Skip to main content
sharethis

เปิดทุกประเด็นว่าด้วยกรณียุบหรือไม่พรรคไทยรักษาชาติ วิญญัติชี้ กกต. กำลังใช้พรราชโองการเป็นเครื่องมือทางการเมือง สมชัยระบุ กกต. แสดงความใจกล้าเดินเรื่องรวดเร็ว แต่ต้องกล้ายอมรับผลที่จะตามมาด้วย สาวตรียืนยัน พระราชโองการเป็นพระราชดำริส่วนพระองค์เท่านั้นไม่ใช่กฎหมายและไม่มีผลทางกฎหมาย คำตัดสินศาลจะเผยให้เห็นว่ายึดมั่นในระบอบการปกครองแบบใด สุณัยย้ำ การยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องอำเภอใจ และกระบวนการเลือกตั้งของไทยจะถูกตั้งคำถามจากนานาชาติ

6 มี.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 เวลา 13.00 น. สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ กับหลักนิติธรรม และสิทธิทางการเมือง” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี, วิญญัติ ชาติมนตรี สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ และ สุณัย ผาสุข Human Rights Watch ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

วิญญัติชี้ กกต. กำลังใช้พระราชโองการเป็นเครื่องมือทางการเมือง

วิญญัติ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ตามหลักนิติธรรม จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แม้ประเทศไทยจะมีการยอมรับในหลักการนี้แต่ก็พบว่ามีความล้มเหลวในทางปฏิบัติ โดยตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ กรณีการยื่นคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ กับกรณีการยื่นคำร้องยุบพรรคพลังประชารัฐ

วิญญัติ ขยายความต่อไปว่า กรณีทั้งสองนี้มีทั้งความเหมือนและความต่าง ความเหมือนคือ คำร้องทั้งสองกรณีเห็นว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 และทั้งสองกรณีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้รับเรื่อง ทว่าความเหมือนนี้กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

วิญญัติ กล่าวต่อไปว่า ความแตกต่างระหว่างสองกรณีแบ่งได้ 2 เรื่องคือ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อมีสถานะแตกต่างกัน ในส่วนของพรรคไทยรักษาชาติผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นสมาชิกของราชวงศ์ ส่วนผู้ที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งทั้งสองสถานะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

“ในส่วนไทยรักษาชาติ ผู้ที่ถูกเสนอคือ สมาชิกในราชวงศ์ ก่อนที่จะมีพระราชโองการออกมา ทางพรรคและผู้ถูกเสนอชื่อเข้าใจอย่างสุจริตว่าสามารถเสนอชื่อได้ แต่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ คนที่ถูกเสนอชื่อคือ ผู้ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศ คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมองอย่างง่ายๆ ก็เข้าใจได้อยู่แล้วว่า การยึดอำนาจเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือเป็นกบฏ  เป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบ ฉะนั้นทั้งสองสถานะจึงต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่สิ่งที่ กกต. กำลังทำให้เห็นคือ การเลือกปฏิบัติ” วิญญัติ กล่าว

วิญญัติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตั้งข้อสังเกตได้จากกรณีการยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติและการยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐ คือการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ซึ่งกำลังทำให้เกิดมาตรฐานที่แตกต่างกันอย่างน่ากังวล โดยสิ่งแรกที่ กกต. ทำให้เห็นคือการใช้อำนาจในการพิจารณายื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติเองตั้งแต่ต้น แม้ในกฎหมายจะระบุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้รวบรวมบัญชีพยานหลักฐานก่อน จากนั้นจึงจะเสนอความเห็นให้ กกต. ทั้งหมดพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น กกต. จึงจะลงมติว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ที่สำคัญ กกต. ใช้เวลาพิจารณากรณีไทยรักษาชาติเพียงวันเดียวโดยอ้างว่ามีหลักฐานครบถ้วนแล้ว เพราะมีพระราชโองการออกมาจึงไม่ต้องรวบรวมอะไรอีกแล้ว แต่สิ่งที่ กกต. ไม่ได้ทำคือ กระบวนการในการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกร้องทราบข้อเท็จจริงหรือข้อกล่าวหา และไม่ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสให้ถ้อยคำกับ กกต. เรื่องนี้กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 43 (พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ซึ่งเป็นการกระทำในลักษณะที่ส่อว่าข้ามขั้นตอน” วิญญัติ กล่าว

พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง

มาตรา 43  ภายใต้บังคับมาตรา 41 วรรคสาม และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ในการไต่สวน กรรมการหรือเจ้าพนักงานต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานโดยสรุป

ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะให้ถ้อยคําหรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กรรมการหรือเจ้าพนักงานกําหนด และมีสิทธิที่จะให้ทนายความหรือบุคคลซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการไต่สวนได้

ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคําหรือแสดงพยานหลักฐานภายในเวลาที่กําหนด ให้กรรมการหรือเจ้าพนักงานมีอํานาจดําเนินการไต่สวนต่อไปได้

ในการแจ้งตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานจะแจ้งโดยวิธีปิดหมาย หรือส่ง ณ ภูมิลําเนาหรือที่อยู่ ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร หรือแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด และเมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว

ในการสืบสวนหรือไต่สวน เจ้าพนักงานอาจจัดให้มีการบันทึกภาพหรือเสียงของผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานด้วยก็ได้

วิญญัติ ชี้ให้เห็นต่อไปถึงกรณีตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับการดำเนินการยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ คือการยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2553 สองกรณี กรณีแรกพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่ารับเงิน และนำเงินไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ กรณีที่สองถูกกล่าวหาว่าไม่ทำรายการค่าใช้จ่ายที่ได้รับเงินจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งสองกรณีนี้ กกต. ยื่นเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญตีตก เนื่องจากเห็นว่า กกต.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งจะต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานก่อน มีกระบวนการไต่สวน และเสนอความเห็นต่อ กกต. โดยเห็นว่าการกระทำในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วิญญัติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ กกต.ทำต่อไปคือการนำพระราชโองการมาตีความ โดยกล่าวหาว่าการเสนอชื่อแคนดิเดต นายกของพรรคไทยรักษาชาติเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินความจำเป็น เขาชี้ให้เห็นต่อไปว่าการจะยุบพรรคการเมืองได้ไม่ใช่เพียงมองเห็นแค่ว่า มีลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย แล้วจะสามารถยื่นยุบได้ทันที แต่จะต้องมีการรวบรวมองค์ประกอบของการกระทำที่มีความร้ายแรงต่อระบอบการปกครองของประเทศ หรือกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่นกระทบในเรื่องเขตแดนหรือมีการใช้กำลัง หรือมีความพยายามเข้าล้มล้างกฎหมาย ฉะนั้นการกระทำที่เป็นเพียงการเสนอชื่อนั้นจึงไม่น่าจะเข้าข่ายของการเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นการกระทำตามกฎหมาย ซึ่งผู้เสนอชื่อและผู้ถูกเสนอชื่อเข้าใจโดยสุจริตว่าสามารถทำได้ ขณะที่พระราชโองการได้ระบุถึงความไม่เหมาะสมในภายหลัง อย่างไรก็ตามคำว่า “ไม่เหมาะ” ไม่ใช่กฎหมาย

“การกระทำของ กกต. นั้นนอกจากท่านจะข้ามขั้นตอน ท่านยังใช้พระราชโองการมาเป็นเครื่องมือทำลายพรรคการเมืองอีกด้วย” วิญญัติ กล่าว

วิญญัติ กล่าวต่อไปถึงกรณีที่ตนเองได้ไปยื่นคำร้องให้ กกต. พิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐในข้อกล่าวเดียวกันกับที่มีการยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ สิ่งที่พบคือ กกต.ออกมาพูดว่าเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานก่อน เพราะตอนนี้มีแต่คำร้องจากผู้ร้องเท่านั้น เขายืนยันว่าในวันที่ยื่นคำร้องต่อ กกต. นั้น เขาได้ยื่นหลักฐานเป็นเอกสาร 100 กว่าหน้าเพื่อประกอบการพิจารณาไปด้วย

“พรรคพลังประชารัฐก็เป็นพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันสำคัญทางการเมือง ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคอื่นๆ ถือเป็นสิ่งสะท้อนแนวคิดของประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง หลักการการมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทำไมผมจึงยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐ ผมอยากจะบอกว่า ก่อนจะยื่นเรื่องผมรอดูพรรคพลังประชารัฐอยู่หลายเดือน ไม่ใช่ว่าไทยรักษาชาติโดนแล้วผมไปยื่นแก้เกี้ยวหรือแก้แค้น คนละเรื่องกัน แต่ผมรอการกระทำที่ก่อให้เกิดผลชัดเจนในทางที่เป็นปฎิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” วิญญัติ กล่าว

วิญญัติ กล่าวต่อไปว่า พฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นส่อแสดงให้เห็นว่ากระทำการครอบงำพรรคการเมืองตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคการเมือง มาจนถึงขั้นตอนของการดึงอดีต ส.ส.มาร่วมงานกับพรรค รวมทั้งมีการใช้นโยบายของรัฐและตำแหน่งหน้าที่ของตนไปในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง เขาระบุด้วยว่าประเด็นสำคัญที่จะยื่นคำร้องต่อไปคือ กรณีความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหนังสือ กกต. ที่ตอบกลับพรรคพลังประชารัฐเรื่องพล.อ.ประยุทธ์ สามารถขึ้นปราศรัยหรือรณรงค์หาเสียงได้หรือไม่นั้น ออกมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 เป็นการรับรองสถานะความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์อย่างชัดเจน โดย กกต. บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์สามารถหาเสียงได้ ไม่มีข้อห้าม แต่จะต้องไม่เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายในการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมือง ซึ่งนี่คือ การยอมรับโดย กกต.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือ เจ้าหน้าที่รัฐ

