Skip to main content
sharethis

จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้คุยกับ 'พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ' ไม่มีประโยชน์ แถมเสี่ยงขัดต่อนโยบายและจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไว้ต่อประชาชน ชวนเปิดตาดูทางตันที่ถูกสร้าง ย้ำรัฐบาลข้ามขั้วเสี่ยงเสียหาย ขาดความชอบธรรม ความขัดแย้งตามมา แถมแก้โจทย์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้ แนะตั้งเป้าโยนโจทย์ให้ ส.ว.เห็นแก้บ้านเมือง ไม่ใช่ให้พรรคเสียงข้างมากยอมถอย

นาทีที่ 37.30 เป็นต้นไป

จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการ Wake Up Thailand ทาง VOICE TV
 เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมาถึงสถานการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาล โดยจาตุรนต์ ออกตัวก่อนว่าตนไม่สามารถพูดแทนพรรคได้ เป็นเพียง ส.ส. คนหนึ่งเท่านั้น ส่วนสถานการณ์ตอนนี้คือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมอบให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลไปหารือกับพรรคการเมืองอื่น เมื่อหารือแล้วมีข้อคิดเห็นก็จะรวบรวมเพื่อคุยกับ 8 พรรคร่วมต่อ ปมก็จะเป็นพรรคเหล่านั้นอ้างไม่มีการแก้ ม.112 ไม่เอาพรรคก้าวไกล ไปหารือขอความเห็นโดยยังไม่เชิญร่วมรัฐบาล

จาตุรนต์ กล่าวถึงประเด็นแก้ไข ม.112 ของพรรคก้าวไกลนั้น ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงหรือ MOU จัดตั้งรัฐบาล เป็นเพียงนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะทำกฎหมายนี้ 8 พรรคที่หารือกันมาก็เห็นชอบว่าร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง ในขั้นต้นคือให้พรรคก้าวไกลนำ หมายความว่าเห็นด้วยกันถึงขั้นเสนอให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายก แต่เมื่อมาเป็นเพื่อไทยเป็นแกนก็ยังร่วมกัน 8 พรรค แต่เมื่อมาฟังความเห็นของพรรคการเมืองซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยบอกว่าร่วมรัฐบาลก็ได้ แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล แล้ว 8 พรรคนี้จะบอกว่าก็ไม่เอาพรรคก้าวไกล และเอาตามข้อเสนอพรรคเสียงข้างน้อยนี้ มันก็จะอธิบายยาก ตนก็ยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ควรมีข้อเสนอเช่น ข้อเสนอเหล่านี้ลดระดับความเข้มข้นลงได้ไหม ไม่ถึงขั้นไม่เอาพรรคไหน เหลือไม่เอานโยบายไหน เหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าจะมีการคุยกัน

คุยกับ 'พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ' ไม่มีประโยชน์

จาตุรนต์ มองว่าการไปคุยกับ 2 พรรคคือ พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นไม่มีประโยชน์ ส่วนไปร่วมนั้นมันไม่ได้คิดก็ไม่ได้แล้ว ซึ่งที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวอะไร แต่มันเป็นความเห็นและนโยบายของพรรคเพื่อไทยตลอดการหาเสียง วันนี้ที่ตนพูดไม่ใช่สิ่งแปลกแยกอะไร ตนพูดตามพรรคเพื่อไทยทุกอย่าง และหากใครทำอะไรต่างจากนี้แสดงว่ากำลังทำอะไรที่ไม่เป็นไปตามนโยบายและจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไว้ต่อประชาชน นี่เป็นสัญญาประชาคม 

ทางตันที่ถูกสร้าง

สำหรับประเด็นทางตันในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น จาตุรนต์ กล่าวว่า เราต้องมาดูว่าเรามีทางตันในเรื่องอะไร และเราจะแก้ปัญหาอะไร ประเทศนี้กำลังจะแก้ปัญหาอะไร ทั้งที่เรามีการเลือกตั้งมาแล้ว และจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังตั้งไม่ได้ โดยที่การตั้งไม่ได้นั้นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองกลุ่มหนึ่งมา รวมเสียงกันได้ 312 เสียง มากเกิดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ยังตั้งไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขสำคัญคือ ส.ว.ไม่ยอมยกมือตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ว่าจะงดออกเสียงหรือไม่เห็นชอบบ้าง และ ส.ว.เป็นหลักที่ร่วมกับพรรคการเมืองตัดสิทธิการเป็นแคนดิเดตนายกฯ และตัดสิทธิการที่พรรคการเมืองจะเสนอแคนดิเดตแต่ละคนมากกว่า 1 ครั้ง ในสมัยประชุมเดียว ซึ่งเป็นการทำไปโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

