Skip to main content
sharethis

ก่อนหน้านี้ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีอำนาจนิยมของกัมพูชาเคยโพสต์ในทำนอง เย้ย ทิม พิธา ที่ไม่ผ่านการโหวตลงมติให้เป็นนายกฯ ชิ่งไปด่าใส่ฝ่ายค้านของกัมพูชา แต่ภายหลังมากลับลำว่าไม่ได้มีเจตนาก้าวก่ายการเมืองไทย ส่วนสถานการณ์การเลือกตั้งของกัมพูชาวันที่ 23 ก.ค.นี้ มีแต่คนสิ้นหวังเพราะฮุน เซน จะชนะอีกตามเคย เพราะรัฐบาลอำนาจนิยมฮุนเซนทำลายคู่แข่งหมด-ใช้วิธีข่มขู่คุกคามให้คนเลือกพวกเขา

ในการเลือกตั้งกัมพูชาที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้ มีพรรคเล็กๆ รวม 17 พรรคที่ลงทะเบียนแข่งเลือกตั้งกับพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันนำโดยฮุน เซน แต่สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในกัมพูชาก็ทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคของฮุน เซน จะแพ้

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชาได้ลงทุนลงแรงทำไปหลายอย่างในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อให้ตัวเองไม่มีทางแพ้การเลือกตั้ง ด้วยการบ่อนทำลายและบีบคั้นฝ่ายค้านทางการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอ่อนแอลง วิธีการนี้ทำให้ในการเลือกตั้งระดับประเทศที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ฮุน เซน รู้ดีว่าเขาแทบจะไม่มีทางแพ้

ขบวนการฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชาที่เหลืออยู่เป็นกลุ่มสุดท้ายก็เพิ่งจะถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงแข่งขันทางการเมือง เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ฮุน เซน ยังไล่ล่าถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้ต่อต้านที่เหลืออยู่เพื่อปิดปากคนวิจารณ์ซึ่งยังมีอยู่ไม่มากนักในประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชายังทำการตามล่านักกิจกรรมกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในไทยและพยายามส่งตัวกลับประเทศกัมพูชาเพื่อไปลงโทษ เพียงเพราะพวกเขาเป็นฝ่ายค้าน นี่ก็เป็นหนึ่งในความพยายามกวาดล้างศัตรูทางการเมืองโดยรัฐบาลอำนาจนิยมฮุน เซน เช่นกัน

มีกรณีของ Thol Samnang นักกิจกรรมจากพรรคฝ่ายค้านพรรคเพลิงเทียนที่มีคนนอกเครื่องแบบจับตัวเขา ในตอนที่เขากำลังเดินทางไปที่สำนักงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ UNHCR เหตุเกิดเมื่อช่วงรุ่งสางของวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในกระแสที่ทางการไทยทำการจับกุมนักกิจกรรมที่หลบหนีมาจากต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทย แม่ของ Samnang กลัวว่าทางการไทยจะส่งตัวเขากลับไปรับโทษที่กัมพูชา

Samnang วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีฮุน เซน และพรรครัฐบาลผ่านทางเฟซบุ๊กในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้าที่เขาจะหนีออกจากกัมพูชา เขาลี้ภัยออกจากกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. หลังจากที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเดินทางไปที่บ้านของเขาเพื่อจับกุมตัวโดยไม่มีหมายจับ

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ ฮุน เซน ยังได้อ้างเหตุการณ์ในไทยเพื่อกล่าวกระทบถึงผู้ลี้ภัยการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทยด้วย โดยที่ ฮุน เซน ระบุในเชิง "เย้ย" เหตุการณ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในไทย ที่ พิม พิธา ผู้แทนพรรคเสียงข้างมากไม่ได้รับคะแนนเสียงมากพอที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ เพราะ ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของอดีตรัฐบาลเผด็จการทำการโหวตงดออกเสียง

ฮุน เซน ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็น "ความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง" สำหรับกลุ่มนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งสื่อตั้งข้อสังเกตว่าเขาน่าจะหมายถึง สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ถูกเล่นงานโดยรัฐบาลซึ่งลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2558

ฮุน เซน อ้างว่าถ้าหาก "พิธากลายเป็นนายกรัฐมนตรีไทย พวกเขา(กลุ่มต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา) จะอาศัยพื้นที่ของไทยในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา"

