้ กลุ่มตัวอย่างรวมกันทุกช่วงวัยยังให้การยอมรับในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงแต่ก็ยังได้รับการยอมรับเป็นลำดับรองลงมา

ประเด็นการเรียกร้องที่ยอมรับได้แบ่งตามช่วงวัย

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างให้การยอมรับในประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นสิทธิที่จะทำได้เพียง 48% อย่างไรก็ตามผู้วิจัยยังเห็นว่าแม้ในประเด็นนี้เดิมจะเคยเป็นประเด็นอ่อนไหวและเป็นประเด็น “ต้องห้าม” ในสังคมไทยมาก่อนแต่จากผลสำรวจก็ทำให้เห็นว่าสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้นที่จะถกเถียงในประเด็นนี้

จากการสำรวจยังพบอีกว่าระดับการยอมรับทั้งในแง่รูปแบบวิธีการเรียกร้องและประเด็นเนื้อหาของการเรียกร้องในกลุ่มช่วงเจน Z มีสัดส่วนการยอมรับทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบการเคลื่อนไหวสูงที่สุด โดยมีเจน Y ให้การยอมรับในสัดส่วนรองลงมาเป็นอันดับสอง เจน X เป็นอันดับสาม

อย่างไรก็ตาม ในรายงานวิจัยระบุว่าแม้ผลสำรวจจะทำให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจต่อสันติวิธีและการยอมรับในวิธีการที่ค่อนข้างจำกัด แต่กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าสันติวิธีจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในสังคมไทย  

สามารถอ่านงานวิจัยทั้งฉบับและสถิติต่างได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net