Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมแรงงานชาวกัมพูชาเปิดเผยว่ารัฐบาลกัมพูชาจับกุมผู้นำสหภาพแรงงานของกลุ่มแรงงานในคาสิโนนากาเวิลด์ ที่ประท้วงหยุดงานอย่างสันติ โดยอ้างกระทำผิดกฎหมายควบคุมการระบาดของ COVID-19 หลังจากที่กลุ่มแรงงานไม่ยอมรับคำสั่งของรัฐบาลที่บังคับให้ยุติการประท้วง

9 ก.พ. 2565 ทางการกัมพูชาจับกุมตัวผู้นำสหภาพแรงงานเพิ่มอีก 3 ราย จากเหตประท้วงหยุดงานของแรงงานในคาสิโนนากาเวิลด์ (Naga World) ที่กรุงพนมเปญ โดยแรงงานในคาสิโนดังกล่าวหลายพันชีวิตนัดหยุดงานประท้วงมาตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้นและขอให้นายจ้างคืนตำแหน่งงานให้กับผู้นำสหภาพแรงงาน 8 ราย และแรงงานอีก 365 ราย ที่ถูกไล่ออกจากงานที่โรงแรมและคาสิโนก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มแรงงานบอกว่าเป็นการไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม

ทางการกัมพูชาระบุว่าการประท้วงหยุดงานของพนักงานคาสิโนนากาเวิลด์เป็นเรื่อง "ผิดกฎหมาย" และบอกว่ากลุ่มแรงงานได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายนักกิจกรรมแรงงานระบุว่ารัฐบาลอ้างการใช้กฎหมายควบคุมการระบาดของ COVID-19 เพื่อโจมตีผู้ประท้วงอย่างสันติ

โปสเตอร์เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำสหภาพแรงงานกัมพูชา
 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ศาลาว่าการกรุงพนมเปญสั่งให้ผู้ประท้วงกลับบ้านโดยอ้างว่ากระทรวงสาธารณสุขตรวจพบว่ามีหนึ่งในผู้ประท้วงมีผลตรวจ COVID-19 เป็นบวก โดยทางการขู่ว่าจะลงโทษและสั่งปรับผู้ประท้วงที่ไม่ยอมทำตามคำสั่ง ต่อมา ในคืนวันที่ 5 ก.พ. 2565 ตำรวจในกรุงพนมเปญจับกุมผู้นำสหภาพแรงงาน 3 คน เป็นชายทั้ง 3 คน นอกจากนี้ ทางการยังระบุว่าพวกเขากำลังตามหาตัวคนที่ถูกออกหมายจับจากการร่วมชุมนุมซึ่งเป็นหญิงอีก 4 ราย หมายจับดังกล่าวที่ออกโดยรองอัยการ Seng Hieng ระบุว่าผู้ประท้วงฝ่าฝืนกฎหมายควบคุม COVID-19 และมีการเตือนผู้ประท้วงเพิ่มเติมอีกในวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมกัมพูชารายงานเพิ่มเติมว่าการจับกุมกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงานโดยอ้าง COVID-19 นั้นเป็นการพยายามปิดปากผู้ประท้วง

Chak Sopheap ประธานศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา (Cambodian Center for Human Rights) กล่าวว่า กฎหมายควบคุม COVID-19 ไม่ควรนำมาใช้กับผู้ประท้วงหยุดงาน เพราะพวกเขาให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎการป้องกัน COVID-19 อยู่แล้ว ผู้ประท้วงเหล่านี้ไปรับการตรวจโรคตามคำสั่ง พวกเขาไม่ได้ละเลยการไปตรวจจึงไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย การอ้างใช้กฎหมายนี้จึงถือว่าเป็น "การทำเกินกว่าเหตุและอยุติธรรม" เธอจึงเรียกร้องให้ทางการถอนข้อกล่าวหาต่อแรงงานเหล่านี้ด้วย ด้าน Am Sam Ath รองผู้อำนวยการองค์กรสันนิบาตกัมพูชาเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights) กล่าวว่าทางการกัมพูชาควรวางจุดยืนเป็นกลางต่อประเด็นข้อพิพาทแรงงาน และควรมุ่งทำให้เกิดกระบวนการคลี่คลายข้อพิพาทแทนที่จะจับกุมนักสหภาพและแรงงานเข้าคุก

นอกจากนี้ ในวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา มีกลุ่มเอ็นจีโอ สหภาพแรงงาน และกลุ่มเรียกร้องด้านสิทธิมากกว่า 100 กลุ่มในกัมพูชาร่วมกันยื่นจดหมายต่อกระทรวงมหาดไทยและสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้นำสหภาพและนักกิจกรรม 11 ราย

Ou Tep Phallin ประธานสหพันธ์แรงงานอาหารและบริการ (Federation of Food and Service Workers' Unions) กล่าวว่าในจดหมายเรียกร้องให้รัฐมนตรีมหาดไทยของกัมพูชาแทรกแซงทำให้การพิพาทแรงงานคลี่คลายซึ่งจะทำให้ลูกจ้างและแรงงานที่ประท้วงกลับเข้าไปทำงาน กลุ่มคนที่ถูกจับกุมคุมขังในคราวนี้เป็นนักสหภาพแรงงานที่แค่ออกมาเจรจาต่อรองกับนายจ้างเพื่อเพื่อนพี่น้องแรงงานของพวกเขาเท่านั้น ถ้าหากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาความยากจนจริงก็ต้องทำให้แน่ใจว่าแรงงานได้รับสิทธิเท่าเทียมในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างโดยไม่ถูกปฏิบัติราวกับ "ทาสสมัยใหม่"

ที่มา:

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net