Skip to main content
sharethis

ขณะที่ผู้ประท้วงนับพันคนออกมาบนท้องถนนในรัสเซีย นักข่าวหลายร้อยคนก็รวมพลังลงนามในแถลงการณ์ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรุกรานยูเครนของปูตินเช่นกัน บางคนลงนามแม้ทำงานให้กับสำนักข่าวของรัฐ แต่การกระทำของพวกเขามีราคาที่ต้องจ่าย เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่เสรีภาพสื่ออยู่อันดับท้ายๆ ของโลก

'เอเลน่า เชอร์เน็นโก' นักข่าวของสำนักข่าวรายวันแห่งหนึ่งในกรุงมอสโกชื่อว่า Kommersant ตื่นขึ้นมาในวันศุกร์แล้วพบว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอีกต่อไป สาเหตุที่เธอโดนปิดกั้นมาจากการตีพิมพ์จดหมาย ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลแต่อย่างใด เพียงแต่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อสงคราม

จดหมายดังกล่าวมีผู้ลงนามกว่า 280 คน บางคนเป็นลูกจ้างที่ทำงานให้กับสำนักข่าวของภาครัฐ เคลมลินบอกกับเชอร์เน็นโกว่าเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศ เพราะมีพฤติกรรมที่ "ไม่เป็นมืออาชีพ" แต่การลงโทษครั้งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อก่อให้เกิดความกลัวต่อผู้ที่อยากออกมาต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างชัดเจน

ขณะที่กองกำลังรัสเซียวางกำลังพลใกล้ชายแดนยูเครนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เชอร์เน็นโกในตอนนั้นไม่รู้สึกกังวลเลยว่าจะเกิดสงครามขึ้น เพราะเธอเชื่อเหมือนกับทุกคนว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียเพียงต้องการกดดันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการเจรจา

"ฉันค่อนข้างมั่นใจจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญว่านี่เป็นเกมหมากรุกรูปแบบหนึ่ง เป็นเกมหมากรุกทางการทูตเพื่อบังคับให้ยูเครนและนาโต้เข้าสู่การเจรจา" เชอร์เน็นโก บอกกับ Vice World News เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา

แม้ว่าเชอร์เน็นโกจะมีประสบการณ์ทำงานมาหลายปี และเป็นหัวหน้าโต๊ะข่าวต่างประเทศของสำนักข่าว Kommersant แต่เธอก็ยังรู้สึก "ช็อก" เมื่อเห็นภาพทหารรัสเซียเคลื่อนพลเข้าไปในพรมแดนของยูเครน และทิ้งระเบิดในเมืองต่างๆ เช่น เคียฟ และคาร์คิฟ

เธอทวีตว่า "ฉันพูดไม่ออกเลย" แต่เธอก็พูดออกมาว่า "เรา ผู้สื่อข่าวของสื่อรัสเซีย และผู้เชี่ยวชาญที่เขียนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย ขอประนามปฏิบัติการทางทหารที่ดำเนินการโดยสหพันธรัฐรัสเซียในยูเครน สงครามไม่เคยเป็นและไม่มีวันเป็นวิธีการในการแก้ไขความขัดแย้ง และไม่มีความชอบธรรมใดเป็นเหตุผลในการก่อสงคราม"

นี่เป็นข้อความในแถลงการณ์สาธารณะของเชอร์เน็นโก และเพื่อนร่วมงานของเธอคนหนึ่งก็ร่วมลงนามกับเธอ ด้วยความหวาดผวาขณะเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากประชาคมโลก

"นี่เป็นไอเดียของฉันและเพื่อนร่วมงานอีกคน เมื่อเราเห็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในเช้าวันพฤหัสบดี เรารู้สึกว่าเราจำเป็นต้องแสดงออกจุดยืนของเราต่อปฏิบัติการทางทหารโดยรัฐบาลของเรา ซึ่งเราเห็นว่าไม่ชอบธรรม"