“กกต. จะหลับหูหลับตาอยู่อย่างไรว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่คนยึดอำนาจ หาก กกต. รับรอง พล.อ.ประยุทธ์ (ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ) โดยการตีตกคำร้องของผม และบอกว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย นี่คือความเลวร้ายของประเทศไทย เป็นการตอกย้ำสิ่งที่เป็นมาในอดีตว่า ถึงวันนี้ประเทศไทยไม่ได้ไปไหนเลยโดยเฉพาะระบบกฎหมายที่จะยอมรับอำนาจจากเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ....

หาก กกต. วินิจฉัยคำร้องที่ผมยื่นหรือที่คนอื่นๆ ยื่นแล้วมีมติว่ากระทำต่างๆ ในคำร้องไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย กกต.กำลังจะแสดงออกว่า การยึดอำนาจเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย และกำลังจะวางบรรทัดฐานนี้ต่อไปในอนาคตอีก เพราะวิธีการที่พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจและตั้งตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์คือการทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นของเล่น” วิญญัติ กล่าว

สมชัยเผย กกต. เร่งรัดกรณีไทยรักษาชาติ ถือว่าใจกล้า แต่ต้องกล้ายอมรับผลที่จะตามมาด้วย

สมชัย เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า โดยปกติแล้วกระบวนการทำงานของ กกต.จะใช้วิธีการประชุมเพื่อลงมติ แต่ในยุคที่ตนเองทำงานอยู่นั้น การลงมติเป็นวิธีการที่ใช้น้อยมากเนื่องจากจะเป็นการพูดคุยร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่คณะกรรมการจะประชุมร่วมกันนั้น จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการทำหน้าที่หาข้อมูล ข้อเท็จจริง โดยจะเรียกว่าอนุกรรมการไต่สวน เมื่อมีข้อมูลเพียงพอแล้วก็จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งทำความเห็นเบื้องต้นก่อนให้ กกต. ตัดสิน เรียกว่าอนุกรรมการวินิจฉัย

สมชัย กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการทั้งสองส่วนนั้นจะเป็นหลักประกันว่า เรื่องราวต่างๆ ได้ผ่านกระบวนการคิด ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาในการทำงาน บางกรณีอาจจะใช้เวลา 15 วัน 30 วัน หรือในบางกรณีอาจจะมีความจำเป็นต้องต่อเวลาการทำงานออกไปมากกว่า 30 วัน ซึ่งเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้องเรียนได้มีโอกาสเข้าให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ การเสียเวลาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

สมชัย ขยายความให้เห็นถึงการทำงานของ กกต. โดยใช้กระบวนการตั้งคณะอนุกรรมการว่า สามารถทำได้สองแนวทางคือ 1.ใช้คณะอนุกรรมการแบบระบบเวียน โดยปกติแล้ว กกต. จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการไว้อยู่แล้วหลายชุด เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาก็จะมีการใช้การเวียนลำดับคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาเรื่องการเลือกปฏิบัติ ส่วนแนวทางที่ 2.ใช้การตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะขึ้นมาทำหน้าที่ โดยแนวทางนี้จะใช้เฉพาะกับเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถที่จะมองเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้อย่างรอบด้าน และครบถ้วน แต่จะต้องได้รับมติเห็นชอบจาก กกต. ในการมอบอำนาจ

สมชัย กล่าวถึงการดำเนินการของ กกต. ในกรณีพรรคไทยรักษาชาติว่า เป็นการดำเนินการที่เร็วแต่สามารถมองได้ 2 นัย คือ 1. กกต.อาจจะมองว่าเรื่องนี้มีพยานหลักฐานชัดเจน จนกระทั่ง กกต.สามารถที่จะวินิจฉัยได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือคณะอนุกรรมการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อ กกต.เลือกที่จะดำเนินการตามแนวทางนี้ กกต.ต้องพร้อมที่จะรับผิด เช่น อาจจะเป็นการดำเนินการที่ขาดความรอบคอบหรือก่อให้เกิดความเสียหาย หรือนัยที่ 2. กกต.อาจจะเห็นว่าเรื่องราวดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อที่จะทำให้เกิดผลดีที่สุดต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์กันว่า กรณียุบพรรคไทยรักษาชาตินั้นสามารถแบ่งออกไปได้ 3 สถานการณ์ คือ 1.ตัดสินยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง 2.ตัดสินยุบพรรคระหว่างรอการประกาศผลการเลือกตั้ง และ 3.ตัดสินยุบพรรคหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

