Skip to main content
sharethis
  • ไทยส่ง 4,000 ถุงยังชีพล็อตแรกช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา โดยเป็นการประสานผ่านสภากาชาดไทยถึงสภากาชาดเมียนมาที่ควบคุมโดยกองทัพพม่า
  • หลายฝ่ายแนะไทยพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเพื่อไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดความคลางแคลงใจ และให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ประสบความเดือดร้อนทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

25 มี.ค. 2567 กระทรวงการต่างประเทศแจ้งข่าวว่า วันนี้ (25 มี.ค.) บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีพิธีส่งมอบถุงยังชีพล็อตแรกจำนวน 4,000 ถุง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบภายในเมียนมา 

โดยกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอด เป็นผู้แทนสภากาชาดไทยในการส่งมอบถุงยังชีพ ซึ่งบรรจุสำหรับประชาชนเมียนมาจำนวนประมาณ 20,000 คน ให้แก่ โอง ไว ประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาจังหวัดเมียวดี

สำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับเมียนมา โดยจะมุ่งตรงไปยังพื้นที่นำร่องสามแห่งในรัฐกะเหรี่ยง 3 แห่ง ประกอบด้วย บ้านนาบู บ้านไปง์โจง บ้านตามันยา

โดยในพิธีส่งมอบฯ ยังมี สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดตากและรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ร่วมเป็นสักขีพยาน

ภายหลังพิธีส่งมอบฯ ขบวนรถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือได้ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 เพื่อตรงไปยังพื้นที่นำร่องสามแห่งในรัฐกะเหรี่ยง โดย AHA Centre จะให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการสังเกตุการณ์การแจกจ่ายถุงยังชีพในพื้นที่นำร่องเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และโปร่งใส 

‘กัณวีร์’ เตือนการส่งของให้กาชาดเมียนมา

อาจสร้างความเคลือบแคลงต่อชาติพันธุ์อื่น

ภายหลังรัฐบาลไทยเปิดภารกิจระเบียงมนุษยธรรม ส่งความช่วยเหลือผ่านสภากาชาดไทยถึงสภากาชาดเมียนมา ที่พรมแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อนำส่งให้กับชุมชนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหมู่บ้านนาบู หมู่บ้านตามายะ และหมู่บ้านไป่ง์โจง ซึ่งอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่าง จ.เมียวดี จ.พะอัน และ จ.กอกาเร็ก รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา

ทีมสื่อพรรคเป็นธรรมแจ้งต่อผู้สื่อข่าวถึงความเห็นของ กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ต่อกรณีดังกล่าว โดย กัณวีร์ เห็นว่าภารกิจนี้เป็นบาดแผลบนรอยมนุษยธรรม เพราะตนได้เคยมีคำเตือนเรื่องการเปิดระเบียงมนุษยธรรมต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาต่อรัฐบาลไทยแล้ว แต่คงไม่มีผลอะไรใดๆทั้งนั้น และเป็นผลจากการที่ รอง นรม./รมว.กต. หนีการตอบกระทู้สดในสภาฯ จึงจำเป็นต้องเร่งเกียร์เดินหน้าใช้งบประมาณที่ได้รับจากต่างประเทศให้หมด โดยการดำเนินการที่อ้างว่าทำเพื่อมนุษยธรรม แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการดำเนินการที่พังทลายหลักการด้านมนุษยธรรมทั้ง 4 ข้อ อย่างตั้งใจ

กัณวีร์ ระบุว่า คำถามคือแล้วไทยจะอยู่อย่างไรกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่อาจย้ายประเทศที่มีพรมแดนติดกันถึง 2,416 กม. ซึ่งหากปัญหาความไม่สงบในเมียนมาเกิดขึ้นแล้ว คนไทยบริเวณชายแดนไทยทั้งหมด 8 จังหวัดที่มีพรมแดนติดกัน ทั้งทางบกและทางทะเลชายฝั่ง ต้องถูกผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือ ผลกระทบเรื่องผู้ลี้ภัยที่จะทะลักเข้ามาในไทยร่วมล้านคนหรือ