ในตอนแรก เชอร์เน็นโกส่งจดหมายดังกล่าวให้กับนักข่าวประมาณ 5-6 คนที่เธอเดาว่าน่าจะลงชื่อ แต่ไปๆ มาๆ กลับมีนักข่าวร่วมลงนามด้วยกว่า 280 คนเมื่อหมดวัน ขณะที่นักข่าวบางส่วนมาจากสื่ออิสระ เช่น Kommersant, RBC และ Novaya Gazeta นักข่าวอย่างน้อย 3 คนที่ทำงานให้กับสื่อของรัฐก็ลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย

ขณะที่คนภายนอกรัสเซียมองว่าการตัดสินใจของนักข่าวที่ลงนามต่อต้านการกระทำของรัฐบาลเป็นการกระทำที่กล้าหาญ แต่เชอร์เน็นโกกลับมองต่างออกไป

"มันไม่ใช่การประท้วงสุดโต่ง หรือการประท้วงต่อต้านรัฐบาล มันเป็นแถลงการณ์ต่อต้านสงคราม มันเป็นแค่การพูดของนักข่าวว่าเราไม่สนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร"

บทลงโทษที่เชอร์เน็นโกได้รับ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการลิดรอนเสรีภาพสื่อและนักข่าวที่ไม่นำเสนอข่าวจากมุมมองของรัฐบาล บทลงโทษเหล่านี้อาจมาในรูปแบบของการเซ็นเซอร์ ปฏิเสธไม่ให้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ หรือกระทั่งจับกุมนักข่าว

หลังจากลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว อเล็กซี โควาลยอฟ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนของ Meduza บอกกับ VICE World News ว่าในช่องเทเลแกรมของสื่อรัสเซีย นักข่าวบางคนเรียกร้องให้เพื่อนร่วมงานลาออกเพราะการแสดงจุดยืนดังกล่าว

รัสเซียถูกจัดอันดับให้อยู่ในประเภท "แย่" ในด้านเสรีภาพสื่อ โดยอยู่อันดับ 150 จาก 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2564 ของสมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน 

"จากกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิ การปิดกั้นเว็บไซต์ การตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต และการทำให้สื่อถูกควบคุมหรือถูกบีบให้หายออกไปจากสารบบ แรงกดดันต่อสื่ออิสระเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการประท้วงใหญ่ในปี 2554 และ 2555" สมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุในรายงาน

นักข่าวอีกคนหนึ่งที่ลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวคือ อิเลีย อะซาร์ ผู้สื่อข่าวของ Novaya Gazeta ซึ่งเคยรายงานความขัดแย้งในยูเครน แม้เขาจะเคยถูกควบคุมตัวโดยตำรวจก่อนหน้านี้ 2 ครั้งแล้ว จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่เขาไม่ลังเลเลยที่จะลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว

"เราไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือมากนักในการโน้มน้าวรัฐบาลรัสเซียในปัจจุบัน ดังนั้นเราจึงต้องใช้โอกาสทุกอย่างที่มี" อะซาร์บอกกับ VICE World News "ผมไม่ลังเลที่จะลงนามในแถลงการณ์นี้เลย นี่ยังห่างไกลจากระดับแรงกดดันที่จำเป็นต่อการกดดันให้ปูตินยุติสงครามเฮงซวยนี้มากๆ แต่อย่างน้อยนี่ก็ยังเป็นบางสิ่งบางอย่าง"

สำหรับ อเล็กซี โควาลยอฟ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนของ Meduza เหตุผลในการลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นเรียบง่ายและตรงไปตรงมา

"ผมลงนามในแถลงการณ์เพราะผมเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้" โควาลยอฟกล่าว "มันง่ายมาก ผมเป็นนักข่าวรัสเซีย ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่ผมรายงานก็คือนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย  และผมเห็นเรื่องนี้ในแบบที่มันเป็นได้ นั่นคือมันเป็นการทำสงครามต่อยูเครน ซึ่งผิดกฎหมายอย่างสิ้นเชิง ผิดตรรกะอย่างสิ้นเชิง" 