เขาขยายความต่อไปว่า ในกรณีที่มีการตัดสินยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง จะมีคำตอบที่ชัดเจนว่า หมายเลขผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติทั้งหมดหากมีการกาลงคะแนนไปจะกลายเป็นบัตรเสีย ทุกอย่างจะจบโดยไม่มีคำถามใดๆ และจะเป็นการตัดสิทธิผู้สมัครทั้งหมดทันที แต่ในกรณีที่สองคือ มีคำตัดสินออกมาหลังการเลือกตั้ง แต่อยู่ในช่วงรอการประกาศผล ในกรณีนี้ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรกับคะแนนเสียงที่พรรคไทยรักษาชาติได้รับจากการเลือกตั้ง จะต้องเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ทุกอย่างยังไม่มีความชัดเจน ส่วนในกรณีที่สามคือ มีคำตัดสินออกมาหลังจากมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว และพรรคไทยรักษาชาติได้รับที่นั่งในสภามี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีนี้กติกามีความชัดเจนว่าผู้สมัครสามารถย้ายพรรคได้ภายใน 60 วัน สถานะความเป็น ส.ส.ก็ยังคงอยู่ แต่สิ่งที่จะพบต่อไปคือ ความไม่นิ่งทางการเมืองว่า ส.ส.ที่เข้ามาในโควต้าของพรรคไทยรักษาชาติจะย้ายไปเข้ากับขั้วการเมืองใด

“ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญฟังคำวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งก็ตรงกับช่วงเวลาที่ 1 ที่ผมพูดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทุกฝ่ายจบและชัดเจนที่สุด ดังนั้นในเรื่องของกระบวนการดังกล่าวหากให้วิจารณ์ก็คือ ผมมองว่า กกต.ไม่ได้ใช้แนวทางเดิมของตนเองที่เคยทำ ไม่ได้ใช้แนวทางที่เซฟต่อตัวเอง ไม่ใช้ทางเลือกที่ตัวเองปลอดภัย แต่ กกต.กล้าเสี่ยงใช้ทางเลือกซึ่งตนเองอาจจะไม่ปลอดภัยได้ ต้องชม กกต.ว่าใจกล้ามาก แต่ผลจากความใจกล้า จะเกิดอะไรขึ้นกับ 7 คนนี้ผมไม่รู้ จะต้องมีข้าวผัดโอเลี้ยงไปเยี่ยมหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการเลือกแนวทางที่จะทำให้กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติดำเนินไปอย่างเร็วที่สุด ดูจะเป็นแนวทางที่ดูดีที่สุดต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่ผลของการตัดสินใจของ กกต.นั้นเหมาะสมหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด และผลของการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะสามารถทำให้เกิดสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้สังคมยอมรับได้หรือไม่ ประเด็นนี้ไม่สามารถก้าวล่วงได้

สาวตรีระบุ พระราชโองการ 8 ก.พ. ไม่ใช่กฎหมายตามระบบกฎหมายไทย และระบอบประชาธิปไตย

สาวตรี เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงคำถามที่หลายคนให้ความสนใจคือ เรื่องของสถานภาพของพระราชโองการ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ว่าที่สุดแล้วมีสถานภาพอย่างไร และอย่างน้อยที่สุดเวลานี้เราได้เห็น กกต. เป็นองค์กรแรกที่อ้างอิง หรือน้อมนำพระราชโองการมาใช้ในการวินิจฉัยกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ และได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่กำลังเป็นคำถามต่อมาคือ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการอ้างอิงไปถึงพระราชโองการหรือไม่ หากมีการอ้าง จะอ้างในสถานภาพใด เป็นกฎหมาย หรือมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

สาวตรี กล่าวว่า กรณีนี้สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.พระราชโองการเมื่อวันที่ 8 ก.พ.มีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ และ 2.หากพระราชโองการไม่ใช่กฎหมาย แต่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายได้หรือไม่ เธอกล่าวย้ำว่า สิ่งที่กำลังจะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องหลักการพื้นฐานเท่านั้น และไม่ใช่เรื่องยากต่อการทำความเข้าใจ แต่บริบทของสังคมไทยอาจจะทำให้นักกฎหมายหลายคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พูดถึงลำบาก อย่างไรก็ตามในเชิงหลักการเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถพูดถึงได้

สาวตรี ระบุว่าการจะทำความเข้าใจว่า พระราชโองการมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาในสองเรื่องคือ ระบบกฎหมายที่ประเทศไทยใช้อยู่เป็นระบบใด และประเทศไทยมีการปกครองในระบอบใด

