Skip to main content
sharethis

ในโลกไซเบอร์มีสงครามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นยูเครนเกิด "แหล่งเพาะพันธุ์โทรล" แพร่กระจายข่าวลวงและโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนรัสเซีย และการที่โซเชียลมีเดียรายใหญ่รวมถึงทวิตเตอร์ประกาศแบนกลุ่มที่พวกเขามองว่าพยายามปั่นกระแสสร้างความชอบธรรมให้กับรัสเซียในการทำสงคราม

ทวิตเตอร์แบนบัญชีผู้ใช้งานอย่างน้อย 100 บัญชีที่ส่งเสริมแฮชแท็กสนับสนุนผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน "I Stand With Putin" โดยระบุว่าบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้มี "พฤติกรรมประสานงานกันแบบหลอกลวง" โดยระบุว่าข้อความเหล่านี้ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อที่ส่งเสริมการที่รัสเซียรุกรานยูเครน

โฆษกของทวิตเตอร์กล่าวต่อสื่อว่าพวกเขากำลังสืบสวนว่ามีใครที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ IO แบบที่มีการชื่นชมประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และชื่นชมปฏิบัติการทางทหารอย่างโหดเหี้ยมของเขา ซึ่งทวิตเตอร์ระบุว่าปฏิบัติการเช่นนี้ละเมิดนโยบายของพวกเขาที่ห้ามการบิดเบือนระบบและห้ามการสแปม

แฮชแท็ก #IStandWithPutin ที่มีการพยายามปั่นกระแสในครั้งนี้กลายเป็นกระแสอยู่ในช่วงสั้นๆ บนทวิตเตอร์ แต่มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อเอ็นบีซีว่ากลุ่มบัญชีผู้ใช้งานจำนวนมากที่ทำการรีทวีตส่งต่อแฮชแท็กนี้มีผู้ติดตามแค่ไม่กี่สิบฟอลโลว์ นอกจากนี้ยังมักจะใช้รูปภาพจำพวก "ภาพสต็อก" (Stock Photo) ที่เป็นภาพในคลังเอาไว้ซื้อขายในอินเทอร์เน็ตผ่านเอเจนซี ซึ่งการใช้ภาพเหล่านี้ในบัญชีที่ควรจะเป็นบัญชีของบุคคลมักจะแสดงให้เห็นว่าบัญชีผู้ใช้เหล่านี้เป็นบัญชีผู้ใช้ปลอม

ยังมีการระบุแฮชแท็ก #IStandWithPutin อยู่บ้างในทวิตเตอร์แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการหารือกันเรื่องบัญชีผู้ใช้งานที่ถูกแบน หรือใช้ไว้กล่าวโจมตีการสนับสนุนปูติน

คนแรกๆ ที่ตั้งคำถามต่อข้อความทวีตที่น่าสงสัยเหล่านี้คือ มาร์ต โอเวน โจนส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านตะวันออกกลางศึกษาและมนุษยศาสตร์ดิจิทัลที่มหาวิทยาลัยฮาหมัด บิน คาลิฟา ในกาตาร์

โจนส์ระบุว่ากลุ่มที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ไม่ได้เป็น "บ็อต" หรือโปรแกรมอัตโนมัติเสียทีเดียวแต่เป็นกลุ่มที่ค้นหาที่มาได้ยากกว่านั้น โดยที่โจนส์ได้ระบุถึงกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนรัสเซียและบิดเบือนข้อมูลในทวิตเตอร์โดยทำการวิเคราะห์การแพร่กระจายของแฮชแท็ก I Stand with Putin โดยแบ่งเป็นคลัสเตอร์ 3 คลัสเตอร์ คือ 1 คลัสเตอร์ที่ดูจะสนับสนุนปูตินกับรัสเซียซึ่งดูใหญ่และมีแยกย่อยออกเป็นหลายชุมชน คลัสเตอร์ที่ 2 ใหญ่รองลงมาคือกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์แฮชแท็ก และคลัสเตอร์ที่ 3 เล็กที่สุดคือกลุ่มบ็อตที่ส่งเสริมแฮชแท็กหนุนปูตินด้วยการสแปม

