Skip to main content
sharethis

“แต่ปีนั้นต้องอยู่ในเรือนจำ นอนฟังเสียงพลุจากทุกทิศ ทำให้วันนั้นของผมเป็นวันที่มีความคิดถึงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก” คทาธร อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง

ท่ามกลางเสียงพลุและบรรยากาศเฉลิมฉลองวันสิ้นปี ยังมีผู้ต้องขังคดีการเมืองหลายคนไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อฉลองเทศกาลในคืนข้ามปีร่วมกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก จากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า เมื่อปี 2564 มีผู้ต้องขังดคีการเมืองที่ถูกคุมขังข้ามปีอย่างน้อย 22 ราย และปี 2565 จำนวน 19 ราย แต่ในปี 2566 นี้ มีผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองที่อาจถูกขังข้ามปีถึง 37 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จากการรายงานเมื่อ 20 ธ.ค. 2566 พบว่าเป็นผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดี 24 ราย และเป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 13 ราย 

ขอให้ปีนี้เป็นปีเดียวในชีวิตที่ต้องฉลองวันปีใหม่ในเรือนจำ

27 ธ.ค. 2566 ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ บันทึกเยี่ยม 6 ผู้ต้องขัง ‘112’ ก่อนสิ้นปี ได้มีการเล่าถึงแผนกิจกรรมปีใหม่ของ วารุณี ผู้ถูกคุมขังคดีมาตรา 112 ว่า ตนเองจะเคานต์ดาวน์กับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่น ๆ และน่าจะได้จับฉลากของขวัญปีใหม่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชอบ หรือคงจะสวดมนต์ข้ามปีซึ่งตนขอให้ปีนี้เป็นปีเดียวในชีวิตที่ต้องฉลองวันปีใหม่ในเรือนจำ นอกจากนั้น วารุณียังเล่าถึงช่วงคืนข้ามปีก่อนตนกลายเป็นผู้ต้องขังคดีการเมืองว่า อยากไปฉลองปีใหม่ที่ผับเกาหลีพร้อมเต้นเพลง Twice กับเพื่อน ทั้งยังรู้สึกคิดถึงครอบครัวและสุนัขของตน

“อยากไปกินหมูกระทะที่รีสอร์ตเขาค้อ ธรรมดาเนอะ เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองแบบนี้ เราก็ต้องอยากอยู่กับคนที่เรารักที่สุด” วารุณีกล่าว

วีรภาพ วงษ์สมาน เล่าว่าปีใหม่ที่ผ่านมาตนจะเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ และคิดไว้แล้วว่าหากได้ประกันจะพาลูกไปเที่ยวฉลองเทศกาล แต่เมื่อ 18 ธ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทำให้เขาต้องถูกขังข้ามปีเหมือนผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่น ๆ เวหา แสนชนชนะศึก มักใช้เวลาคืนข้ามปีบริเวณหน้าเรือนจำช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังการเมืองคนอื่น ๆ และคิดว่าถ้าอยู่ข้างนอกปีนี้ตนก็คงจัดกิจกรรมเช่นเดิม ด้าน วุฒิ (นามสมมติ) เล่าว่า ตนได้รับอาหารที่มีคนส่งเข้ามาให้ประมาณวันละ 2-3 อย่าง และมองว่าเป็นสิ่งมีค่าสำหรับผู้ต้องขังมาก ๆ 

แม็กกี้ เล่ากิจกรรมปีใหม่ในเรือนจำว่าน่าจะมีการจัดเลี้ยงอาหารผู้ต้องขัง เช่น ขนมจีน ไอศกรีม และตนอยู่ห้อง LGBTQ ซึ่งเป็นห้องที่ทำกิจกรรม เป็นหน้าเป็นตาให้แดนเยอะที่สุด อย่างประกวดกระทง เดินแบบ เต้นเชียร์ลีดเดอร์ เต้นเปิดงาน โชว์ตลก ผู้คุมเลยตอบแทนด้วยการสั่งอาหารอีสานครบเซ็ตให้ แต่ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองแม็กกี้ยังคงคิดถึงการเคานต์ดาวน์ ดูคอนเสิร์ต และการดูพลุช่วงเที่ยงคืน พร้อมคิดถึงช่วงเวลาที่ตนได้มีอิสระ การทำกิจวัตรประจำวันทั่วไปและได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวและเพื่อน

