Skip to main content
sharethis

ไต้หวันถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมงาน "เทศกาลธงโลก" ที่ฝรั่งเศส ในเดือนกันยายนนี้ หลังทางการจีนคัดค้านและกดดันผู้จัดงาน "สมาคมวัฒนธรรมชาวไต้หวันแห่งลียง"  ระบุ ทางการจีนพยายามกีดกันไต้หวันออกจากองค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกด้วย

 

16 มิ.ย. 2566 คณะผู้จัดงาน "เทศกาลธงโลก" ในฝรั่งเศส ปฏิเสธไม่ยอมให้ไต้หวันเข้าร่วม หลังจากที่ทางการจีนคัดค้านและกดดันผู้จัดงาน โดยที่เทศกาลธงดังกล่าวนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า "Fete des Bannieres du Monde" ภายในมีขบวนพาเหรด ตลาดขายของ และผู้เข้าร่วมจากอย่างน้อยสิบกว่าประเทศที่สวมใส่ชุดแต่งกายประจำชาติของตนเอง มีกำหนดการจัดงานวันที่ 16 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางการไต้หวันกับผู้จัดงานในฝรั่งเศสได้ติดต่อประสานงานกันในเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้ติดต่อไปยังผู้จัดงานเรียกร้องไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมกับงานเทศกาลนี้ ส่งผลให้คณะกรรมการผู้จัดงานปฏิเสธคำขอเข้าร่วมของไต้หวัน

ทางกลุ่ม "สมาคมวัฒนธรรมชาวไต้หวันแห่งลียง" (ACTL) ยืนยันว่า การที่พวกเขาอยากเข้าร่วมงานในครั้งนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลยแม้แต่น้อย พวกเขาเพียงแค่ต้องการเป็นตัวแทนของชุมชนชาวไต้หวันในงานวัฒนธรรมใหญ่ๆ เท่านั้น

ในงานธงเมื่อปีที่แล้ว ทางกลุ่มสมาคมไต้หวัน ACTL บอกว่าพวกเขาลงทะเบียนช้าเกินไปทำให้ไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ แต่ใช้วิธีให้สมาชิกกลุ่มเดินถือธงชาติไต้หวันอยู่รอบนอกกลุ่มขบวนพาเหรดแทน แต่ก็มีผู้แทนจากจีนที่เรียกร้องให้ผู้จัดงานในปีนั้นแจ้งตำรวจ ในขณะที่คณะผู้จัดงานขอให้ชาวไต้หวันเก็บธงของตัวเองออกไปจากขบวน

ACTL ยังเปิดเผยถึงปัญหาในกระบวนการของคณะผู้จัดงานธงในฝรั่งเศสอีกว่า ทาง ACTL ได้แจ้งความจำนงจะเข้าร่วมครั้งล่าสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 มีการเรียกร้องซ้ำๆ เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการพบปะเพื่อตัดสินว่าไต้หวันจะเข้าร่วมได้หรือไม่ แต่ทางคณะผู้จัดงานก็ไม่ได้ตอบรับอย่างชัดเจน จนกระทั่งเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาถึงได้ตอบกลับด้วยการปฏิเสธไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วม

Yang Pei-yi ประธานของ ACTL ระบุว่า เธอรู้สึกประหลาดใจเมื่อรู้ว่ากลุ่มของพวกเธอถูกปฏิเสธไม่ให้ร่วมงาน เพราะงานพาเหรดนี้มีภาพลักษณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการเมือง

จีนจงใจกดดันผู้จัดงานไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมงาน

สื่ออีกแห่งหนึ่งระบุว่า ทางการจีนทำการกดดันผู้จัดงานด้วยการขู่ว่าจะถอนตัว หากทางผู้จัดงานอนุญาตให้ไต้หวันเข้าร่วม

ทาง ACTL บอกอีกว่า พวกเขาเคยเดินทางไปยังที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่เจนีวาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้นับรวมไต้หวันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์คณะผู้ตัดสินใจขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วย

ก่อนหน้านี้ไต้หวันเคยถูกกีดกันออกจากการประชุมของ WHO ก็เพราะจีนใช้อำนาจอิทธิพลกดดั

ผอ.สนง.เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย จวง ซั่ว ฮั่น ได้เขียนบทความ 'การพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน หลังยุคโควิด-19' ระบุว่าตั้งแต่ปี 2560 ไต้หวันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกของ WHO และเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกกับทุกฝ่ายผลักดันให้พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนได้โดยไม่ถูกมองข้าม รวมถึงระบุว่าไต้หวันมีนวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้คนในเรื่องสาธารณสุขได้ทั้งในยุคโควิด-19 และยุคหลังโควิด-19

 

