Skip to main content
sharethis

 

  • หลักการสันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาต้องใช้กับทุกคดีรวมไปถึงคดีความผิดทางการเมืองแม้ว่าจะเป็นการกระทำซ้ำเดิมเหมือนคดีก่อนหน้า
  • การใช้เหตุผลว่ากระทำความผิดซ้ำแล้วไม่ให้ประกันตัวของศาลในกรณีความผิดทางการเมืองไม่ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะไม่ให้ประกันตัวตามกฎหมาย เพราะการอ้างเหตุอันตรายต้องก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงเช่น ทำร้ายร่างกาย ฆาตกรรม หรือก่อการร้าย
  • ICCPR ไม่มีผลต่อการตัดสินของศาลไทยโดยตรง แต่การบังคับใช้กฎหมายของศาลก็ควรจะต้องคิดถึงหลักสากลด้วย

    ตั้งแต่เริ่มมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองทั้งบนท้องถนนและในสื่อออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา แต่การชุมนุมทางการเมืองก็ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลงจนกระทั่งรัฐใช้มาตรการต่างๆ ทั้งความรุนแรงทางกายภาพเช่นการใช้กำลังตำรวจเข้าปราบอย่างเป็นล่ำเป็นซำตลอดปลายปี 2563-2564 จนถึงการใช้กระบวนการยุติธรรมมาดำเนินคดีมากกว่าพันคดี

    แม้คดีจำนวนมากจะยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่มาตรการหนึ่งที่ศาลนำมาใช้กับนักกิจกรรมและประชาชนเหล่านี้คือการจะให้หรือไม่ให้สิทธิประกันตัวขึ้นกับดุลพินิจของศาลอย่างมากจนถูกตั้งคำถามว่าเหตุผลที่ศาลใช้อ้างว่าจะไม่ให้ประกันตัวนั้นสมเหตุสมผลตามกฎหมายแล้วหรือไม่ หรือแม้ต่อให้ประชาชนเหล่านี้จะได้ประกันศาลก็ยังตั้งเงื่อนไขให้เป็นภาระอย่างหนักเสมือนตัดสินไปแล้วว่าการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นผิดกฎหมายไปแล้ว รวมถึงการเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวหลักแสนหลักล้านอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ 

    ประชาไทสัมภาษณ์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในเรื่องความสำคัญของสิทธิประกันตัวของผู้กระทำความผิด สิทธิ ICCPR กับกฏหมายไทย และแนวทางการอุดช่องว่างของการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวตัดสินของศาลในการตัดสินการปล่อยชั่วคราว

    สาวตรี สุขศรี แฟ้มภาพ

    ผู้ต้องหาต้องได้รับ ‘การสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์’ ทุกคดีแม้จะทำผิดซ้ำในคดีเดิมก็ตาม

    สาวตรี กล่าวว่า เหตุผลที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาควรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกันตัวแบ่งเหตุผลเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

    1.หลักการ Presumption of innocence หรือหลักการที่ต้องสันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาจะปฏิบัติเหมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ เป็นหลักการที่ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29

    แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาถูกกล่าวหาในข้อกล่าวหาเดิมที่เคยผ่านการตัดสินไปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็จะยังได้รับสิทธิตามหลักสันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์ในทุกคดี

    “หลักการทางกฏหมายแยกคดี แยกกรณี ดังนั้นแม้ผู้ถูกกล่าวหาครั้งใหม่จะเคยถูกตัดสินความผิดในฐานนี้มาแล้ว นั่นก็ไม่ใช่เครื่องการันตีหรือยืนยันอัตโนมัติว่าการถูกกล่าวหาครั้งที่ 2 เขาจะมีความผิดซ้ำอีก หรือเขาจะทำผิดแบบเดิมอีก เขาอาจจะถูกกลั่นแกล้ง ฉะนั่นหลักการสันนิษฐานว่าบุคคลต้องบริสุทธิ์ หรือ presumtion of innocence ยังคงใช้ได้ทุกกรณีไม่ว่าคุณจะทำความผิดมากี่ครั้งแล้วก็ตาม”

