Skip to main content
sharethis

13 มิ.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 5 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,134 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน รวมรักษาหายสะสม 2,987 คน - รมว.วัฒนธรรม ให้กองถ่ายดูแลควบคุมอย่างเคร่งครัด - ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ช่วงที่ 4 ยกเลิกเคอร์ฟิว เริ่ม 23.00 น. วันที่ 14 มิ.ย. ส่วนกิจการกิจกรรม เช่น เปิดโรงเรียนขนาดเล็ก อบรม สัมมนา และให้ขายเครื่องดื่มในโรงแรม ร้านอาหาร มีผล 15 มิ.ย.นี้

13 มิ.ย. 2563 สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวัน ระบุว่าในประเทศไทยวันนี้ (13 มิ.ย.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย คัดกรองจากด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ไม่มีผู้ป่วยกลับบ้าน ยอดผู้ป่วยกลับบ้าน สะสม 2,987 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.31 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 89 ราย หรือร้อยละ 2.84 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,134 ราย

จากรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ทั้ง 5 ราย เป็นนักเรียน/นักศึกษา เพศชาย อายุระหว่าง 21-26 ปี  เดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำการตรวจคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ มีอาการเข้าข่ายเฝ้าระวัง (PUI) จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลพบเชื้อ ส่งผลให้ขณะนี้สถานการณ์ประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและได้เข้ารับการเฝ้าระวังในสถานที่รัฐจัดให้ ซึ่งไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศต่อเนื่องเป็นเวลา 19 วัน 

สำหรับการจัดอันดับประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด 19 ใน 184 ประเทศทั่วโลก ขององค์กร  GCI Global Advisory Council ด้วยการใช้ Global COVID-19 Index (GCI) โดยความร่วมมือของกระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (MOSTI) ประเทศมาเลเซีย และกลุ่ม Sunway เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยฟื้นตัวได้เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศออสเตรเลีย และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย คิดคะแนนจากการยืนยันต่อประชากรเทียบกับขนาดของแต่ละประเทศ สัดส่วนการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับขนาดประชากร และคะแนนดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHS) เพื่อประเมินความพร้อมของประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยได้มีมาตรการผ่อนปรนเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ คงเข้มการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรือเคหะสถาน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น 1-2 เมตร ไม่นำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก  หากมีการสวมเฟซชิลด์ควรสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าร่วมด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่แออัด มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก จำกัดระยะเวลาการใช้บริการในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นเวลาสั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ และลงทะเบียน เข้า-ออก ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เพื่อนำไปพัฒนากิจการให้มีความปลอดภัย และได้มาตรฐาน

รมว.วัฒนธรรม ให้กองถ่ายดูแลควบคุมอย่างเคร่งครัด หลังมีมาตรการผ่อนคลาย ป้องกันแพร่ COVID-19 ระลอก 2

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่4 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.) ว่า ศบค. มีมติผ่อนปรนกองถ่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ออกตามข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ระบุว่าการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เมื่อรวมคณะทำงานหน้าฉากและทุกแผนกมาแล้ว จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 150 คน ในกรณีรายการโทรทัศน์ที่มีผู้เข้าชม กำหนดจำนวนผู้ชมในห้องอัดรายการไม่เกิน 50 คน นอกจากนี้สามารถถ่ายทำฉากช่วงเวลากลางคืนได้ เนื่องจากปัจจุบันศบค.ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวแล้ว

“มาตรการผ่อนคลายดังกล่าวยังต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมหลักและมาตรการควบคุมเสริมสำหรับพื้นที่ถ่ายทำภาพยนตร์และวิดิทัศน์  โดยเจ้าของหรือผู้ควบคุมกองถ่ายต้องจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรครอบบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานและสามารถให้บริการได้อย่างเพียงพอ จัดให้มีจุดคัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด ต้องเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1- 2 เมตรในบริเวณทุกจุดที่มีที่นั่ง เช่น หน้ามอนิเตอร์ ห้องพักนักแสดงและทีมงาน แบ่งสัดส่วนพื้นที่การปฏิบัติงานของแต่ละฝ่ายที่ชัดเจนและหลีกเลี่ยงการพบปะหรือรวมกลุ่มกัน กำหนดให้ทุกคนในกองถ่ายสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการทำงาน จัดจุดรับประทานอาหาร  ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกสอง” รัฐมมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

