Skip to main content
sharethis

โจโกวี วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย อนุมัติชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่บนเกาะบอร์เนียว ชื่อ 'นูซันตารา' ซึ่งแปลว่าหมู่เกาะ สะท้อนเอกลักษณ์ของประเทศ นักประวัติศาสตร์ชี้ 'นูซันตารา' ไม่ใช่สัญลักษณ์ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชวาเพียงกลุ่มเดียว ยืนยันเป็นชื่อที่เหมาะสมแล้ว 

20 ม.ค. 65 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 65 ซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติของอินโดนีเซีย ระบุว่า เมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียที่มีแผนจะสร้างในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ได้รับการตั้งชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีชื่อว่า ‘นูซันตารา’ 

สำหรับชื่อ ‘นูซันตารา’ ซึ่งที่แปลว่า “หมู่เกาะ” ในภาษาอินโดนีเซีย ได้รับการอนุมัติเป็นคำสั่งและผ่านการยืนยันจากประธานาธิบดีโจโก วีโดโดแล้ว โดยโมโนอาร์ฟา ระบุว่า “ผมเพิ่งได้รับการยืนยันและคำสั่งโดยตรงจากประธานาธิบดี เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 ม.ค.)”  

สำหรับเหตุผลของการตั้งชื่อนี้ โมโนอาร์ฟา ระบุว่าระหว่างการประชุมพิเศษกับคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยการก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ว่า “เป็นเพราะคำว่านูซันตารา เป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว และมันเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ เรียบง่าย และพรรณาถึงหมู่เกาะของเรา นั่นคือสาธารณรัฐอินโดนีเซีย” 

“ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะเห็นด้วยกับชื่อนูซันตารา” โมโนอาร์ฟา กล่าว

สมาชิกบางคนในที่ประชุมแย้งว่า ชื่อ ‘นูซันตารา’ อาจสร้างความสับสนได้ เพราะเป็นคำที่ใช้เรียกประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน บางคนเสนอให้ตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ให้รัดกุมขึ้นว่า เขตการปกครองพิเศษนูซันตารา เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน

“นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ชื่อพวกนี้ไม่ใช่อะไรที่เราจะตั้งกันเล่นๆ ได้” อากัสติน เทราส นาราง ตัวแทนจากสภาผู้แทนภูมิภาคกล่าว

โมโนอาร์ฟา เปิดเผยว่า รัฐบาลปรึกษากับนักภาษาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์แล้ว และเสนอชื่อกว่า 80 ชื่อให้กับประธานาธิบดีเพื่อพิจารณา เช่น เนการา จายา (ประเทศที่รุ่งเรือง) นูซันตารา จายา (หมู่เกาะที่รุ่งเรือง) และนูซา การ์ยา (การสร้างมาตุภูมิ) 

ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่าเมืองหลวงใหม่จะมีสถานะเป็นจังหวัดหรือเมือง แต่ในการประชุมระบุว่าเมืองหลวงใหม่น่าจะมีสถานะเทียบเท่ากับจังหวัด

ในปี 2562 ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ประกาศว่า เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียจะย้ายจากกรุงจาการ์ตา ไปยังเมืองเปนาจัม ปาเซอร์ อุตารา และเมืองคูไต คาร์ตาเนการา ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ในหมู่เกาะบอร์เนียว

นโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นก้าวที่จำเป็นในการรักษาเมืองจาการ์ตาไว้ หลังจากที่ผ่านมา เมืองหลวงปัจจุบันของอินโดนีเซียต้องเผชิญกับปัญหาเมืองจมน้ำและประชากรแออัด การย้ายเมืองหลวงยังเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ในเขตกาลิมันตันและด้านตะวันออกของอินโดนีเซียด้วย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศมีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะชวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงปัจจุบัน

การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ ซึ่งจะใช้เงินกว่า 466 ล้านล้านรูเปีย (หรือ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระงับโครงการไว้ก่อน 

ในปี 2564 การสร้างเมืองหลวงใหม่ถูกนำกลับมาพูดคุยอีกครั้ง และมีการประกาศต่อมาว่า เนียวแมน นัวร์ตา ประติมากรชื่อดังจะเป็นผู้ออกแบบทำเนียบรัฐบาลของอินโดนีเซีย

เนียวแมน นัวร์ตา ระบุในบัญชีอินสตาแกรมของเขาเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ได้ทำการอนุมัติแบบอาคารฉบับสมบูรณ์ของเขาแล้ว โดยเป็นการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครุฑ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของอินโดนีเซีย

นักประวัติศาสตร์ยืนยัน ‘นูซันตารา’ เป็นชื่อเหมาะสมแล้ว

รูดี วิราทามา ปาร์โตฮาร์โดโน อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณกรรมชวา แห่งมหาวิทยาลัย ตีพิมพ์บทความลงในสำนักข่าวอันทารา ระบุว่า ‘นูซันตารา’ เป็นชื่อที่ถูกใช้มานานแล้ว โดยย้อนกลับไปได้ถึงยุคอาณาจักรสิงหสารี แต่ในขณะนั้นอยู่ในรูปของคำว่า 'ทวิพันทารา'

 

