Skip to main content
sharethis

กัณวีร์ สืบแสง พรรคเป็นธรรม หารือปัญหาผู้ลี้ภัยพม่าตามแนวชายแดนกว่า 3 แสนคน ต่อสภาฯ เสนอรัฐบาลเร่งให้ความคุ้มครองความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ระบุ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จ.แม่ฮ่องสอน มีผู้ลี้ภัยพม่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวเกือบ 10,000 คน

 

10 ส.ค. 2566 เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 กัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม หารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อประเด็นข้อเสนอการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนชายแดนไทย - พม่า การจัดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยจากพม่า และบทบาทไทยในการจัดการปัญหาในพม่า ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ในพม่ายังส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่ จ.แม่ฮ่องสอน เกือบ 10,000 คน

กัณวีร์หารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจากข้อมูลของอองค์การสหประชาชาติ มีผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 1 ล้านคน โดยจำนวนกว่า 300,000 คน อยู่ชายแดนไทยตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และระนอง ที่พร้อมจะลี้ภัยเข้าในไทย และ กว่า 9,000 คนที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 5 แห่งใน จ.แม่ฮ่องสอน มา 2 เดือนแล้ว

ปัญหาหลักกัณวีร์เสนอว่า มีทั้งการปฏิบัติการทางทหารของพม่าที่มีต่อเนื่องโดยไม่เลือกเป้าหมาย ที่มีการโจมตีทางอากาศ มีผลกระทบกับชาวไทย จำนวนกว่า 100 เหตุการณ์ ในจำนวนกว่า 300,000 คน ที่กำลังรอลี้ภัย หากไทยไม่มีศักยภาพในการดูแล ดังนั้นไทยจะเตรียมความพร้อมอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องขอหารือผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี

แนวทางการแก้ไขปัญหาจึงขอเสนอให้ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาหลัก 2 ปัญหา

แนวทางแก้ไขปัญหาแรก คือการปฏิบัติการทางทหารของพม่าใช้กรอบความร่วมมือทวิภาคีที่ต้องคุยกับทหารพม่าให้ได้ ในการกำหนด Safety Zone พื้นที่ความปลอดภัย และระเบียงมนุษยธรรม หรือ Huminatarian Corridor ให้เกิดขึ้น จากชายแดนไทย - พม่า เข้าไปในพม่า 5 กิโลเมตร พื้นที่นี้จะทำให้ผลกระทบต่อประชาชนตามแนวชายแดนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก รวมถึงผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ 5 กิโลเมตรนี้สามารถอยู่ได้ ไม่ได้รับผลกระทบทางการทหาร ก็จะเป็นการที่คนไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

การแก้ปัญหาแนวทางที่ 2 ในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรี ต้องใช้กรอบความร่วมมืออาเซียนผ่านฉันทามติ 5 ข้อ ผ่าน Special Envoy เรื่อง Safety Zone ที่มีการพูดคุยกับทางพม่าแล้ว

และแนวทางที่ 3 การจัดทำนโยบาย นายกรัฐมนตรีที่เป็นประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต้องมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ในการจัดการเรื่องนี้

ส่วนมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยจากพม่า ขอให้ประสาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเตรียมความพร้อมในการเปิดระเบียงมนุษยธรรม Huminatarian Corridor ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า ที่รัฐบาลรักษาการทำงานอยู่ แต่มีงบประมาณส่วนน้อยในด้านมนุษยธรรม

พรรคเป็นธรรมจึงขอเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เชิญองค์การระหว่างประเทศ สถานทูตต่างๆ ภาคประชาสังคม ปรึกษาหารือ มีศักยภาพอย่างไร โดยไทยเป็นผู้นำในการจัดการความพร้อมในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้อย่างไร

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net