แต่ต่อมาหลังจากเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ฮุน เซน ก็ทำการลบโพสต์ทวิตเตอร์ และหันมาระบุว่าเขา "เคารพในการตัดสินใจของประชาชนชาวไทย" และ "จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของไทย" รวมถึงยังระบุอีกว่าเขา "พร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้นำไทยไม่ว่าจะเป็นใครหรือพรรคใดก็ตาม"

การเลือกตั้งภายใต้ความกลัว

ผลพวงจากการปราบปรามและคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนักเช่นนี้ ทำให้ประชาธิปไตยของกัมพูชาอยู่ในบรรยากาศที่น่าหวาดกลัวแทนที่จะเป็นการสะท้อนเจตจำนงของประชาชน กลายเป็นการทำให้หลักการประชาธิปไตยกลับหัวกลับหาง ผู้คนที่มีสิทธิเลือกตั้งในกัมพูชาระบุว่า ในตอนนี้พวกเขากลัวว่าถ้าไม่ลงคะแนนให้กับ ฮุน เซน รัฐบาลก็อาจจะเล่นงานพวกเขา

ผู้ที่ใช้นามสมมุติว่า Phally บอกว่าเธอกลัวว่าจะถูกเช็กชื่อเพราะกลัวว่าพรรครัฐบาล CPP จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แล้วก็กลัวว่ารัฐบาลจะรู้ถ้าหากเธอไม่ได้โหวตให้พวกเขา

Sophal Ear รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนานักวิเคราะห์เรื่องการเมืองกัมพูชากล่าวว่า การเลือกตั้งของกัมพูชากลายเป็นเครื่องมือในการกดขี่ข่มเหง พวกเขาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยความรู้สึกราวกับมีปืนจ่อหัวอยู่ ทำให้ประชาชนชาวกัมพูชาไม่มีได้มีทางเลือกอย่างแท้จริงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แล้วก็ไม่มีใครแสร้งมองว่ามันเป็นการเลือกตั้งอย่างแท้จริง

ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีพรรคการเมืองเล็กๆ 17 พรรค ลงแข่งกับพรรค CPP ด้วย แต่การตัดสิทธิพรรคเพลิงเทียนว่าขาดคุณสมบัติในการลงเลือกตั้ง ทำให้กัมพูชาสูญเสียพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดียวที่น่าเชื่อถือไป และน่าจะทำให้พรรค CPP ชนะลอยลำอย่างไม่มีคู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ของกัมพูชา

พรรคเพลิงเทียนเป็นพรรคที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติของสม รังสี โดยคำสั่งศาลเมื่อปี 2560 โดยที่ก่อนหน้านั้น 4 ปี พรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชามีคะแนนเสียงเกือบจะสามารถเอาชนะพรรค CPP ของฮุน เซน ได้สำเร็จ

ฮุน เซน ผู้นำกัมพูชาชั่วชีวิต

ฮุน เซน เป็นผู้นำอำนาจนิยมตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานถึง 38 ปีแล้ว ถือว่ามากกว่าผู้นำอำนาจนิยมตัวบุคคลรายอื่นๆ อย่าง โรเบิร์ต มูกาเบ ของซิมบับเว และ มุมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย ทำให้เขาใกล้กลายเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานที่สุดที่ยังคงมีชีวิตอยู่ มันเป็นสิ่งที่ ฮุน เซน พูดถึงอย่างภาคภูมิใจ

แต่ถึงแม้ว่า ฮุน เซน จะทำให้ฝ่ายค้านทางการเมืองหมดสภาพไปทุกส่วนแล้ว แต่เขาก็ยังหวาดระแวง อ้างว่ามีพวกหัวรุนแรงที่ได้รับการหนุนหลังโดยชาติตะวันตกพยายามจะโค่นล้มเขา

ฮุน เซน ได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2528 โดยผู้สนับสนุนทางการเมืองและการทหารในเวียดนามที่เข้าแทรกแซงกิจการของกัมพูชามาก่อนหน้านั้น 6 ปีแล้ว เพื่อขจัด พล พต ผู้นำรัฐบาลเขมรแดงที่เป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์สุดโต่ง ตัว ฮุน เซน เองเคยเป็นรองผู้บัญชาการกองพันกองหนึ่งของเขมรแดงเช่นกัน ก่อนที่จะแปรพักตร์ไปเข้ากับเวียดนามในตอนที่เขมรแดงสังหาร บังคับใช้แรงงานหนัก และสร้างความอดอยากให้กับประชาชนราว 2 ล้านคนในกัมพูชา

