Skip to main content
sharethis

‘บางกลอยคืนถิ่น’ ยื่นหนังสือถึง ทส. เร่งตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่ายแก้ปัญหาชุมชนบางกลอย ด้านรองปลัด ทส. รับปากเร่งดำเนินการใน 20 วันทำการ หลังนายกฯ เคยลงนามรับรองตั้งคณะทำงานฯ เมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ผ่านไป 3 เดือน ยังไร้ความคืบหน้า

 

26 ก.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "ภาคีSaveบางกลอย" โพสต์ข้อความวันนี้ (26 ก.ค.) บางกลอยคืนถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เข้ายื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้เร่งรัดแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่ประสงค์กลับไปทำกินแบบไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามรับรองแนวทางตามมติของคณะกรรมการอิสระ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2566 แต่ ทส.ยังไม่ดำเนินการ โดยมี ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัด ทส. เป็นผู้รับหนังสือแทน

นอกจากนี้ หลังจากการยื่นหนังสือบริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรฯ รองปลัด ทส. และ ฤทธิชัย พูลพนัง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เชิญชาวบ้านบางกลอย เข้าร่วมหารือ เพื่อหาทางออก

ข้อเรียกร้อง 3 ข้อของบางกลอยคืนถิ่น 

พชร คำชำนาญ สมาชิกภาคี Saveบางกลอย ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับ ทส. ระบุว่า ที่มาที่ไปของการยื่นหนังสือครั้งนี้ เนื่องจากต้องการมาเร่งรัดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาชุมชนบ้างบางกลอย ซึ่งมีการลงนามรับรองมติโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระแก้ไขปัญหาชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2565 และมีมติครั้งสุดท้ายเมื่อช่วงการยุบสภาฯ 

ชญานันท์ ภักดีจิตต์

ส่วนสำคัญของการลงมติครั้งนั้นคือชาวบ้านที่ประสงค์จะกลับขึ้นไปทำกินที่บ้านบางกลอยบน หรือใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเคยทำกินอยู่เดิม คราวนี้มันมีมติว่าให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาแล้ว โดยให้ชาวบ้านสามารถทดลองกลับขึ้นไปทำกินได้ 5 ปี พร้อมกับงานศึกษาวิจัยควบคู่กันไปด้วย เรื่องเกี่ยวกับระบบไร่หมุนเวียน และวิถีชีวิตชาวบ้านอยู่กับป่า โดยมีชาวบ้านประสงค์กลับขึ้นบนใจแผ่นดินประมาณ 37 ครอบครัวเท่านั้น แต่คราวนี้แนวทางคือให้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมา ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการอิสระ ตัวแทนชาวบ้านบางกลอยคืนถิ่น และตัวแทนกระทรวงทรัพย์ฯ แต่ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 ตั้งแต่มีการรับรองตัวรายงานฉบับนี้ กระทรวงทรัพย์ยังไม่ดำเนินการในการตั้ง

นอกจากนี้ พชร ระบุด้วยว่า ทางกระทรวงทรัพย์ หลายครั้งยังมีท่าทีบ่ายเบี่ยงต่อการดำเนินการตามมตินี้ โดยอ้างว่า เป็นมติที่ล้าหลัง หรือคนนอกสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

“เรามองนี่เป็นเรื่องหลักเรื่องแรก ยิ่งมันช้าไป ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจะทวีขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น สถานการณ์ที่ชาวบ้านไม่มีอาหารกิน การที่พวกเขาจะต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วย หรือว่าการไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งมันสร้างหนี้สินให้กับเขา มันก็จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวบ้านยังต้องสู้เรื่องคดีต่อไปด้วย อันแรกคือปฏิบัติตามมติโดยการตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย”

ระหว่างการหารือ รองปลัด ทส. ได้รับปากว่า จะมีการดำเนินการตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ภายใน 20 วันทำการ และอยากให้คณะทำงานฯ ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่บางกลอยล่างด้วย 

ข้อเรียกร้องที่ 2 คือ ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากด่านสกัดแม่มะเร็ว ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คือด่านนี้มันเปิด-ปิด เป็นเวลาโดยปิดประมาณ 18.00 น. ชาวบ้านก็ไม่สามารถเดินทางออกหรือเข้าได้ เช่นการไปโรงพยาบาล เกิดอาการเจ็บป่วยเร่งด่วน ไม่สามารถเดินทางได้ ก็มีข้อเรียกร้องว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะยกเลิกเวลาเปิด-ปิดด่าน หรือหาแนวทางยืดหยุ่นของด่านตัวนี้ชาวบ้านสามารถผ่านได้ 24 ชั่วโมง 

ข้อเรียกร้องที่ 3 คือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ด้วยความที่ชาวบ้านบางกลอยมีที่ดินกินน้อยหรือจำกัด  หรือบางคนไม่มีที่ดินทำกินเลย มันก็ทำกินไม่ได้ การพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญ เขาต้องเข้าป่าเพื่อไปหาปลา หรือเพื่อไปใช้ประโยชน์จากพืชมันถูกจำกัดด้วยกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มันจะว่าด้วยเรื่องของมาตรา 65 ว่าด้วยการสำรวจพื้นที่ที่ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สามารถเกิดขึ้นใหม่ หรือทดแทนได้ 

