Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเรื่อง 'จำเป็นหรือไม่? ที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ 2560' ยอมรับกำหนดนิยาม “สื่อ” ยาก แต่หากชัดเจนจะมีผลต่อการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในอนาคต


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จัดเสวนาเรื่อง "จำเป็นหรือไม่? ที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ 2560" โดยเชิญบุคคลในแวดวงสื่อฯ ร่วมแสดงความเห็น

นายนิพนธ์ นาคสมภพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ ด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ เป็นประธานเปิดการเสวนาว่าการเสวนาครั้งนี้ เป็นการทำความเข้าใจระหว่างเรื่องสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน  เพราะเรื่องเหล่านี้ มีเส้นบางๆ ระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนกับบุคคล ซึ่งต้องหาคำนิยามที่ชัดเจน

นายจิระ ห้องสำเริง อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่มองว่า ขณะนี้สังคมเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีในรูปแบบออนไลน์เข้ามามีบทบาท และถูกใช้เป็นเครื่องมือมากขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลาย  ดังนั้นการกำหนดความเป็นสื่อ โดยใช้บรรทัดฐานจากสื่อเก่าจึงเป็นเรื่องยาก ที่ทุกคนต้องมานั่งถกเถียงกันต่อ

นางชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำหนดนิยาม สื่อ มีเป้าหมายเพื่อบังคับใช้กฎหมาย และกำกับดูแลให้เกิดความชัดเจน เช่น การพิจารณาจากการประกอบอาชีพสื่อ มีทักษะในอาชีพ มีเป้าหมายการดำรงอยู่ เพื่อให้สื่อสารไปถึงประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มองว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสื่อมวลชน เพราะเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่ระบุการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพ ไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชน มองเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการนิยามคำว่า สื่อมวลชนว่า เกิดจากปัญหาสังคม ที่สื่อถูกละเมิด หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง  พร้อมตั้งคำถามว่า หากสังคมมีเสรีภาพ เราจำเป็นต้องตั้งคำถามเรื่องนี้กันหรือไม่  ย้ำว่า รัฐธรรมนูญเป็นคำใหญ่ที่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว  และแม้จำเป็นจะต้องถกเถียงเพื่อหาคำตอบ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า จริยธรรม คือกรอบ แต่สิ่งสำคัญมากที่สุด คือ จิตสำนึกในการทำหน้าที่มากกว่า

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สื่อมวลชน กับ วิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เหมือนกัน เพราะสื่อมวลชนเป็นหนึ่งในอาชีพที่ถูกกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทั้งในปัจจุบัน ยังมีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงต้องตีความระหว่างสื่อดั้งเดิมกับสื่อใหม่ ที่แม้จะมีเส้นบางๆ ไม่ชัดเจน แต่หากจำแนกได้ จะทำให้เห็นภาพความชัดเจนเรื่องการคุ้มครองในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net