เธอ อธิบายต่อไปว่า ไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil Law) โดยมีหลายประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายในลักษณะนี้ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใช้ระบบกฎหมาย Civil Law เช่นกัน หลักการของระบบกฎหมายนี้มีหัวใจสำคัญคือ อะไรที่จะเป็นกฎหมายต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของใคร ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลในอดีต แต่ต้องมีกระบวนการที่ทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร

สาวตรี กล่าวต่อไปว่า การจะพิจารณาว่าอะไรคือ กฎหมายสามารถพิจารณาได้ในเชิงเนื้อหาคือ จะต้องเป็นสิ่งที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการกำหนดกฎระเบียบ ข้อห้าม ข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป เป็นการใช้บังคับกับประชาชนทั่วไปอย่างไม่เฉพาะเจาะจงกับใคร นอกจากนี้ยังสามารถพิจารณาได้ในเชิงรูปแบของการออกกฎหมายคือ ผู้ที่ออกกฎหมายได้จะต้องเป็นองค์กรที่ชอบธรรมในทางระบอบการปกครอง จึงจะมีอำนาจในการออกกฎหมายได้ นอกจากนี้กระบวนการออกกฎหมายก็ต้องเป็นกระบวนการที่ระบุไว้ตามกฎหมายด้วย เช่น ประเทศไทยกำหนดให้กระบวนการออกกฎหมายต้องมาจากกระบวนการนิติบัญญัติโดยรัฐสภา หลังจากนั้นก็จะมีการทูลเกล้าเสนอต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยมีผู้รับสนอง จากนั้นก็จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

สาวตรี ระบุว่า ระบบกฎหมาย Civil Law จะแตกต่างจากระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) เช่นที่ใช้ใน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ความแตกต่างคือ แม้ประเทศเหล่านี้จะมีกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร แต่ว่าบ่อเกิดแห่งกฎหมายของระบบนี้จะมาจากที่อื่นด้วย เช่น คำพิพากษาของศาลที่มีการวินิจฉัยไว้ในอดีตซึ่งมีการให้เหตุผลที่ดี และยึดถือกันเป็นบรรทัดฐานต่อมาในปัจจุบัน ซึ่งคำพิพากษาในลักษณะนี้ถือเป็นกฎหมายได้ด้วย แต่ในระบบ Civil Law ต่อให้คำพิพากษาในอดีตจะดีเพียงใดก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นกฎหมายได้ ทำได้เพียงใช้ตีความกฎหมายเท่านั้น

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากระบบกฎหมายแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ ระบอบการปกครอง เนื่องจากจะได้ทราบว่า องค์กรใดคือ ผู้มีอำนาจโดยชอบธรรมในการออกกฎหมายบังคับใช้

เธอ กล่าวต่อไปว่า หากประเทศใดปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่มีอำนาจอธิปไตยโดยชอบธรรมคือประชาชน และการออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชนโดยทั่วไป จะต้องทำโดยประชาชนด้วยกันเองโดยผ่านระบบตัวแทน หรือผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่หากประเทศใดปกครองด้วยระบอบเผด็จการ อำนาจอธิปไตยไม่ได้อยู่ที่ประชาชนแต่อยู่ที่ผู้นำเผด็จการ ฉะนั้นผู้นำเผด็จการจะออกคำสั่งอะไรมาก็ตามหรือจะพูดอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นถือว่าเป็นกฎหมายได้หมด เพราะอำนาจอยู่ที่ตัวผู้นำเผด็จการ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจประชาชนจะคิดอย่างไร แต่ถ้าประเทศไหนที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็จะแตกต่างออกไป เพราะในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจทั้งหมดจะอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ และจะทรงดำริอะไรออกมาก็ถือเป็นกฎหมายทันที เพราะองค์พระมหากษัตริย์ถือเป็นบ่อเกิดแห่งกฎหมายตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สาวตรี ชี้ว่า ระบอบการปกครองของประเทศไทย หลายคนอาจจะชัดเจนบ้าง ไม่ชัดเจนบ้างว่ามีการปกครองในระบอบใดกันแน่ แต่หากดูตามรัฐธรรมนูญจะพบว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมาตรา 3 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนั้นแทนประชาชนผ่านองค์กรหลักของประเทศ คือ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ แต่การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจด้วยตัวพระองค์เอง

“เมื่อเรานำหลักการเรื่องระบบกฎหมาย (Civil Law) และระบอบการปกครอง (ประชาธิปไตย) มาวิเคราะห์ก็จะเห็นได้ว่า พระราชโองการเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 ไม่ได้มีการกระทำผ่านองค์กรหลักของประเทศ 3 องค์กร ไม่มีผู้รับสนอง และไม่มีลักษณะของกระบวนการนิติบัญญัติใดๆ ที่จะบัญญัติเสนอขึ้นไปเพื่อเสนอให้ท่านทรงลงพระปรมาภิไธย และทูลเกล้ากลับลงมา ฉะนั้นลักษณะแบบนี้ก็ชัดเจนว่า พระราชโองการไม่ใช่กฎหมายตามระบอบกฎหมายไทย และตามระบอบการปกครองของประเทศไทย” สาวตรี กล่าว

พระราชโองการจะมีผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตัดสินศรัทธาในระบอบการปกครองแบบใด

สาวตรี อธิบายต่อไปเพื่อที่จะตอบคำถามข้อที่ 2 ว่า เมื่อพระราชโองการไม่ได้มีสถานะเป็นกฎหมายแล้ว สามารถมีผลผูกพันทางกฎหมายได้หรือไม่ สามารถวิเคราะห์ได้ 2 ประเด็นคือ 1.รูปแบบของพระราชโองการ และ 2.เนื้อหาของพระราชโองการ

เธอ อธิบายว่า ในเชิงรูปแบบสำหรับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยปกติแล้วองค์พระมหากษัตริย์จะทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันเพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์เข้ามารับผิดชอบต่อสิ่งที่ท่านทรงทำ และประชาชนหรือองค์กรใดก็ตามไม่สามารถที่จะดำเนินการฟ้องร้องต่อพระมหากษัตริย์ได้ แต่การที่พระมหากษัตริย์ทรงมีเอกสิทธิ์คุ้มกันดังกล่าวได้ตามระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจะต้องกันพระองค์ออกมาจากการเมืองก่อน เพื่อไม่ให้การกระทำใดๆ ของพระองค์เป็นการกระทำของพระองค์เอง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดไว้ในมาตรา 3 ว่าพระองค์ท่านทรงใช้อำนาจแทนประชาชน ท่านไม่ได้ใช้เองแต่ใช้ผ่านองค์กร 3 องค์กร และผู้รับผิดชอบก็จะเป็นผู้ลงนามรับสนองในแต่ละองค์กร ซึ่งนี่คือการสร้างเอกสิทธิ์และหลักประกันให้พระมหากษัตริย์ ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“ท่านไม่ได้อยู่ในสถานะที่ต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะกิจการการเมืองต่างๆ ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยลงมา ผู้รับผิดชอบย่อมไม่ใช่พระมหากษัตริย์ ผู้รับผิดชอบคือผู้รับสนอง ที่สุดแล้วสิ่งนี้คือหลักการ The king can do no wrong ที่เรารู้จักซึ่งก็คือการที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรโดยพระองค์เอง ประเด็นนี้จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศอื่นๆ หลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดไม่ได้มีนัยเพียงว่า ไม่ต้องรับผิดเพราะพระองค์ไม่ได้ทำอะไรโดยพระองค์เองเท่านั้น แต่นัยมันลึกไปกว่านั้น เพราะหลักการในหลายๆ ประเทศไม่ได้มีเพียงหลักการ The king can do no wrong แต่มีหลักการที่เราเรียกว่า The king can do nothing ด้วย” สาวตรี กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เคร่งครัด จะจัดวางบทบาทของพระมหากษัตริย์ไว้ว่า ไม่สามารถทำอะไรหรือไม่พึงทำอะไรได้โดยพระองค์เองได้ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง

สาวตรี กล่าวต่อไปถึงรัฐธรรมนูญไทยว่า มาตรา 3 กำหนดชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจแทนประชาชนผ่าน 3 องค์กร ซึ่งท่านไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อการกระทำนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกิจการการเมือง ในขณะเดียวกัน มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งนี่คือหลักการ The king can do no wrong นั่นเอง

“ฉะนั้นเมื่อพิจารณาในเชิงรูปแบบโดยใช้หลักการทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จริงๆ แล้วพระมหากษัตริย์ท่านไม่ได้ทำกิจการบ้านเมือง ท่านไม่ได้ออกกฎหมาย ท่านไม่ได้ใช้อำนาจในทางบริหาร ไม่ได้ใช้อำนาจทางศาล ไม่ได้ทำกิจการบ้านเมืองในฐานะประมุขของรัฐที่ใช้อำนาจแทนประชาชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 ตามรัฐธรรมนูญ และในพระราชโองการก็ไม่ปรากฎว่ามีผู้รับสนองด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นเราก็ต้องพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นการกระทำส่วนพระองค์เอง คำถามที่จะตามต่อจากนี้คือการกระทำส่วนพระองค์เองจะมีผลในทางกฎหมายได้หรือไม่” สาวตรี กล่าว

