Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลสำรวจ 'ITUC Global Rights Index 2022' ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ บังกลาเทศ, เบลารุส, บราซิล, โคลอมเบีย, อียิปต์, เอสวาตินี, กัวเตมาลา, พม่า, ฟิลิปปินส์ และตุรกี ส่วน 'ไทย' ยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นปี 2564

11 ก.ค. 2565 จากรายงาน 2022 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation หรือ ITUC) ระบุว่า10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานประจำปี 2565 ได้แก่ บังกลาเทศ, เบลารุส, บราซิล, โคลอมเบีย, อียิปต์, เอสวาตินี, กัวเตมาลา, พม่า, ฟิลิปปินส์ และตุรกี จากทั้งหมด 148 ประเทศ ที่ ITUC มีข้อมูลในการจัดอันดับ

ข่าวที่เกียวข้อง

ITUC ระบุว่ารายงานฉบับนี้ได้เผยให้เห็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทำงานที่น่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการนัดหยุดงานประท้วง การจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน การจดทะเบียนสหภาพแรงงาน และสิทธิในการเจรจาต่อรอง ส่วนสิทธิในความยุติธรรมก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน เช่นเดียวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ในบางประเทศคนทำงานไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ

ข้อค้นพบในรายงานที่น่าสนใจมีดังนี้

- พบ 113 ประเทศ จากทั้งหมด 148 ประเทศ มีการกีดกันคนทำงานออกจากสิทธิในการจัดตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 106 ประเทศ จากเมื่อปี 2564, คนทำงานถูกกีดกันจากการเป็นตัวแทนในที่ทำงานในประเทศอัฟกานิสถาน บูร์กินาฟาโซ พม่า ซีเรีย และตูนิเซีย

- ร้อยละ 77 ของประเทศต่าง ๆ ปฏิเสธสิทธิแรงงานในการก่อตั้งและเข้าร่วมสหภาพแรงงาน

- ร้อยละ 74 ของเจ้าหน้าที่ประเทศต่างๆ ขัดขวางการจดทะเบียนสหภาพแรงงาน อัตรานี้เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 59 จากเมื่อปี 2564, โดยรัฐได้ปราบปรามกิจกรรมสหภาพแรงงานอิสระในอัฟกานิสถาน เบลารุส อียิปต์ จอร์แดน ฮ่องกง พม่า และซูดาน

- 50 ประเทศ จากทั้งหมด 148 ประเทศ มีการกระทำรุนแรงต่อคนทำงานในทางกายภาพ ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจาก 45 ประเทศ จากเมื่อปี 2564, รวมถึงเพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วน ร้อยละ 35 เป็น ร้อยละ 43 ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ ร้อยละ 12 เป็น ร้อยละ 26 ในยุโรป

- ร้อยละ 87 ของประเทศต่างๆ ละเมิดสิทธิ์ในการนัดหยุดงานประท้วง, มีการโจมตี จับกุมผู้นำสหภาพแรงงาน หรือการปราบปรามอย่างรุนแรงในเบลารุส อียิปต์ อินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ และซูดาน

- 4 ใน 5 จากทั้งหมด 148 ประเทศ ปิดกั้นการเจรจาต่อรองร่วมกัน สิทธินี้ถูกกัดเซาะในภาครัฐและเอกชนในทุกภูมิภาค, ในตูนิเซีย จะไม่มีการเจรจาใดๆ กับสหภาพแรงงานหากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

- นักสหภาพแรงงานถูกสังหารใน 13 ประเทศ โดย ร้อยละ 41 ของผู้เสียชีวิตอยู่ในประเทศที่ปฏิเสธหรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม 

- คนทำงานถูกจับกุมและควบคุมตัวตามอำเภอใจใน 69 ประเทศ โดย ร้อยละ 66 อยู่ในประเทศปฏิเสธหรือจำกัดไม่ให้คนทำงานเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม, สัดส่วนของคนทำงานที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวตามอำเภอใจในทวีปแอฟริกา เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 76 ในปี 2564 เป็น ร้อยละ 95 ในปี 2565 นี้

ชาราน เบอโรว์ เลขาธิการ ITUC กล่าวว่า "เรารู้ว่าคนทำงานอยู่ในแนวหน้าของวิกฤตการณ์หลายอย่างที่ไม่ธรรมดา ทั้งความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่ในอดีต ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ โรคระบาดที่ทำลายชีวิตและการดำรงชีวิต และความขัดแย้งกับผลกระทบร้ายแรงภายในประเทศและในระดับโลก"

"ดัชนีของ ITUC เผยให้เห็นว่าความไม่มั่นคงนี้ คนทำงานถูกเอารัดเอาเปรียบได้อย่างไร ทั้งจากรัฐบาลและนายจ้างจำนวนมากที่โจมตีสิทธิของคนทำงาน"

"เราต้องเปิดเผยการกระทำผิดเพื่อให้รัฐบาลตระหนักว่าพวกเขาต้องสร้างสัญญาทางสังคมใหม่: งาน, ค่าจ้าง, สิทธิ, การคุ้มครองทางสังคม, ความเสมอภาค และการรวมตัวเข้าด้วยกัน"

สำหรับประเทศไทย ITUC ในปี 2565 นี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความรุนแรงระดับ 5 'กลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับประกันสิทธิแรงงาน' เช่นเดียวกับในปี 2564, 2563 และ 2562 ที่ผ่านมา ส่วนก่อนหน้านี้ในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศความรุนแรงระดับที่ 4 'กลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ'

 

ที่มา
ITUC Global Rights Index 2022 (ITUC, June 2022)
Multiple areas of crisis see workers’ rights crumble: 2022 ITUC Global Rights Index (ITUC, 28 June 2022)
A new social contract is needed to stop intensifying workers’ rights violations (IndustriALL, 29 June 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net