Skip to main content
sharethis

จ่านิว สิรวิชญ์ ประเมินการรวมตัวประท้วงของนักศึกษาประชาชนหลายพันคน เกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลเป็นแรงกระตุ้น ยังมองไม่ได้ว่าขบวนการนักศึกษาเข้าไปทำงานกับมวลชน แนะเร่งประสานสร้างเอกภาพในหมู่กลุ่มนักกิจกรรม ชี้กำหนดเป้าหมายให้ชัด เร่งขับเคลื่อนในเวลาที่รวดเร็ว เชื่อไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะ ผู้คนจะตระหนักถึงปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาล

ที่มาภาพจากการ Banrasdr Photo (ภาพจากการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งเมื่อ 10 ก.พ. 2561)

คุยกับสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ถึงสถานการณ์ ทิศทางและความคาดวังต่อการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free Youth และ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ ‪1.หยุดคุกคามประชาชน‬ ‪2.ประกาศยุบสภา‬ และ ‪3.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ‬

สิรวิชญ์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา และประชาชนในครั้งนี้ยังคงมีลักษณะเป็นแฟลชม็อบ คำถามสำคัญคือพวกเขาจะเดินหน้าเคลื่อนไหวใหญ่ต่อไปอย่างไร หรือจะเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบที่เป็นแค่งานกิจกรรมอีเว้นท์รายครั้งต่อไป ข้อสงสัยอีกข้อคือประชาชนออกมาเยอะเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวอย่างขะมักขะเม้นของนักศึกษา หรือเป็นผลของการไม่พอใจรัฐบาลในช่วงนี้ ถ้าหลังจากนี้กระแสของรัฐบาลเงียบหายไป คนจะออกมาเยอะแบบครั้งนี้อีกหรือไม่

การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างจากการชุมนุมในอดีตที่มาจากการสื่อสารทางเดียว รอบนี้มีการสื่อสารมากกว่า 2 ทางไปอีก ซึ่งการสื่อสารส่วนใหญ่จะอยู่บนทวิตเตอร์ทิศทางการสื่อสารจึงไม่ค่อยเป็นเอกภาพ ที่ผ่านมาตนมองว่าทวิตเตอร์มีส่วนช่วยปั่นให้กระแสเรื่องรัฐบาลดังขึ้นมา แต่ไม่ได้ช่วยให้กิจกรรมการชุมนุมไปในทิศทางเดียวกันได้เลย ผู้จัดจึงต้องหาทางที่จะไม่ใช้ทวิตเตอร์เป็นหลักในการประท้วงอีกแล้ว ต้องหาเครื่องมืออื่นที่เป็นทิศทางหลักในการประชาสัมพันธ์ให้ได้

รูปแบบแบบแผนของทวิตเตอร์คือการสร้างไวรัลให้เร็วที่สุดโดยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การอาศัยรูปแบบแผนของทวิตเตอร์บางทีมันไม่ได้มีส่วนในการปลุกเร้า ซึ่งในการชุมนุมต้องการการปลุกเร้ามาก แต่รูปแบบแบบแผนของทวิตเตอร์ใช้การจิกกัด จากตอนแรกอาจจิกกัดฝ่ายตรงข้าม แต่สักพักพอเริ่มมีปัญหาก็เริ่มมาจิกกัดกันเองจนสุดท้ายก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย เท่าที่ตนฟังการปราศัยบนเวทีมองว่าผู้ปราศัยบางคนก็ปราศัยได้ดี แต่บางคนก็ยังใช้ภาษาที่ใช้ในทวิตเตอร์มาจิกกัดฝ่ายรัฐบาลอยู่

“อย่างน้อยการเคลื่อนไหวครั้งหน้าก็ควรที่จะหลุดออกจากโลกของทวิตเตอร์ให้ได้  ต้องไม่ใช่ทวิตเตอร์เป็นกรอบมโนทัศน์หลัก การใช้ทวิตเตอร์อาจต้องปรับปรุงดัดแปลงให้มีรูปแบบแบบแผนใหม่และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นให้มากขึ้น” สิรวิชญ์กล่าว

ต้องประสานงานและมองภาพรวม-เป้าหมายต้องสำเร็จในเวลาอันสั้น

สิรวิชญ์ แนะข้อเสนอแก่ขบวนการนักศึกษาว่า ขบวนการนักศึกษาต้องเริ่มประสานงานกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ แล้วกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เช่น ต้องการขับไล่รัฐบาลนี้ ต้องยุบสภา แต่ถ้ายังให้ความสนใจที่ขบวนการนักศึกษาหรือกลุ่มเยาวชนเป็นหลักสุดท้ายมันจะจำกัดอยู่แค่วงแคบๆ เท่านี้ อีกทั้งขบวนการนักศึกษายังจำเป็นที่จะต้องมองข้ามปัญหาของกลุ่มไปมองปัญหาภาพรวมก่อน เพราะถ้าหากยังไม่ก้าวข้ามไป การชุมนุมนี้จะกลายเป็นแค่กิจกรรมกิจกรรมหนึ่ง มันก็ไม่ต่างกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ผ่านมา

