Skip to main content
sharethis

ศาลออกหมายคุมตัว 'หยก' เยาวชนอายุ 15 ปี คดี ม.112 ต่ออีก 15 วัน ผู้ไว้วางใจขอเบิกตัวมาศาล แต่ไม่ได้รับอนุญาต เหตุไม่ใช่ผู้ปกครองและเยาวชนมีที่ปรึกษากฎหมาย (ทนาย) แต่หยกยืนยันยังไม่ได้ตั้งใคร ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่อน จม.เปิดผนึกถึง ผบ.ตร. เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวหยกทันที และสอบสวนการล่วงละเมิดทางเพศในวันจับกุมด้วย

 

28 เม.ย. 2566 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (28 เม.ย.) ระบุว่า วานนี้ (27 เม.ย.) ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่ามีการขอยื่นฝากขังอีก 15 วันกับ "หยก" เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกจับตามหมายจับในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความที่ สน.สำราญราษฎร์

ถ่ายโดยแมวส้ม

ในคดีนี้ หยกถูกจับกุมจากกรณีที่เข้าไปไลฟ์สดในบริเวณที่เกิดเหตุศิลปินอิสระพ่นสีข้อความขีดทับเลข 112 บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้ทำการควบคุมตัวหยกไปพร้อมกับศิลปินคนดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะค้นประวัติของเธอและพบว่าเธอมีหมายจับจาก สน.สำราญราษฎร์ ในคดีมาตรา 112 อยู่

ตำรวจ สน.พระราชวัง จึงได้ควบคุมตัวหยกไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยหยกปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น จนกระทั่งในวันถัดมา (29 มี.ค. 2566) เธอถูกควบคุมตัวเพื่อไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเธอได้ปฏิเสธกระบวนการ และไม่ขอมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนไม่ขอเซ็นเอกสารใดๆ และไม่ยื่นขอประกันตัว ทำให้ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัวหยกไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ หรือบ้านปรานี เป็นระยะเวลา 1 ผัด หรือ 30 วัน

ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องต่ออีก 15 วัน แต่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวหยกมาศาล ชี้ผู้ต้องหายังมีที่ปรึกษากฎหมาย แม้หยกยืนยันว่าไม่เคยแต่งตั้งใครมาก่อน พร้อมปรากฏชื่อปริศนาในรายงานกระบวน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในช่องที่ปรึกษากฎหมาย

ในวันนี้ (27 เม.ย. 2566) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีการดำเนินการยื่นขอผัดฟ้องคดีของหยกอีก 15 วัน ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาต

ทั้งนี้ "เก็ท" โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งได้รับมอบให้เป็นผู้ไว้วางใจ ได้เข้ายื่นคำร้องขอเบิกตัวหยก มาศาล แต่ศาลเยาวชนฯ ได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว โดยระบุคำสั่งว่า โสภณ ไม่ใช่ผู้ปกครอง และศาลยังไม่ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองชั่วคราว จึงไม่มีสถานะที่จะมายื่นคำร้องแทนหยก ได้ ผู้ต้องหายังมีที่ปรึกษาทางกฎหมายในวันที่ 29 มี.ค. 2566 และมีผู้ปกครองคือมารดาด้วย ประกอบกับศาลมีคำสั่งให้เบิกตัวทางไกลผ่านจอภาพแล้ว เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 จึงไม่อนุญาต

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (ถ่ายโดยแมวส้ม)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 29 มี.ค. 2566 ศาลได้บันทึกไว้ว่าผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ขอลงลายมือชื่อในใบแต่งที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าว และหยกได้มีความประสงค์ให้มีผู้ไว้วางใจเข้ามาฟังในห้องพิจารณาคดีด้วยเท่านั้น ไม่ได้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายตามที่ศาลได้ระบุในคำสั่งผัดฟ้องดังกล่าว

ทั้งนี้ จึงมีเพียงเก็ท โสภณ ที่ภายหลังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ไว้วางใจของหยก และได้แถลงต่อศาลว่า ตนมาทำหน้าที่ผู้ปกครองชั่วคราว เนื่องจากมารดาของผู้ต้องหาไม่สามารถมาศาลในวันดังกล่าวได้จากอาการเจ็บป่วย 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงต่อศาลว่า ในการจับกุมหยก เป็นการปฏิบัติโดยชอบทางกฎหมายแล้ว และหากมีการผัดฟ้องต่อ จะขออนุญาตให้ไต่สวนคำร้องผ่านจอภาพ และหากศาลจะควบคุม หรือคุมขัง ก็ไม่มีข้อคัดค้าน

