Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อารัมภบท

หากเอ่ยถึงชื่อภาพยนตร์อย่าง Watchmen (2009)[1] หลายต่อหลายคนคงเข้าใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คงเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับฮีโร่ผู้กอบกู้สังคม ผดุงความสงบ ยึดมั่นในความยุติธรรม ขจัดคนพาลและอภิบาลคนดี ในทำนองเดียวกันกับภาพยนตร์ฮีโร่ที่เราต่างคุ้นชินกันมาตั้งแต่เด็กจนโต เช่น ขบวนการ 5 สี (Super Sentai) หรือแมสไรเดอร์ (Masked Rider/Kamen Rider) จากแดนปลาดิบ หรือ เหล่าทีมอเวนเจอร์ (Avengers) จากค่ายโปรดักชันยักษ์ใหญ่อย่างมาร์เวล  อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายคน (เช่นกัน) อาจหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว Watchmen นั้นเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับฮีโร่ที่มีมิติการเล่าเรื่องที่ฉีกกฎ แหวกแนวภาพจำของฮีโร่ที่เราทุกคนรู้จักมา แม้ว่าในด้านของกำไรภาพยนตร์เรื่องนี้ทำกำไรได้เพียง 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในด้านของมิติเชิงคุณค่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างคุณค่าเอาไว้เกินกว่ากำไรที่ทำได้ในทางเศรษฐกิจอยู่มากเลยทีเดียว บทความนี้จะทำการวิเคราะห์และชี้ให้เห็นถึงปัญหาของ ‘คนดี’ ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ Watchmen และจะทำการวิเคราะห์ถึงตัวละครฮีโร่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะการเป็นตัวแทนของแนวคิดเชิงจริยศาสตร์แบบต่างๆ ไม่แน่ใจว่าคุณผู้อ่านพร้อมหรือยัง หากคุณพร้อมแล้ว ในบทความนี้เชิญทุกท่านสำรวจความหมายของ ‘คนดี’ ไปด้วยกัน


ว่ากันตามท้องเรื่อง …

ภาพยนตร์ Watchmen มีที่มาจากหนังสือชุดฉบับคอมมิคที่เขียนขึ้นโดย อลัน มัวร์ (Alan Moore) และได้นักวาดภาพฝีมือดีอย่าง เดฟ กิบบอนส์ (Dave Gibbons) หนังสือชุดฉบับคอมมิคถูกตีพิมพ์แบบรายเดือนในช่วงปี ค.ศ. 1986 ในสังกัด DC Comics ผู้เขียนวาดภาพให้เรื่องราวเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ทางเลือกของสหรัฐอเมริกา ในขณะสหรัฐอเมริกากำลังจะเริ่มต้นสงครามนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียต ราวปี ค.ศ. 1985 เรื่องราวดำเนินอยู่ในสถานการณ์ที่มีคนกลุ่มหนึ่งตั้งตนเป็นฮีโร่และออกไปอภิบาลสังคม ต่อมาได้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนสมาชิกตามกาลเวลา ภายหลังมีกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับฮีโร่นอกกฎหมายเหล่านี้รวมถึงกระแสต่อต้านจากสังคมจึงทำให้ฮีโร่เหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากการปรากฏตัวในสังคม ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ได้ แซค ซไนเดอร์ (Zack Snyder) ผู้มีผลงานกำกับอย่าง 300 (2007) และ Man of Steel (2013) มาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่องผ่านหนึ่งในตัวละครหลักที่ทำการสืบสวนสอบสาเหตุการตายของเพื่อนร่วมอุดมการณ์เก่าในกลุ่ม Watchmen และคดีฆาตกรรมดังกล่าวนี้เองถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด[2] (ในบทความนี้จะไม่กล่าวถึงเรื่องทั้งหมดโดยละเอียด)


Who Watches the Watchmen?

สำหรับที่มาที่ไปของคำว่า Watchmen คงต้องสืบสาวย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ราวช่วงศตวรรษที่ 1 ถึง 2 คำกล่าวที่ว่า Who Watches the Watchmen? นั้นเป็นกลุ่มคำที่ถูกเริ่มต้นใช้โดยกวีชาวโรมันนาม เดซิมัส จูเนียส ยูเวนาลิส (Decimus Junius Juvenalis) หรือในชื่อภาษาอังกฤษคือ ยูเวนอล (Juvenal) เจ้าของงานเขียนกวีนิพนธ์แนวเสียดสีประชดประชันชื่อ Satires ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสียดสีรัฐบาลทรราชเผด็จการที่กดขี่ประชาชนและใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายในทางทุจริต กลุ่มคำ “Who Watches the Watchmen?” ถูกแปลมาจากต้นฉบับภาษาละตินที่กล่าวว่า “Quis custodiet ipsos custodes” ซึ่งเมื่อแปลตามความหมายโดยตรงแล้วจะแปลว่า “Who will guard the guard themselves” อย่างไรก็ตามในภายหลังคำแปลนี้ถูกแปลใหม่ในท่วงท่าทางภาษาที่ร่วมสมัยกว่าเป็น “Who Watches the Watchmen?[3]

