Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ถึงกับสปอย แต่ไปดูก่อนอ่านจะดีกว่า 



ในโลกทุนนิยม อะไรก็สามารถกลายเป็นสินค้าคิดหาต้นทุน-กำไรได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความนิยมชมชอบในตัวบุคคลอย่างนักร้อง นักแสดง เน็ตไอดอล ยูทูบเบอร์ หรือแม้แต่พระนักเทศน์ การตลาดทำง่ายและแพร่กระจายกว้างขวางรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 
"สินค้า" ที่สามารถล้วงเงินในกระเป๋าของเราได้ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุที่จับต้องได้ แต่เป็นประสบการณ์ ความรู้สึก และจินตนาการ ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเอง "มีตัวตน" มีความใกล้ชิด หรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของใครบางคนที่เราชื่นชอบ แม้ว่าในความเป็นจริงเราอาจเป็นได้แค่ "ติ่ง" ดังเงารางๆ ในสายตาของเขา หรือเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่โปร่งแสงและโปร่งใส เขารับรู้ได้ว่าเรามีอยู่แต่เขาไม่รู้หรอกว่ารูปร่างหน้าตาเราเป็นอย่างไร แม้เราจะช่วยเพิ่มยอดฟอล ยอดวิว ยอดแชร์ ทุ่มเงินส่งดาว เทกระป๋าซื้อบัตรคอนเสิร์ต ซื้อสินค้ารวมมูลค่านับหมื่นนับแสนบาทก็ตามที   

ประสบการณ์ สุนทรียะ ความเชื่อ ความศรัทธา ฯลฯ นามธรรมเหล่านี้ถูกทำให้เป็นสินค้า (commoditization) มานานนับร้อยๆ ปี มนุษย์ยอมจ่ายเพื่อสิ่งที่ครอบครองไม่ได้ แม้แต่ความรู้สึกก็ยัง ชั่วขณะ ชั่วครั้งชั่วคราว  

ถ้าการตลาดทำงานได้อย่างชอบธรรมในทุกพื้นที่โลก เหตุใดการตลาดในวงการศาสนาจึงกลายเป็นเรื่อง "ไม่เหมาะสม" หรือกระทั่ง "ผิดบาป" ?

ใช่ว่าทำไม่ได้ หรือไม่ทำกัน เพียงแต่ไอ้ที่ทำกันมานานนมนั้นก็แสร้งว่ามันไม่ใช่ "ธุรกิจ" "การค้า" หรือ "การลงทุน" และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่เพื่อทำกำไร  ทั้งที่เม็ดเงินก็เป็นเป้าหมายหลักอยู่ดี 

บูดิเยอร์ชี้ว่าเราเลือกใช้คำเพื่อกลบเกลื่อนการซื้อ-ขาย "สินค้าเชิงสัญลักษณ์" ซึ่งช่วยให้มูลค่ามันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล  

หากพิจารณาที่วัตถุธาตุและประโยชน์การใช้สอย ราคาของสินค้าหลายอย่างจะดิ่งลงไปในทันที ถ้าเพชรเป็นแค่หินชนิดหนึ่ง ทองคำเป็นแค่แร่ชนิดหนึ่ง (ซึ่งความจริงมันก็เป็นแบบนั้น) คิดดูสิว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากไม่นับรวมว่าซื้อเพื่อเก็งกำไร สินค้าเชิงสัญลักษณ์บางอย่างนอกจากจะได้รับการยกย่องว่ามี "คุณค่า" แล้ว ผู้คนยังเทิดทูนบูชาไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เพราะเชื่อว่าสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ 

เราไม่ "ซื้อ" พระไปประดับบ้านหรือเรือนกาย แต่เรา "เช่า" พระไป "บูชา"


เราไม่ "ให้เงิน" วัดหรือพระสงฆ์ แต่เรา "ถวาย "ปัจจัย" "ทำบุญ"

เราไม่ได้ "จ้าง" คนห่มผ้าเหลืองมา "ท่องบ่นบทบาลี" ซึ่งเราเองก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เรา "นิมนต์" พระสงฆ์มา "เจริญพระพุทธมนต์" หรือ "สวดพระอภิธรรม"

