Skip to main content
sharethis

Summary

  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงโควิด-19 “บ่อน” ได้กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญของไทยนับตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ เรื่อยมา คลัสเตอร์การระบาดใหญ่ที่มีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งไม่พูดถึงไม่ได้ ได้แก่ คลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี กับคลัสเตอร์บ่อนระยอง
  • ‘ไก่ชน’ การพนันพื้นบ้านที่หล่อเลี้ยงคนจำนวนมาก มีไก่ชนอยู่ในวงการ 100 ล้านตัว เป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ข้องเกี่ยวกับคนนับล้านชีวิต ช่วงโควิด-19 ได้รับความเสียหายร่วมพันล้านบาท จากการถูกปิดยาวนานเกือบ 1 ปี
  • สถานบันเทิงถือเป็นคลัสเตอร์การระบาดโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2563-2564 โดยเฉพาะ ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ’ ที่เกิดขึ้นซ้ำถึง 2 ครั้ง ท่ามกลางช่องโหว่กฎหมาย ประมาณกันว่าทั้งประเทศไทยมีสถานบริการที่สุ่มเสี่ยงต่อการหลบเลี่ยงกฎหมายมากกว่า 200,000 แห่ง ซึ่งยากที่จะนำมาตรการควบคุมโรคเข้าไปบังคับใช้ได้อย่างเห็นผล
  • ด้วยหลายสาเหตุ ‘สถานบริการ’ คือธุรกิจลำดับแรก ๆ ที่ถูกปิด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็อยู่ในลำดับท้าย ๆ ที่จะได้เปิด ส่งผลให้ธุรกิจกลางคืนล้มหายตายจากหรือไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบถึงคนทำงานภาคกลางคืน
  • หลังเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 จากสถานบันเทิง แม้รัฐจะพยายามยกระดับมาตรการในการควบคุมเข้มข้นขึ้น แต่กระนั้นกลับพบว่าได้มีการหันไปรวมตัวกันสังสรรค์หรือจัด “ปาร์ตี้” แทน ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายควบคุมโรคในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยพบการแพร่ระบาดในวงปาร์ตี้เหล่านี้มากมาย
  • คลัสเตอร์จัดปาร์ตี้ฉลองปิดเทอมของนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในเชียงใหม่ตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ในห้วงผ่อนคลายมาตรการ ก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ไปทั่วทั้งภาคเหนือ เนื่องจากที่นักศึกษาเหล่านี้ได้กลับบ้านไปพร้อมกับเชื้อโควิด-19 แพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดก่อนลามในชุมชน

 

1. บ่อน

คลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีเมื่อช่วงมีนาคม 2563 ถือเป็นการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกของไทย | ภาพการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565 จากอินสตราแกรม lumpineeboxingst (อ้างในสำนักข่าวประชาไท)

จากสนามมวยลุมพินีถึงบ่อนระยอง: ความเป็นองค์กรเร้นรัฐและระบบส่วย

วิกฤตการโรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 21 ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีการยืนยันว่ามีผู้ป่วยโรคระบาดลึกลับที่ในกาลต่อมาเรารู้จักกันในชื่อของ “COVID-19” ต่อจากนั้นไม่กี่วันในเดือนมกราคม 2563 รายงานว่าพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการแพร่เชื้อในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นพื้นที่แห่งที่ 2 ในโลกต่อจากเมืองอู่ฮั่น การระบาดในประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผู้ป่วยยืนยัน 40 รายเมื่อสิ้นเดือนซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นนักท่องเที่ยว ผู้สัมผัสนักท่องเที่ยว ยังไม่มีการระบาดภายในประเทศ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากช่วงกลางเดือนมีนาคมซึ่งมีการระบุถึงสาเหตุว่ามาจากหลายกลุ่มการแพร่เชื้อ โดยกลุ่มใหญ่สุดเกิดการระบาดจากคลัสเตอร์สนามมวยเวทีลุมพินี ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้เล่นพนันมวย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ได้ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มเกิน 100 คนต่อวันในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา และเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2563 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศก็สะสมแตะหลักพันเป็นครั้งแรก จนอาจกล่าวได้ว่า “คลัสเตอร์สนามมวยเวทีลุมพินี” ได้ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างครั้งแรกของไทย

