Skip to main content
sharethis

  • ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านจากรัฐกะเรนนีเข้าหารือกับทูตสหรัฐฯ หวังให้ผู้คนในพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างทั่วถึง
  • ไม่กี่วันก่อนที่จะมีการพูดคุยดังกล่าว รัฐบาลไทยส่งถุงยังชีพล็อตแรกจำนวน 4,000 ถุงไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบในพม่า ซึ่งเป็นการประสานงานระหว่างสภากาชาดไทยกับสภากาชาดเมียนมาที่ควบคุมโดยกองทัพพม่า

 

ตัวแทนจากพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพเผด็จการพม่า หารือกับทูตสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งไทยเคยส่งความช่วยเหลือไปให้แต่เป็นการส่งให้กับพื้นที่ใต้ความควบคุมของฝ่ายเผด็จการ จึงหวังว่าทูตสหรัฐฯ จะผลักดันให้มีการช่วยเหลือผู้คนในพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านด้วย

 

U Aung San Myint เลขาธิการใหญ่ของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ได้เข้าพบปะกับ เดเร็ก โชเลต์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อหารือในเรื่องการขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

U Aung San Myint กล่าวว่า "พวกเราได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและทางการทหารในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องความยากลำบากที่กลุ่มผู้พลัดถิ่นจากสงครามต้องเผชิญ ด้วยการอัพเดทข้อมูลสถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้"

 

โชเลต์ ได้เผยแพร่เรื่องนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย X (ทวิตเตอร์) ด้วยว่า "พวกเราได้พบปะหารือกับผู้นำกลุ่มพันธมิตรชาติพันธุ์ 'K3C' ของพม่า เกี่ยวกับเรื่องความพยายามที่ยอดเยี่ยมของพวกเขาในการจัดตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยในพม่า พวกเราพิจารณาไตร่ตรองในเรื่องวิธีการที่ประชาคมโลกจะพัฒนาความช่วยเหลือผู้ที่กำลังขาดแคลนและทำให้ประชาชนชาวพม่ามีอนาคตที่สดใสขึ้น"

 

ในช่วงที่มีการหารือกับทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมเป็นองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAOs) ที่รู้จักกันในชื่อ K3C ที่มาจากการรวมตัวกันของหลายองค์กร ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA), KNPP, แนวร่วมแห่งชาติชีน (CNF), รวมถึงตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เข้าร่วมด้วย

 

U Aung San Myint บอกว่า "พวกเรายังไม่ได้มีข้อตกลงอะไรที่เป็นรูปธรรม พวกเราได้แลกเปลี่ยนข่าวสารสถานการณ์ล่าสุดและวางแผนที่จะหารือกันในเรื่องนี้ต่อไป มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเราที่จะแสดงออกถึงจุดยืนของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราประกาศต่อสาธารณะไปแล้ว"

 

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม CNF, KNPP, KNU, KIA, และ NUG ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันถึงแผนการวัตถุประสงค์แบบคร่าวๆ ซึ่งรวมถึงแผนการโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารแล้วจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตยขึ้นด้วย

 

ในคราวนี้ดูเหมือนว่าทูตสหรัฐฯ จะแสดงการยอมรับ เช่นที่ โชเลต์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในทวิตเตอร์ว่า กลุ่มพันธมิตรองค์กรชาติพันธุ์ K3C มีความพยายามอย่างน่าทึ่งในการที่จะจัดตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยในพม่า

 

ในทางตรงกันข้ามเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านกิจการต่างประเทศในสหรัฐฯ ดูเหมือนจะให้ความสำคัญมากกว่ากับการเป็นพันธมิตรกับไทย และดูจะไม่ค่อยอยากกดดันไทยให้เปิดด่านกับพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกลุ่มติดอาวุธกะเรนนี ที่มีผู้พลัดถิ่นอยู่มากกว่า 800,000 คน ซึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมาก

 

สื่อเบอร์มานิวส์อินเตอร์เนชันแนลระบุว่า จากการที่รัฐบาลไทยเพิ่งจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามแดนจากอำเภอแม่สอดไปยังพื้นที่เขตแดนภายใต้การควบคุมของกองทัพเผด็จการพม่า เช่นนี้ อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่การทูตสหรัฐฯ จะช่วยผลักดันรัฐบาลไทยให้มีการส่งความช่วยเหลือในระดับที่เท่ากันแก่พื้นที่ที่กลุ่ม KNU และกองกำลังติดอาวุธกะเรนนีปกครองอยู่ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

เรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net