Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ แน่นอนว่าช่วงปีสองปีที่ผ่านมาก็จะได้ยินคำนี้บ่อยครั้ง 

อันที่จริงมันก็มีมานานแล้ว แต่คนไม่ค่อยรับรู้หรือไม่ได้สนใจมากนัก แน่นอนว่าเมื่อคนเรามีเครื่องมือสื่อสาร มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย คนที่ออกมาพูดในเรื่องนี้ ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเป็นเพียงนักวิชาการ บุคคลที่ดูน่าเชื่อถือที่อยู่ในจอทีวี ทุกวันนี้ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองได้ 

เราได้บังเอิญเห็นคลิปของผู้ใช้แอพพลิเคชั่น TIKTOK ท่านหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้ท่านนั้นได้ออกมาพูดเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง แน่นอนว่ามีเสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย เราสะดุดกับความคิดเห็นที่ตอบกลับมา เขาบอกว่า “ถ้าสิทธิเท่ากัน งั้นผู้ชายก็ต่อยผู้หญิงได้ใช่ป่าว” ในตอนนั้นเรายอมรับว่าโมโห แต่ก็ไม่ได้หยุดอ่านต่อ ทุกคนก็ตอบกลับความคิดเห็นนั้นด้วยอารมณ์โมโหเหมือนเราอย่างล้นหลาม เช่น ประโยคที่ว่า “สมแล้วที่เป็นชายใต้ปิตาธิปไตย” 

เราไม่รู้ว่าคำว่า ‘เท่าเทียมกัน’ ของคนที่ตอบกลับด้วยประโยคที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนั้นมาจากการที่เขาไม่รู้จริงๆ หรือว่าแกล้งที่จะไม่รับรู้แล้วพิมพ์ออกมาด้วยประโยคที่ไม่สร้างสรรค์ มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองเหตุผล แต่ถ้ารับรู้แบบผิดๆ มาล่ะ แบบนั้นมันก็คงแย่ไปกันใหญ่ และที่สำคัญการที่บุคคลหนึ่งซึ่งเข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไป มันทำให้เราอยากรู้ว่า จริงๆ แล้วคนไทยเข้าใจคำว่า ความเท่าเทียมทางเพศมากน้อยแค่ไหน 

ตามข้อมูลประเทศไทยได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ความเท่าเทียม’ คือ ความเสมอภาคในสิทธิ หน้าที่ โอกาส เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งต้องไม่มีเพศมาเป็นเงื่อนไขในการกำหนดสิทธิ อีกทั้งยังมีกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี พ.ศ. 2558 

ปัญหาเกิดจากการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศอย่างไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่ปรากฏในกฎหมาย ส่วนในโลกอินเทอร์เน็ตที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ หากเราอยากจะรู้ความหมายของคำว่า ‘เท่าเทียมทางเพศ’ จริงๆ ก็เพียงค้นหา เพราะแท้จริงความเท่าเทียมทางเพศ คือส่วนหนึ่งของหลักสิทธิมนุษยชน แม้ว่ากฎหมายของประเทศจะไม่รับรอง แต่เราก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่มีผู้ใดจะทำร้ายเราได้และเราไม่สามารถไปทำร้ายผู้อื่นได้ ความเท่าเทียมไม่มีความรุนแรง

หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นหลายคนเลือกจะมองข้าม แม้แต่การรับรู้ การทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงคืออะไร ทำไมล่ะ!มันถึงเป็นแบบนั้น เพราะว่ากลัวตัวเองจะเสียประโยชน์หรือเพราะความเชื่อที่หล่อหลอมกันมาตั้งแต่อดีต?