กลุ่มคำ “Who Watches the Watchmen?” นี้ยังเป็นข้อความที่แฝงเร้นมโนทัศน์ของการตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจที่มีหน้าที่ดูแลความสงบ ความมั่นคง มีอำนาจตรวจตราการกระทำการทุจริตในบ้านเมือง หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากมีใครบางคนกำลังจับจ้อง ตรวจตรา และตัดสินพวกเรา (ในฐานะประชาชน) อยู่ เมื่อเขาคอยดูเราอยู่ แล้วใครกันที่คอยตรวจสอบพวกเขา?  ('They're watching out for us, who's watching out for them?') หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาข้อความเรียบง่ายแต่ทรงพลังข้อความนี้สามารถตีความถึงความน่ากังขาฉงนของการบังคับใช้อำนาจรัฐของผู้มีอำนาจอย่างไม่ยุติธรรมต่อประชาชน กล่าวคือ หากผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศหนึ่งๆ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการปกครองและบังคับใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรม หรือแม้กระทั่งตัวบทกฎหมายถูกตีความจนลื่นไหลแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการกำจัดคนเห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เราในฐานะประชาชนจะมีความมั่นใจและเชื่อใจความเป็นรัฐของประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่อย่างเต็มใจและสมัครใจได้อย่างไร? หากผู้มีอำนาจอ้างเพียงตัวบทกฎหมาย (ที่ตีความใช้งานบิดเบี้ยว) และอ้างเพียงว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและกำลังปกป้องสังคมอยู่? เราจะเชื่อมั่นได้มากน้อยเพียงไรว่าผู้มีอำนาจจะสามารถใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง? เราจะเชื่อใจ Watchmen ได้อย่างไร?

หนึ่งในตัวละครหลักอันน่าสนใจที่สะท้อนแนวคิด Who Watches the Watchmen? ได้ชัดเจนในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ เดอะคอมเมเดี้ยน (The comedian) หนึ่งในทีม Watchmen ฮีโร่ที่ตั้งตนอาสาเป็นผู้พิทักษ์ความสงบสุขของสังคม ในฉากงานศพของเดอะคอมเมเดี้ยนที่กำลังถูกเคลื่อนย้ายลงสู่หลุมศพ หีบโลงถูกคลุมด้วยธงชาติสหรัฐอเมริกาซึ่งบ่งบอกถึงการจากไปอย่างมีเกียรติและมีคุณความดีต่อรัฐ ภายใต้บรรยากาศฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย เพื่อนๆ หลายคนในทีมยืนล้อมหลุมศพของเดอะคอมเมเดี้ยน ภาพตัดสลับกับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นภาพความทรงจำที่เพื่อนร่วมทีมแต่ละคนมีต่อเดอะคอมเมเดี้ยน ภายใต้หน้ากากฮีโร่ในนามของผู้รักษาความสงบสุขแก่บ้านเมืองของเดอะคอมเมเดี้ยน คือ หน้าจริงของเอ็ดเวิร์ด เบลค (Edward Blake) เสเพลย์บอยที่เคยใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายและพยายามล่วงละเมิดทางเพศเพื่อนสาวในทีม ในวัยฉกรรจ์เขาเป็นหนึ่งในแนวหน้าของสงครามเวียดนามที่สังหารทหารฝั่งศัตรูอย่างสนุกสนานและเคยพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์ เขาเป็นคนเดียวกันกับชายผู้สนับสนุนความรุนแรงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เขาคือชายผู้ที่เชื่อว่า “We’re society’s only protection.” (พวกเราในที่นี้หมายถึง กลุ่ม Watchmen ที่คอยปกป้องสังคมจากความชั่วร้ายของสังคมเอง) ตัวละครเดอะดอมเมเดี้ยนนี้จึงเป็นการตอกย้ำถ้อยคำ Who Watches the Watchmen? เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า บุคคลที่ถูกเรียกและเรียกตนเองว่า ‘ฮีโร่’ จะ ‘ดี’ จริงๆ


วาทกรรม ‘คนดี’ ปกครองบ้านเมือง

เดอะคอมเมเดี้ยน ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของ ‘คนดี’ ในแบบที่เชื่อว่า ฉัน (เดอะคอมเมเดี้ยน) เป็นคนดี หรือ ใครก็ตามที่เป็นคนดี เขาผู้นั้นเหมาะกับการกระทำอะไรก็ได้ (รวมถึงการปกครองประเทศด้วยเช่นกัน?)