กรณีนี้สะท้อนความหละหลวมของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกองทัพบกที่ดูแลสนามมวย ภายหลังแม้กองทัพจะแสดงความรับผิดชอบ แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งแสดงให้เห็นว่ากองทัพยังคงเป็น “องค์กรเร้นรัฐ” ที่ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้จากภายนอก

ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ก็เกิด “คลัสเตอร์บ่อนระยอง” และกระทบภาคตะวันออก ทั้งนี้บ่อนระยองเริ่มลักลอบเปิดให้เล่นทดแทนคาสิโนชายแดนที่หยุดให้บริการเพราะปิดด่าน  สะท้อนว่าตราบใดที่ยังคงมีอุปสงค์ (Demand) แต่อุปทาน (Supply) ไม่เพียงพอรองรับ ก็จะเป็นโอกาสทางการตลาดทำให้บ่อนเถื่อนพร้อมเข้ามาทดแทน แม้จะเป็นธุรกิจที่ยังผิดกฎหมาย

ทั้งยังเกิดเป็นคำถามต่อเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำไมปล่อยให้เปิดบ่อนเถื่อน หรือรู้เห็นเป็นใจกับเจ้าของบ่อน ในลักษณะของการที่เจ้าหน้าที่รัฐได้รับ “ส่วย” หรือผลประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจการพนัน เพื่อแลกกับการคุ้มครองให้กิจการดำเนินต่อไปได้

แน่นอนเจ้าของบ่อนก็ต้องเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นระดับหนึ่ง แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าสถานการพนันจะปลอดจากการถูกตำรวจจับกุมแต่อย่างใด กล่าวคือ เมื่อนโยบายจากเบื้องบนมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีแรงกดดันจากทางการเมือง บ่อนไม่ว่าใหญ่ขนาดไหนก็อาจจะถูกจับกุมได้เสมอ สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมี “คลัสเตอร์บ่อนวิ่งในชุมชน” ซึ่งในหลายจังหวัดการระบาดเชื่อมโยงกับบ่อนการพนัน เช่น กรณีคลัสเตอร์บ่อนไก่อ่างทอง คลัสเตอร์บ่อนโต๊ะสนุ้กมุกดาหาร คลัสเตอร์บ่อนวิ่งพิจิตร วงพนันบ่อนวิ่งสงขลา สนามชนกว่าง (สำหรับผู้แปล – แมลงชนิดหนึ่ง) ที่เชียงใหม่ โดยเฉพาะกับนครศรีธรรมราชซึ่งค่อนข้างพบบ่อยครั้ง ทั้งจากวงพนันไก่ชน บ่อนพนันกลางเมือง รวมทั้งบ่อนวิ่งในพื้นที่ต่าง ๆ

บ่อนที่กลายเป็นคลัสเตอร์ย่อยเหล่านี้ในกรณีที่เป็นบ่อนไพ่มักมีจุดร่วมคือ เป็นบ่อนเล็ก ๆ ที่คนนัดหมายกันเพื่อมาเล่นการพนันตามงานหรือสถานที่ต่าง ๆ เช่นในงานบวช งานศพ สวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา ตามคิวรถระหว่างรอผู้โดยสาร หรือในบ้าน ด้วยความที่เป็นคนรู้จักคุ้นเคยกัน ไม่ได้สวมแมสก์ป้องกัน และการเล่นพนันที่ใช้ในเวลายาวนาน เล่นกันข้ามวันข้ามคืนก็มี ทำให้มีการแพร่ระบาดง่ายกว่าสถานที่อื่น

ไก่ชน: การพนันพื้นบ้านที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชนบท

ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องกับการพนันไก่ชนนี้ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อกดดันให้รัฐผ่อนคลายนโยบายเข้มงวด | ที่มาภาพ: กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการพนันถูกกฎหมายที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทในวงกว้างที่สุดนั่นคือ “ไก่ชน” มีสนามชนไก่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศรวมแล้ว 700 กว่าแห่ง โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน มีไก่ชนอยู่ในตลาดประมาณ 100 ล้านตัว เป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ข้องเกี่ยวกับคนนับล้านคนซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งห้ามยาวนานเกือบ 1 ปี

ย้อนไปในช่วงที่ไม่สามารถเล่นพนันไก่ชนได้เนื่องจากมาตรการของกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งผลกระทบต่อคนในแวดวงนี้อย่างหนัก บางคนมีอาชีพเลี้ยงไก่ชนขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว หรือบ้างก็เลี้ยงไก่ชนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ มีการประเมินความเสียหายว่าน่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาท ผู้เลี้ยงไก่ชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ขณะที่ตลาดยังคงปิดตัว ไม่สามารถจำหน่ายได้ทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ

บ้านของคนเลี้ยงไก่ชนรายย่อยแหงหนึ่งใน จ.กาฬสินธุ์ | ที่มาภาพ: The Glocal

เสียงจากคนในแวดวงไก่ชนภาคอีสาน

ชายวัย 33 ผู้ประกอบการหอพักและเปิดค่ายไก่ชนในจังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน เล่าว่าปกติเป็นคนที่ชอบเล่นพนันประเภทต่าง ๆ อยู่แล้ว อย่างพนันบอล บาคาราออนไลน์ เมื่อก่อนทำงานที่กรุงเทพฯ พอย้ายกลับมาเปิดธุรกิจตัวเองที่บ้านเกิดก็เริ่มสนใจการชนไก่ เพราะมีเพื่อนกับคนรู้จักชนไก่กันอยู่แล้ว เลยเริ่มเข้าสู่วงการชนไก่ จนได้เปิดค่ายตีไก่ขนาดกลาง ๆ ร่วมกับญาติและเพื่อนสมัยเรียน

“..ในช่วงมีโควิด-19 สนามไก่ชนในจังหวัดปิดไปเยอะ โดยเฉพาะสนามใหญ่ ๆ ที่คนเข้าเยอะ ๆ คู่ชนไก่เดิมพันกันทีสูงเป็นหลักล้านต้องปิดยาวเลย ต้องเปลี่ยนไปแอบชนที่สนามเล็กที่อยู่ไกล ๆ ลับหูลับตาคน มักอยู่ตามชุมชนด้านนอกเมือง จับคู่ตีกันเองเงียบ ๆ เดิมพันกันภายในระหว่างคู่พนัน ไม่มีคนอื่นมาร่วมกองพนัน ทำให้เงินเดิมพันน้อยลง..”

ช่วงโควิด-19 ทำให้วงการไก่ชนกระทบมาก เพราะเงินเดิมพันบางคู่ถึงหลักล้านบาท มีคนเกี่ยวข้องเป็นร้อย ตั้งแต่ลูกจ้างสนาม ผู้จัดหรือโปรโมเตอร์ ค่ายไก่ชน คนเพาะเลี้ยงไก่ ได้รับผลกระทบกันหมด อาจเลี่ยงไปพนันกันทางออนไลน์บ้าง แต่ก็มีเป็นส่วนน้อย ชนไก่ไม่เหมือนพนันแบบอื่น..”