สาวตรี อธิบายต่อไปว่า การกระทำส่วนพระองค์เองนั้นจะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาต่อไป เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญ ในหมวดพระมหากษัตริย์ จะพบว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะใช้โดยพระองค์เองในบางกรณี เช่น การแต่งตั้งหรือถอดถอนองคมนตรี การแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการในพระองค์ เป็นต้น แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะสามารถแต่งตั้งถอดถอนองคมนตรีได้ด้วยพระองค์เอง แต่การแต่งตั้งและถอดถอนจะต้องมีผู้ลงนามรับสนองเสมอ ขณะที่การแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์กรณีนี้เป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ตามกฎหมายเฉพาะคือ พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบข้าราชการและบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติว่า พระองค์จะทรงให้ใครรับสนองหรือไม่ก็ได้ กรณีนี้คือการระบุว่า พระราชโองการแต่งตั้งถอดถอนข้าราชการในพระองค์ แม้จะไม่มีผู้รับสนองก็ย่อมมีผลในทางกฎหมายต่อบุคคลที่พระราชโองการระบุถึงซึ่งข้าราชการในพระองค์

สาวตรี กล่าวต่อไปว่า หากพิจารณาที่รัฐธรรมนูญหมวด 8 คณะรัฐมนตรี ในหมวดนี้มีการบัญญัติกล่าวถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการดำเนินกิจการบ้านเมืองอื่นๆ เช่น การพระราชทานอภัยโทษ การประกาศสงครามซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก แต่ในมาตรา 182 ระบุว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ

“จะเห็นได้ว่าในทางรูปแบบ พระราชโองการไม่ได้มีผู้รับสนอง และในทางเนื้อหาก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้าราชการในพระองค์ ดังนั้นกรณีนี้จึงไม่มีผลในทางกฎหมาย หรือผูกพันองค์กรใดในทางรัฐธรรมนูญ” สาวตรี กล่าว

สาวตรี กล่าวต่อไปถึงประเด็นรายละเอียดของเนื้อหาพระราชโองการ ซึ่งพบว่า พระราชโองการมีสาระสำคัญอยู่ 2 ย่อหน้า ส่วนแรกมีเนื้อหาที่สื่อว่า การนำสมาชิกในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นการขัดกับโบราณราชประเพณี ส่วนที่สองสื่อถึงทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ว่า พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองได้ ฉะนั้นโดยเนื้อหาเองไม่ใช่การสั่งการให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการทั่วไป และไม่ใช่การสั่งให้แก้ไขสิ่งใดเป็นการเฉพาะด้วย

“โดยเนื้อหาของพระราชโองการเองไม่ใช่การสั่งการให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการทั่วไป และไม่ใช่การสั่งให้แก้ไขสิ่งใดเป็นการเฉพาะด้วย พระราชโองการมีลักษณะคล้ายกับการแสดงความคิดเห็น และเมื่อพิจารณาจากหลักการ รูปแบบ และเนื้อหา โดยส่วนตัวไม่รู้ว่าใช้คำถูกไหม อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระราชดำริส่วนพระองค์ หรือความคิดเห็นส่วนพระองค์ ก็คือการบอกกล่าวว่าพระองค์ทรงคิดเห็นอย่างไรกับการที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” สาวตรี กล่าว

สาวตรี กล่าวต่อไปว่า ในทางหลักการแล้วความเห็นก็คือความเห็น แต่ในทางปฏิบัตินั้นความเห็นของพระมหากษัตริย์กับความเห็นของบุคคลธรรมดามีสถานภาพที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ความสำคัญ ในแง่ของการรับฟัง และในแง่ของการน้อมนำมาปฏิบัติตาม คำถามที่จะต้องเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาศาล ผู้พิพากษา นักวิชาการ และนักกฎหมาย จะน้อมนำพระราชโองการไปปฏิบัติอย่างไร ในฐานะอะไร ย่อมขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองแต่ละคนหรือแต่ละองค์กร

“การจะน้อมนำพระราชโองการไปปฏิบัติอย่างไร ในฐานะอะไร ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่องค์กรหรือบุคคลนั้นๆ ยึดถือเป็นสำคัญ หากศาล ผู้พิพากษา นักวิชาการ นักกฎหมาย ยึดถือในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าคนเหล่านี้ย่อมน้อมนำพระราชโองการไปใช้ในฐานะพระราชดำริส่วนพระองค์ แต่ถ้าศาล ผู้พิพากษา นักวิชาการ นักกฎหมาย มีอุดมการณ์ทางการเมืองในจิตใจเป็นแบบอื่น ยกตัวอย่างเช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สมมตินะคะ ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะน้อมนำพระราชโองการนี้ไปใช้ในฐานะกฎหมาย หรือทำให้มีผลทางกฎหมายบางอย่าง การตอบแบบนี้เราไม่ได้ก้าวล่วง แต่มันสุดที่จะคาดเดาว่านักกฎหมายแต่ละคนเขายึดมั่นในอุดมการณ์อะไร” สาวตรีกล่าว