ผลกระทบต่อการให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมของต่างๆ ที่รัฐบาลส่งไป กลับไปอยู่ในมือทหารเมียนมาที่เข่นฆ่าประชาชนตัวเอง แล้วท่านคิดว่าของต่างๆ เหล่านั้นจะถึงมือผู้ได้รับผลกระทบหรือ

กัณวีร์ ระบุว่า รัฐบาลไทยกำลังทำผิดหลักการทั้งหมดของงานด้านมนุษยธรรม หนึ่งคือไม่ได้ยึดหลัก humanity ที่มองว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องรีบแก้ตรงนั้น สองท่านผิดหลักการไม่เอนเอียง เพราะโปรทหารเมียนมาอย่างชัดเจน สามคือผิดหลักความเป็นกลาง เพราะไม่ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ และเลือกเฉพาะส่วนน้อยที่เข่นฆ่าผู้คน และสุดท้ายคือไม่มีอิสรภาพในการทำงาน  ท่านปล่อยให้การเร่งใช้งบประมาณของท่านที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ เป็นตัวชี้วัดในการดำเนินงานที่อ้างว่าทำเพื่อ “มนุษยธรรม” มาบังหน้า

กัณวีร์ ระบุว่า เมื่อเตือนไม่ฟัง เตรียมรับผลกระทบที่จะตามมา ถึงแม้ว่าท่านวางแผนจะพูดคุยกับกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธต่างๆ ที่อยู่บริเวณชายแดนไทยทั้งหมด เท่าที่ตนรับทราบมาในอาทิตย์นี้ ตั้งแต่รัฐมอญ คะยิน คะยาห์ และฉาน เพื่อจะเปิดระเบียงมนุษยธรรม ตามที่เคยเตือน รอง นรม./รมว.กต. ไว้ แต่ความกังขา ความเคลือบแคลง และความไม่ไว้ใจจากการที่รัฐบาลไทยนำของไปให้ในวันนี้ที่แม่สอดจะเป็นบาดแผลบนรอยมนุษยธรรมที่ได้ทำไว้

“อย่าหวังจะได้เป็น Peace Broker เลยครับท่าน รังแต่จะเป็น Broker ที่จะทำให้มีการนำพาคนเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น จำคำผมคำนี้ไว้นะครับ บาดแผลบนรอยมนุษยธรรม ” 

กัณวีร์ กล่าวย้ำว่า ยังทันเวลาถ้ารัฐบาลไทยจะทบทวนข้อริเริ่มทางมนุษยธรรม โดยต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าไทยจะยึดหลักความเป็นกลางทางมนุษยธรรมอย่างแท้จริง

นักวิชาการแนะไทยพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

ให้ความช่วยเหลือไปถึงทุกฝ่าย

สำนักข่าวชายขอบรายงานความเห็นจาก ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวว่าการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเรียกร้องมานาน และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำมานานแล้ว อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยต้องยืนยันให้ชัดเจนว่า ความช่วยเหลือนี้จะต้องตกถึงมือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างแท้จริงและการจัดการความช่วยเหลือต้องคิดในมาตรฐานสากล เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผลกระทบด้านลบต่อไทยในเชิงภาพลักษณ์

“การเตรียมรับกับปัญหามนุษยธรรมยังเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐบาลไทย สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้ เป็นสัญญาณที่รัฐบาลไทยควรเปิดการเชื่อมต่อกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเมียนมาให้มากขึ้น รัฐบาลไทยควรลดท่าทีที่ต้องเกรงใจ SAC แบบไม่จบ เพราะจะทำให้หลายฝ่ายหวาดระแวงไทย ระแวงแม้กระทั่งการให้ความช่วยเหลือของไทย” สุรชาติกล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวของรัฐไทยที่ต้องทำหลายอย่าง และควรทำโครงการลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ และควรมีการระดมสมองว่าพื้นที่ไหนกระทบที่สุด รัฐบาลไทยควรพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ และภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลรอบด้านมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net