ผลกระทบจากการที่ทุกคนเลือกที่จะมองข้ามสิทธิของผู้อื่น มันทำให้คนๆ หนึ่งต้องละทิ้งความเป็นตัวเอง ความสุขที่ควรจะได้รับ อย่างกรณีที่ครอบครัวทำร้ายหญิงข้ามเพศ อะไรทำให้คิดว่าการทุบตีจะทำให้คนๆ หนึ่งเปลี่ยนแปลง อะไรทำให้คิดว่าการตัดผมจะให้ความเป็นตัวเขาหายไป สุดท้ายแล้วมันก็กรอบความคิดที่ใช้กดขี่กันเสมอมา “ผู้ชายต้องผมสั้นนะ ผู้หญิงต้องผมยาวนะ ผู้หญิงใส่กระโปรงนะ ผู้ชายใส่กางเกงนะ” ไปจนถึงเรื่องทรงผมที่ก็กำลังมีการเรียกร้องกันอยู่ 

ใครก็บอกว่าสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น แต่สำหรับเราก็คิดว่าเปิดในระดับหนึ่งที่น้อยมากๆ สังคมไทยยังไม่รับหญิงข้ามเพศเข้าทำงาน ยังบังคับแต่งกาย ยังบังคับทรงผม ยังมองว่าผู้ชายแต่งหน้าไม่ใช่ชายแท้ หรือยังมองว่าผู้หญิงที่ทำกับข้าวไม่เป็นจะหา”ผัว”ไม่ได้

ทุกกรณีที่ยกตัวอย่างมาเกิดจากสังคมที่ถูกปิตาธิปไตยหรือสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ครอบงำอยู่ 
แน่นอนว่ามีหลายกรณีที่เกิดขึ้นในไทย แต่ต่างประเทศเองก็มีเช่นกัน อย่างเกาหลีใต้ ประเทศที่มีการเดินต่อต้านแนวคิดเฟมินิสม์ 

หลายครั้งเราสงสัยจังว่าการเป็นไอดอลหญิงออกจากวงไปทั้งๆ ที่สุดท้ายยืนยันแล้วเขาไม่ได้ทำผิด กลับไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่มีแม้แต่คำขอโทษให้เธอ หรือแม้แต่การที่ไอดอลหญิงไม่โค้งเคารพรุ่นพี่ในวงการ ก็จะมีเสียงตอบโต้การกระทำอย่างรุนแรง ในขณะที่ไอดอลชายกลับล้มลงบนฟูกนุ่ม ที่มีแฟนคลับดีเฟนด์ให้ว่าที่ทำผิดไปเพราะยังเป็นเด็ก ทำไปเพราะความสนุก แม้การกระทำนั้นเป็นการส่งเสริมให้เกลียดผู้หญิงก็ตาม

เราถึงได้รับรู้ว่า การเป็นชายใต้ปิตาธิปไตยมันเป็นอย่างไร ปิตาธิปไตย แนวคิดที่ครอบงำสังคม ล่วงละเมิดสิทธิได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร ชาย หญิง เพศทางเลือก บางคนอาจคิดว่ามีเพียงผู้หญิงที่ถูกกดทับ ผู้หญิงก็เลยออกมาเรียกร้อง ไม่เลย ผู้ชายเองก็โดนแต่อาจไม่รู้ตัว 

การมองว่าความรุนแรงคือความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และความเข้มแข็ง แข็งแกร่งสื่อถึงความเป็นชาย นั่นแหละคือโดนครอบงำ 

เราอยากจะสื่อ อยากให้ตั้งคำถามกับตัวคุณว่า คุณคือผู้หญิงหรือผู้ชายหรือเพศไหนก็ตาม...ที่อยู่ใต้ปิตาธิปไตยรึเปล่า คุณเคยละเมิดสิทธิใครโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า คุณเข้าใจคำว่าความเท่าเทียมทางเพศผิดไปหรือเปล่า คุณยินดีไหม ถ้าเพศตรงข้ามของคุณจะใช้กฎหมายหรือถูกปฏิบัติอย่างเดียวกับคุณ เพราะเขาเป็นมนุษย์เหมือนอย่างคุณ

นิยามความเท่าเทียมทางเพศของคุณคืออะไร?

การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่กดคุณค่าความเป็นคนของคนอื่นลง ไม่มีอะไรมากำหนด ทุกคนเป็นตัวเองโดยไม่มีใครต้องเดือดร้อน

ความเท่าเทียมทางเพศ ก็คือสิทธิอันพึงมีของเรา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net