Skip to main content
sharethis

เผยรัฐบาลพม่าประสานไทยขอเครื่องบินทหารลงจอดสนามบินแม่สอดรับทหารพม่าจากเมียวดีในช่วงวันที่ 7-9 เม.ย. นี้ โดยเมื่อคืนวันที่ 7 เม.ย.เครื่องบินพม่ามาลงรอประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง แต่คณะนายทหารไม่มา - ผู้ว่าฯ ตาก สั่งคุมเข้มชายแดนห่วงหนีภัยสู้รบทะลัก - 'กัณวีร์' ระบุไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับเชลยศึก

8 เม.ย. 2567 Thai PBS  รายงานความคืบหน้าหลังกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เข้าโจมตีกองบังคับการยุทธวิธี รวมทั้งกองพันที่ 275 ซึ่งเป็นค่ายทหารสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในตัวเมืองเมียวดี จนสามารถยึดพื้นที่จังหวัดเมียวดีได้

เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2567 ทหารฝ่ายต่อต้าน ได้เข้าเคลียร์พื้นที่ในค่ายทหารกองบังคับการยุทธวิธี พบข้าวสารกว่า 1,000 กระสอบ น้ำดื่ม ถั่วเหลือง และเกลือ จึงนำไปแจกจ่ายประชาชนในจังหวัดเมียวดี

ต่อมาเมื่อเวลา 21.30 น.ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำจากสายการบินพม่าแอร์ไลน์ ได้บินมารับทหารพม่า เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศ หลังจากที่นายทหารพม่าทั้งหมดยอมมอบตัวกับฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหาร กรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง พม่า ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด

เครื่องบินได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คนตั้งแต่ระดับยศระดับนายพล พ.อ.พ.ต.และพ.ท.พร้อมครอบครัว 20 คน โดยเครื่องบินได้บินมาลงรอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง แต่คณะนายทหารพม่า ไม่มา จึงบินกลับไปประเทศพม่าทันที

เนื่องจากทหาร KNU และฝ่ายต่อต้านไม่ยอมปล่อย โดยบรรยากาศในสนามบินไม่พบความเคลื่อนไหวของทหารพม่า มีแต่เจ้าหน้าที่อากาศยานที่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน และสื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปในท่าอากาศยานได้ เนื่องจากได้ปิดประตูด้านหน้าไว้

สำหรับทหารพม่า และครอบครัวที่จะเดินทางไปยังพม่า มีทั้งหมด 617 คน แยกเป็นนายทหาร 67 นาย ทหารชั้นประทวน 410 คน ทหารหญิง 56 คน ครอบครัว 81 คน รวมทั้งหมด 617 คน

โดยทางรัฐบาลทหารพม่าได้ประสานกับทางรัฐบาลไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ใช้เวลาไปรับทหารพม่าเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่ 7-9 เม.ย.นี้

เช่นเดียวกับผู้ใช้ทวิตเตอร์ @RonallChersan Breaking เครื่องบิน ATR-72 ของพม่า ลงจอดที่สนามบินแม่สอด จ.ตาก เมื่อครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา คาดว่า เป็นเครื่องบินที่ทางพม่าประสานไทยด่วน เพื่อขอบินมารับข้าราชการ นายทหาร เจ้าหน้าที่รัฐหลังเมืองเมียวดี (ตรงข้ามอ.แม่สอด) ถูกกลุ่มต่อต้านทหารพม่าเข้าควบคุมได้แล้ว

ผู้ว่าฯ ตากสั่งคุมเข้มชายแดนห่วงหนีภัยสู้รบทะลัก

นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า หน่วยงานต่างๆ ยังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด และมีแผนการป้องกันตามแนวชายแดน โดยฝ่ายความมั่นคง พร้อมตำรวจตระเวนชายแดน และฝ่ายปกครองออกลาดตระเวนตามแนวชายแดน หากมีผู้หนีภัยจากการสู้รบข้ามมา ส่วนการข้ามแดน และขนถ่ายสินค้า ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะยังไม่มีการปิดด่านพรมแดน

สำหรับจังหวัดเมียวดี ที่กลุ่มต่อต้านยึด ถือเป็นหนึ่งในเมืองชายแดนที่สำคัญของพม่า เนื่องจากเป็นประตูหลักนำเข้าสินค้าจากด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก เพื่อขนส่งต่อไปยังเมืองย่างกุ้ง หรือเมืองมัณฑะเลย์ และเชื่อมต่อไปยังประเทศอินเดีย แต่ละปี ด่านชายแดนแม่สอดมีมูลค่าการค้ากว่าแสนล้านบาท ถือว่าเป็นประตูการค้าชายแดนใหญ่ที่สุดของไทยกับพม่า

ส่วนบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 ที่เชื่อมระหว่างอ.แม่สอด จ.ตาก และเมืองเมียวดี ยังคงมีการข้ามแดน และขนส่งสินค้าปกติ

