Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราว ‘เบนจา อะปัญ’ ในคดี ม.112 จาก #ม็อบ26ตุลา เมื่อปี 63 และ #ม็อบ10สิงหา เมื่อปี 64 โดยอนุญาตปล่อยตัวตั้งแต่วันนี้ (14 ม.ค. 65) จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 65 พร้อมวางเงื่อนไข 5 ข้อเช่นเดียวกับ ‘รุ้ง ปนัสยา’

14 ม.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าศาลอาญากรุงเทพใต้มีคังสั่งให้ประกันตัวเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 และคดีอ่านแถลงการณ์หน้าตึกซิโนไทย เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยทั้ง 2 คดีนี้เบนจาถูกตั้งข้อกล่าวหาเดียวกัน คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกันตัวและอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวเบนจาในทั้งสองคดี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 22 พ.ค. 65 โดยมีเงื่อนไข 5 ข้อ ได้แก่ ห้ามทำกิจกรรมที่จะกระทบกระเทือนสถาบันกษัตริย์ ห้ามชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกประเทศ ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่าง 18:00-06:00 น. และให้ติดกำไล EM โดยนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่าเบนจาจะออกจากเรือนจำเย็นวันนี้

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าวานนี้ (13 ม.ค. 2565) วลา 17.10 น. ศาลอาญารัชดาให้ประกันตัวเบนจาในคดีละเมิดอำนาจศาล จากการชุมนุมที่บันไดศาลอาญาในวันที่ 29 เม.ย. 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกเบนจา 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ประกันตัวเบนจาด้วยการวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 50,000 บาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวแต่อย่างใด

เปิดคำร้องขอประกันตัว ‘เบนจา’ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยคำร้องของเบนจาเพื่อยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวใน 2 คดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีเนื้อหาโดยสรุประบุว่าคดีนี้ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยเนื่องจากเกรงว่าจะไปก่อเหตุร้ายภยันตรายประการอื่น อย่างไรก็ดี การพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาซนซึ่งศาลจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการก่อเหตุร้ายกับสิทธิเสรีภาพของจำเลยโดยไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่จำเลยมีภาระเรื่องเรียนที่จะต้องเสียหายจากการคุมขัง จึงเป็นเหตุที่สามารถได้รับการพิจารณา โดยพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน

สำหรับคดีนี้จำเลยเป็นนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2564 จำเลยได้ลงทะเบียนเรียนทั้งหมดจำนวน 3 วิชา และมีภาระหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานในรายวิชา และเข้าสอบตามที่คณะและมหาวิทยาลัยกำหนด อีกทั้งจำเลยเรียนในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ในการเรียนการสอน ไม่สามารถเรียนภายในเรือนจำได้

สำหรับรายวิชา “กลศาสตร์ของแข็ง 1” นั้น เป็นรายวิชาบังคับด้านวิศวกรรมเครื่องกล (หลักสูตรนานาชาติ) หมวดวิชาบังคับ จำเป็นต้องเข้าฟังการบรรยาย 45 ชั่วโมง การฝึกปฏิบัติ 15 ชั่วโมง และการศึกษาด้วยตัวเองจำนวน 75 ชั่วโมง และยังจำเป็นต้องมีการวัดผลด้วยการสอบกลางภาคและสอบปลายภาคอีกด้วย

หากจำเลยต้องถูกคุมขังไว้ โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้ อันจะทำให้จำเลยไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาของจำเลยและอนาคตของจำเลยอย่างร้ายแรง

คำร้องระบุว่าจำเลยยินยอมยอมรับเงื่อนไขในการประกันตัวต่างๆ ทั้งจะไม่ทำกิจกรรมหรือก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, จะไม่เข้าชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, จะอยู่ในเคหสถานตลอดเวลาเว้นแต่มีเหตุจำเป็น, ยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขอื่นใด ก็พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไข และพร้อมจะให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล

ทั้งนี้ เบนจาถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค. 2564

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net