“..ลูกจ้างในธุรกิจไก่ตีส่วนมากไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ ค่ายของเราช่วงก่อนโควิดก็จ้างคนมาดูแลไก่ให้ แต่ช่วงโควิดไม่ได้จ้างไปพักใหญ่ ๆ ต้องดูแลไก่เอง แต่คนที่เราจ้างมาก็มีรายได้ทางอื่นอยู่แล้ว ดีที่ไก่ชนเราไม่ได้เยอะเลยดูแลเองได้ ตอนนี้กลับมาจ้างเหมือนเดิมแล้ว ค่าอาหาร ค่าดูแลต่าง ๆ ต้องใช้จ่ายตลอด ก็เลยต้องหาทางแอบเอาไก่ไปชนอย่างที่เล่าให้ฟังไป แม้ทางการจะห้าม” เขากล่าวทิ้งท้าย

ตัวอย่างสนามไก่ชนแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่เป็นสนามขนาดเล็กอยู่ห่างไกล ปกติเป็นสนามซ้อมไก่ชน แต่ช่วงโควิด-19 ก็ปรับมาใช้ในการตีไก่แข่งขันเดิมพัน | ที่มาภาพ: The Glocal

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการพนันซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ใต้ดินกลับเติบใหญ่ขยายตัว เพื่อรองรับตลาดที่ความต้องการของผู้คนมิได้หายตามไปด้วยในห้วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อคดาวน์ได้ทำให้ผู้เล่นหันเหเข้าสู่การพนันออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย บ่อนเถื่อนในประเทศกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งจนกลายเป็นคลัสเตอร์สำคัญในการแพร่กระจายของเชื้อ เมื่อถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายการปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจังถึงจะตามมา

สรุปรวมความได้ว่ากิจการที่ดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายย่อมเอื้อให้ภาครัฐสามารถเข้าไปใช้บังคับมาตรการควบคุมโรคได้อย่างเห็นผลดีกว่า ส่วนที่ยังเป็นจุดอ่อนคือ กิจการที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ในทางลับซึ่งมีผลให้กลไกรัฐไม่ทำงานอย่างที่ควรเป็น

“บ่อน” จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการทำความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยอันสลับซับซ้อน

2. บาร์

คลัสเตอร์ทองหล่อ: สถานบริการเลี่ยงกฎหมายกับวิถีนักเที่ยว เส้นบรรจบของชีวิตกลางคืน

ต้องยอมรับว่าการระบาดของ COVID-19 ที่เป็นคลัสเตอร์สถานบันเทิงได้ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อทั้งสองครั้งอันเป็นต้นตอการระบาดในระลอกที่ 1 และระลอกที่ 3 ของไทย (ครั้งที่ 1 ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ครั้งที่ 2 ช่วงเดือนมีนาคม 2564)

คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อครั้งที่ 1: ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกของประเทศไทย เกิดการระบาดจากกรณีงานเลี้ยงสังสรรค์ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อตั้งแต่วันที่ 12-19 มีนาคม 2563 โดยมีผู้ติดเชื้อยืนยัน 57 คน คาดว่าสาเหตุเริ่มจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีกลุ่มผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก ๆ ได้พบปะกลุ่มเพื่อนนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงที่มาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อช่วงนี้รวมกับคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีได้ทำให้เชื้อโควิด-19 กระจายไปยัง 41 จังหวัดทั่วประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อช่วงนี้ได้ทำให้ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วน เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ รวมถึงให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา สถานบันเทิง นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล งดจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก พร้อมกับการออกนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หลายจังหวัดเริ่มประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงมีการประกาศปิดพื้นที่เสี่ยง ในวันที่ 2 เมษายน 2563 จึงมีการประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักรหรือเคอร์ฟิว ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ห้ามเครื่องบินทุกประเทศและผู้โดยสารเข้าประเทศ

ก่อนการระบาดของคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ (และคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี) ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 59 ราย เสียชีวิตรวม 1 ราย ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่มีการคลายล็อกดาวน์ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 3,173 ราย และเสียชีวิตทั้งสิ้น 58 ราย

คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อครั้งที่ 2: ในปีต่อมาก็เกิดคลัสเตอร์จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อซ้ำอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2564 เช่นเดียวกัน คราวนี้เป็นข่าวฮือฮามากกว่าเดิม เนื่องจากมีบุคคลผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคมติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เช่น กรณีเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่เปิดเผยว่าได้เดินทางไปยังคริสตัล เอกซ์คูลซีพ คลับ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ซึ่งจากการสืบสวนโรคในภายหลังพบว่ากลุ่มนักเที่ยวในสถานบันเทิงย่านทองหล่อในวันนี้ (25 มีนาคม 2564) ทยอยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และต่อมานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเขาอ้างว่าติดจากคนใกล้ชิดที่ได้รับเชื้อมาการไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และอาจกล่าวได้ว่าคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อครั้งที่ 2 ในช่วงนี้เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่ 31 มีนาคม 2564 เป็นตันมา

ทั้งนี้ คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อครั้งที่ 2 เมื่อปี 2564 อยู่ในช่วงที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 โดยไม่มีการประกาศปิดสถานบริการยามค่ำคืนในวงกว้างรวมแล้ว 282 วัน (1 กรกฎาคม 2563-9 เมษายน 2564) โดยในระยะเวลาก่อนหน้านั้นยังไม่พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่าและสายพันธุ์เดลต้า เข้ามาระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทย โดยอาจกล่าวได้ว่าคลัสเตอร์ทองหล่อช่วงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นในการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่าในไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีอัตราการติดเชื้อได้รวดเร็วกว่าเชื้อแบบดั้งเดิม และการติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มผู้มีฐานะส่งผลให้มีการแพร่เชื้อไปในบุคคลหลายวงการ ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ นักร้อง นักแสดง ไปจนกระทั่งผู้ใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ

เสียงจากผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน

เจ้าของสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในพัทยา เล่าว่าสถานบันเทิงของเขาดำเนินกิจการมานานกว่า 10 ปี จากช่วงแรก ๆ ที่ทำรายได้เพียง 100,000-200,000 บาทต่อวัน ในช่วงปี 2560-2562 คือช่วงพีคสุด ทำรายได้ถึง 1,000,000 บาทต่อวัน ลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและเกาหลีที่เข้ามาในช่วงหลัง จากที่เมื่อก่อนคนรัสเซียจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของพัทยา

การระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มกระทบต่อกิจการของเขา จนรายได้เหลือหลักหมื่น ทำให้ต้องปิดร้านในระยะเวลาเดียวกับที่มีคำสั่งปิดสถานบันเทิงของรัฐบาลเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2563

ถึงแม้เป็นธุรกิจที่ดึงเม็ดเงินนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศมหาศาลในแต่ละปี รวมทั้งยังสร้างงานเป็นอย่างมาก แต่เขาก็รู้สึกน้อยใจ กล่าวเชิงตัดพ้อว่าผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืนแทบจะไม่สามารถส่งเสียงอะไรได้ และยอมรับว่าเสียใจที่ธุรกิจนี้ได้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดขึ้น

“..พวกผู้ประกอบการผับกลางคืนก็ไม่กล้าบ่น ไม่กล้าอะไร เรียกว่าละอายใจด้วย แล้วก็รู้สึกเสียใจ ต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดถ้าเกิดเปิดกิจการ..”

เจ้าของร้านเหล้าแห่งหนึ่งย่านสีลม เริ่มทำร้านเหล้ามาตั้งแต่ 2560 ย่านท่าเตียน และย้ายมาลงทุนที่สีลมจนเกิดโควิด-19 แม้จะมีการคุยกันเรื่องการปรับธุรกิจเป็นการขายอาหารแบบเดลิเวอรี่ แต่ไม่เหมาะสมหลายอย่าง หนึ่งคือร้านของเขาตั้งอยู่บนชั้นห้า ไรเดอร์ไม่อยากเดินขึ้นไป สองคืออาหารซิกเนเจอร์ของร้านควรทานตอนทำเสร็จทันที แต่การส่งอาหารทำให้เสียรสชาติ สามคือ เสียเปรียบเรื่องราคาอาหาร เพราะร้านเหล้ามีต้นทุนเปิดร้านสูง สี่คือ ถูกแอพจะหัก 30% ถ้าอยากให้คนเห็นร้านเยอะ ๆ ก็ต้องจ่ายเพิ่ม ถ้าทำโปรโมชั่นกำไรก็หายไปอีก

