Skip to main content
sharethis

พิธา และสมาชิกพรรคก้าวไกล ร่วม 'ยืนหยุดทรราช' ที่เชียงใหม่ เรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้แก่นักโทษการเมือง ย้ำสภาต้องพูดปัญหา ม.112 พร้อม ประมวลความเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรมกรณี ตร.ดำเนินคดี 'ป้าเป้า' เปลือยประท้วง คฝ.

1 ต.ค. 2564 กิจกรรม “ยืนหยุดทรราช” หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงเย็น วานนี้ (30 ก.ย. 64) ปกติจะมีนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนร่วมเป็นประจำ แต่ครั้งนี้มีนักการเมือง คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมทั้งสมาชิกพรรคเข้าร่วมเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้แก่นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ทั้งอานนท์ นำภา, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และคนอื่นๆ

เช่นเดียวกับที่หน้าศาลฎีกา กรุงเทพ หรือ ลานอากง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen จัดกิจกรรม ยืนหยุดขังllday46 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 46 แล้ว เพื่อเรียกร้องให้ศาลและเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่าวันนี้ตนเองตั้งใจใช้สันติวิธีมาร่วมเรีกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัวซึ่งเป็นหลักสากลให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนทางการเมืองก็ไม่ควรจะต้องมีคนติดคุกเหมือนอย่างกรณีอานนท์และคนอื่นๆ

ต่อตอบคำถามที่ว่า สังคมไทยจะรับมือกับการใช้กฎหมาย ม.112 ในตอนนี้อย่างไรนั้น พิธา เสนอว่า ด้วยการพูดกันถึงกฎหมายนี้อย่างมีวุฒิภาวะ สถานที่ที่ควรจะพูดถึงเรื่องนี้มากที่สุดก็คือรัฐสภา ถ้าอยากจะให้การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่นก็ควรที่จะใช้สภาแห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าสภาพูดไม่ได้ สังคมก็ไม่อาจหยุดการควบคุมได้ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประชาคมโลกที่มีความสากล การพูดคุยเรื่องนี้ก็น่าจะทำได้โดยปกติ โดยใช้สภาเป็นตัวตั้ง

"อย่างที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นขอแก้ไขเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษ และสัดส่วนของโทษ ผมคิดว่าไม่ควรจะต้องมีใครติดคุกเพราะการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของประเทศต้องมี ไม่ว่าในเรื่องสิทธิมนุษยชน ความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมของประเทศ ถ้าหากต้องติดคุกเพราะพูดในสิ่งที่คิด ประเทศจะไม่ไปไหน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

สำหรับคำถามที่ว่าจากความขัดแย้งในหมู่ 3 ป. หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรได้บ้างนั้น พิธา กล่าวว่า สิ่งที่เราจะต้องยึดมั่นให้ดีคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องมาจากเจตจำนงของประชาชน โดยอยู่ในระบบประชาธิปไตย โดย 4 ปีอะไรที่ดีไม่ดี เราก็จะสามารถใช้คะแนนเสียงในการตัดสิน การกำหนดวาระทางสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญกับประชาธิปไตย ถ้าในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 และมีวิกฤติน้ำท่วมวิกฤติเศรษฐกิจซ้อนมา แต่ไม่มีรัฐบาลที่มีการทำงานที่มีเอกภาพ

"คนหนึ่งดูแลกรมน้ำ คุณประวิตรดูแลเรื่องเกี่ยวกับน้ำ กรมอุตุฯ เป็นของคุณชัยวุฒิ ซึ่งคุณชัยวุฒิก็อยู่กับคุณประยุทธ์ เป็นต้น ความแตกแยกของ 3ป. ในเรื่องการบริหารจัดการประเทศ อย่าให้เรื่องการเมืองมาปะปนกับความทุกข์ร้อนของประชาชน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

ประมวลความเห็นกรณี ตร.ดำเนินคดีป้าเป้าเปลือยประท้วง คฝ.