ในปี ค.. 1275 (.. 1818) กษัตริย์เกอร์ตาเนอการาเป็นผู้เสนอแนวคิดเรื่อง 'จักรวาลา มัณทะลา ทวิพันทารา' ขึ้น เป็นครั้งแรก โดยในภาษาสันกฤตคำว่า 'ทวิพันทารา' จะมีความหมายเหมือนกันกับคำว่า 'นูซันตารา' กล่าวคือ คำว่า 'ทวิพา' และคำว่า 'นุสา' มีความหมายเดียวกันแปลว่า 'เกาะ' ส่วนคำว่า 'อันตารา' แปลว่า 'รอบนอก' โดยสรุปแล้ว 'ทวิพันทารา' จึงแปลว่า 'เกาะในระหว่าง' หรือ 'เกาะรอบนอก'

 

กาํตริย์เกอร์ตาเนอการาใช้แนวคิดเรื่อง 'จักรวาลา มัณฑลา ทวิพันทารา' เพื่อรวมอาณาจักรต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองของอาณาจักรสิงหสารี เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากการขยายอาณาเขตของเผ่ามองโกลที่วางแผนก่อตั้งราชวงศ์หยวนในจีนแผ่นดินใหญ่

 

แต่เดิมแล้ว แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางทหารเพื่อแย่งชิงดินแดน แต่ต่อมาคณะเดินทางจักรวาลา มันทะลา ทวิพันทารา ก็แสดงให้เห็นความพยายามในการสานความสัมพันธ์ทางการทูต ผ่านการใช้ความแข็งแกร่งและความชอบธรรมเพื่อสถาปนามิตรภาพ และพันธมิตรระหว่างอาณาจักรสิงหสารีกับอาณาจักรอื่นๆ ของเช่นเดียวกัน

 

กษัตริย์เกอร์ตาเนอการายังให้มอบปฏิมากรรมอะโมกะพาสาเป็นของขวัญแก่ชาวมาเลย์และผู้ปกครองคนอื่นๆ เพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูต กษัตริย์ของมาเลย์เสนอให้เจ้าหญิงดารา จิงกา และดารา เปทักไปให้แต่งงานกับกษัตริย์ของชวาเป็นการตอบแทนด้วย

 

หนังสือเรื่อง Gajah Mada: Political Biographyของอาัส อาริส มูนันดาร์ ซึ่งเป็นนักโบราณคดี ระบุว่าใน.. 1336 (.. 1879) กษัตริย์มาฮาปะติห์ กาจาห์ มาดา ของอาณาจักรมัชปาหิตได้นำแนวคิดเรื่องทวิพันทารามาใช้ต่อในพิธีปฏิญาณปาลาปา (เทียบเคียงได้กับพิธีถือนำพิพัฒน์สัตยาของไทย) ในพิธีสาบานดังกล่าวได้มีการพูดถึงคำว่า 'นูซันตารา' ไว้ด้วย โดยหมายถึงหมู่เกาะต่างๆ ที่อาณาจักรมัชปาหิตต้องการปกครอง และบางส่วนยังไม่อยู่ใต้ของการปกครองของมัชปาหิตในขณะนั้น

 

หนังสือเรื่อง Gajah Mada: Nusantara Unification Hero ของมูฮัมหมัด ยามิน นิยามว่านูซันตาราซึ่งถูกปกครองโดยอาณาจักรมัชปาหิตในขณะนั้น ครอบคลุม เกาะชวา สุมาตรา กาลิมันตัน คาบสมุทรมาเลย์ นูสาเตงการา บาหลี สุลาเวสี มาลูกู และปาปัว อย่างไรก็ตาม การล่มสลายของอาณาจักรมัชปาหิตทำให้คำว่านูซันตาราถูกลืมไปตามกาลเวลา

 

เมื่อถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คำว่า 'นูซันตารา' ถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยนักการศึกษาชื่อว่า คี ฮัตจาร์ เทวันทรา อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้คำว่า 'นูซันตารา' ไม่ได้ถูกใช้เพื่อพูดถึงแนวคิดการปกครองของอาณาจักรต่างๆ แต่ถูกใช้เป็นคำเรียกทางเลือกแทนการใช้คำว่า 'ดัช อีสต์ อินดีส์' ซึ่งมักถูกใช้เพื่อเรียกอินโดนีเซียในยุคระบอบอาณานิคมดัชต์

 

ในปัจจุบัน 'นูซันตารา' ถูกนำมาใช้อีกครั้ง เพื่อเรียกชื่อของเมืองหลวงใหม่ที่จะสร้างขึ้นในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ชาวอินโดนีเซียจะกำลังถกเถียงกันว่าการใช้คำนี้เหมาะสมหรือไม่ เพราะคำนี้ดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ขวาเสียมากกว่า อย่างไรก็ตาม รูดี วิราทามา ปาร์โตฮาร์โดโน เห็นว่าที่มาของคำคำนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์นึงเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

 

คำว่า 'นูซันตารา' มีรากมาจากภาษาสันกฤตและภาษากาวีผสมกัน โดยภาษากาวีนั้นในอดีตใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในมาเลย์ ขวา บาหลี รวมถึงเวียดนามและมาเลเซียด้วย

 

“คำว่า ‘นุสา’ มีที่มาจากภาษากาวี ส่วนคำว่า ‘อันตารา’ มาจากภาษาสันกฤต ทั้งสองภาษาสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และภาษากาวีก็ถูกใช้ในมาเลย์ ชวา และบาหลี แม้แต่ในเวียดนามและมาเลเซียก็มีการใช้ภาษากาวีต่างออกไปจากภาษาถิ่น เหมือนกับภาษาบาฮาซาของอินโดนีเซียและภาษาถิ่นที่เราใช้ในปัจจุบัน” ปาร์โตฮาร์โดโน กล่าว
 

แปลและเรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net