ร้านของเขาต้องปิดเป็นระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน ปกติร้านจ่ายค่าเช่าเดือนละ 230,000 บาท เจ้าของตึกลดค่าเช่าให้ 10% เหลือ 200,000 บาท ซึ่งเขาต้องจ่ายเงินก้อนนี้เปล่า ๆ เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน โดยเงินที่จ่ายค่าเช่าร้านส่วนหนึ่งมาจากเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อปรับปรุงร้าน มีบางส่วนไปยืมมา ทำเรื่องกู้ธนาคาร เขามองว่าวงการผู้ประกอบการก็เข้าใจเรื่องโรคระบาดดี คือปิดก็ได้ แต่การจัดการของรัฐนั้นกลับไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ในช่วงที่สถานการณ์ระบาดมีความตึงเครียด ‘สถานบันเทิง’ คือธุรกิจลำดับแรก ๆ ที่ถูกปิด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็อยู่ในลำดับท้ายๆ ที่จะได้เปิด

บทสรุปของการปิดสถานบริการยามค่ำคืนเป็นวงกว้างทั่วประเทศมีด้วยกัน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เริ่มเมื่อวันที่ 18 มีนาคม จนถึง 1 กรกฎาคม 2563 รวมระยะเวลา 105 วัน ครั้งที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 จนกระทั่งสถานการณ์ระบาดในประเทศไทยลดลงจึงมีการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ฯลฯ  ได้อีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 รวมระยะเวลาในการปิดสถานบริการยามค่ำคืนครั้งที่ 2 นานถึง 417 วัน นานถึงขนาดที่ว่ามีช่วงหนึ่งภาครัฐได้แนะนำให้สถานบันเทิงอย่างผับ บาร์ ปรับรูปแบบการให้บริการและขออนุญาตเปิดในรูปแบบร้านอาหารแทน

สถานบันเทิงในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ

ธุรกิจกลางคืนถือเป็นภาคการผลิตที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีการประมาณการว่าเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้มีสูงถึง 1.8-2.1 แสนล้านบาทต่อปี มีแรงงานในภาคกลางคืนอยู่ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 1.8-2 ล้านคน แต่จากสถานการณ์โควิดและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐมีต่อธุรกิจกลุ่มนี้โดยตรงได้สร้างความเสียหายสะสมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ปิดกิจการ ทั้งแบบชั่วคราว ไม่มีกำหนด และเป็นการถาวร พนักงานถูกเลิกจ้าง พักงาน หรือไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงเงินทดแทนกรณีว่างงาน ทำให้ขาดรายได้ ส่งผลกระทบต่อพนักงานเอง และหนักมากขึ้นหากเป็นคนส่งเสียครอบครัว อีกทั้งไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จากรัฐ จนต้องหันเหแนวทางในการหาเลี้ยงชีพใหม่

สถานการณ์โควิดไม่ได้แต่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกิจกลางคืนโดยตรง หากมองอีกมุมหนึ่งจะพบว่า “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ที่เกี่ยวพันกับวงการดนตรีก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ระบุว่าการระบาดของโรค COVID-19 ได้ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ของไทยต้องเผชิญการขาดทุนสุทธิรวมกว่า 1.74 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในสาขาดนตรี พบว่าการแสดงดนตรีสด การทัวร์คอนเสิร์ต และเทศกาลดนตรี ต่างสูญเสียรายได้จากการถูกยกเลิกและเลื่อนงานออกไปอย่างไม่มีกำหนดทั้งสิ้น ส่งผลให้ผู้ที่ทำงานสายสนับสนุน ผู้จัดการศิลปิน ผู้จัดงาน ค่ายเพลง ผู้จัดจำหน่ายสินค้าของศิลปิน ทีมงานเบื้องหลังได้รับผลกระทบถ้วนหน้า นำไปสู่ภาวะขาดแคลนผลงานเพลงใหม่ ๆ สู่ตลาด