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ผู้แถลงต่อศาลขอถอนทนายความในคดี ม.112 พร้อมปฏิเสธอำนาจศาลเมื่อ 4 ก.ย. 2566  เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังการเมืองทุกคนและยุติการดำเนินคดี ม.112 ทั้งหมด ได้ยืนยันเป้าหมายของตนว่า ต้องการผลักดันการนิรโทษกรรมหรือกรณีบาร์ต่ำที่สุด คือ ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนต้องได้รับการประกันตัว และอยากให้ทุกคนได้กลับไปหาครอบครัวโดยไม่ต้องกลับเข้ามาอีก เพราะการเข้า-ออกเรือนจำบ่อย ๆ อาจแย่กว่า สอดคล้องกับวารุณีที่คิดว่าหากตัดสินคดีและติดคุกให้มันจบไปเลยแล้วออกมาจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ อาจดีกว่าการได้ประกันแล้วรออุทธรณ์ ถ้าผลตัดสินออกมาตนอาจต้องกลับมาติดคุกทำให้ชีวิตก็จะสะดุดอีกรอบก็ได้ 

‘เสียงพลุ’ กลบความเหงา และ ‘จดหมาย’ เลี้ยงจิตใจคนในเรือนจำ

“วันปีใหม่ในเรือนจำ บรรยากาศและความรู้สึกมันเคว้งคว้างมาก เพราะอากาศมันเย็น แล้วอากาศเย็นทำให้เรารู้สึกเหงาเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้เราคิดถึงข้างนอก คิดถึงญาติ คิดถึงแม่ คิดถึงเพื่อน คิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักในชีวิต” เบนจา

เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 และถูกขังในระหว่างสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี ประกอบกับผลการตัดสินจากคดีละเมิดอำนาจศาลเหตุจากการร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา ทำให้เบนจาต้องอยู่ในเรือนจำเป็นระยะเวลา 99 วัน ระหว่างรอยต่อของปี 2564-2565 ก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 

เบนจาเล่าว่าบรรยากาศช่วงคืนข้ามปีในเรือนจำเป็นความรู้สึกที่เคว้งคว้าง เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นทำตนรู้สึกเหงาและคิดถึงคนที่อยู่ข้างนอก ทั้งครอบครัว เพื่อน และบุคคลอันเป็นที่รัก นอกจากนั้น ช่วงปีใหม่ทนายจะไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ตนจึงต้องอดทนรอจนกว่าราชการจะเปิดให้เยี่ยม เพราะการพูดคุยกับทนายจะทำให้เบนจาสามารถรับรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกเรือนจำและทำให้ตนรู้สึกดีเหมือนได้สื่อสารกับคนข้างนอก 

“มันจะเป็นช่วงเวลาที่เราจำไม่ได้ว่ากี่วันแต่ก็หลายวันอยู่ที่เราต้องก้าวผ่านช่วงเวลานั้นไปก่อนที่ทนายจะกลับมา” เบนจา

คทาธร (สงวนนามสกุล) เคยถูกจับกุมในวันที่ 10 เม.ย.2565 ระหว่างเดินทางจากย่านดินแดงไปร่วมกิจกรรมรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง และถูกคุมขังกว่า 300 วัน จากคดีครอบครองวัตถุระเบิดตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 คทาธรถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุมกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อ 7 มี.ค. 2566 และได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากครบกำหนดโทษ 1 ปี 3 เดือน 15 วัน เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 คทาธรจึงเป็นหนึ่งในคนที่ถูกขังข้ามปี 2565

คืนข้ามปี 2565 ของคทาธรเป็นคืนที่เหงากว่าปีอื่น ๆ เพราะปกติตนเองจะใช้เวลาช่วงปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อน เมื่อต้องใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในเรือนจำจึงพยายามหาอะไรทำเพื่อไม่ให้รู้สึกเคว้งคว้างมากนัก คือ ร่วมเล่นเกม ร้องเพลง และเล่นดนตรีไปกับคนที่อยู่ในเรือนจำ 

“ความรู้สึกในเรือนจำช่วงปีใหม่

คือ ไม่มีความสุข เหมือนแค่โดนจับเราก็ไม่มีความสุขแล้ว อีกอย่างคือเราโดนข้อกล่าวหา เราไม่ได้ทำ ก็ต้องมารับโทษแทนคนที่เขาทำ เราก็จิตตกและไม่มีความสุข ผมไม่สนุกครื้นเครงเลยทั้งที่ปกติเป็นคนร่าเริงและมีความสุขง่าย แต่สถานการณ์ติดคุกคือไม่มีความสุขอะไรเลย” ณัฐพล