ในช่วงที่สหประชาชาติเข้ามาครอบงำรัฐบาลกัมพูชาชั่วคราวในฐานะส่วนหนึ่งของแผนการสันติภาพเมื่อปี 2535 เพื่อยุติสงครามกลางเมือง ฮุน เซน ก็ยังคงเอาตัวรอดเก่งโดยยังรักษาอำนาจไว้ได้ แม้ว่าจะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ ฮุน เซน แพ้การเลือกตั้ง คือการจัดเลือกตั้งตามแผนการสันติภาพของยูเอ็นในปี 2536 แต่หลังจากนั้น ฮุน เซน ก็ไม่ยอมให้ตัวเองแพ้การเลือกตั้งอีกเลย

ฮุน เซน เริ่มใช้วิธีแสวงหาความจงรักภักดีจากกองทัพในประเทศ ในขณะเดียวกันก็กอบโกยความมั่งคั่งและอำนาจให้กับครอบครัวตัวเอง นอกจากนี้ยังได้ออกกฎหมายในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับเขาเองเพื่อใช้ในการปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์และทำลายคู่แข่งทางการเมือง การที่เขาทำให้เศรษฐกิจกัมพูชามีการเติบโตขึ้นอย่างคงที่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เขาเป็นผู้นำมาอย่างยาวนานได้

Kim Sok นักวิเคราะห์การเมืองที่ลี้ภัยออกจากประเทศกัมพูชาเมื่อปี 2561 ในขณะที่เผชิญคดีหมิ่นประมาทบอกว่า ฮุน เซน มักจะใช้วิธีด่าว่าและแขวนประจานคนวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่วิจารณ์เขา มีคนจำนวนมากที่ไม่สนับสนุน ฮุน เซน และต้องการความเป็นธรรม แต่การข่มขู่คุกคามประชาชนของ ฮุน เซน ก็ส่งผลให้มีคนลงคะแนนให้เขาเพราะจำใจทำไปด้วยความกลัวแม้จะไม่ชอบเขาก็ตาม

มีตัวอย่างหนึ่งคือในการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ฮุน เซน ได้เตือนผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เขาว่า มีทางเลือกอยู่สองทางคือต้องเผชิญคดีในศาลหรือถูกซ้อม จากที่มีนักวิจารณ์กล่าวหาว่าพรรคของ ฮุน เซน โกงคะแนนการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้กรรมการพิจารณาเนื้อหาของเมตา ซึ่งเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก ทำการสั่งระงับบัญชีของ ฮุน เซน เป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากเขาทำการยุยงให้ใช้ความรุนแรง

ฮุน เซน โต้ตอบด้วยการลบบัญชีเฟซบุ๊กทิ้ง และกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาก็ทำการบรรจุรายชื่อของคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหาของเมตาทั้ง 22 คน ลงบัญชีดำ ระบุว่าเป็น "บุคคลไม่พึงประสงค์" และปิดกั้นไม่ให้เข้าประเทศกัมพูชา อ้างว่ากรรมการเมตาแทรกแซงกิจการภายในกัมพูชา

นีล ลอกห์ลิน นักวิจัยเรื่องโครงสร้างการเมืองกัมพูชาจากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอนระบุว่า ถึงแม้ ฮุน เซน จะใช้มาตรการกลั่นแกล้ง คุกคาม และปิดกั้น มากขนาดนี้ แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคเพลิงเทียนที่ถูกตัดสิทธิ์ก็ยังได้รับคะแนนโหวตมากกว่าร้อยละ 20

ลอกห์ลินเคยระบุไว้ในงานวิจัยของตัวเองว่า ฮุน เซน ใช้วิธีการสร้างอำนาจผ่านทางความสัมพันธ์กับหน่วยงานความมั่นคงของชาติทั้งโดยส่วนตัวและโดยทางการเมือง แล้วใช้มันในการสร้างบรรยากาศของความจงรักภักดีและปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างเหี้ยมโหด ฮุน เซน ใช้วิธีการนี้มาหลายทศวรรษจนกลายเป็นปัจจัยหลักของระบอบอำนาจนิยมในกัมพูชา

 

เรียบเรียงจาก


Fear and voting in Cambodia’s one-horse election race, Aljazeera, 15-07-2023

Hun Sen deletes Twitter post linking Thai election to Cambodian opposition, Benar News, 14-07-2023

Cambodian activist’s mother pleads with Thai authorities not to deport son, Radio Free Asia, 10-07-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net