แต่เราก็แลกการกระทำเหล่านี้ด้วยเงินอยู่นั่นเอง  

สำหรับข้าพเจ้า "สาธุ" เป็นซีรีย์ที่บันเทิงเริงรมย์มาก ไม่ใช่ด้วยความแปลกใหม่ของเหตุการณ์ในเรื่อง การตีบทแตกของนักแสดง หรือพล็อตเรื่อง แต่ข้าพเจ้ารู้สึกสาแก่ใจอย่างไรบอกไม่ถูกที่ซีรีย์เล่าเรื่องจริงอย่างโจ่งแจ้งหมดจด หลวงเจ๊เอย วัดแย่งเจ้าภาพแย่งความนิยมกันเอย พระสงฆ์ต่อยตีเพราะแย่งกิจนิมนต์กันเอย ไหนจะมัคนายกที่อมเงินวัดเป็นภารกิจหลักอีก  

พุทธพาณิชย์และธุรกิจการศาสนา รวมทั้งที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้น แต่ต่างก็ช่วยกันกลบเกลื่อน หลบเลี่ยง ที่จะไม่พูดถึงว่ามันเป็นธุรกิจสร้างรายได้และแสวงกำไรรูปแบบหนึ่ง พอใครลุกขึ้นมาตั้งคำถามก็กลายเป็นมารศาสนา ใจบาปหยาบช้าไปเสียนี่ แค่คิดสงสัยก็ยังผิดมโนกรรม พูดออกไปกลายเป็นผิดวจีกรรม ถ้าเปิดโปงก็ผิดกายกรรมไปโน่นเลย  

ไวยกรณ์ภาษากำกับความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์  พระดลย์ในเรื่องบอกว่าเราจะ "สวัสดี" พระสงฆ์ไม่ได้แต่ต้อง "นมัสการ"  พระเอกชัยบอกว่าการไหว้วานพระเป็น "บาป"  ดูทีรึนักการตลาดรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน ทำอะไรก็ผิดขนบผิดจารีตไปเสียหมด

แต่ยุคทุนนิยมสมัยนี้ถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่มาออกแบบวางแผนประชาสัมพันธ์ คิดหาพรีเซนเตอร์ จัดอีเว้นท์ ยิงแอดในโซเชียล ทำพอดแคสต์ และอื่น ๆ วัดก็คงเรียกความนิยมได้ยาก ยิ่งใช้สื่อโซเชียลยิ่งช่วยให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ร่ำรวย และวัดก็รุ่งเรืองได้ไม่ยาก 

ทำไมล่ะ ? สมัยนี้ขายอะไรก็ต้องอาศัยการตลาด  หากใช้หลักการตลาดเข้าถึงหัวจิตหัวใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อขาย "บุญ" ขาย "ศรัทธา" มันผิดตรงไหน ? ข้าพเจ้าว่ามันดูโอเคกว่าตอนที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกขายใบไถ่บาปในสมัยศตวรรษที่ 14 เสียอีก ใครทำงานก็ต้องได้ค่าแรง พระไปรับกิจนิมนต์ยังได้เงินกลับมา นักการตลาดที่ช่วยงานในวัดก็ควรได้เงินเป็นธรรมดา สมัยนี้ข้าวก็ต้องซื้อกิน จะมาขูดรีดแรงงานกันฟรี ๆ ในนามของ "จิตอาสา" มันไม่น่าจะเป็นธรรม

คนหิวเงินมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับคน "หิวบุญ" ก็เหมาะเจาะเหมาะสมกันดีแล้ว สมเหตุสมผลตามตรรกะทุนนิยม จ่ายเงินไปเพื่อแลกกับความรู้สึกว่า "ได้บุญ" ตัวบุญหน้าตาเป็นยังไง ใครแคร์ ? จ่ายเงินเช่าพระเครื่องก็ได้พระเครื่องกลับบ้านไปในมูลค่าที่ตัวเองยินยอมพร้อมใจจ่าย ไม่มีใครบังคับขืนใจ พระเครื่องที่ว่ามีมวลสารศักดิ์สิทธิ์ก็จริงตามที่ยิงแอดโฆษณา ผ่านการปลุกเสกอย่างถูกต้องตามระเบียบพิธีการ ไม่มีตรงไหนที่เรียกว่า "ปลอม" หรือ "โกง" เสียแต่ว่าคนจ่ายเงินเชื่อว่าเงินนั้นตกไปสู่วัด แต่วัดไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ใช้เงินไม่ได้  มนุษย์ที่อยู่ในวัดต่างหากที่มีชีวิต ต้องกิน ต้องใช้ และเป็นคนทำงานที่สมควรได้ค่าแรง ทำงานเก่ง ครีเอทดี ก็คิดค่าแรงแพง ทุนนิยมมันก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่เหรอ 