โจนส์ตั้งข้อสังเกตว่าคลัสเตอร์ส่วนที่เป็นบ็อตมักจะเป็นกลุ่มเสนอขายสินค้าที่ฉวยโอกาสใช้แฮชแท็กในการส่งเสริมการขายสินค้าของตนเอง ส่วนใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเคนยา คลัสเตอร์ที่ 2 คือคลัสเตอร์ที่ต่อต้านปูตินมีลักษณธแบบที่โพสต์โซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำและมีผู้ติดตามจำนวนมากเช่นคนที่มีชื่อเสียงในโลกตะวันตก ส่วนคลัสเตอร์ที่ 1 นั้นมีบัญชีที่ถูกรีทวีตไปมากที่สุดเป็นบัญชีผู้ใช้งานชื่อ @sachin012yadav ที่ดูจะสนับสนุนผู้นำ นเรนดรา โมดี ของอินเดีย มีผู้ติดตามแค่ 56 ฟอลโลว์และมีจำนวน ทวีตแค่ 260 ทวีต เท่านั้นถึงแม้ว่าจะเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว

โจนส์ตั้งข้อสังเกตว่าบัญชีผู้ใช้งานที่มีการรีทวีตต่อกันจำนวนมากในคลัสเตอร์แรกเหล่านี้น่าสงสัยตรงที่มักจะใช้รูปภาพสต็อก มีจำนวนข้อความทวีตน้อยถึงแม้ว่าจะเปิดใช้งานมานานมากกว่า 5 ปี รวมถึงมักจะอ้างความชอบธรรมให้ปูตินด้วยตรรกะวิบัติ (logical fallacy) ที่เรียกว่า "แล้วทีคุณล่ะ" หรือ Whataboutism โดยอ้างว่าโดยอ้างการเหยียดเชื้อชาติสีผิวหรือการทำสงครามของชาติตะวันตกแล้วอ้างว่ารัสเซียก็ควรจะทำสงครามได้

ซึ่งโจนส์ระบุตรรกะวิบัติเช่นนี้เป็นการนำสิ่งที่ชาติตะวันตกทำผิดมาขยายความเกินจริง มีเป้าประสงค์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสถานการณ์ที่รัสเซียรุกรานยูเครนให้หันไปชี้นิ้วใส่ชาติตะวันตก

หลังจากที่ทวิตเตอร์บล็อกบัญชีที่พวกเขามองว่าเป็นบ็อตปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารสนับสนุนปูติน โจนส์ก็ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่ากลุ่มคลัสเตอร์บ็อตที่เขาระบุถึงก่อนหน้านี้ ทั้ง 149 บัญชีเป็นบัญชีที่ถูกแฮ็กทั้งหมด โดยที่ก่อนหน้าจะกลายเป็นบัญชีโพสต์สนับสนุนปูตินบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้เคยมีเจ้าของเป็นคนจริงๆ มาก่อน ก่อนหน้าที่จะถูกแฮ็กบัญชีผู้ใช้งานเหล่านี้ดูเหมือนจะมีลักษณะจริง (authenticity) ทำให้ทวิตเตอร์ตรวจจับความเป็นบ็อตได้ยาก แต่ถ้าหากวิเคราะห์ลงไปแล้วจะพบว่าบ็อตเหล่านี้โพสต์ "ส่งเสริมการขาย" เป็นภาษาอาหรับจากแอพฯ เดียวกันเพื่อบิดเบือนระบบหรือปั่นกระแสในทวิตเตอร์

โจนส์ระบุอีกว่าบ็อตเหล่านี้จำนวนหนึ่งยังคงทำงานอยู่และดูเหมือนว่าทวิตเตอร์จะระงับบัญชีบ็อตไอโอเหล่านี้ไปเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น