พชร กล่าวต่อว่า สถานการณ์ตอนนี้มันตึงเครียดมากขึ้น จากปกติชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ตอนนี้ชาวบ้านต้องขออนุญาตจากผู้ใหญ่บ้าน และก็ต้องไปขออนุญาตจากหัวหน้าหน่วยอุทยานในระดับพื้นที่ ซึ่ง 2 ต่อ และต้องให้ชาวบ้านระบุรายละเอียดที่มันยิบย่อยมากเกินไป ส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามันถูกจับตามองเกินไป รวมถึงมีการข่มขู่ด้วยว่า ถ้าไม่ทำหนังสือมา ถ้าเจ้าหน้าที่พบชาวบ้านในพื้นที่ป่า จะถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะเขามีอำนาจตามกฎหมาย

เราเรียกร้องให้มีการสำรวจเรื่องแนวเขต เรื่องการเก็บหาของป่าก่อน เพราะว่ามันมีการสำรวจไปแล้ว แต่ชาวบ้านยืนยันว่าตรงกัน ชาวบ้านไม่เคยมีส่วนร่วมในการสำรวจเลย หมายถึงว่ากรมอุทยานไปสำรวจกันเอง และใกล้จะบังคับใช้แล้ว โดยที่ชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลเลย เรียกร้องให้มีการไปคืนข้อมูลกับชุมชน และก็อันที่สอง อยากให้มีการยืดหยุ่นคือให้ชาวบ้านไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ปกติของเขา ไม่ต้องไปบีบเขา

ไม่นิ่งดูดาย พร้อมติดตามต่อ

พชร กล่าวถึงความรู้สึกหลังหารือกับ ทส. ด้วยว่า ข้อเรียกร้องของบางกลอยคืนถิ่น ยังไม่ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน นอกจากเรื่องการตั้งคณะทำงานภายใน 20 วัน และแม้ว่ารองปลัด ทส. จะรับปากเรื่องตั้งคณะทำงานแล้ว แต่เชื่อว่ายังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

“เราไม่มั่นใจในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วว่าจะปฏิบัติตาม เพราะว่าเหมือนถ้าเราไม่มาติดตาม ไม่มายื่น ว่าไม่มาม็อบ ก็คือแต่ละเรื่องที่เกี่ยวกับบางกลอย มันแก้ปัญหาไปได้ล่าช้ามาก ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่ง 20 วัน คิดว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่คิดว่าอาจจะเป็นไปไม่ได้จริงในเชิงปฏิบัติ ชาวบ้านก็ต้องติดตามต่อไป

สมาชิกภาคีSaveบางกลอย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องด่านแม่มะเร็ว และเรื่องมาตรา 65 ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ เรายังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจน มันไม่ควรเป็นการสำรวจภาพรวมทั่วประเทศ เพราะว่าแต่ละพื้นที่มีวิถีชีวิตแตกต่างกัน ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ก็เป็นคนละชาติพันธุ์ วิถีการใช้ชีวิตในป่าที่แตกต่างกัน บางคนเป็นคนพื้นราบ ก็ใช้วิถีชีวิตหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราไม่เห็นด้วยกับการสำรวจโดยภาพรวม และเราคิดว่าต้องให้มีการสำรวจเป็นแต่ละพื้นที่ไป และสำรวจโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จริงๆ ซึ่งอันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ทาง ทส.โยนให้ไปคุยกันในคณะทำงานฯ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ในทันที 

"เราคิดว่า มันจะเข้าอีหรอบเดิม ก็คือว่าต้องมาตามเรื่องอีกเรื่อย" พชร กล่าว

(กลาง) พชร คำชำนาญ

ยื่นหนังสือ สนง.อันการสูงสุด ยุติดำเนินคดี ชาวบ้าน 28 คน

หลังจากยื่นหนังสือถึงกระทรวง ทส. แล้ว บางกลอยคืนถิ่นจะเดินไปทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ยุติการดำเนินคดีต่อชาวบ้านบางกลอยจำนวน 28 คน ซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2564 หลังกลับขึ้นไปทำกินบางกลอย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019

ทั้งนี้ ชาวบ้านถูกดำเนินคดีจำนวน 3 ข้อหา ประกอบด้วย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ล่าสุดคดีอยู่ในชั้นอัยการ แต่ยังไม่ได้ส่งฟ้องศาล  

พชร ระบุต่อว่า ก่อนหน้านี้ ทางทีมทนายความของชาวบ้านบางกลอยได้มีการส่งหนังสือขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดมาแล้ว 2 ครั้ง โดนอัยการยกคำร้อง 2 ครั้ง ส่งผลให้คดีดำเนินต่อไป วันนี้ชาวบ้านจะไปยื่นที่สำนักงานอัยการอีกครั้ง โดยที่ก็หวังว่าจะได้รับความเมตตา หรือว่าจะได้รับความเป็นธรรมตามที่ตัวเองต้องการ 

