Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอสันกำแพง เข้าพบว่าที่ ส.ส.ก้าวไกล ร้องเรียนการละเมิดสิทธิแรงงานผู้ผลิตสินค้าของ Pure & Co Ltd. และลอยแพคนงานในประเทศไทย โดยกรณีนี้จะครบรอบ 10 ปีในเดือน ส.ค. นี้แล้ว

14 มิ.ย. 2566 เวลา 11.30 น. ที่มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนการละเมิดสิทธิแรงงานผู้ผลิตสินค้าของ Pure & Co Ltd. และลอยแพคนงานในประเทศไทย ต่อนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ว่าที่ ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล

อ่านข่าวเก่าในประชาไทที่เกี่ยวข้องกรณีนี้

โดยในหนังสือร้องเรียนระบุว่าพวกเราในนามของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ และในฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยี่ห้อสินค้า Neon Buddha and Pure Handknit  ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา ขอร้องเรียนมายังท่านว่า นายเซบาสเตียน ซาโรอิ นักธุรกิจชาวแคนาดา ซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริงทั้งบริษัทจอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด และ Pure & Co Ltd. โดยนายเซบาสเตียน ซาโรอิ และบริษัทจอร์จี้แอนด์ลูได้ละเมิดสิทธิคนงาน กฎหมายไทย และมาตรฐานแรงงานสากลเป็นเวลาต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา และได้มีการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานในบริษัทจอร์จี้แอนด์ลูในจังหวัดเชียงใหม่  โดยมีลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

ในเดือน ส.ค. 2556 บริษัทจอร์จี้แอนด์ลูได้พยายามละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้างโดยการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างงาน  ดังนั้นคนงานจึงได้รวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองและได้จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในเดือน ต.ค. 2556  แต่บริษัทจอร์จี้แอนด์ลูไม่เคารพสิทธิการร่วมกลุ่มของคนงาน โดยได้เลิกจ้างแกนนำคนงานในวันที่ 16 ต.ค. 2556 หลังจากการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ โดยปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม และต่อมาในวันที่ 6 และ 7 ม.ค. 2557 เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานและปฏิเสธรับกรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เลือกปฏิบัติต่อสมาชิกสหภาพแรงงานโดยไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2556 และ ปี 2557 ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานรายเดือนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่จ่ายเงินสะสมในกองทุนชื่นชมคืนให้แก่ลูกจ้าง  ซึ่งทุกกรณีที่เกิดขึ้นสหภาพแรงงานได้ใช้สิทธิตามที่กฎหมายแรงงานไทยกำหนด โดยได้ร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และศาลแรงงาน สำหรับกรณีค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม เงินเดือนของพนักงานรายเดือน โบนัส และกองทุนชื่นชม บริษัทจอร์จี้ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลฎีกาแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลูจ่ายเงินให้กับพนักงานรายเดือน ซึ่งพนักงานได้รับเงินแล้วเนื่องจากทางนายจ้างได้นำเงินมาวางที่ศาลเนื่องจากเป็นผู้อุทธรณ์ สำหรับคดีอื่นสั่งไม่จ่าย สำหรับคดีโบนัสปี 2557 ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาให้บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน แต่บริษัทฯ เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม 

ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2558 บริษัทจอร์จี้แอนด์ลูได้มีคำสั่งหยุดงานชั่วคราวภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 โดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งซื้อจากลูกค้าน้อยลง โดยคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนงานทั้งหมด 78 คน และเรื่องที่เลวร้ายที่สุดคือบริษัทจอร์จี้แอนด์ลูไม่จ่ายค่าจ้างให้กับคนงานทั้ง 78 คนนับตั้งแต่การประกาศใช้มาตรา 75 และในวันที่ 8 ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดคำสั่งหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75  พวกเราได้เดินทางไปที่บริษัทเพื่อกลับเข้าทำงานตามปกติ แต่กับพบว่ามีประกาศว่า “ปัจจุบันนี้สถานประกอบการแห่งนี้ดำเนินกิจการโดย บริษัทสนุก การ์เม้นท์ จำกัด” ซึ่งประกาศดังกล่าวลงวันที่ 7 ก.ย. 2558