Omelas บริษัทวิเคราะห์ด้านดิจิทัลระบุในรายงานของพวกเขาว่ากระแสการโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนรัสเซียถูกโต้กลับและไม่สามารถเจาะฐานผู้ใช้งานในตะวันตกได้หลังจากที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งต่างจากในช่วงต้นปีนี้ที่โฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียทำงานได้ดีกว่า จากในช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาที่รัสเซียทำการฟลัดข้อมูลในโซเชียลมีเดียในตอนนั้นสื่อตะวันตกยังไม่เน้นรายงานเรื่องเกี่ยวกับยูเครน กลายเป็นช่องทางให้รัสเซียโฆษณาชวนเชื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานยูเครนแบบที่พวกเขาอ้างว่าเป็น "ปฏิบัติการทางทหาร" และอ้างว่ายูเครนเป็นฝ่ายยุยง

Omelas ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 20 ก.พ. มีโพสต์ที่มาจากแหล่งของรัฐบาลรัสเซียมากกว่า 192,000 โพสต์ที่พูดถึงประเด็นยูเครน แอนดรูว กอนซาเลซ นักวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองของ Omelas กล่าวว่า พอมาถึงช่วงกลางเดือน ก.พ. หลังจากที่รัสเซียนำกองกำลังล้อมยูเครนสื่อตะวันตกก็เริ่มหันกลับมาทำข่าวเรื่องนี้และรายงานในทำนองว่าปูตินเป็นฝ่ายผู้รุกราน จุดนี้เป็นตัวช่วยทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาเห็นอกเห็นใจยูเครน

หลังจากที่ปูตินประกาศบุกยูเครนสื่อโซเชียลมีเดียรายใหญ่หลายแห่งก็ทำการจำกัดไม่ให้สื่อรัฐบาลรัสเซียอย่างรัสเซียทูเดย์หรือ RT กับสปุตนิกนิวส์ เข้าถึงพื้นที่โซเชียลมีเดียของพวกเขา

สินัน อารัล ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ เอ็มไอที ระบุว่าเจ้าของพื้นที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ใช้ยุทธศาสตร์แตกต่างจากสมัยที่รัสเซียรุกรานไครเมียในปี 2557 อารัลระบุว่าในปัจจุบันสงครามข้อมูลข่าวสารในยูเครนมีความเข้มข้นมาก มีการแข่งขันกันอย่างจริงจังและอาจจะมีความสำคัญมากกว่าแต่ก่อนเพราะมันเกื้อหนุนให้มีนักรบอาสาภายในพื้นที่ยูเครนและส่งเสริมการสนับสนุนจากตะวันตกซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของพวกเขา

ทั้งนี้ในสื่อเอ็นบีซียังมีการระบุถึง "โทรลฟาร์ม" (Troll Farm) หรือ "แหล่งเพาะพันธุ์โทรล" ที่หมายถึงกลุ่มกองทัพคีย์บอร์ดในอินเทอร์เน็ตที่ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารกันเป็นขบวนการ บางครั้งก็แสร้งทำตัวเป็นคนอัตลักษณ์อื่น เช่นเคยมีกรณีโทรลในโรมาเนียที่แสร้งทำเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ หรือที่เคยมีกรณีโทรลฟาร์มในรัสเซียใช้ปฏิบัติการข้อมูลเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559

ในกรณียูเครนนี้ก็มีโทรลฟาร์มที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียแสร้งทำตัวเป็นนักข่าวยูเครน ถึงแม้ว่าเฟสบุคและทวิตเตอร์จะประกาศว่าพวกเขาแบนบัญชีผู้ใช้งานที่สวมรอยเหล่านี้เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงมีโทรลที่สวมรอยเป็นนักข่าวยูเครนโพสต์ข่าวลวงในทำนองว่าการรุกรานจากรัสเซียทำให้ยูเครนยอมแพ้โดยทันที

เรียบเรียงจาก

Twitter bans over 100 accounts that pushed #IStandWithPutin, NBC News, 06-03-2022

Twitter Reportedly Bans 100 'I Stand With Putin' Accounts For 'Inauthentic Behavior', Yahoo, 06-03-2022

Facebook removes troll farm posing as African-American support for Donald Trump, NBC News, 07-04-2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Troll_farm

บัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ Marc Owen Jones

https://twitter.com/marcowenjones/status/1499312091727020032
และ https://twitter.com/marcowenjones/status/1500101234858074119

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net