ดังที่อาจารย์เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เสนอเอาไว้ในงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่อาจารย์เข็มทองได้ชี้ให้เห็นคือ การเป็นคนดีสามารถทำอะไรก็ได้ โดยความดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาจาก การทำให้คุณค่าทุกอย่างอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม หรือ การกลายลักษณะเดิมของสิ่งหนึ่งให้แปรเปลี่ยนไปอยู่ในพื้นที่ศีลธรรม (moralize) เช่น กฎหมายการฆ่าคนตายเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับทุกคนในประเทศ มีลักษณะเป็นภววิสัย ทุกคนต้องรับโทษเหมือนกันหากละเมิดกฎหมายข้อนี้ แต่กฎหมายจะมีลักษณะเป็นอัตวิสัยทันที เมื่อมีเรื่องศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าฆ่าคนตายหรือทำอะไรก็ตามแต่ การตัดสินจะต้องพิจารณาก่อนว่าทำไปเพื่อความดีหรือไม่ หากทำไปเพื่อความดีอาจจะไม่ผิด และอาจารย์เข็มทองยังเห็นว่า คนดีแบบนี้จึง “เป็นคนดีทำอะไรก็ได้ ความดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำ แต่อยู่ที่ว่าคุณเชื่อในสิ่งที่ถูกหรือเปล่า” และ “คนดีเหล่านั้นเป็นคนปากว่าตาขยิบ ในขณะที่ยังพูดถึงคุณธรรม คุณค่าที่เชื่อถือ … แต่สิ่งที่ตัวเองทำก็ขัดกับสิ่งที่พูดมาทั้งหมด ”[4] คำอธิบาย ‘คนดี’ ดังกล่าวไปนี้จึงสามารถใช้อธิบายตัวละครเดอะคอมเมเดี้ยนได้อย่างไม่ผิดฝาผิดตัว ฮีโร่ผู้ใช้ความรุนแรง ฆ่าคนบริสุทธิ์ แต่ทำไปโดยการอ้างว่าเป็นการปกป้องสังคม ทั้งๆ ที่เขาเองก็กำลังละเมิดกฎของสังคม ละเมิดกฎของมหาชนอยู่เช่นกัน นอกจากนี้แล้วตัวละครคอมเมเดี้ยนเองยังสะท้อนวิธีคิดเชิงศีลธรรมบางอย่างที่มีการสร้างระบบคุณค่าความดีขึ้นมาเอง กำหนดความดีและความชั่ว ทำให้เกิดพื้นที่การตัดสินทางศีลธรรมบนฐานคิดในระบบที่ตนเองสร้างขึ้นซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นสากล ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และใช้การไม่ได้


When no one can watch the Watchmen. Therefore, let transparent system works fully.  

จากตัวละครเดอะคอมเมเดี้ยน เรากลับไปหาคำถามใจความสำคัญในภาพยนตร์ Watchmen เมื่อเราไม่อาจวางใจในผู้มีอำนาจ ไม่ว่าใครก็ตามก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำผิด ทางออกของปัญหานี้ที่จะการันตีความมั่นใจต่อผู้มีอำนาจได้คงหนีไม่พ้น สิ่งที่เรียกว่า ‘ความโปร่งใส’ ความโปร่งใสที่ว่านี้คือความโปร่งในระบบใดๆ ที่สามารถให้ความกระจ่าง ชัดเจน และทุกคนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้  

ความโปร่งใส นับเป็นคุณสมบัติของกระบวนการที่อนุญาตหรือมีการเปิดให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างแม่นยำและตรงไปตรงมาหรือเป็นลักษณะของการเปิดข้อมูลใดๆ ให้ประชาชนได้รับทราบโดยไม่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงเกี่ยวกับกิจกรรมหรือการกระทำใดๆ ก็ตามของรัฐ หรือ องค์กรเอกชน ความโปร่งใสมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับมโนทัศน์ในทางการเมืองการปกครอง ความโปร่งใสเกี่ยวข้องโยงใยกับความรับผิดชอบ (accountability) การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ (openness) และ การตอบโต้ต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม (responsiveness) (ไม่ใช้ระยะเวลานาน เมื่อมีการตรวจสอบสามารถเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างชัดเจนเหมาะสม)[5] ความโปร่งใสเป็นการทำงานที่ไปได้ดีกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หากรัฐที่มีกลไกการทำงานของความโปร่งใส รัฐนั้นจะเป็นรัฐที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ จับตามอง และตรวจสอบ ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ กลไกความโปร่งใสยังสร้างรัฐที่ขัดขวางการทุจริตคอรัปชันไปในตัว เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้

ลองจินตนาการดูว่า รัฐที่มีประชาชนที่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เข้าใจและรักษาสิทธิ์ของตนเอง รัฐจะเป็นรัฐที่ประชาชนมีส่วนร่วมและหวงแหนประโยชน์ของสังคมอย่างเป็นเอกภาพ รัฐนั้นน่าจะเป็นรัฐที่เข้มแข็งและมีการทุจริตที่น้อยมาก ดังนั้น การสร้างระบบที่โปร่งใสนั้นเป็นทางออกและเป็นกลไกสำคัญที่สามารถป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจหรือ ‘ฮีโร่’ ที่อ้างว่าตนเองเป็นคนดี กระทำความผิด หรือมีอภิสิทธิ์ยกตนเหนือกฎหมาย โดยใช้เหตุผลเพียงอ้างว่าตนเป็น ‘คนดี’

ท้ายที่สุดแล้ว ‘คนดี’ จึงไม่ใช่คนที่ทำอะไรก็ได้หรือคนที่ทำอะไรแล้วไม่ผิด แต่ ‘คนดี’ คือคนที่ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา ต่างหาก …

 

อ้างอิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net