Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) เผย 10 ราชื่อประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานประจำปี 2566 ได้แก่ บังกลาเทศ เบลารุส เอกวาดอร์ อียิปต์ เอสวาตีนี กัวเตมาลา พม่า ตูนิเซีย ฟิลิปปินส์ และตุรกี สำหรับประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน'

8 ก.ค. 2566 จากรายงาน 2023 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ระบุว่า10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานประจำปี 2566 ได้แก่ บังกลาเทศ เบลารุส เอกวาดอร์ อียิปต์ เอสวาตีนี กัวเตมาลา เมียนมาร์ ตูนิเซีย ฟิลิปปินส์ และตุรกี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2565
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2564
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2563
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2562
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2561
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2560
องค์กรแรงงานเผยดัชนี 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2559
องค์กรแรงงานสากลเผย 10 ประเทศ 'ยอดแย่' ของ 'คนทำงาน' ปี 2558

จากการสำรวจข้อมูลใน 149 ประเทศ ITUC พบว่าจากเอสวาตีนีถึงพม่า เปรูถึงฝรั่งเศส อิหร่านถึงเกาหลี ข้อเรียกร้องของคนทำงานที่ต้องการปกป้องสิทธิแรงงานของพวกเขากลับถูกเพิกเฉย และถูกตอบโต้อย่างโหดร้ายมากขึ้นจากรัฐ

ข้อค้นพบสำคัญในรายงานปีนี้ประกอบไปด้วย:

-  9 ใน 10 ประเทศ มีการละเมิดสิทธิในการนัดหยุดงาน คนทำงานในแคนาดา โตโก อิหร่าน กัมพูชา และสเปน ถูกดำเนินคดีทางอาญาหรือถูกเลิกจ้างหลังจากตัดสินใจนัดหยุดงานประท้วง

- จากทั้ง 149 ประเทศ พบ 77% มีการกีดกันคนทำงานไม่ให้จัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน แรงงานข้ามชาติ คนทำงานบ้านและคนทำงานชั่วคราว ผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ แรงงานแพลตฟอร์ม และแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถูกปฏิเสธสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกัน บุรุนดี เฮติ อินเดีย ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นกลุ่มประเทศที่กีดกันไม่ให้สหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของคนทำงาน

- จากทั้ง 149 ประเทศ พบ 42% ที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมถูกจำกัด ซึ่งมักส่งผลให้คนทำงานที่ประท้วงต้องเผชิญกับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในฝรั่งเศส การประท้วงอย่างถูกกฎหมายกลับถูกตำรวจทุบตีอย่างโหดเหี้ยม การจับกุมโดยไม่เลือกหน้า และการใช้แก๊สน้ำตา ในอิหร่าน ครูถูกตำรวจจับกุมตัวและถูกทุบตีเพราะเข้าร่วมการเดินขบวนในวันแรงงาน

-  8 ใน 10 ประเทศ มีการละเมิดสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม คนทำงานในเนเธอร์แลนด์ มาซิโดเนียเหนือ ซิมบับเว ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย ต่างระบุว่าสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมของพวกเขาลดลงอย่างมาก

- จากทั้ง 149 ประเทศ พบ 73% มีการขัดขวางการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน รวมถึงในเบลารุส พม่า ฮ่องกง สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และกัวเตมาลา

- คนทำงานถูกจับกุมและควบคุมตัวใน 69 ประเทศ ในพม่า ฮ่องกง สาธารณรัฐโดมินิกัน อินเดีย และตุรกี การจับกุมและควบคุมตัวมีเป้าหมายที่ผู้นำสหภาพแรงงาน

- จากทั้ง 149 ประเทศ พบ 65% ที่คนทำงานไม่มีหรือถูกจำกัดการเข้าถึงความยุติธรรม ผู้นำสหภาพแรงงานและผู้สนับสนุนสิทธิคนทำงานในซิมบับเว จีน และคาซัคสถานถูกดำเนินคดีในข้อหาที่ไม่เป็นธรรม

ลุค ไทรแองเกิล (Luc Triangle) รักษาการเลขาธิการทั่วไปของ ITUC ระบุว่าดัชนี ITUC Global Rights Index 2023 แสดงหลักฐานที่น่าตกใจว่ารากฐานของประชาธิปไตยกำลังถูกโจมตี มีความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างสิทธิของคนทำงานที่ได้รับการปกป้องและความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการพังทลายของสิ่งหนึ่งก็จะกระทบอีกสิ่งหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“นี่คือการจัดทำดัชนีครั้งที่ 10 และผลลัพธ์ในปี 2566 แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเพียงใด ทั้งประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำ เนื่องจากคนทำงานต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนโดยความโลภของนายทุนโดยมีรัฐหนุนหลัง พวกเขายังพยายามต่อต้านการเจรจาต่อรองขอขึ้นค่าจ้างและการนัดหยุดงานประท้วง"

“จากเอสวาตินีถึงพม่า เปรูถึงฝรั่งเศส อิหร่านถึงเกาหลี ข้อเรียกร้องของคนทำงานที่ต้องการปกป้องสิทธิแรงงานของพวกเขา ถูกต่อต้านจากนายจ้างและความเพิกเฉยของรัฐบาล ข้อเรียกร้องของคนทำงานที่ต้องการปกป้องสิทธิแรงงานของพวกเขากลับถูกเพิกเฉย และถูกตอบโต้อย่างโหดร้ายมากขึ้นจากรัฐ” ไทรแองเกิล กล่าว

- 10 ประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงานในปี 2566 ได้แก่ บังกลาเทศ เบลารุส เอกวาดอร์ อียิปต์ เอสวาตีนี กัวเตมาลา พม่า ตูนิเซีย ฟิลิปปินส์ และตุรกี

- เอกวาดอร์และตูนิเซีย เป็นประเทศใหม่ที่เข้าสู่ลิสต์ 10 ประเทศที่เลวร้ายที่สุด ในเอกวาดอร์ การประท้วงจำนวนมากเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิการมีส่วนรวม ซึ่งจัดโดยองค์กรของชนเผ่าพื้นเมืองและสหภาพแรงงาน ถูกปราบปรามอย่างไร้ความปราณี ในตูนิเซีย ประธานาธิบดีไคส์ ไซเอด (Kais Saied) บ่อนทำลายเสรีภาพของคนทำงานและสถาบันประชาธิปไตย

- ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย ชิลี และโกตดิวัวร์ แต่แย่ลงในสาธารณรัฐคองโก เอลซัลวาดอร์ เฮติ ไลบีเรีย มอนเตเนโกร นามิเบีย มาซิโดเนียเหนือ โตโก และสหราชอาณาจักร

- คนทำงานเผชิญกับความรุนแรงใน 44 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งบังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และเลบานอน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อัตราการเกิดความรุนแรงต่อคนทำงานเพิ่มขึ้นจาก 43% ในปี 2565 เป็น 48% ในปี 2566 และจาก 42% เป็น 53% ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

- นักสหภาพแรงงานถูกสังหารใน 8 ประเทศ และจากทั้ง 149 ประเทศ พบ 42% ปฏิเสธหรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม 46% คนทำงานถูกจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจใน และ 65% ปฏิเสธหรือจำกัดไม่ให้คนงานเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

สำหรับประเทศไทย ITUC ในปี 2566 ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นเดียวกับในปี 2565, 2564, 2563 และ 2562 ที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้านี้ในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศความรุนแรงระดับที่ 4 'กลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ'


ที่มา:
Ten years of workers’ rights under attack: 2023 ITUC Global Rights Index (ITUC, 30 June 2023)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net