สำหรับตาเตียนา เปตรัสเชนโกวา นักข่าวฟรีแลนซ์ที่ทำประเด็นด้านธุรกิจและเทคโนโลยีในกรุงมอสโก เหตุผลของการต่อต้านรัฐบาลรัสเซียอย่างเปิดเผยเป็นเหตุผลที่ส่วนตัวมากกว่าคนอื่นๆ

"ฉันรู้สึกช็อก เจ็บปวด และอับอาย และฉันไม่อยากนั่งรออยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร" เปตรัสเชนโกวาบอกกับ VICE World News "เพื่อนสนิทของฉันมีญาติในยูเครน และตอนนี้ญาติเหล่านี้ต้องใช้สถานีรถไฟใต้ดินเป็นหลุมหลบภัยจากระเบิด"

เมื่อถามว่าเธอรู้สึกกังวลเกี่ยวกับบทลงโทษที่เธออาจได้รับจากรัฐบาลหรือไม่ เธอบอกว่า "ฉันไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้ และไม่ค่อยมั่นใจด้วยว่าใส่ใจไหม ฉันไม่ได้ทำงานให้กับสื่อของรัฐ และสำหรับสื่ออิสระ ชีวิตที่ผ่านมายากลำบากสำหรับพวกเขามาเป็นเวลานานแล้ว มันมีแต่จะยากขึ้นเรื่อยๆ และแถลงการณ์นี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของเรื่องนี้ อีกอย่างคือยิ่งคนลงนามในแถลงการณ์แบบนี้มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อคนใดคนหนึ่งก็จะยิ่งน้อยลง"

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาองค์กรกำกับดูแลสื่อของรัสเซีย (Roskomnadzor เปรียบเหมือน กสทช. ของไทย) โพสต์ข้อความแจ้งสื่อต่างๆ ให้ปฏิบัติ "หน้าที่" ในการเผยแพร่ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลของรัฐบาลเท่านั้น และตักเตือนเกี่ยวกับผลที่ตามมา หากเผยแพร่ "ข้อมูลเท็จโดยเจตนา"

สื่อของรัฐปฏิบัติตามคำแนะนำที่ว่านี้อย่างเคร่งครัด เช่น เรียกการรุกรานยูเครนว่าเป็น "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" ไม่ใช่ "สงคราม" อย่างไรก็ตาม สื่ออิสระไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ และโควาลยอฟกลัวว่ารัฐบาลจะใช้คำแนะนำนี้เป็นข้ออ้างในการปิดปากสื่ออิสระ

"Roskomnadzor บอกว่าการเผยแพร่ข้อมูลใดก็ตามที่ไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัสเซียเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งชัดเจนว่านี่เป็นสิ่งที่เรากำลังทำ ดังนั้น ถ้าเราถูกปิดกั้น ก็อาจเป็นเพราะเหตุนี้" โควาลยอฟระบุ

นอกจากแถลงการณ์ดังกล่าว ก็ยังมีแถลงการณ์อื่นๆ อีกที่ต่อต้านสงคราม เช่น แถลงการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียและนักข่าววิทยาศาสตร์กว่า 650 คนที่ประนามการกระทำของเครมลิน นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ต่อต้านสงครามจากสหภาพแรงงานนักข่าวของรัสเซีย โดย โซเฟีย รุสโซวา ประธานร่วมขององค์กรมายืนประท้วงที่หน้าราชวังเครมลินเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดทางให้นักข่าวปฏิบัติงานด้วย