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก ภาคีSaveบางกลอย

พชร กล้าวต่อว่า เขาเรียกร้องให้ภาครัฐยุติการดำเนินคดี ด้วยเหตุผล 2 ประการ ได้แก่ เป็นคดีความที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และสร้างภาระงบประมาณ สมาชิกภาคีฯ ระบุต่อว่า การดำเนินคดีต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน และก็เป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอีก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีก มันจึงไม่มีเหตุผลในการดำเนินคดีต่อ 

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับชาวบ้าน พวกเขาไม่ค่อยหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่อยากจะทำให้เต็มที่ และสุดท้ายถ้าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ เราจะไปตามเรื่องต่อ และจะจี้ไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ว่าเราทำจนถึงที่สุดแล้วในระหว่างกระบวนการ

รายละเอียดหนังสือบางกลอยคืนถิ่น ยื่นให้ทาง ทส.

97 ม.1 ต.ห้วยเเม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170
ที่ บก.03/2566

26 กรกฎาคม 2566

เรื่อง    ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตามมติคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย
เรียน    ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สืบเนื่องจากกรณีปัญหาของชุมชนหกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และได้ถูกอพยพโยกย้ายชุมชนจากบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงยุทธการจะนาวศรีในช่วงปี 2553-2554 ซึ่งเป็นต้นเหตุของการขาดที่ดินทำกิน การสูญเสียวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ไม่สามารถทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนได้ กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน จนทำให้ชาวบ้านบางกลอยในนาม ‘บางกลอยคืนถิ่น’ ต้องตัดสินใจต่อสู้ด้วยการกลับขึ้นไปทำกินที่บ้านบางกลอยบนอีกครั้งเมื่อต้นปี 2564 จนถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน

ที่ผ่านมากลุ่มบางกลอยคืนถิ่นได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ รวมถึงปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้าง จนเกิดเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลงนามแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เห็นชอบให้ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิม ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลงนามเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ ชุดดังกล่าว ที่มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย (1) ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน (2) กรรมการอิสระ และ (3) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เป็นแนวทางที่ดีที่สามารถรับรองข้อเรียกร้องในการกลับขึ้นไปทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบนได้

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับรองแนวทางดังกล่าว แต่กลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีท่าทีปฏิเสธแนวทางดังกล่าว อาทิ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช พยายามบ่ายเบี่ยงให้การแก้ไขปัญหาบ้านบางกลอยจำกัดอยู่เพียงบ้านโป่งลึก-บางกลอย กล่าวอ้างว่าไม่จำเป็นต้องผลักดันแนวทางพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ตลอดจนการไม่ยอมรับแนวทางการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาประชาชนตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี

ขณะนี้ชาวบ้านบางกลอยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการดำเนินงานของหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นว่าการขาดความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากความล่าช้าในการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการอิสระฯ และขณะนี้ชุมชนกำลังได้รับผลกระทบจากด่านแม่มะเร็วที่กีดขวางเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกในสถานการณ์เร่งด่วนได้ รวมถึงการดำเนินการสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรในพื้นที่ป่าที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก็ไม่มีความชัดเจน และยังปรากฏว่ามีการบีบบังคับให้ชาวบ้านต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่ป่าจากผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ กระทบต่อวิถีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรตามปรกติธุระ และยังปรากฏว่ามีผลกระทบไปถึงการนำเข้าวัสดุถาวรเข้าไปในพื้นที่บ้านเพื่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้าน ที่ต้องมีการขออนุญาตและตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

พวกเรา ‘บางกลอยคืนถิ่น’ เห็นว่าการดำเนินการของหน่วยงานของท่านกำลังสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก แสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของชาวบ้าน และผลกระทบหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงมีข้อเรียกร้องมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1.    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเร่งด่วน และให้ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการต่อกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นเป็นลายลักษณ์อักษร

2.    ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยกเลิกด่านสกัดแม่มะเร็ว เปิดให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่สามารถเข้า-ออกพื้นที่บ้านของตนเองได้อย่างอิสระ 

3.    ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงผลการดำเนินการสำรวจตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ทั้งเรื่องแนวเขต ทรัพยากรที่อาจเก็บหาได้ รวมถึงรูปแบบการอนุญาตเก็บหาของป่า ซึ่งเรายืนยันว่าต้องไม่กระทบต่อวิถีการทำกินตามปรกติธุระของประชาชน โดยให้กรมอุทยานฯ ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น พร้อมทั้งเข้าไปชี้แจงกับกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นชาวบ้านบางกลอยให้รับทราบโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ บางกลอยคืนถิ่นขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ โดยการจัดทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมายังกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น โดยมีผู้ประสานงานคือ นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข 0622090452 ที่อยู่ 97 ม.1 ต.ห้วยเเม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 76170 พร้อมทั้งเข้าไปชี้แจงความคืบหน้าด้วยตนเองกับกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น หากยังไม่มีความคืบยหน้า บางกลอยคืนถิ่นจะกลับมาติดตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกครั้งภายใน 30 วัน นับจากวันยื่นหนังสือฉบับนี้

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร)
กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น
ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net