Skip to main content
sharethis

'นิด้าโพล' สำรวจคนสมุทรปราการ 1,100 คน ส่วนใหญ่เลือก 'เพื่อไทย' ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ - 'ซูเปอร์โพล' เปิดผลสำรวจเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ชี้กลุ่มหนุนรัฐบาลความนิยมเพิ่ม ฝ่ายค้านลดลง

2 เม.ย. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนสมุทรปราการ เลือกพรรคไหน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-23 มี.ค. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดสมุทรปราการ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,100 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนจังหวัดสมุทรปราการเลือกพรรคไหน 

การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่คนสมุทรปราการจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.82 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย)

อันดับ 2 ร้อยละ 21.36 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล)

อันดับ 3 ร้อยละ 13.91 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ)

อันดับ 4 ร้อยละ 5.27 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

อันดับ 5 ร้อยละ 5.18 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)

อันดับ 6 ร้อยละ 4.82 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 7 ร้อยละ 4.36 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย)

อันดับ 8 ร้อยละ 2.27 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย)

อันดับ 9 ร้อยละ 2.18 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)

อันดับ 10 ร้อยละ 1.18 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ)

อันดับ 11 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) และร้อยละ 2.65 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ)  

สำหรับพรรคการเมืองที่คนสมุทรปราการจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.64 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 2 ร้อยละ 26.73 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 3 ร้อยละ 11.18 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ 4 ร้อยละ 3.73 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย

อันดับ 5 ร้อยละ 2.91 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ 6 ร้อยละ 2.45 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 7 ร้อยละ 2.09 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย

อันดับ 8 ร้อยละ 1.82 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ 9 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย

อันดับ 10 ร้อยละ 1.27 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 1.63 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคกล้า พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคไทยภักดี และพรรคประชาชาติ   

ส่วนพรรคการเมืองที่คนสมุทรปราการจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 45.82 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 2 ร้อยละ 25.73 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 3 ร้อยละ 11.55 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ 4 ร้อยละ 4.09 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย

อันดับ 5 ร้อยละ 2.55 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 6 ร้อยละ 2.36 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย

อันดับ 7 ร้อยละ 2.18 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ 8 ร้อยละ 1.64 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย

อันดับ 9 ร้อยละ 1.55 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ 10 ร้อยละ 1.18 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 1.35 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคกล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคไทยภักดี พรรคประชาชาติ และพรรคสร้างอนาคตไทย

'ซูเปอร์โพล' เปิดผลสำรวจเลือกตั้ง ครั้งที่ 2 ชี้กลุ่มหนุนรัฐบาลความนิยมเพิ่ม ฝ่ายค้านลดลง

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 (ฉบับเต็ม) กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 53,094,778 คน ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 - 31 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจจุดยืนทางการเมืองของประชาชนระหว่าง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 เป็นร้อยละ 39.1 ในขณะที่กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 29.6 เป็นร้อยละ 24.5 และกลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงคือร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 1 และร้อยละ 36.4 ในการสำรวจครั้งที่ 2

ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง แบ่งออกระหว่างกลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล กับ กลุ่มแฟนคลับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เปรียบเทียบครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 พบว่า ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลรวมกันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.6 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.7 ในครั้งที่ 2 โดยพบว่าเป็นการเทคะแนนมาจากกลุ่มพลังเงียบ

ในขณะที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันลดลงจากร้อยละ 43.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 โดยในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล อันดับหนึ่งได้แก่ พรรคภูมิใจไทยเพิ่มจากร้อยละ 19.1 ในครั้งที่ 1 มาเป็น ร้อยละ 20.5 ในครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์เพิ่มจากร้อยละ 13.4 ในครั้งที่ 1 มาเป็นร้อยละ 14.2 ในครั้งที่ 2 อันดับสามได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ในครั้งที่ 2 อันดับที่สี่ ได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 เป็นต้น

ในขณะที่ ความตั้งใจของประชาชนจะเลือก ส.ส. ในกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรก พรรคเพื่อไทยแต่ลดลงจากร้อยละ 36.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.1 ในการสำรวจครั้งที่ 2 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.9 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในครั้งที่ 2 ส่วนพรรคเสรีรวมไทยยังคงเท่าเดิมคือ ร้อยละ 0.5 ในการสำรวจทั้งสองครั้ง

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ คนที่ประชาชนอยากได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในกลุ่มแฟนคลับของพรรคร่วมรัฐบาล อันดับแรกยังคงเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.0 ในการสำรวจครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.4 ในครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.3 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 16.3 ในการสำรวจครั้งที่ 2 ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 12.2 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 12.9 ในครั้งที่ 2 และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจส่วนของฝั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน พบว่า อันดับแรกยังคงเป็น นางสาว แพทองธาร ชินวัตร แต่สัดส่วนลดลงจากร้อยละ 39.7 ในการสำรวจครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 32.1 ในครั้งที่ 2 ในขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับมีคะแนนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.7 ในครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ในครั้งที่ 2 ตามลำดับ

รายงานผลสำรวจของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญเพราะจะเปลี่ยนไปมาได้โดยง่าย กลุ่มพลังเงียบน่าจะเป็นกลุ่มชี้เป็นชี้ตายชัยชนะผลการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ เพราะหากไปสนับสนุนฝั่งใดฝั่งนั้นน่าจะเป็นฝ่ายที่จะถึงเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยผลการศึกษาของซูเปอร์โพลยังพบด้วยว่าปัจจัยสำคัญทางการเมือง คือ ประชาชนหันมาสนใจติดตามข่าวการเมืองเพิ่มขึ้นรับรู้ผลงานของรัฐบาลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ละคนมากขึ้นเป็นข้อได้เปรียบของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ในขณะที่ข้อเสียเปรียบของพรรคร่วมฝ่ายค้านคือ ฐานเดิมไม่ได้ขยายเพิ่ม กลุ่มสวิงที่เปลี่ยนใจง่ายยังไม่เห็นผลงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านและบางส่วนมองว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net