ขณะเดียวกันก็มีแถลงการณ์อีกฉบับมาจากมิคาอิล ซีการ์ นักข่าวชาวรัสเซียชื่อดังซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งช่องโทรทัศน์อิสระเพียงแห่งเดียวในรัสเซีย ชื่อว่า Dozhd แถลงการณ์ฉบับนี้มีผู้ลงนามเป็นนักเขียน นักข่าว และนักแต่งบทละครที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก รวมถึง ดิมิทรี มูราตอฟ บรรณาธิการของ Novaya Gazeta ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับ มาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ จาก "ความพยายามในการปกป้องเสรีภาพการแสดงออก ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของประชาธิปไตยและสันติภาพอย่างถาวร" ด้วย

ดิมิทรี มูราตอฟ เผยแพร่วิดิโอวิพากษ์วิจารณ์ปูตินอย่างหนักเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยบอกว่าประธานาธิบดีรัสเซีย "ควงปุ่ม[อาวุธ]นิวเคลียร์ในมือไม่ต่างจากพวงกุญแจของรถแพงๆ" และเนื่องจากคำพูดของปูตินไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้เลยนอกจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในขั้นต่อไป จึง "มีแต่ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามของชาวรัสเซียเท่านั้นที่สามารถช่วยชีวิตบนโลกนี้ได้" และหนังสือพิมพ์ฉบับต่อไปของมูราตอฟจะเผยแพร่ทั้งในภาษารัสเซียและยูเครน

การหักล้างข้ออ้างที่ไร้เหตุผลในการรุกรานยูเครนโดยนักข่าว สะท้อนการประท้วงต่อต้านการรุกรานยูเครนของประชาชนรัสเซียหลายพันคนบนท้องถนนตามเมืองต่างๆ ของรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตำรวจควบคุมฝูงชนของรัสเซียก็เข้ามาสลายการชุมนุมอย่างทันควัน และเมื่อหมดวันมีการจับกุมประชาชนกว่า 1,745 คนใน 54 เมือง โดยกว่าครึ่งถูกจับในมอสโก

ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าว 3 รายของ Radio Free Europe และ Radio Liberty ซึ่งเป็นสำนักข่าวสาขาเครือข่ายของ Voice of America รวมอยู่ด้วย ต่อมา Radio Free Europe บอกกับ VICE World News ว่านักข่าว 3 คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว

แม้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะยังคงงานรัดตัวกับการรุกรานยูเครนในขณะนี้ แต่นักข่าวที่ลงนามในแถลงการณ์บางคนกลัวว่าบทลงโทษอาจมาถึงพวกเขาในอนาคต "เป็นไปได้ว่าตอนนี้เครมลินมีบัญชีดำของนักข่าวที่ลงนามในแถลงการณ์แล้ว และเราจะมีปัญหาบางอย่างตามมาในอนาคต" ยานา ปาเชวา นักข่าวฟรีแลนซ์ที่ร่วมงานกับ Reuter บอกกับ VICE World News

สำหรับ อิเลีย อะซาร์ ผู้สื่อข่าวของ Novaya Gazeta เขาเตรียมใจรับผลที่ตามมาแล้ว

"อืม ผมเคยโดน [ควบคุมตัว] 2 ครั้งแล้ว [รวม] เป็นเวลา 25 วัน จากกิจกรรมทางการเมืองของผม ดังนั้น ผมจึงพร้อมสำหรับทุกอย่าง" อะซาร์บอก "ผมไม่คิดว่าจะมีปฏิกิริยาอะไรมาจากเครมลินหรอก แต่วันนี้ หลังจากสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือสงครามกับยูเครน เราต้องคิดไว้ก่อนแล้วว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้"

 

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  • Inside Russian Journalists’ Fight Against Putin’s Invasion of Ukraine, By David Gilbert, 26.2.22  https://www.vice.com/en/article/5dgjdb/russian-journalists-against-ukraine-invasion
  • ภาพปกจาก : Russia: Journalists reporting on Ukraine war face censorship and detentions, The International Press Institute (IPI), Feb 25, 2022 https://ipi.media/russia-journalists-reporting-on-ukraine-war-face-censorship-and-detentions/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net