Skip to main content
sharethis

นักเศรษฐศาสตร์มากประสบการณ์เปิดเผยบทวิเคราะห์ตลาดเงินโลกผ่านเว็บไซต์ Business Insider สื่อด้านธุรกิจและการเงินของสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่าค่าเงินหยวนของจีนจะเป็นภัยคุกคามเพียงเล็กน้อยต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะนโยบายด้านการเงินการลงทุนของรัฐบาลจีนและการล็อกดาวน์จาก ‘มาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์’ ทำให้นักลงทุนทยอยถอนทุนออกจากตลาดและศูนย์กลางด้านการเงินของประเทศ

22 เม.ย. 2565 สตีเวน บลิตซ์ (Steven Blitz) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันประจำ TS Lombard บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลก กล่าวกับ Business Insider ว่าจีนมีท่าทีจำใจแบกรับภาระความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจอันใหญ่หลวงที่มาพร้อมกับการเลื่อนสถานะสกุลเงินหยวนให้กลายเป็นสกุลเงินหลักของโลก จากการที่สหรัฐฯ มีคำสั่งระงับการเข้าถึงระบบการเงินของอเมริกันและสั่งอายัดเงินตราต่างประเทศ (foreign currency reserves) ของรัสเซีย

ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าประเทศอื่นๆ จะหันไปหาสกุลเงินแลกเปลี่ยนอื่นแทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับพลังทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีนจึงอาจกล่าวได้ว่าสกุลเงินหยวนจะก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปีอย่างบลิตซ์กลับมองต่างออกไป บลิตซ์กล่าวว่านักลงทุนมีผลสะท้อนเชิงลบต่อนโยบายรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องการควบคุมสิทธิ์เหนือฮ่องกง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ ผลสะท้อนดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ประจักษ์ชัดว่านักลงทุนระมัดระวังอย่างมากว่าเพราะไม่ต้องการตกเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน

“ถ้าทุกคนรักจีนและต้องการถือครองเงินหยวน รวมถึงต้องการถูกยึดโยงเข้ากับระบบการเงินจีน ทำไมพวกเขาทั้งหมดถึงตบเท้าไปที่สิงคโปร์ล่ะ ไม่ใช่แค่ยกเท้าเดินไปนะ แต่ยกเงินลงทุนไปด้วย” บลิตซ์ กล่าว

บลิตซ์กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทบางแห่งย้ายฐานการลงทุนจากฮ่องกงไปที่สิงคโปร์ ขณะเดียวกัน ตลาดเงินในฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น กลับมีมูลค่าทรุดฮวบภายในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ก็เพราะ ‘มาตรการโควิด-19 เป็นศูนย์’ ของรัฐบาลจีนที่บีบบังคับให้เมืองและภูมิภาคต่างๆ ของจีนต้องเข้มงวดอยู่กับการล็อกดาวน์หลายครั้ง

ย้อนกลับไปในปี 2563 จีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงซึ่งมีสถานะเป็นเขตบริหารพิเศษ กฎหมายดังกล่าวทำให้สถานะความเป็นอิสระในการบริหารจัดการตนเองของฮ่องกงนั้นลดลง ทั้งยังทำให้การดำเนินคดีกับผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีฮั่งเส็งของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงก็ร่วงลงไปประมาณร้อยละ 30 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

บลิตซ์กล่าวว่าจีนยังไม่พร้อมที่จะแบกรับภาระความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับการยกสถานะสกุลเงินหยวนให้กลายเป็นสกุลเงินหลักของโลก และบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายก็ดูเหมือนว่ายังไม่พร้อมที่จะปรับราคาสัญญาค้าขายจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาใช้สกุลเงินหยวน นอกจากนี้ บลิตซ์ยังระบุอีกว่าการที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่องนั้นช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น “และจีนจะไม่ยอมเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าว” อีกทั้งการที่บรรษัทข้ามชาติของจีนมีจำนวนไม่มากพอในฐานะผู้เล่นระดับโลกนั้นหมายความว่าประเทศจีนขาดอำนาจในการยัดสกุลเงินหยวนเข้าไปในเศรษฐกิจโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา แวลลี แอดีเยโม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ออกมาแถลงปกป้องสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยระบุว่าเขาคาดหวังว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงเป็นสกุลเงินที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก เพราะสหรัฐฯ มีตลาดทุนที่ลื่นไหล ซับซ้อน ยาวนาน และสำคัญที่สุดในโลก ในวันเดียวกันนั้น ธนาคารกลางของจีนได้ประกาศมาตรการ 23 ข้อเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการขยายสินเชื่อและการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยไซมอน ฮาร์วีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์สกุลเงินแห่ง Monex Europe บริษัทด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศสัญชาติอังกฤษ ระบุว่ามาตรการเหล่านี้ยังไม่ใช่สัญญาณความกังวลที่เข้มข้นที่สุดของรัฐบาลจีน แต่สัญญาณทเหล่านี้บ่งบอกถึงความกังวลด้านการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากของรัฐบาลจีนในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ต่อมา ในวันที่ 19 เม.ย. บลูมเบิร์ก สื่ออเมริกันชื่อดังด้านธุรกิจและการลงทุนระบุว่าค่าเงินหยวนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดในวันดังกล่าวอยู่ที่ 6.4230 ต่อดอลลาร์สหรัฐ บลูมเบิร์กระบุว่าเหตุผลที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 เป็นเพราะนักลงทุนกลัวว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะถึงคราติดขัดอีกครั้งเพราะมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบครั้งใหม่ต่อห่วงโซ่การผลิตของโลก นอกจากนี้ ค่าเงินหยวนยังได้รับแรงกดดันจากผลตอบแทนที่สูงขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่ขัดแย้งกับมาตรการเข้มงวดทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

อนึ่ง รายงานล่าสุดของบลูมเบิร์กเมื่อวานนี้ (21 เม.ย. 2565) ระบุว่าตลาดหุ้นจีนที่ขยายเวลาการเปิดทำการนั้นมีผลไม่น่าพอใจนัก เพราะนักลงทุนกังวลเรื่องมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ของจีน จนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร่วงลงถึงร้อยละ 1.8 ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้และไม่เป็นไปตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนเพิ่งประเทศไปเมื่อต้นสัปดาห์ โดยตลาดหุ้นจีนปิดตลาดวานนี้ต่ำสุดเกือบเทียบเท่ากับการปิดตลาดเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ บลูมเบิร์กยังรายงานเพิ่มเติมว่านับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563-2565 นักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงินลงทุนรวมกว่า 45,000 ล้านหยวน (ประมาณ 236,000 ล้านบาท) ออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งถือเป็นการถอนทุนจำนวนที่สุดในรอบ 2 ปี อีกทั้งบลูมเบิร์กยังคาดการณ์ว่าภายในสิ้นเดือน เม.ย. นี้ จะมีเงินลงทุนได้ออกจากจีนทั้งสิ้นประมาณ 6,000 ล้านหยวน (ประมาณ 31,500 ล้านบาท)

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net