Skip to main content
sharethis

รัสเซียประกาศเป็นเจ้าภาพเตรียมจัดการประชุมต้านฟาสซิสต์นานาชาติครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค. นี้ และมีประเทศพันธมิตรของรัสเซียเข้าร่วม โดยในวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลรัสเซียแถลงข่าวจัดการประชุมดังกล่าว เป็นเดียวกับที่กองทัพรัสเซียถล่มอนุสาวรีย์รำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน ขณะที่ยูเนสโก้ (UNESCO) เผยว่ามรดกโลก 7 แห่งในยูเครนกำลังตกอยู่ในอันตราย

9 มี.ค. 2565 เซอร์เก ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย แถลงเมื่อ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่าเป้าหมายของการจัดประชุมดังกล่าว คือ "การรวมความพยายายามของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับอุดมการณ์นาซี และนีโอนาซีที่แสดงออกมาทุกรูปแบบในโลกสมัยใหม่" โดยการประชุมต้านฟาสซิสต์นานาชาติที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงเทคนิคทางการทหารระดับนานาชาติ (International Military-Technical Forum) หรือที่เรียกชื่อย่อว่า ARMY ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. นี้ ทั้งนี้ การประชุม ARMY มีเจ้าภาพหลักคือกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย และจัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 7 โดยจัดครั้งแรกใน พ.ศ.2558

ข่าวการประชุมต้านฟาสซิสต์นานาชาติถูกนำเสนอโดยสื่อพันธมิตรของรัสเซีย เช่น CGTN ของรัฐบาลจีน และสื่อฝ่ายขวาในโลกตะวันตก เช่น The Post Millenial และ Breitbart เป็นต้น นอกจากนี้ รายงานของ The New Arab ยังอ้างว่าประเทศที่ได้รับเชิญ ได้แก่ จีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเอธิโอเปีย ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) จัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี" ยกเว้นอินเดียที่เป็นประเทศ "กึ่งเสรี" ขณะที่ Democracy Index ของ EIU ระบุว่าประเทศเหล่านี้ล้วนเป็น "ระบอบอำนาจนิยม" ยกเว้นเพียงอินเดียที่เป็น "ประชาธิปไตยสมบูรณ์"

เซอร์เก ชอยกู (ขวา) และมินอ่องลาย (ซ้าย) ในปี 2562 (ที่มา: วิกีพีเดีย)
 

ในวันเดียวกับที่แถลงข่าวว่าจะจัดประชุมต้านฟาสซิสต์ รัสเซียกลับถล่มอนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เบบินยาร์ (Babyn Yar) ในกรุงเคียฟของยูเครนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน อนุสรณ์สถานดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สังหารชาวยิวกว่า 33,771 คนโดยน้ำมือของกลุ่มนาซี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำลายอนุสรณ์สถานดังกล่าวคาดว่าเกิดขึ้นจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธนาธิบดียูเครน ทวีตถามประชาคมโลกว่า "จะพูดว่า 'ไม่เอาอีกแล้ว' ไปทำไมตั้ง 80 ปี หากโลกยังคงปิดปาก เมื่อมีการทิ้งระเบิดซ้ำที่เดียวกันในเบบิน ยาร์ มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 5 คนแล้ว ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอย"

 

 

รายงานล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2565 ระบุว่าการรุกรานยูเครนส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,207 คน นับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 และมีผู้ลี้ภัยถูกบังคับให้ต้องทิ้งภูมิลำเนาของตัวเองแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ลี้ภัยไปอยู่ที่โปแลนด์ ขณะที่ 'ระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridor)' ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงผู้อพยพภายใต้ข้อตกลงระหว่างยูเครนและรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จมากนักในมารียูปอล เมืองท่าของยูเครนซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ออกคำสั่งห้ามเรียกการรุกรานยูเครนว่าเป็น "สงคราม" แต่ให้เรียกว่าเป็น "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" แทน โดยอ้างว่าทำเช่นนี้เพื่อ "ล้มล้างระบอบทหาร" "ล้มล้างระบอบนาซี" และ "ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ชาวรัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน และปลดปล่อยยูเครนจากการปกครองของ "แก๊งติดยา" ซึ่งประชาคมโลกมองว่าเหตุผลนี้ยังปราศจากหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ ล่าสุด รัฐบาลรัสเซียยังออกกฎหมายว่าใครเผยแพร่ "ข่าวปลอม" เกี่ยวกับการรุกรานยูเครนในรัสเซียอาจมีโทษสูงสุดจำคุก 15 ปี

กระทรวงกลาโหมของอังกฤษระบุว่าในช่วงหลังมานี้ รัสเซียประโคมข่าวมากขึ้นว่ายูเครนแอบพัฒนาอาวุธชีวภาพหรืออาวุธนิวเคลียร์ ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) วิเคราะห์ว่าโวหารของปูตินก่อนหน้านี้ทำให้ทหารรัสเซียชะล่าใจ และคิดว่าจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวยูเครน การสร้างความคาดหวังที่ผิดพลาดส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของทหารรัสเซียเป็นอย่างมาก

ภายใต้ภาวะยังเอาชนะกันไม่ได้ รัสเซียยื่นข้อเจรจาโดยเรียกร้องให้ยูเครนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อการันตีว่าจะไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต้และสหภาพยุโรป ยอมรับโดเนสก์และลูฮันสก์ในภาคตะวันออกของยูเครนเป็นรัฐอิสระ และยอมรับไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ขณะเดียวกันก็ประกาศรายชื่อประเทศและดินแดนที่มี "การกระทำไม่เป็นมิตร" ออกมา โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป โลกตะวันตก และบางแห่งในเอเชีย เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ด้านองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ (UNESCO) เปิดเผยว่าสถานที่มรดกโลก 7 แห่งในยูเครนกำลังตกอยู่ในอันตราย ขณะที่ Artnet รายงานว่ากองทัพรัสเซียเผาทำลายพิพิธภัณฑ์ที่มีผลงานศิลปะของ 'มาเรีย พรีมาเชงโก' ศิลปินชาวยูเครนที่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ส่งผลให้งานศิลปะถูกทำลายกว่าหลายสิบชิ้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมยูเครนเรียกร้องให้องค์การยูเนสโกถอดถอนรัสเซียออกจากการเป็นสมาชิกจากกรณีดังกล่าว

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net