มาถึงจุดที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกน ซึ่งจะตั้งรัฐบาล โดยที่จะตั้งรัฐบาลนั้นเพื่อไปแก้ปัญหาประเทศใช่หรือไม่ ซึ่งต้องตั้งหลักนี้ก่อนในการตั้งรัฐบาล

"ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่มีรัฐบาล เพราะฉะนั้นต้องมีรัฐบาล แล้วรัฐบาลแบบไหนก็ได้ ดีกว่าไม่มี อันนี้จริงเปล่า มีรัฐบาลแบบไหนก็ได้ดีกว่าปล่อยให้เป็นรัฐบาลรักษาการ จริงหรือเปล่า มันก็ต้องมาดูแล้ว" จาตุรนต์ กล่าว 

ส่วนกรณีการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น จาตุรนต์ มองว่าหาก ส.ว.เกิดเลือกกันขึ้นมาก็เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมา จากนั้นตั้งคณะรัฐมนตรี และมีฝ่ายค้าน จากนั้นก็ ถวายสัตย์ แถลงที่ประชุมรัฐสภาและบริหารประเทศ ฝ่ายค้านก็ตรวจสอบ ส่วนจะได้นานขนาดไหนก็ตั้งแต่ 2-3 อาทิตย์ จนถึงหลายเดือน หรือจะเป็นปีแล้วแต่ว่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อไหร่

รัฐบาลข้ามขั้วเสี่ยงเสียหาย

"เราจะคิดแบบตั้งรัฐบาลอะไรก็ได้ ใครผสมกับใครก็ได้ ไม่ได้ มันเสี่ยงมากที่จะเสียหาย รัฐบาลที่จะตั้งมันต้องมีความชอบธรรมมากพอสมควร ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมเลยคนไม่รับ มีความขัดแย้งตามมาเยอะแยะ คุณไม่มีสมาธิในการบริหารประเทศ คุณแก้ปัญหาใหญ่ๆ ไม่ได้เลย ก็ไม่ได้เป็นผลดีอะไรนะ ดีไม่ดีกลายเป็นเสียด้วย อ๋อเลือกตั้งกันมาแล้วนักการเมืองก็ทำกันไม่ได้ บริหารประเทศไม่ได้ ขัดแย้งเต็มไปหมดเป็นไหมวุ่นวาย เอาอีกแล้วกองทัพจะมาอีกแล้ว" จาตุรนต์ กล่าว 

เราต้องมาย้อนไล่ไปดูว่าเรื่องทั้งหมดของประเทศนี้มันคืออะไร คือมีรัฐบาลพลเรือน บริหารประเทศและยึดอำนาจมาครั้งหลังปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ 5 ปี เต็ม สร้างความเสียหายให้ประเทศมากมายมหาศาล เลือกตั้งมาเนื่องจากในรัฐธรรมนูญคุณออกบทเฉพาะกาลไว้ และ ส.ว.เข้ามาตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับดึงใครมาร่วมไม่ได้ ไม่มีความรับผิดชอบทางนโยบาย ประกาศนโยบายก็ทำไม่ได้ บริหารมาเกิดความเสียหาย ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมีอายุ 5 ปี ให้ ส.ว.เป็นผู้หนดได้อีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย ซึ่งกำลังแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองฝ่ายที่ไม่สนับสนุนเผด็จการมาได้ 312 เสียง จึงไม่ลงตัวง่าย ฝ่ายรัฐบาลเก่าจะจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่ทาง 312 เสียงจะจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ไม่หนุนพรรคการเมืองอื่นไม่หนุนก็ตั้งไม่ได้ เรามาอยู่ในภาวะนี้ไม่ใช่เรื่องคาดไม่ถึง มันผิดปกติแต่ไม่ได้พิศดารอะไรมาก 

รวมกับขั้วเดิมแก้โจทย์ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้

"ปัญหาใหญ่มันคือระบอบเผด็จการ ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมันครอบงำอยู่ ถ้าเราจะแก้โดยให้มันสืบทอดอำนาจเผด็จการ ฟื้นอำนาจเผด็จการอีกเท่ากับเราไม่แก้ปัญหาใหญ่ของประเทศนี้" จาตุรนต์ กล่าว พร้อมย้ำว่า การเข้าไปเป็นรัฐบาลนั้นต้องดูด้วยว่าเข้าไปเป็นรัฐบาลร่วมกับใคร หากเข้าไปเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองที่เป็นเครื่องมือระบอบเผด็จการ สังคมจะไม่มองเป็นอย่างอื่นนอกจากเป็นการฟื้นเป็นการช่วยระบอบเผด็จการให้ดำรงอยู่