สาวตรี กล่าวทิ้งท้ายถึงคำพูดของ หยุด แสงอุทัย ซึ่งเป็นนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญกฎหมายหลายด้าน เขียนตำรากฎหมายหลายเล่ม และเป็นที่เคารพของบรรดานักกฎหมายมาโดยตลอด เพื่อเตือนใจใครก็ตามที่คิดจะน้อมนำพระราชโองการฉบับ 8 ก.พ. 2562 ไปใช้ทำอะไรบางอย่าง โดยคำพูดนี้ถูกระบุอยู่ในหนังสือเรื่องอำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย ตีพิมพ์เมื่อปี 2499 แม้ข้อความดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนี้ แต่ก็สามารถเทียบเคียงกันได้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“พระมหากษัตริย์จะทรงกระทำผิดมิได้ก็ต่อเมื่อพระองค์มิได้ทรงทำอะไรด้วยพระองค์เอง แต่ทรงกระทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้รับผิดชอบแทนพระองค์ ฉะนั้นการเอาพระปรมาภิไธยมาพัวพันกับการเมืองแม้ผู้นั้นจะได้กระทำไปโดยความเคารพสักการะ แต่เป็นการทำไปด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยหลักประชาธิปไตย ฉะนั้นการอ้างถึงพระปรมาภิไธยนั้นจะเป็นการละเมิดต่อพระบรมเดชานุภาพที่จะทรงเป็นกลางทางการเมือง เพราะคนหนึ่งอาจจะเห็นว่าดี อีกคนก็อาจจะเห็นว่าไม่ดี” อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย - หยุด แสงอุทัย 2549

ทั้งนี้ สาวตรี ได้กล่าวถึงคำถามที่เกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้ว่า สุดท้ายแล้วในระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์สามารถทำหรือพึงทำอะไรด้วยพระองค์เองได้หรือไม่ และคำถามที่ยากมากขึ้นไปอีกหากมีการกระทำของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นแล้ว หลักการ The king can do no wrong จะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม และเป็นคำถามที่เกินไปกว่าความสามารถที่จะตอบได้ในเวลานี้

สุณัย การยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ตามอำเภอใจ กระบวนการเลือกตั้งของไทยจะถูกตั้งคำถาม

สุณัย เริ่มต้นด้วยการระบุว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการให้โอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ หรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลา 4 -5 ปี แล้วแต่การกำหนดของแต่ละประเทศ ในการเลือกตั้งนั้นตัวแสดงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ พรรคการเมือง ซึ่งประชาชนจะใช้สิทธิ์เลือกพรรคการเมืองที่ตนเองเห็นด้วยให้เข้าไปบริหารประเทศ ดังนั้นหากมองว่า พรรคการเมืองเป็นตัวแทนที่สำคัญ การมีอยู่และการจากไปของพรรคการเมืองจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่จะต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในการอธิบาย ไม่ใช่เป็นการยุบพรรคการเมืองตามอำเภอใจ

สุณัยชี้ว่า การยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น หลายครั้งไม่มีความแน่นอน และไม่มีเสมอหน้ากัน สิ่งที่ต่างชาติกำลังตั้งคำถามกับประเทศไทย คือ การดำเนินการยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ซึ่งจะรวมถึงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้สมัครด้วยนั้นเป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยรักษาชาติคือ ข้อกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีปัจจัยที่หลักนิติรัฐมาสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ในการที่ กกต. ตั้งข้อกล่าวนี้ และในการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นปัจจัยในการแถลงข่าวว่า สิ่งที่ กกต. ยื่นคำร้องมานั้นเพียงพอแล้ว และไม่จำเป็นต้องไต่สวนเพิ่มเติม นี่คือคำถามที่ตั้งขึ้นโดยต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่ร้ายแรง” สุณัย กล่าว

สุณัย ชี้ว่า ตัวข้อกล่าวหานั้น มีเรื่องที่จะต้องพิจารณาอยู่สองประเด็นใหญ่คือ อะไรคือการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์  และทำไมการกระทำนั้นจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการพิจารณาภายในวันเดียว แต่คำถามคือ กกต ทำได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อเรื่องมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรที่จะตระหนักว่าการตัดสินใจที่จะทำให้พรรคการเมืองสูญสิ้นไป และทำให้อนาคตทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคต้องยุติลง และผู้สมัครก็จะถูกตัดสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้งทันที ควรจะมีการเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน เรื่องนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ต่างประเทศตั้งคำถาม

สุณัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต่างประเทศจะตั้งคำถามต่อไปคือ ทำไมกรณีที่ใกล้เคียงกัน และมีความชัดเจนอย่างกรณีโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐ ทำไม กกต. ยังไม่สามารถหาคำตอบได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net