ทั้งนี้บริเวณชายแดนอำเภอแม่สอด ไม่ได้ยินเสียงดังคล้ายการยิงอาวุธปืน และ ระเบิดแล้ว แต่ยังคงมีชาวพม่า ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบมาพักแรมริมแม่น้ำเมย ฝั่งพม่า โดยปักหลักอาศัยอยู่ตามริมน้ำต่อเนื่อง เพราะยังไม่ไว้วางใจสถานการณ์

'กัณวีร์' ระบุไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับเชลยศึกพม่า เผยทำได้ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL และต้องรับมือสถานการณ์การอพยพจากเมียวดี

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2567 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพม่าทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ขอส่งกลับทหารพม่าและครอบครัว 617 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดี กลับทางสนามบินแม่สอด จ.ตาก

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังที่จะเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับทหารพม่าที่แพ้สงคราม แม้ทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL แต่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงและการอพยพของผู้ลี้ภัยจากเมียวดี เพราะสถานการณ์ที่อ่อนไหวบริเวณชายแดน จากกรณีทหารพม่าขอให้ส่งเชลยศึกและครอบครัว จำนวน 617 คน ที่แพ้สงครามกับกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธบริเวณเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง พม่า กลับพื้นที่ส่วนกลางประเทศพม่าที่เป็นพื้นที่การดูแลของทหารพม่า โดยผ่านการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จังหวัดตากนั้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศกับการร้องขอส่งกลับเชลยศึกพม่าผ่านพรมแดนไทย

"หลายคนถามว่าทำได้มั้ย และควรจะเป็นอย่างไรถึงแม้ผมยังไม่ได้ทำงานเต็มร้อยในกรรมาธิการของสหภาพรัฐสภาโลกด้านการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ขออนุญาตให้ความเห็นตรงนี้ว่า ตามกฎหมายด้านนี้ “ทำได้” เพราะเจตนารมย์ของกฎหมายก็เพื่อให้ความคุ้มครองต่อ “เชลยศึก” (Prisoners of War-POWs) ให้ถูกละเมิดให้น้อยที่สุดและให้การละเมิดจบโดยเร็วที่สุด โดยการที่กำหนดว่าหลังการปะทะและสงครามเสร็จสิ้นแล้ว สมควรจะต้องส่งกลับเชลยศึกโดยเร็วที่สุดโดยปราศจากความล่าช้าทุกประการ คือ เราควรเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ต้องปรับใช้ในยามสงคราม"

นายกัณวีร์ ยอมรับว่า ยังมีข้อกังวลอีกมาก หากไทยอนุญาต แต่ตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมสามารถทำได้ทั้งการถูกมอบอำนาจโดย “ฝ่ายที่ชนะ“ และการเป็น ”ประเทศที่เป็นกลาง“ ในการดูแลและการส่งกลับเชลยศึก กฎหมายนี้จะใช้เฉพาะเมื่อสงครามเกิดทั้งสงครามระหว่างประเทศ (international armed conflicts) และสงครามที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (Non-international armed conflicts) เพียงเท่านั้น

"หากไทยถูกร้องขอให้ช่วยในฐานะประเทศที่เป็นกลาง (neutral country) เราก็ควรทำให้เป็นไปตามเจตจำนงและเจตารมณ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้เสียและที่สำคัญที่สุดเชลยศึกผู้ถูกส่งกลับแล้ว ต้องไม่กลับไปเป็นกองกำลังอีก นี่คือหลักการที่สำคัญของกฎหมายนี้"

ส่วนข้อกังวลที่ว่าทหารพ่ายศึกจะถูกดำเนินคดีใดๆ หรือไม่ นายกัณวีร์ ระบุว่า ต้องแยกออกเป็นสองเรื่อง คือหนึ่งระเบียบปฏิบัติและกฎหมายภายในกองทัพพม่า ก็ว่ากันไปตามกฏและระเบียบภายในซึ่งใครก็คงไม่สามารถไปแทรกแซงได้ สองในขณะที่ไทยต้องรับผิดชอบดูแลเชลยศึกใดๆ ก็ตาม หากมีข้อกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเชลยศึกเอง และเป็นการร้องขอใดๆ ตามหลักการร้องขอด้านมนุษยธรรม ไทยก็มีสิทธิเด็ดขาดในการพิจารณาตามหลักการของไทยและรวมถึงจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่อง หลักการไม่ส่งกลับ (non-refouelment) ซึ่งก็คงต้องว่าไปเป็นรายกรณี

"สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก จึงขออนุญาตเสนอให้ไทยทำระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) หรือ standard operating procedures (SOPs) ด้านนี้รอไว้ได้เลยครับผม แต่อย่างไรก็ตามต้องคอยดูสถานการณ์ดีๆ และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ"

นายกัณวีร์ ระบุว่า นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับรัฐบาลไทย และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ นอกจากมีผู้ลี้ภัยที่อยู่ประชิดชายแดนกว่า 6 แสนคนแล้ว สถานการณ์ในเมียวดี จะกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อเสนอการเปิด Safety Zone ระยะ 5 กิโลเมตร ชายแดนพม่า ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับ ระเบียงมนุษยธรรม และระเบียงสันติภาพ ที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net