คำอ้างของบริษัทจอร์จี้แอนด์ลูที่แจ้งว่าไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้านั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู ที่มีชื่อบริหารแทนนายนายเซบาสเตียน ซิรอยส์ ได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ในนาม “บริษัทสนุกการ์เม้นท์ จำกัด” ในวันที่ 3 มิ.ย. 2558 ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและผลิตสินค้าให้กับ Pure & Co และหลังจากนั้นไม่กี่วันผู้จัดการทั่วไปของบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด ได้จดทะเบียนเปิดบริษัทใหม่โดยมีชื่อว่า “บริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด” ในวันที่ 5 มิ.ย. 2558 โดยบริษัทดังกล่าวใช้บ้านเลขที่เดียวกับบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัด ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อไม่นานก็มีการเปลี่ยนชื่อกรรมการบริษัทเป็นนางมยุรี ซิรอยส์ ซึ่งเป็นภรรยาของนายเซบาสเตียน ซิรอยส์  

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมน่าสงสัยในการยักย้ายทรัพย์สินของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลูให้กับบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด  เนื่องจากสหภาพแรงงานตรวจพบว่าบริษัทจอร์จี้ แอนด์ลูจำกัด ได้ขายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานให้กับบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558  โดยทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเป็นบุคคลคนเดียวกัน คือนางธัญวรัชม์  อินต๊ะวงศ์  ซึ่งเป็นทั้งตัวแทนบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด และในวันที่ 15 ก.ค. 2558 มีการดำเนินการขายเครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์ และอื่นๆ ของบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู ให้กับบริษัทน่ารักโฮลดิ้ง โดยมีนายณรงค์ เลามะ เป็นตัวแทนบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู และนางมยุรี ซิรอยส์ เป็นตัวแทนของบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง ซึ่งนายณรงค์เป็นน้องชายของนางมยุรี ในการขายที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดของจอร์จี้แอนด์ลู ไม่มีความโปร่งใส่แสดงเจตนาให้เห็นว่าพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายหนี้สินให้กับพวกเรา เนื่องจากมีการดำเนินยักย้ายทรัพย์สินของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู ทั้งหมด ในช่วงเวลาที่บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู ประกาศปิดงานบางส่วนโดยใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การกระทำดังกล่าวของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู อาจผิดต่อกฎหมายไทย  โดยพวกเราได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน และศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาลงใน วันที่ 7 ก.ค. 2559 ให้บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย, วันหยุดพักผ่อนประจำปี, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าชดเชย, ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, และเงินสะสมในกองทุนชื่นชม แต่นายเซบาสเตียน ซิรอยส์ และบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแรงงาน 

เราได้มีการดำเนินการยึดทรัพย์ของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู ตามคำพิพากษา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยทางบริษัทได้จำหน่ายทรัพย์ที่เราได้ดำเนินการอายัดแล้ว ไปโดยที่เราไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ โดยที่บริษัทเมื่อจำหน่ายทรัพย์ไปแล้วก็ไม่ได้จ่ายหนี้ให้กับพวกเรา แต่ได้โอนเงินจากการขายทรัพย์ไปให้นายเซบาสเตียน ที่อยู่นอกประเทศไทย

นายเซบาสเตียน ซิรอยส์ และ Pure & Co Ltd ได้ประชาสัมพันธ์ต่อลูกค้าและสาธารณะมาโดยตลอดว่าทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม แต่ความเป็นจริงแล้วนับตั้งแต่เราก่อตั้งสหภาพแรงงาน จนกระทั่งมีการปิดกิจการ นายเซบาสเตียน ซิรอยส์ ได้ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง ทั้งยังเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมาตรฐานแรงงานสากล

พนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุโดยเฉลี่ย 40-45 ปี  ซึ่งถือว่าเป็นคนสูงวัย จึงทำให้หางานได้ยาก  แต่ภาระความรับผิดชอบในครอบครัวยังคงเหมือนเดิม  เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ แม้กระทั่งเงินสะสมในกองทุนชื่นชม ที่คิดว่าเป็นเงินสะสมไว้เมื่อลาออกจากงานก็จะมีเงินก้อนหนึ่ง แต่เมื่อถูกเลิกจ้างนายจ้างก็ปฏิเสธไม่จ่ายให้ จึงทำให้พวกเรานั้นตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก

ในช่วงปี 2562 พวกเราได้ดำเนินการร้องเพื่อบังคับคดี และได้มีการอายัดทรัพย์ได้แก่บ้านพักของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่สามารถอายัดที่ดินได้เนื่องจากมีการขายออกไปแล้ว ในช่วงดำเนินการการเพื่อการขายทอดตลาด ทางตัวแทนบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู ได้เข้ามาเจรจากับตัวแทนคนงาน โดยแจ้งว่าจะยอมจ่ายให้กับลูกจ้าง เมื่อสามารถขายบ้านได้ 

ในปี 2563 ตัวแทนคนงานและตัวแทนบริษัทจอร์จี้แอนด์ลูยังคงเจรจากันอยู่ เพื่อหาข้อตกลงกัน แต่ในช่วงเดือนมีนาคมตัวแทนบริษัทจอร์จี้แอนด์ลูได้ดำเนินการขายและโอนบ้านให้กับผู้ซื้อ และโอนเงินจากขายบ้านหลังดังกล่าวให้กับนายเซบาสเตียนที่ต่างประเทศ โดยไม่ได้นำมาจ่ายให้กับคนงานแต่อย่างใด 

ซึ่งผู้ซื้อบ้านหลังดังกล่าวทราบว่าบ้านหลังดังกล่าวอยู่ในคดีแรงงาน เพราะผู้ซื้อได้ให้การณ์ในชั้นศาลแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ว่าเป็นผู้ประสงค์ที่จะซื้อบ้านหลังดังกล่าว โดยได้วางเงินมัดจำไว้ในบางส่วน 

ดังนั้นพวกเราจึงต้องการขอความช่วยเหลือจากท่านช่วยดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งใน และ ต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทจอร์จี้แอนด์ลู นายเซบาสเตียน ซิรอยส์ และ Pure & Co Ltd. ซึ่งเป็นนักลงทุนชาวแคนาดาให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และ คำพิพากษาของศาล โดยการจ่าย

ค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ให้กับอดีตพนักงานบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด:

1. ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง 51 คน จำนวน 3,924,114.75 บาท

2. เงินจากกองทุนชื่นชมให้แก่ลูกจ้าง 59 คน จำนวน  930,955.77 บาท 

3. ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.-7 ก.ย. 2558 จำนวนให้แก่ลูกจ้าง 37 คน 1,008,973 บาท

4. ค่าจ้างค้างจ่ายของพนักงานรายเดือนที่ยังจ่ายไม่ครบตามกฎหมายกำหนด จำนวน ให้แก่ลูกจ้าง 43 คน 333,850 บาท

5. ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมทั้งกลุ่มแกนนำ 10 คน จำนวน 460,260 บาท และกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คน จำนวน 848,000 บาท

6. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับกลุ่มคนลูกจ้าง 37 คนที่ถูกลอยแพ จำนวน  2,644,700 บาท

7. วันลาพักผ่อนประจำปีที่เหลือให้แก่ลูกจ้าง 27 คน 43,456 บาท 

รวมเป็นจำนวนเงินที่นายเซบาสเตียน ซาโรอิ และ Pure & Co Ltd. ต้องจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 10,194,309.52 บาท

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากท่าน หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมทางเราพร้อมที่จะให้

ทั้งนี้ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าวต่อสมาชิกสหภาพแรงงานถึงกระบวนการดำเนินการต่อไป โดยจะใช้ 4 กรอบในการดำเนินการคือ 1.จะพยายามหาเครือข่ายที่ประเทศแคนาดา เพื่อทำการปรึกษาหารือปัญหาดังกล่าว 2.ติดตามเรื่องการขายสินทรัพย์ของบริษัทฯ เพื่อนำมาชดเชยให้กับแรงงาน 3.ติดตามภาพใหญ่ของคดีลักษณะใกล้เคียงในไทย เพื่อจะดำเนินคดีย้อนหลังอย่างไรได้บ้าง และเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าวอีกได้อย่างไร และ 4.การชดเชยพิเศษจากรัฐ รวมถึงรัฐจะดำเนินการติดตามเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net