เสียงจากคนทำงานในธุรกิจกลางคืน

หญิงอายุ 37 ปี พีอาร์ (งานชงเหล้าดูแลบริการลูกค้า) ในกรุงเทพฯ เล่าว่าก่อนโควิด-19 ส่วนใหญ่เธอทำงานที่ต่างประเทศเป็นหลัก อยู่ที่กรุงเทพบ้าง ตอนนั้นสะดวกในการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีอะไรเคร่งครัด เวลาทำงานอยู่ใกล้ลูกค้าก็ไม่ต้องคอยระวังตัวว่าจะป่วยรึเปล่า ถ้าทำงานต่างประเทศจะมีรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 บาท แต่ถ้าในกรุงเทพฯ ก็อาจจะไม่เกิน 3,000 บาทต่อวันเท่านั้น

“..พอช่วงที่เขาล็อคดาวน์สถานบันเทิงเราก็ไม่ได้ทำเลย ช่วงนั้นหนักเลย ต้องกลับไปขายของที่บ้าน รายได้ก็ลดลงเหลือวันละไม่ถึงพันบาท มีโครงการเยียวยาอะไรของรัฐบาลเราก็เอาหมด ถามว่ามันช่วยได้ไหม มันก็ช่วยได้นิดหน่อย พออยู่ได้ แต่ความรู้สึกมันเหมือนแค่เศษเงินมาก ๆ เราก็ยังต้องดิ้นรนเยอะมาก ลูกก็ยังเล็กด้วย เงินที่เก็บไว้ก็ต้องเอาออกมาใช้ดูแลครอบครัวหมดเลย จนไม่พอ เราก็ต้องไปกู้เงิน ไปยืมคนรู้จัก..”

เธอระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือพักชำระหนี้ บางคนต้องส่งรถ ส่งบ้าน แต่รายได้เขาลดลงมากกว่าครึ่ง มันก็ลำบาก หรืออย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ก็อยากให้รัฐช่วย คือเหมือนรัฐช่วยแต่ก็ช่วยน้อยมาก ๆ

ช่วงหลังเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงเธอพอกลับมาทำงานได้ ถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ทำงานได้แค่ในกรุงเทพฯ ยังไปทำงานที่ต่างประเทศเหมือนเดิมไม่ได้ และปัญหาหลัก ๆ คือเธอป่วยเป็นโควิด-19 บ่อยมาก เพราะยากที่จะป้องกันตนเอง เนื่องจากอาชีพของเธอต้องมีการใกล้ชิดกับลูกค้า ต้องกินดื่มด้วยกัน พอเธอป่วยก็ทำงานไม่ได้ รายได้ก็ลดลง ลูกค้าก็น้อยลงเพราะบางคนเขาก็ต้องเซฟตัวเองกับครอบครัว

หญิงวัย 24 ปี ชาวไทใหญ่ พนักงานร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งในอำเภอรอบนอกตัวเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าในช่วงการปิดสถานบันเทิงห้ามขายเหล้านั้น ร้านคาราโอเกะที่เธอทำงานต้องปิดเพื่อป้องกันโควิด-19 ตามการบังคับของราชการ แต่เจ้าของร้าน (สามีคนไทยกับภรรยาชาวไทใหญ่) ก็ปรับเปลี่ยนร้านไปขายพวกปิ้งย่าง-อาหารตามสั่ง เธอเองก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไรก็มาขอช่วยเจ้าของร้าน บางวันขายไม่ดีก็ไม่มีค่าจ้าง (น้อยกว่าตอนเป็นร้านคาราโอเกะ แต่ก็ได้เป็นรายวันเหมือนกัน) วันไหนขายดีก็มีค่าจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ แต่ก็เหมือนอยู่กินกับร้าน (มีอาหารให้ฟรี 2 มื้อ) ชีวิตช่วงนั้นลำบากมากแต่โชคยังดีที่แฟนของเธอทำงานรับจ้างทั่วไปซึ่งพอจะมีงานบ้าง ไม่เหมือนคนทำงานร้านเหล้าร้านคาราโอเกะที่ไม่สามารถเปิดร้านได้