จีนปิดกั้นไต้หวันจากสหประชาชาติ

อีกกรณีหนึ่งคือการที่จีนใช้อำนาจอิทธิพลปิดกั้นไต้หวันออกจากสหประชาชาติ เรื่องนี้มีระบุในรายงานขององค์กรคลังสมองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในสหรัฐฯ ที่ชื่อ 'เยอรมันมาร์แชลฟันด์' โดยที่พวกเขาระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในความเป็นระบบแบบราชการของยูเอ็น

ไต้หวันซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีประชากรอยู่ 23.5 ล้านคน ไม่ได้เป็นทั้งสมาชิกหรืออยู่ในสถานะผู้สังเกตการณ์ที่สหประชาชาติเพราะทางการจีนคัดค้านโดยอ้างว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของพวกเขา อย่างไรก็ตามในอดีตไต้หวันก็ยังได้สถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ในบางหน่วยงานย่อยของสหประชาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก แต่หลังจากที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินชนะการเลือกตั้งในปี 2559 ทางการจีนก็ทำการปิดกั้นไต้หวันไม่ให้เป็นแม้แต่ผู้สังเกตการณ์

เรื่องนี้ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ เช่น เอ็นจีโอ, ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งโรงเรียน จากไต้หวันไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรของยูเอ็นหรือเข้าร่วมประชุมกับยูเอ็นได้ ถึงแม้ว่าไต้หวันจะระบุตัวเองในฐานะประเทศ ไม่ใช่เป็นมณฑลส่วนหนึ่งของจีนก็ตาม อีกทั้งผู้ที่ต้องการเข้าถึงยูเอ็นจะต้องได้รับบัตรประจำตัวที่ออกโดยทางการจีน ทั้งๆ ที่พวกเขามีบัตรประจำตัวและหนังสือเดินทางของไต้หวันอยู่แล้ว

รายงานของเยอรมันมาร์แชลฟันด์ ระบุว่า ปัญหานี้มาจากการที่จีนอ้างใช้มติของสหประชาชาติเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคสมัยที่จีนยังคงมีสงครามกลางเมืองแล้วก็มีฝ่ายก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียงไคเช็กหนีไปยังไต้หวัน (ซึ่งมีประชากรในพื้นที่เป็นชาวไต้หวันอยู่ก่อนแล้ว) แล้วตั้งตัวเป็นรัฐบาลที่นั่น จากนั้นก็ได้เก้าอี้เป็นผู้แทน "จีน" ในยูเอ็นจนถึงปี 2514 ถึงได้มีการใช้ข้อมติ 2578 ในการขับไต้หวันออกจากการเป็นตัวแทนจีน

แต่ทว่าในเนื้อหาของข้อมตินั้นไม่ได้ระบุถึงไต้หวัน, สาธารณรัฐจีน หรือนิยามใดๆ เกี่ยวกับจีนเลย แต่แค่ใช้คำว่า "ระบอบเจียงไคเช็ก" ในตอนนั้นยังเป็นผู้ที่ปกครองไต้หวันภายใต้รัฐอำนาจนิยมพรรคการเมืองเดียว ซึ่งหลังจากนั้นจีนก็เริ่มกลายเป็นมหาอำนาจของโลกและไต้หวันก็ปรับเปลี่ยนตัวเองออกจากระบอบเจียงไคเช็กมาเป็นประชาธิปไตย หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ก็สนับสนุนให้ไต้หวันร่วมเป็นส่วนหนึ่งของยูเอ็นก็เพราะต้องการให้ไต้หวันเลิกเป็นตัวแทนของจีนด้วย

เจมส์ ลิน นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์ไต้หวันกล่าวว่า  เจียงไคเช็กเสียชีวิตไปตั้ง 47 แล้ว และหลังจากนั้นไต้หวันก็เปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกฝ่ามือ หลังจากที่พวกเขาเปลี่ยนระบอบมาเป็นประชาธิปไตยและปลดปล่อยตัวเองจากอาณานิคมจีนของเจียงไคเช็ก มีการรื้อโครงสร้างอำนาจสมัยเจียงไคเช็กออกทั้งหมด ไต้หวันในทุกวันนี้ไม่ได้อ้างตัวเป็นตัวแทนจีนแบบเดียวกับที่มติสหประชาชาติในยุคก่อนหน้านี้เคยตัดสินไว้อีกต่อไปแล้ว

 

 

เรียบเรียงจาก

Taiwan group barred from French event due to China, Taipei Times, 11-06-2023

https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2023/06/11/2003801343

Flag festival in France turns down Taiwan under China pressure, Taiwan News, 10-06-2023

https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4915241

Taiwan turned away from French event due to China pressure, Focus Taiwan, 10-06-2023

https://focustaiwan.tw/cross-strait/202306100004

China Uses Multiple Fronts to Block Taiwan at UN: Report, Voice of America, 31-03-2022

https://www.voanews.com/a/china-uses-multiple-fronts-to-block-taiwan-at-un-report-/6509067.html

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net