จาตุรนต์ กล่าว ด้วยว่า การจะเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐนั้น ตนบอกแล้วว่าไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว พรรคเพื่อไทยบอกว่าไม่ร่วมกับ 2 พรรคนี้ เพราะอะไร เพราะว่าเขาเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการมา ถ้าร่วมคนก็จะมองว่าเป็นการฟื้นเผด็จการ และมันก็จะฟื้น เขาจะแก้รัฐธรรมนูญไหม เขาจะร่วมแก้รัฐธรรมนูญหรอ เขาจะกฎกติกาต่างๆ หรอ และมันยังมีหลายเรื่องมาก

แต่ใน 8 พรรคมีเรื่องร่วมกันชัดเจน ไม่เกณฑ์ทหาร แก้ พ.ร.บ.สภากลาโหม แก้หรือยกเลิก กอ.รมน. ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูประบบยุติธรรม กระจายอำนาจ ฯลฯ ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติกับพรรคพลังประชารัฐไม่มีทางเอาด้วย และเรื่องคืนความยุติธรรมให้่แก่ประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการทางการเมืองปี 53 รวมทั้งประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บในเวลาต่อๆ มา ซึ่ง 2 พรรครัฐบาลเดิมนั้นนอกจากเขาจะไม่เอาด้วยแล้วเขาจะต้องขัดขวางเพราะมันไปโดนลูกพี่เขา จะเห็นว่าในทางการเมืองหากร่วมกับพรรคเหล่านี้จะไม่สามารถแก้ได้เลย 

ต่อคำถามที่ว่าเมื่อร่วมรัฐบาลกับ 2 พรรคนั้นไม่ได้แล้วก็ยอมเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ จาตุรนต์ กล่าวว่าไม่ใช่เป็นฝ่ายค้าน แต่พยายามเป็นรัฐบาล หากเสนอแล้วไม่ผ่านในสมัยประชุมนี้ สมัยประชุมหน้าก็มาว่ากันใหม่ 

"แต่ว่าคุณจะมีรัฐบาลทำอะไรครับ แก้ปัญหาเศรษฐกิจคุณแก้ได้จริงหรือเปล่า แยกขั้ว 8 พรรค แล้วก็ไปร่วมกับพรรครัฐบาลเดิม กำลังหลักมันเกือบจะเรียกว่าพรรครัฐบาลเดิมไหม ที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไหม เขาทำนโยบายอะไร ที่เขาหาเสียงไว้แล้วก็ทำประสบความสำเร็จได้ดีจนกระทั่งน่าจะให้ทำต่อนึกออกสักเรื่องไหม ก็เพราะนึกไม่ออกนี่ล่ะ ประชาชนเขาถึงไม่เลือก เขาถึงเลือกพรรคเหล่านี้น้อยมาก แล้วเราก็บอกว่าร่วมกับพรรคเหล่านี้เพื่อจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศขาดรัฐบาลไม่ได้ ไอ้คำอย่างนี้มันทำประเทศพังหลายรอบแล้วนะ เป็นวิกฤติการเมืองก็เพราะแบบนี้นะ ต้องเป็นรัฐบาล ต้องยอมกลับคำ ต้องยอมตระบัดสัตย์" จาตุรนต์ กล่าว

เป้าต้องให้ ส.ว.เห็นแก้บ้านเมือง ไม่ใช่ให้พรรคเสียงข้างมากยอมถอย

ต่อคำถามที่ว่าหากตรึงกันไว้แบบนี้ก็คงต้องยื้อกันไป 10 เดือนนั้น จาตุรน มองว่าอาจไม่ถึง 10 เดือนก็ได้ ทำไม่ไม่พูดกับ ส.ว.บ้าง เพื่อให้ ส.ว.เห็นแก่บ้านเมือง แต่ที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าพูดไปมาแล้วมาลงที่พรรคการเมืองที่รวมกันได้ข้างมาก แล้วบอกเป็นความผิดของคุณที่ไม่ยอมไปร่วมกับเสียงข้างน้อยเขา ให้เสียงข้างน้อยเขานำ แล้วให้ปัดบางพรรคออกไปทั้งๆ ที่ประชาชนเขาเลือกมาได้คะแนนมาก มันอธิบายกับประชาชนยาก

เรื่องรอ 10 เดือนนั้น จาตุรนต์ กล่าวว่าตนพูดก่อนใครเลย แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่ตนไม่ได้ต้องการให้รอ 10 เดือน แต่ต้องพยายามตั้งรัฐบาล โดยที่ไม่ควรรีบตั้งรัฐบาลที่ประชาชนไม่ยอมรับและจะทำให้เกิดผลเสียแก่บ้านเมือง 

อนึ่ง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีร่วมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรมและพรรคพลังสังคมใหม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net