Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' พร้อมทำหน้าที่ในกรรมาธิการฯมนุษยธรรม สหภาพรัฐสภาโลก ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับ ICRC,UNHCR หวังใช้กลไกรัฐสภาโลกเพื่อผลักดันการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อบุคคลในความห่วงใยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามต่างๆ รอบโลก

25 มี.ค.2567 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรมรายงานต่อสื่อมวลชนว่า 24 มี.ค.ที่ผ่านมา กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมสหภาพรัฐสภาโลก Inter Parliamentary Union หรือ IPU มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก กัณวีร์ เป็นกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Committee to Promote Respect the International Humanitarian Law—IHL) 

กัณวีร์ เปิดเผยว่า รู้สึกถึงความภูมิใจในประเทศไทย และสมาชิกรัฐสภาไทย ที่มีโอกาสทำงานในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งกระบวนการในการคัดเลือกเข้าทำหน้าที่ในกรรมาธิการ ต้องเป็นสมาชิกรัฐสภาของประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับฉันทามติจากสหภาพรัฐสภาของประเทศนั้น ซึ่งรัฐสภาไทย โดยวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และมีสมาชิกทั้ง สว. และ สส. (ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล) ได้เสนอชื่อตนเอง จากที่มีการเสนอชื่อสมาชิกรัฐสภาที่มีประสบการณ์อีกหลายท่าน จึงต้องขอขอบคุณประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาไทยที่ให้ความเห็นชอบสนับสนุนตนเอง  ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานด้านมนุษยธรรมในพื้นที่สงคราม ที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศ และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และความรู้ด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งต้องไปแข่งขันกับประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดรวม 36 ประเทศ

"ทราบจากทีมรัฐสภาไทยที่เข้าร่วมประชุมว่ามีการเสนอชื่อจากประเทศในเอเชียแปซิฟิค 36 ประเทศ แข่งกัน 2 ประเทศ คือ ไทยและปากีสถาน ทางปากีสถานยอมถอย แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ในเชิงการทูตที่ไม่ต้องสู้กันถึงยกมือและดูคุณสมบัติ ประวัติการทำงานของผู้ลงสมัครอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการต่อสู้ในเชิงบวกที่เสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน"

กัณวีร์ กล่าวด้วยว่าสมาชิกกรรมาธิการฯ มนุษยธรรมของสหภาพรัฐสภาโลก จะมี 12 คนที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับสภากาชาดสากล (The International Committee of the Red Cross—ICRC) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Refugees—UNHCR) โดยต้องใช้ความพยายามในการใช้กลไกรัฐสภาโลกเพื่อผลักดันการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อบุคคลในความห่วงใยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามต่างๆ รอบโลก ซึ่งคงต้องใช้ทั้งประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ความสามารถในการผลักดัน และความร่วมมือในเวทีโลกอย่างชาญฉลาด ซึ่งตนเองก็พร้อมจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

"IPU มิได้ทำงานภายใต้องค์การระหว่างประเทศอย่างยูเอ็น (UN) หรือทำหน้าที่เหมือนกลุ่มภาคประชาสังคมและองค์การไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ เนื่องจากมีข้อผูกผันกับโครงสร้างรัฐสภาซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมนี้ ดังนั้นอยากให้ทุกท่านมั่นใจว่าเรามีของดีแล้ว เรามาร่วมสนับสนุนงานกันครับ"

กัณวีร์ กล่าวย้ำว่าอยากเห็นไทยเปลี่ยนแปลงในเวทีโลก และอยากเห็นไทยสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จงร่วมกันสู้ไปด้วยกัน จะนำพลังอันสร้างสรรค์ที่จะทำได้โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ และมองข้ามความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งการหาเสียงในเวทีโลกคือการเอาประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถและความมุ่งมั่นไปไปโน้มน้าวการลงมติของเพื่อนสมาชิกสหภาพรัฐสภาโลก ได้เหมือนในการเมืองระดับประเทศในหลายๆ ประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net