นอกจากนี้ ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว หยกได้ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในฐานะผู้ต้องหา แต่ได้ปรากฏลายมือชื่อของบุคคลลงนามในช่องที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งจนถึงวันนี้หยกก็ได้ยืนยันว่า เธอไม่เคยแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีนี้ และในรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ได้ระบุว่ามีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ใด

ผลของคำสั่งศาลเยาวชนฯ ในวันนี้ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-27 เม.ย. 2566 “หยก” เด็กหญิงที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากเหตุขณะอายุ 14 ปี ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม เป็นระยะเวลารวม 30 วันแล้ว และจะยังคงถูกควบคุมตัวต่อไปอีก 15 วันนับจากนี้

'CrCF' ร้อง ผบ.ตร.ปล่อยตัวเยาวชนอายุ 15 ปี

28 เม.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) วันนี้ (28 เม.ย.) โดยทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ธนลภย์ ผลัญชัย หรือหยก เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และเรียกร้องให้ ผบ.ตร.ตรวจสอบเหตุล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในวันที่มีการจับกุมตัวหยก เมื่อ 28 เม.ย. 2566 

สำหรับ ‘หยก’ ธนลภย์ ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จำนวนทั้งสิ้น 2 คดีความ จากการแสดงออกทางการเมือง เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ทีลานเสาชิงช้า โดยมีอานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ 

เมื่อ 29 มี.ค. 2599 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ออกหมายควบคุมตัว หยก เป็นเวลา 1 ผัด หรือ 30 วัน ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม ก่อนที่ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเมื่อ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ศาลเยาวชนฯ ออกหมายควบคุมตัว หยก ต่ออีก 15 วันนับจากวันที่ 27 เม.ย. 

ปัจจุบัน หยก เป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุด โดยขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปี ที่ถูกดำเนินคดีในข้อมาตรา 112 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา  

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก

25 เมษายน 2566

เรื่อง ขอให้ดำเนินการให้มีการปล่อยตัวเด็กหญิงนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง

เรียน ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิฯ ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

สืบเนื่องจากขณะนี้ 'เด็กหญิงหยก' ปัจจุบันอายุ 15 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2566 

เด็กหญิงคนดังกล่าวถูกจับกุมที่ สน.พระราชวัง เมื่อ 28 มีนาคม 2566 จากหมายจับ สน. สำราญราษฎร์ คดีมาตรา 112 จากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อ 13 ตุลาคม 2565 และวันถัดมา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้ออกหมายควบคุมตัวระหว่างสอบสวน (ตามคำร้องขอพนักงานสอบสวน) เป็นเวลา 30 วัน หรือ 1 ผัด ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 27 เมษายน 2566 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (12 กุมภาพันธ์ 2566) มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 แล้ว อย่างต่ำ 18 ราย จากจำนวน 21 คดี