    2.เจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีข้อยกเว้นว่ารัฐสามารถควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหรือผู้ต้องหาไว้ในระหว่างการพิจารณาได้ โดยใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา (ป.วิ.อ.) 108/1 ที่มีข้อยกเว้น 5 ประการ คือ

    (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

    (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

    (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

    (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

    คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผลและต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย และผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

    ถ้าศาลมีเหตุผลเหล่านี้ก็สามารถที่จะควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าปฏิเสธการให้ประกันตัว แต่การควบคุมตัวผู้ต้องหาจะต้องมีเหตุผลอยู่ในข้อยกเว้น 5 ประการข้างต้น เช่น เพื่อสอบสวนหรือแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยาน ป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ชุมชน เป็นต้น ไม่มีข้อยกเว้นหรือเหตุผลอื่นที่อยู่นอกเหนือข้อยกเว้นข้างต้น

    “ดังนั้นการที่ศาลจะมาอ้างว่าคุณเคยทำผิดแล้วมาทำผิดซ้ำอีกจึงไม่ให้ประกันตัว อันนี้ไม่ชอบด้วยหลักการปล่อยชั่วคราวด้วยประการทั้งปวง” สาวตรีกล่าว

    การปล่อยตัวชั่วคราวในคดีที่มีการใช้ความรุนแรงกับคดีทางการเมืองขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายของศาล

    รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวอีกว่า ป.วิ.อ. มาตรา 108/1 (3) ‘ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปเหตุอันตรายประการอื่น’ มีแนวคิดและเจตนารมณ์มาจากเรื่องการป้องกันอันตรายต่อชุมชน ดังนั้นจะมุ่งไปที่การกระทำผิดที่ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นอาชญากรรมที่มีการใช้ความรุนแรง เช่น ฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ก่อการร้าย หรือสิ่งที่กระทบต่อสังคมในลักษณะของความปลอดภัย เป็นต้น

    สาวตรียกตัวอย่างว่า มีผู้ต้องหาคนหนึ่งมีประวัติทำผิดในกรณีคดีฆาตกรรมเคยถูกพิพากษาและพ้นโทษออกมาแล้วถูกกล่าวหาซ้ำอีก กรณีนี้ตนคิดว่าศาลก็อาจจะใช้เหตุผลวงเล็บ 3 อ้างใช้เพื่อปฏิเสธการให้ประกันตัว โดยอาจบอกว่าผู้ต้องหาคนนี้มีประวัติเคยก่อคดีฆาตกรรม การปล่อยตัวบุคคลนี้ไปชั่วคราวในคดีใหม่ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกัน บุคคลนี้อาจจะไปก่อเหตุอันตรายก็ได้

    ซึ่งมีความแตกต่างจากคดีทางการเมืองที่เป็นการแสดงออกโดยใช้วาจา การแสดงความคิดเห็น หรือการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่ไม่ใช่การก่อความรุนแรงในสังคม ที่มีลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินของคนในชุมชน

    “ถ้อยคำนี้เราก็ตีความไปหลากหลาย คำว่าก่อเหตุอันตรายประการอื่นจริง ๆ แล้วมันควรต้องตีความให้ชัดเจนว่าวงเล็บนี้ (108/1 วงเล็บ 3) มีแนวคิดมากจากเรื่องการป้องกันอันตรายต่อชุมชน ดังนั้นเขาจะมุ่งไปที่การกระทำผิดที่ถูกกล่าวหาจะต้องเป็นอาชญากรรมที่มีการใช้ความรุนแรง อาจจะเป็นฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ก่อการร้าย หรืออะไรที่มันกระทบต่อสังคมในละกษณะของความปลอดภัย เช่น การใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิด"

    ICCPR ไม่มีผลโดยตรงต่อศาลไทย

    International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

    รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวถึงกติการะหว่างประเทศฉบับนี้ว่า ICCPR เป็นกติการะหว่างประเทศที่ไม่มีผลโดยตรงต่อกฎหมายภายในประเทศที่ลงนามรับรอง มีเพียงพันธกรณีบางอย่างที่ต้องปฏิบัติตาม การลงนามในสัญญาเป็นการแสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ว่าจะไม่ดำเนินการขัดกับสัญญาที่ร่วมลงนาม โดยทุก ๆ 5 ปีจะมีการส่งรายงานสถานการณ์จากภาครัฐและรายงานเงา (Shadow reports) ที่มาจากภาคประชาสังคมควบคู่กันและภาครัฐจะต้องไปชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์การสหประชาชาติหรือ UN ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