วงการศาสนาปากว่าตาขยิบกันมานาน อยากได้เงินแต่ไม่ยอมรับว่าตัวเอง "ขาย" ไม่ว่าจะเป็น "บุญ" และ "ศรัทธา" ที่มองไม่เห็น หรือ "วัตถุมงคล" ที่จับต้องได้ แต่จะศักดิ์สิทธิ์ไหมนั่นก็แล้วแต่จะมโนกันไป 

ข้าพเจ้ารับชมและอมยิ้มกับซีรีย์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ดูรวดในคืนเดียว เท่าที่ถามมิตรสหายหลายท่านก็ดูรวดเดียวจบเหมือนกัน น่าสนุกจะตายที่เอาข้อเท็จจริงที่กระมิดกระเมี้ยนกันอยู่นานมาเปลือยซะล่อนจ้อน สงสัยอยู่ว่าเล่าเรื่องตรงไปตรงมาขนาดนี้ทำไมไม่โดนแบน ไม่โดนประท้วง พูดเรื่องจริงที่ท้าทายซะยิ่งกว่าวาดรูปพระสงฆ์ในร่างอุลตร้าแมน หรือหนังอาบัติ อาปัติ ที่โวยวายกันจนลั่นบ้านลั่นเมืองนั่นเสียอีก  หรือที่บ้านของฝ่ายพิทักษ์ปกปักษ์ศาสนาพุทธยังไม่มี netflix 5555555  

มีแง่มุมเล็ก ๆ ที่ขัดใจอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน ดันทำไปก็แอบรู้สึกผิดไป บางคนรอแค่มีเงินใช้หนี้หมดแล้วจะลาออกจากวงการ มีสองคนที่ถึงกับพูดไม่ออกบอกไม่ถูกตอนที่ขายพระเครื่องแล้วพบว่าลูกค้าดันเป็นคนที่บ้านของตัวเองไปเสียฉิบ ...อารมณ์คล้ายๆ นักค้ายาที่รู้ทีหลังว่าผู้ซื้อยาไปเสพคือคนในครอบครัวตัวเอง...แต่สิ่งที่สามคนทำในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นมารสังคมขนาดนั้น ข้าพเจ้าว่าไม่เห็นต้องรู้สึกผิดเลย เงินที่ได้มาใช่ว่าวัดจะไม่ได้ส่วนแบ่ง ก็บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างความนิยมให้ขนาดนั้น วัดยังเก็บเกี่ยวอะไรได้อีกเยอะจากกระแสความนิยมที่สามคนนี้ช่วยเริ่มต้นสร้างมาให้

ประเด็นโคตรเศร้าสำหรับข้าพเจ้าก็คือ...ในที่สุดแล้ว วิน เกม และเดียร์ กลับกลายเป็นแค่หมากตัวเล็ก ๆ ในโครงข่ายธุรกิจชั่วช้าที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าตัวเองจะคาดคิด เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นบ่อย เกิดขึ้นจริงเกินไป คนตัวเล็ก ๆ ทำเรื่องเสียหายเล็กน้อยแล้วรู้สึกผิดซะเยอะแยะ ส่วนคนตัวใหญ่ๆ ทำเรื่องชั่วชาติจนบรรลัยไปทั้งแผ่นดินกลับไม่รู้สึกอะไรเลย 

มีซีรีย์เปิดโปงการตลาดของศาสนาแล้ว รอว่าเมื่อไหร่จะมีภาพยนตร์ที่เปิดโปงการตลาดของสถาบันยิ่งใหญ่ที่ได้รับการเคารพบูชาอื่น ๆ อีก สาธุ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net