ณัฐพล (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกกล่าวหาว่าเผารถตำรวจระหว่างการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา65 ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2565 และมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อ 16 ก.พ. 2566 ด้วยช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ณัฐพลต้องอยู่ในเรือนจำข้ามปี 2565 และรู้สึกไม่มีความสุขเลยในระหว่างที่ต้องอยู่ในเรือนจำทั้งที่ปกติตนเองเป็นคนร่าเริง แต่ในเรือนจำก็ยังพอมีกิจกรรมให้ทำบ้างแม้ไม่ครื้นเครงเท่าข้างนอก เช่น การแข่งกีฬาสี เตะบอล ตะกร้อ และการนำอาหารมาแบ่งกันกิน นอกจากนั้น ยังมีจดหมายจากคนรักและคนนอกเรือนจำที่กลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เขาสามารถอดทนรอวันที่จะออกจากเรือนจำได้

เช่นเดียวกับคทาธรที่ได้รับจดหมายก่อนสิ้นปี โดยจดหมายเหล่านั้นมักมีคำว่า ‘อดทนนะ’ ‘สู้ๆ นะ’ บางคนก็วาดรูปให้ ทั้งยังมีคนมาจุดพลุให้บริเวณหน้าเรือนจำ คทาธรรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มีค่ากับตนมาก ๆ ทำให้เขาสามารถออกมาสู้ต่อได้ และคิดว่าหากวันนั้นไม่มีจดหมายหรือเป็นวันที่เงียบเหงา เขาก็ไม่แน่ใจว่าตอนนี้สภาพจิตใจของตนเองจะเป็นอย่างไรเพราะการถูกขังอยู่ในเรือนจำนั้นเป็นความรู้สึกที่หดหู่และเคว้งคว้าง

“วันนั้นผมก็ยืนเกาะลูกกรงรอดูพลุตั้งแต่ 3 ทุ่ม เพราะผมไม่รู้ว่าเขาจะจุดตั้งแต่ตอนไหน ห้องผมเป็นห้องที่สูงและสามารถมองเห็นพลุได้ เขาก็จุดประมาณเที่ยงคืน มันก็ทำให้ผมโคตรดีใจ ทำให้รู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ตรงนั้นเลย แม้ว่าตัวผมจะอยู่ข้างใน เป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ” คทาธร

แม้เบนจาจะถูกคุมขังคนละปีกับคทาธรและณัฐพล แต่คืนข้ามปี 2564 ได้มีกิจกรรม ‘เคานต์ดาวน์ปีใหม่ อยู่เป็นเพื่อน ย้ำเตือนความยุติธรรม’ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเบนจาได้รู้ข่าวล่วงหน้าว่าจะมีการจุดพลุฉลองปีให้ผู้ต้องขังคดีการเมือง เมื่อเวลาใกล้เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องขึ้นเรือนนอน เบนจาก็ได้ยืนรอพลุอยู่ที่หน้าต่างซึ่งเป็นทิศที่หันหน้าทางถนนพอดี ทันทีที่ได้ยินเสียงพลุ เบนจากล่าวว่าตนเองรู้สึกดีมาก ๆ ที่มีคนมาจัดกิจกรรมให้

ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นแม้ผ่านมา 2 ปี ทำให้เบนจารู้สึกว่าตนเองไม่สามารถนอนมองเพดานเฉย ๆ ได้ในคืนสิ้นปี คือ แทนที่จะนอนมองเพดานอยู่บ้านเพื่อปล่อยเวลาให้เวียนข้ามปีแบบที่ผ่านมา ปีนี้จึงอยากไปเคานต์ดาวน์หน้าเรือนจำแทน เพราะตนยังจำความรู้สึกตอนที่ถูกคุมขังแล้วมีคนมาหา มีคนมาจุดพลุแล้วเรารับรู้ และต้องยอมรับว่าปี 2564 เป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคุกรุ่นแต่ตอนนี้กลับเงียบเหงาขึ้นมากและหลังจากนี้คงเบาบางลงไปอีก 