สิรวิชญ์ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเคลื่อนไหวต้องกำหนดระยะเวลาให้สั้นที่สุด และพยายามทำให้สำเร็จให้เร็วที่สุด เพราะถ้าหากทิ้งระยะเวลาไว้นานต่างกลุ่มก็มีต่างเป้าหมายจะทำให้ไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อเป้าหมายหลักได้อีกแล้ว ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาก็ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มกันยาวนาน เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วแต่ละกลุ่มก็แยกย้ายกันไป ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ให้เวลารัฐบาล 2 สัปดาห์ในการทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ดูเหมือนจะไม่มีแผนต่อไปว่าถ้าครบ 2 สัปดาห์แล้วจะเป็นอย่างไร การยกระดับที่ผู้จัดพูดถึงจะอยู่ในลักษณะไหน และภายใน 2 สัปดาห์นี้มีการรุกคืบถึงเป้าหมายในระดับใด

ผู้ชุมนุมต้องทำให้รัฐบาลรู้ว่าม็อบมีอำนาจต่อรองและสร้างมโนสำนึกแก่ประชาชน

สิรวิชญ์ ชี้ว่า รัฐบาลมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก และกำลังมองว่าทางผู้จัดการชุมนุมเป็นเพียงนักกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างความหวั่นใจให้แก่รัฐบาลได้มากนัก และคาดว่ารัฐบาลจะไม่ตอบสนองข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะตอนนี้รัฐบาลยังมีเสถียรภาพอยู่มาก ทางผู้ชุมนุมต้องหาวิธีอย่างไรก็ได้ให้รัฐบาลรู้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอำนาจต่อรองไม่ใช่แค่เป็นการจัดกิจกรรมกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น อาจต้องมุ่งเน้นไปที่การหาแนวร่วมในรัฐสภาไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านแต่รวมถึงฝ่ายรัฐบาลบางส่วนด้วย เพราะการยุบสภาต้องเกิดจากการที่นายกไม่มั่นใจเสียงในสภาหรือเสียงมีการปริ่มน้ำ แต่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรที่ทำให้รัฐบาลเห็นว่าพวกเขากำลังจะเสียหาย

“อย่างน้อยตอนนี้เราสร้างแรงกระเพื่อมไปให้ถึงรัฐบาล ตอนนี้กระแสการตอบรับของประชาชนดี แต่รัฐบาลยังมองว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้คุกคามประชาชนและยังเป็นกระบวนการทางกฏหมาย เราต้องทำยังไงต่อไปให้ประชาชนเห็นว่ากระบวนการที่รัฐบาลกกระทำเป็นกระบวนการทางกฏหมายที่ไม่ชอบธรรมให้ได้ อันนี้ฝากเป็นโจทย์ให้ทางผู้จัดไปคิดเพราะถ้ายังไปถึงจุดนั้นไม่ได้ รัฐบาลก็ยังคงลอยตัว ตอนนี้การคุกคามประชาชนของรัฐบาลเป็นไปตามกฏหมาย ไม่ใช่เกิดขึ้นโดย คสช. อีกแล้ว จะทำยังไงให้ในมโนสำนึกของประชาชนรู้สึกว่ามันผิด ยิ่งตอนนี้รัฐบาลแทบจะไม่มียางอายในการกระทำแบบนี้ เรายิ่งต้องทำให้เกิดมโนสำนึกแก่ประชาชนในวงกว้าง” สิรวิชญ์กล่าว

ไม่ว่าผลจะแพ้หรือชนะ สังคมจะเริ่มตระหนักว่ารัฐบาลชอบธรรมหรือไม่

สิรวิชญ์ มองถึงข้อดีของการชุมนุมในครั้งนี้ว่า การที่ประชาชนออกมาแสดงพลังเป็นเรื่องดี ถ้าชนะก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่เราได้ออกมาเปลี่ยนสังคม ออกมาต่อสู้ต่อการควบคุมอำนาจ แต่ถ้าแพ้ถือว่าอย่างน้อยก็เราได้ออกมาต้านทาน ไม่ให้บ้านเมืองถอยหลัง อย่างน้อยเราก็ไม่ได้ปล่อยให้ประเทศเป็นไปตามยถากรรม มันก็เป็นการปลุกกระแสให้เห็นความสำคัญของอนาคตประเทศชาติที่จะส่งผลต่อตนเอง ผลพวงที่เกี่ยวข้องกันจะทำให้คนเริ่มตระหนักว่ารัฐบาลนี้ควรจะมีความชอบธรรมต่อไปหรือไม่

“ตอนนี้ผมก็เอาใจช่วยเพราะคนออกมาเยอะ เราก็เคยเป็นส่วนหนึ่งที่เคยต่อต้านทั้งการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าอยากจะให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและลบข้อครหาจากฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นแค่กิจกรรมอีเว้นท์รายครั้ง เพื่อทำให้รัฐบาลรู้สึกสั่นคลอนและไม่มีความมั่นคงในอำนาจ เราต้องมาคิดว่าจะเซาะเสาหลักในอำนาจของรัฐบาลได้อย่างไร” สิรวิญช์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net