ขณะที่ผู้เข้าร่วมยืนหยุดทรราชคนอื่นๆ มีความคิดเห็นต่อการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมออกหมายออกหมายเรียกป้าเป้า หรือ วรวรรณ แซ่อั้ง อายุ 67 ปี จากการเปลือยกายประท้วงเจ้าหน้าที่ ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใน “ม็อบ 28 กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์” ดังนี้

“มันเป็นสิทธิในการแสดงออก และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกก็ต้องใหญ่กว่าเรื่องอนาจาร เราต้องดูเป้าหมายของการแสดงออก เป้าหมายเขาไม่ได้ต้องการจะไปเปลือย แต่เขาต้องการแสดงให้ตำรวจเห็นว่าเขาไม่มีอะไร เขาต่อสู้แบบสันติวิธี”

“เขาอาจจะใช้กฎหมายอนาจาร โดยปกติแล้วการแสดงออกของการประท้วงในทางการเมือง มันไม่ควรจะใช้ข้อกฎหมายทั่วๆ ไปมาจัดการ และการเปลือยกายประท้วงก็เป็นสันติวิธี ไม่มีอะไรสันติไปกว่านี้แล้ว มันคือการแสดงให้เห็นว่าประชาชนมือเปล่าจริงๆ ไม่ได้มีอาวุธอะไร แล้วพวก คฝ. หรือตำรวจ ต้องการอะไร”

“ต้องยืนยันก่อนว่าสิ่งที่ป้าเป้าทำเป็นสันติวิธี เพราะฉะนั้นการดำเนินคดีกับคนที่ประท้วงโดยสันติวิธีนี่คือการขัดรัฐธรรมนูญ จะวิจารณ์ป้าเป้าในเชิงเหมาะสมไม่เหมาะสมเป็นเรื่องของมหาชน คนสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ไปถึงขั้นดำเนินคดี ไม่ว่าคดีอนาจาร ยุยงปลุกปั่น หรืออะไรก็ตาม มันคือการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงที่สุด และทำนายได้ว่าในอนาคตก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งสังคมเราก็จะขัดแย้งจนหาทางออกไม่ได้

ในความเห็นผม ถ้าเกิดการดำเนินคดีกับป้าเป้าจริงๆ นี่คือความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ชัดเจนมาก”

 

“ส่วนหนึ่งของการแสดงออกเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐในแง่ของ Weapons of the Weak นี่เป็นวิธีการที่อหิงสาที่สุด มันเป็นการแสดงออกที่สามารถกระทำได้ หลักการของการกระทำคือเพื่อเป้าหมายที่จะส่งสารไปยังผู้มีอำนาจว่า นี่คือสิ่งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ถามว่าสามารถจะเอาผิดป้าเป้าได้ไหม รัฐอาจจะหยิบยกความผิดเรื่องอนาจารขึ้นมา เรายังไม่อยากเรียกว่าเป็นการกระทำความผิด แต่การกระทำนี้เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของ Civil Disobedience ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องต่างๆ การใช้เครื่องขยายเสียง การยืนอยู่บนถนน การเดิน ล้วนแต่เป็นการแสดงออกทางสังคมทั้งสิ้น ถามว่ามีใครเดือดร้อน ถ้ารัฐจะฟ้อง ก็ฟ้องได้ แต่ในทางหนึ่งมันไม่ได้มีประโยชน์ต่อใครเลย

ถามว่าเรารู้ไหมว่าเป้าหมายของป้าเป้าต้องการจะบอกอะไร ข้อความตรงนี้ถูกส่งมายังสังคมแล้ว และมันก็ไม่อาจจะถูกลบล้าง”

“ถ้าในทางกฎหมายก็คงเป็นฟิวอนาจาร แต่ถ้าวิธีในทางการต่อสู้เราคิดว่านี่เป็นวิธีที่ขบถที่สุดแล้ว เป็นการไม่ยอมจำนน เขาดำเนินคดีอยู่แล้วไม่ว่าเราจะทำอะไร แต่เราชอบที่ป้าเป้าทะลุกฎเกณฑ์ทุกอย่างไปแล้ว และมันเป็นวิธีการที่สันติที่สุดแล้ว ไม่ได้ทำอะไรใคร เขาทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เราไม่ต้องอายแล้ว ประชาชนไม่มีกินแล้ว ประชาชนก็จะต้องต่อสู้ทุกวิถีทางที่ประชาชนจะทำได้ในทางที่สันติเช่นนี้”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net