 ภาพถ่ายหน้าจอ 2566-12-31 เวลา 02.36.16

เมื่อ 30 ธ.ค. 2566 เบนจาได้เชิญชวนให้คนมาร่วมนับถอยหลังสู่ปี 2567 ณ บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ผ่านกิจกรรม ‘สิ้นปีนี้… เธอไม่ได้เดียวดายใต้ฟ้ากว้าง’ พร้อมเขียนจดหมายส่งความสุขให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองในปัจจุบัน เพราะอยากให้มีข้อความหรือภาพวาดฝากทนายนำไปให้พวกเขาเมื่อได้เข้าเยี่ยมหลังหยุดปีใหม่ เบนจาเสริมว่า อยากชวนให้ทุกคนร่วมทำกิจกรรม #ขังข้ามปี เพราะสิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้พวกเขารู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง 

“ก็เลยเป็นเหตุผลที่จะชวนคนมาเคานต์ดาวน์หน้าเรือนจำ สำหรับคนที่รู้สึกว่า เออ อยากมาให้กำลังใจ อยากมาเป็นส่วนหนึ่งของการข้ามปีกับคนในเรือนจำ และคิดว่าจะเขียนจดหมายหาคนในเรือนจำ เอาอาหารไปนั่งกิน แต่ไม่ได้คิดใหญ่เลย แค่ไปเจอกันเฉยๆ คนที่อยู่กรุงเทพและรู้สึกว่าปีใหม่อยู่บ้านเบื่อ ๆ ไม่อยากไปไหน อยากให้กำลังใจก็มาได้ อยากให้เป็นพื้นที่ที่เราได้เจอกัน” เบนจากล่าว

2567 กับความหวังในร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

“เห็นด้วย อย่างแรกพวกผมแค่มาเรียกร้องสิทธิไม่ได้ทำผิดอะไร ผมไม่ได้ทำร้ายใครเลย แค่พูดในสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่ผมควรได้” ณัฐพลกล่าว

ณัฐพลเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมประชาชนที่ออกมาชุมนุมเพราะเป็นการเรียกร้องสิทธิที่สามารถทำได้ แม้ปัจจุบันจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่คดีเหล่านี้ยังขึ้นเป็นประวัติว่าตนเคยต้องโทษมา ถ้ามีการนิรโทษกรรมมลทินเหล่านี้จะหายไป ส่วนตัวค่อนข้างสนิทกับ เก็ท-โสภณ จึงเห็นว่าเขาไม่ควรต้องถูกคุมขังเพียงเพราะออกมาแสดงออกทางการเมือง

คทาธรกล่าวว่า ยินดีพร้อมผลักดันเรื่องนี้แต่ยังมีคำถามบางอย่างที่ยังหาข้อสรุปให้ตนเองไม่ได้ เลยคิดว่าให้เป็นหน้าของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ส่วนตัวโดนคดีครอบครองวัตถุระเบิดจึงอยากบอกว่า ถ้าสิ่งที่ตนพกมาในวันนั้นเป็นระเบิดจริงก็ยินดีที่จะไม่รับนิรโทษกรรมและยินดีที่จะมีคดีนี้ติดตัว แต่สิ่งที่ไม่ได้ทำนั้นขอสู้และอยากให้เป็นไปตามหลักยุติธรรม 

เบนจาเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแต่มองว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในเกมที่ผู้มีอำนาจกำลังทำให้มาตรา 112 ไม่เป็นปัญหาของสังคม คือ สังเกตว่าหลังจากการตัดสินคดีของอานนท์แล้วแทบไม่มีนักกิจกรรมหรือประชาชนคนไหนถูกสั่งจำคุกทันทีเลย แม้ตัดสินก็ได้สิทธิในการประกันตัวหรือรอลงอาญาเพื่อยืดเวลาในการลงโทษออก กลับกันถ้ามีการตัดสินให้จำคุกหรือนำไปขังจำนวนมากเหมือนช่วง 2564 อาจทำให้กระแสสังคมเป็นไปในอีกทิศทาง 

แม้จะเป็นผลดีกับประชาชนที่ไม่ถูกคุมขังในเรือนจำแต่ความสนใจของสังคมที่ลดลงต่อมาตรา 112 นั้น ก็ส่งผลต่อแรงกดดันในการผลักให้มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ที่ลดลง และคิดว่าอาจส่งผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นหมวด 1,2 ด้วย คือ ประชาชนจะพูดถึงปัญหาของหมวด 1,2 อย่างไร โดยที่ไม่โดนดำเนินคดีมาตรา 112 เบนจามองว่าทั้งหมดนี้ล้วนเป็นขบวนรถไฟที่เชื่อมกันหมดเลย 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net