    ในการชี้แจงต่อยูเอ็น ถ้าหากประเทศนั้น มีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับ ICCPR ประเทศนั้นก็จะถูกตั้งข้อกังวล และให้คำแนะนำหรือตักเตือน ซึ่งเป็นมาตรการขั้นสูงสุดที่ยูเอ็นจะทำได้ อย่างในกรณีของประเทศไทยที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักหน่วงโดยการใช้มาตรา 112 อย่างมากที่สุดก็ทำได้เพียงมีรายงานไปถึงยูเอ็นว่ามีการใช้มาตรา 112 ละเมิดสิทธิประชาชน แล้วทาง UN จะตั้งข้อสังเกตและตักเตือนหรือแนะนำว่าควรแก้ไขกฎหมายนี้

    สาวตรีชี้ว่า ถ้าจะเกิดกรณีเพิกถอนวีซ่าหรือคว่ำบาตรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น ทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น อย่างกรณีของประเทศไทยตนมองว่าในสายตาของ UN ยังคงมองว่าไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นต้องคว่ำบาตร UN อาจจะมองว่าเป็นอำนาจอธิปไตยของไทย UN จะไม่เข้ามายุ่ง อย่างเต็มที่ประเทศไทยจะถูกตั้งข้อกังวลและแนะนำเป็นพิเศษ

    “องค์กรพวกนี้จะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงระบบกฎหมายไทย หรือว่ามาสั่งให้องค์กรภายในทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันทำไม่ได้ อำนาจมันไม่ได้มีขนาดนั้น เพราะว่าทุกรัฐมีอำนาจอธิปไตยในทางกฎหมาย อำนาจอธิปไตยในทางดินแดนเป็นของตนเอง การที่เขาไปลงนามก็แค่เขาบอกว่า เอาล่ะฉันจะทำตามแนวทางสากลก็แล้วกัน แต่สุดท้ายประเทศเหล่านั้นจะทำตามจริงหรือเปล่า มันไม่มีสภาพบังคับที่เป็นทางการ หรือมีบทลงโทษ”

    นอกจากนี้สาวตรียังกล่าวอีกว่าไม่ว่าจะเป็นสัญญาระหว่างประเทศใดฉบับ ๆ ล้วนใช้หลักการเดียวกับ ICCPR ที่เป็นแค่แนวทางในการปฏิบัติแต่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

    ICCPR จะมีผลก็ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติแก้กฎหมาย

    รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์อธิบายว่าเมื่อลงนามในสัญญาแล้วในทางอุดมการณ์ตุลาการจะต้องพยายามใช้และตีความกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับ ICCPR มากที่สุด แต่ตุลาการจะไม่รับกติกาของ ICCPR มาใช้โดยตรง ซึ่งรูปแบบนี้จะสอดคล้องกับทฤษฎีทางกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อว่าทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ที่ตุลาการจะใช้กฎหมายภายในประเทศตัดสินคดีความต่าง ๆ โดยไม่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศหรือกติการะหว่างประเทศโดยตรง แต่กติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยไปลงนามจะถูกนำใช้ได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติไปรับหลักการมาแล้วมาแก้กฎหมายภายในของไทย ซึ่งตุลาการไม่ใช่ฝ่ายที่บัญญัติกฎหมายแต่เป็นฝ่ายที่ใช้กฎหมาย ถ้ากฎหมายที่ตุลาการใช้ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือถูกแก้ไข ตุลาการก็จะใช้กฎหมายไปตามเดิมโดยไม่รับกฎหมายหรือกติการะหว่างประเทศมาใช้