ก่อนช่วงการจับกุมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 หยก เดินทางไปที่ สน.พระราชวังด้วยตนเองเพื่อติดตามการจับกุม 'บังเอิญ' ศิลปินวัย 25 ปี ซึ่งถูกจับกุมจากกรณีพ่นสเปรย์ที่กำแพงวัดพระแก้ว และถูกควบคุมตัวมาที่ สน.พระราชวัง ก่อนหน้านี้ ขณะที่หยกกำลังไลฟ์สดที่หน้าห้องสืบสวน ตำรวจได้เข้าจับกุมเธอโดยอ้างว่าอาจเข้าข่ายการกระทำผิดร่วมกันกับ 'บังเอิญ' ผู้พ่นสเปรย์สีดำที่กำแพงวัดพระแก้ว จากนั้น ตำรวจจึงได้ยึดไอแพด (iPad) ของเธอไปและเข้าควบคุมตัวทันที ก่อนเฟซบุ๊กไลฟ์ดังกล่าวจะถูกตัดสัญญาณการถ่ายทอดไป ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งจึงแจ้งว่า หยก มีหมายจับคดีมาตรา 112 จากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อ 13 ตุลาคม 2565 โดยหมายลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ทั้งที่ทนายความได้แจ้งเหตุขัดข้องเกี่ยวกับการสอบจึงไม่สามารถไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกได้ แต่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ หยกเปิดเผยในภายหลังว่า ระหว่างการถูกจับกุมข้างต้น เธอถูกจากเจ้าหน้าทีตำรวจชุดจับกุม เป็นชายหลายคนล่วงละเมิด โดยได้นั่งทับตัวเธอ ล้วงจับขา และบางคนล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอก เพื่อพยายามยึดเอาไอแพดที่เธอเหน็บไว้ในเสื้อด้านในออกไป จากนั้น ตำรวจได้จับกุมและลากตัวเธอเข้าไปยังห้องสืบสวนของ สน.พระราชวังระหว่างนั้นเธอได้กรีดร้องเสียงดังอยู่นานหลายวินาที เพื่อต้องการขอความช่วยเหลือและต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มนั้นหยุดการกระทำดังกล่าว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เด็กหญิงหยกจึงได้ขอให้ทนายความแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้ร่วมกันจับกุมเธอ รวมทั้งสิ้น 8 นาย ซึ่งได้แก่ พ.ต.ท.เสกสรรค์ ชุ่มแจ่ม, พ.ต.ต.พลาวัส คนกล้า, ร.ต.ท.อนุวัฒน์ แก้วเชื้อ, ร.ต.ท.ธนัท ผดุงสิน, ร.ต.ท.สุเมธ นาคสีหมอก, ส.ต.ท.ชนนันต์ พาทุมโสม, ส.ต.ท.ณัฐพงศ์ สมปันวัง และ ส.ต.ต.ดนัย ศรีสมโภชน์ กับพวกฯ ในความผิดฐานลักทรัพย์ฯ, ข่มขืนใจฯ และทำร้ายร่างกาย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวเธอไปควบคุมไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ เป็นเวลา 1 คืน ก่อนส่งตัวไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 อ้างว่าเพื่อสอบสวนและขอให้หมายศาลฝากขังเธอด้วย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบเด็กหญิงดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียนว่า มีข้อห่วงกังวลต่อการปฏิบัติกับเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติในรูปแบบที่พิเศษแตกต่างจากการดำเนินการต่อกลุ่มคนทั่วไป และคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชนเป็นหลักการสำคัญ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กพึงได้รับ วิธีการจับกุมเด็กหญิงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ในขณะที่เธอไลฟ์สดเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัว "บังเอิญ" ที่ สน.ราชวังซึ่งเธอมิได้กระทำผิดใดๆ แต่ต่อมาจึงอ้างว่าจับกุมตามหมายจับซึ่งออกตามหมายเรียกในคดี 112 เดิม โดยขณะจับกุมก็มิได้แสดงหมายจับดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งยังมีการยึดทรัพย์สินของเธอไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีการใช้ความรุนแรงในการจับกุม กระทั่งล่วงละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายด้วย จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ ยิ่งไปกว่านั้น ในคดีความอาญาของเด็กและเยาวชน กฎหมายบังคับว่าจะต้องมีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี หากไม่มีการแต่งตั้ง การพิจารณาคดีจะดำเนินต่อไปโดยมิชอบ กรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีการออกหมายควบคุมตัวหยกนั้นจึงเป็นที่น่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความไม่เป็นธรรมในกรณีการควบคุมตัวเด็กหญิงคนดังกล่าว และยังห่วงใยต่อสภาพจิตใจของเด็ก ซึ่งขณะนี้ได้ถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลาเกือบ 30 วันแล้ว มูลนิธิฯ จึงเรียนมายังท่านในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเด็กหญิงธรลภย์ ผลัญชัย หรือ 'หยก' ได้โปรดดำเนินการให้ปล่อยตัวเด็กหญิงดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงเรียนมายังท่าน ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจับกุมควบคุมและล่วงละเมิดตัวเด็กหญิงธนลภย์ ผลัญชัย เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม นิติธรรมและสิทธิมนุษยชนและเรียกความเชื่อถือของประชาชนกลับคืนมาด้วยจักขอบคุณยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net