Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านบางกลอย คาใจปม รพ.แก่งกระจาน ยังไม่ชี้แจงผลสอบเจ้าหน้าที่บกพร่องในหน้าที่จนเป็นเหตุให้ 'กิ๊ป' ชาวบางกลอย เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ตามที่ประชาชนสงสัยหรือไม่ ด้านเครือข่ายชนเผ่าฯ ยื่นหนังสือถึง สปสช. เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต

 

13 มิ.ย. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี ตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นองค์กรตาม ม.50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ 2545 เข้ายื่นคำร้องขอรับการพิจารณาการเยียวยากรณี กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย ที่เสียชีวิตภายหลังเข้ารับบริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้วยอาการป่วยโรคไข้เลือดออก

เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ กล่าวว่า เครือข่ายได้เข้าไปให้การช่วยประสานงานให้ชาวบ้าน กรณีการเสียชีวิตของกิ๊ป ซึ่งได้รับผลกระทบจากการรับบริการสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดความเสียหาย ตาม มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้กระบวนการเป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาโดยเร็ว เนื่องจากด้วยระยะทางที่ห่างไกลทุรกันดาร ทำให้ญาติไม่สะดวกในการมาเรียกร้องด้วยตนเอง จึงมอบหมายให้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองดำเนินการแทน และดำเนินการส่งเรื่องให้ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนช่วยติดตามผลการพิจารณาของ สปสช. เพื่อให้เกิดการพิจารณาที่เป็นธรรมกับครอบครัวและชุมชนบางกลอย

"ครอบครัวมีความไม่สบายใจในการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ รพ.แก่งกระจาน เป็นความกังวลทางด้านจิตใจจากความสูญเสียสามีหรือแม่ จึงผ่านเรื่องให้เครือข่ายช่วยดำเนินการ เราก็เต็มใจให้ความช่วยเหลือ หวังว่า สปสช.จะเร่งพิจารณาชดเชยครอบครัว เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเสียชีวิตของนางกิ๊ป" เกรียงไกร กล่าว

เกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ

ขณะที่ จันทร ต้นน้ำเพชร ลูกสาวของกิ๊ป ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นงานศพ ทาง รพ.แก่งกระจาน ยังไม่มีการชี้แจงการเสียชีวิตของแม่ว่าเกิดจากความผิดพลาดของโรงพยาบาลแก่งกระจาน ตามข้อสงสัยของญาติและชาวบ้านหรือไม่ มีเพียงการส่งตัวแทนมาร่วมงานศพเท่านั้น จึงต้องการให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาชี้แจงผลการสอบสวน และอธิบายอย่างเป็นทางการกับชาวบ้าน ซึ่งเกรงว่าทุกฝ่ายจะปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไปเอง

“ชาวบ้านไม่ได้โกรธผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือ หมอ เพราะเชื่อว่าอาจเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่บางคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก็ต้องออกมาชี้แจงกับชาวบ้าน แต่ไม่เคยมาพบหรือโทรมาหาญาติเลย มีแต่ส่งตัวแทนมาร่วมงานศพเท่านั้น ชาวบ้านไม่มีใครอยากมีปัญหากับหมอหรือพยาบาล เพราะเจ็บป่วยเราก็ต้องไปพึ่งพาหมอทุกคน แค่เราอยากให้ออกมาชี้แจงและหาคนรับผิดชอบ” จันทร กล่าว

สำหรับกรณีของ กิ๊ป ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ บ้านบางกลอย หมู่ 1 อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตเมื่อ 24 พ.ค. 2566 ด้วยวัย 44 ปี จากโรคไข้เลือดออก แต่ก่อนหน้านี้ที่เธอจะเสียชีวิต เธอเคยมาใช้บริการที่โรงพยาบาลแก่งกระจาน เมื่อ 22 พ.ค. 2566 แต่ถูกปฏิเสธการตรวจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ รพ. เผยว่า หมดเวลาเจาะเลือด

แต่เมื่อมาที่ รพ.แก่งกระจานอีกครั้ง ในวันที่ 23 พ.ค. 2566 แพทย์แจ้งว่า อาการของกิ๊ป หนักแล้ว และต้องส่งตัวไปที่โรงพยาบาลจังหวัด ก่อนที่จะถูกส่งตัวเข้า ห้อง ICU ทันที เนื่องจากแพทย์วินิจฉัย เป็นโรคไข้เลือดออก และมีภาวะแทรกซ้อน ต่อมาช่วงเย็นของ 24 พ.ค. 2566 ทางโรงพยาบาลจังหวัดแจ้งว่ากิ๊ป เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก

หลังจากที่กิ๊ป เสียชีวิต ทางภาคประชาชนได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี เพื่อเรียกร้องให้ทาง สธ. รับผิดชอบ และให้ความเป็นธรรมกับกิ๊ป ต้นน้ำเพชร เรียกร้องให้ทาง สปสช. เยียวยาครอบครัวกิ๊ป ตามมาตรา 41 

นอกจากนี้ ภาคประชาชนยังเรียกร้องให้มีการวางแนวทางปฏิบัติการรักษาชาวชาติพันธุ์ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตอย่างจริงจัง ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะประชาชนมีชาติพันธุ์ใดก็ตาม โดยวางอยู่บนหลักคนเท่ากัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net