    “เราจะสามารถอ้าง ICCPR กับศาลได้หรือไม่ สามารถอ้างได้ แต่ถามว่าศาลจะรับไหม ปกติที่ผ่านมาเขา(ศาล) ก็จะไม่รับ เขาจะบอกว่านั่นคือกฎหมายระหว่างประเทศ คุณอยู่ในประเทศนี้ก็ต้องใช้กฎหมายไทย ศาลตุลาการไทยมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายไทย จะถามว่าผิดหลักการระหว่างประเทศไหม มันก็ไม่ผิดเสียทีเดียวเพราะว่าทฤษฎีทวินิยมแบบนี้หลาย ๆ ประเทศก็ใช้”

    ขณะเดียวกันสาวตรีก็ให้ข้อคิดเห็นว่าในมุมมองของนักประชาธิปไตยหรือนักวิชาการที่เห็นว่าต้องคำนึงถึงการลงนามในสัญญา พวกเขาจะแนะนำว่าตุลาการไทยควรจะพยายามตีความและใช้กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับ ICCPR มากขึ้น

    “ไม่ได้บังคับหรอกว่าคุณ (ตุลาการ) ต้องหยิบ ICCPR มาใช้โดยตรง เพราะมันไม่ใช่หลักการทวินิยม แต่ว่าเวลาคุณบังคับใช้ เวลาคุณตีความ คุณก็น่าจะทำให้มันสอดคล้องกับหลักสากลให้มากขึ้น เพราะว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลก แต่เป็นประเทศที่ต้องอยู่ในโลกสากล”

    ‘สำนักงานปล่อยตัวชั่วคราว’ อาจทำให้การตัดสินคดีทางการเมืองของศาลไทยมีมาตรฐานมากขึ้น

    สาวตรีเสนอแนวทางในการอุดช่องว่างของการใช้ดุลยพินิจส่วนตัวตัดสินของศาลในการตัดสินปล่อยชั่วคราวว่า โดยยกตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสที่มีสำนักงานปล่อยตัวชั่วคราว สหรัฐฯ ที่มีศูนย์การปล่อยตัวชั่วคราวของแต่ละมลรัฐ หรือเยอรมนีที่มีสำนักงานอาชญวิทยาแห่งสหพันธรัฐ เป็นต้น โดยสำนักงานเหล่านี้จะรับเรื่องขอประกันตัว มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเป็นผู้สืบเสาะประวัติข้อมูลของผู้ถูกกล่าวหา เช่น ที่อยู่ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น เพื่อนำไปให้ศาลดูประกอบในการพิจารณาในการปล่อยตัวชั่วคราวว่าผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสเท่าใดที่จะกลับเข้ามารับการพิจารณาคดี

    เธออธิบายว่าปกติการที่ศาลจะสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องสืบเสาะประวัติเหล่านี้ก่อน ไม่ใช่ดูแค่ความหนักเบาของข้อหา ต่อให้เป็นข้อหาหนักแต่ถ้าผู้ถูกกล่าหาไม่เคยมีประวัติในการหลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งสามารถติดตามตัวได้ ปกติศาลจะให้ประกัน โดยกฎหมายของไทยระบุไว้แต่ศาลไม่ค่อยนำมาใช้ ศาลจะดูแค่ข้อหาอะไร แน่นอนว่าถ้าเป็นความผิดทางการเมืองศาลก็จะไม่ค่อยให้ประกัน

    “คือศาลเราจะไม่ค่อยใช้ข้อมูลในเรื่องของการสืบเสาะประวัติเท่าไร แล้วดุลยพินิจก็อยู่ที่ศาลทั้งหมด อาจารย์ก็เลยบอกว่าถ้าเกิดเราใช้โมเดลของต่างประเทศ ที่ศาลผู้ชี้ขาดตัดสินคดีไม่เป็นคนมาดูตรงนี้ (การปล่อยตัวชั่วคราว) แต่จะมีสำนักงานที่เขาจะดู แล้วเขาก็จะเอาประวัติพวกนี้มาช่วยพิจารณาร่วมกับศาลก็ได้ มันอาจจะเป็นธรรมมากขึ้น เป็นมาตรฐานขึ้น”

    ทั้งนี้รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวว่าแนวทางข้างต้นที่กล่าวไปเป็นแนวทางที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด แต่การจะจัดตั้งองค์กรเช่นนี้ขึ้นจะต้องมีการเรียกร้องจากภาคประชาชนและการแก้ไขกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net