นายอิทธิพล กล่าวว่า ขอให้ผู้ประกอบการทุกคนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและแพร่เชื้อโรคอย่างเคร่งครัด ให้สมาคมผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์โทรทัศน์และโฆษณา ช่วยกันดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัดด้วย

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกัน COVID-19 ช่วงที่ 4

วันที่ 12 มิ.ย.2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 10 โดยมีรายละเอียดว่า

โดยที่สมควรผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นช่วงที่ 4 ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายที่ดำเนินการมาแล้วเป็นลำดับ ทั้งนี้ ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัว โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า การเว้นระยะห่างทางสังคม และการยอมรับระบบติดตามผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

1.การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 14 มิ.ย.2563

2.การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา โดยให้โรงเรียนในระบบประเภทนานาชาติ สถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยที่มีการสอนหลักสูตรนานาชาติ โรงเรียนนอกระบบประเภทกวดวิชาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โรงเรียน ตชด. และโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน จัดการเรียนการสอน หรือการฝึกอบรมได้

3.การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้

(1) กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

ก.การจัดการประชุม อบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนต์ หรือในสถานที่อื่น ๆ ให้สามารถดำเนินการได้

ข.การบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มทั่วไป หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและได้ผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

ค.สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์เด็กพิเศษ สถานดูแลผู้สูงอายุ สถานที่บริการดูแล สถานที่พำนักอาศัย หรือสถานสงเคราะห์อื่นนที่จัดสวัสดิการให้แก่เด็ก หรือผู้สูงอายุ สามารถเปิดให้บริการแบบรายวันได้

ง.ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม

จ.การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ให้ดำเนินการได้โดยมีจำนวนผู้แสดง ผู้ร่วมรายการและคณะทำงานถ่ายทำรวมกันไม่เกินคราวละ 150 คน และมีผู้ชมไม่เกิน 50 คน

2.กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ

ก.การอบตัว อบสมุนไพร การอบไอน้ำแบบรวมหรือการนวดบริเวณใบหน้าในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้ดำเนินการได้ ยกเว้นสถานประกอบการอาบอบนวด

ข.การออกกำลังกายแบบกลุ่มในสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ หรือลานกีฬากลางแจ้ง ให้ดำเนินการได้

ค.สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้นการใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นการติดตั้งชั่วคราว หรือเครื่องเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสมาก เช่น บ้านบอล บ้านลม

ง.สนามกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา หรือเพื่อการเรียนการสอนในทุกประเภทกีฬา ให้เปิดดำเนินการได้ ยกเว้นสนามชนโค สนามชนไก่ สนามปลากัด หรือสนามการแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ยังไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินการได้

สถานที่ที่ได้รับการผ่อนคลายสามารถจัดให้มีการแข่งขันและถ่ายทอดโทรทัศน์ หรือถ่ายทอดผ่านสื่ออื่น ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีผู้ชมในสนามแข่งขัน

จ.ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้

4.การขนส่งสาธารณะข้ามเขตพื้นที่จังหวัด (รถโดยสารประจำทาง รถปรับอากาศ รถตู้ รถไฟ เรือ เครื่องบิน) ผู้ประกอบการต้องจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งให้มีการจอดพักรถ การเว้นที่นั่ง และการจำกัดจำนวนผู้โดยสารแต่ละเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค

5.การดำเนินดารตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เจ้าของ หรือผู้จัดการสถานที่ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม รวมทั้งเสนอให้มีคำสั่งปิดสถานที่ในความรับผิดชอบเป็นการชั่วคราวได้

6.ในกรณีที่มีปัญหาว่าสถานที่ หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนี้หรือไม่ ให้หารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นประธาน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 มิ.ย.2563
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข | สำนักข่าวไทย | Thai PBS



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net