“..เราทำงานกับพี่เขามาตลอด พี่เขาเลยให้เราอยู่ช่วยด้วยช่วงโควิด ส่วนคนอื่น ๆ ก็แยกย้ายกันไป ช่วงที่โควิดเริ่มซาลงเปิดร้านได้แล้วก็มีกลับมาบางส่วน บางส่วนก็หายไปเลย..”

เธอเล่าว่าร้านต้องปรับตัวไปขายปิ้งย่าง-อาหารตามสั่งอยู่พักหนึ่ง จากนั้นเริ่มขายเหล้าได้ และเพิ่งมาปี 2565 ที่กลับมาเปิดเป็นร้านคาราโอเกะอีกครั้งหนึ่ง เธอระบุด้วยว่าลูกค้าเริ่มกลับเข้าร้านตั้งแต่ขายปิ้งย่างและขายเหล้าไปด้วยได้เมื่อช่วงปี 2564 แต่พอเปิดคาราโอเกะเต็มตัวอีกครั้ง ทิปของเธอในแต่ละวันจะได้เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงปลายปี 2564 มีการเปิดเผยข้อมูลจากกลุ่มพนักงานบริการ จ.เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง ,กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร ,อุดรธานี, มุกดาหาร ,พัทยา, ภูเก็ต, กระบี่ และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งพบว่าคำสั่งปิดและเลื่อนเวลาเปิดสถานบริการของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อพนักงานบริการและครอบครัวที่ต่อเนื่องยาวนาน คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน พนักงานบริการไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงเงินว่างงาน อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการก่อนจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดแต่ไม่เยียวยา รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน สภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด เพราะสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะได้กลับไปทำงานอีกเมื่อไร ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลสร้างผลกระทบทางจิตใจอย่างหนัก พนักงานบริการประสบปัญหาเงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน ทางออกไม่มี ไม่ได้เงินเยียวยา เกิดผลกระทบหนักมากขึ้นต่อพนักงานบริการที่เป็นหลักครอบครัว เป็นแม่ หางานใหม่ไม่ได้เพราะภาคธุรกิจอื่น ๆ ก็ปิดตัวลง พนักงานบริการจำนวนมากต้องกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด บางคนทำงานออนไลน์ (ขายบริการทางเพศ) แต่ไม่มีใครอยากพูดเพราะกลัวตำรวจมักล่อซื้อ แต่สำหรับคนสูงอายุที่เคยทำงานตามบาร์ พอปิดตัวก็ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ ต้องอาศัยข้าวของหรืออาหารที่มีคนแจกมาเก็บตุนไว้เพื่ออยู่รอดไปวัน ๆ และพยายามใช้จ่ายให้น้อยที่สุด สำหรับแรงงานที่ทำงานในภาคธุรกิจกลางคืนนอกจากผลกระทบเรื่องไม่มีงานทำและขาดรายได้แล้ว ก็ยังพบว่าพวกเขายังแบกรับความรู้สึกที่ถูกตีตราว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดในระลอกที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง หลายต่อหลายคน “รู้สึกแย่” ที่คนบางส่วนในสังคมโยนความผิดให้คนในสถานบริการภาคกลางคืนว่าเป็นตัวการในการแพร่เชื้อ

3. ปาร์ตี้

ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ว่าด้วยการลักลอบจัดปารตี้เชิงมั่วสุมในช่วงโควิด

ภายใต้ภาวะโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ พบว่ายังมีการจัดปาร์ตี้และมั่วสุมเป็นข่าวคราวอยู่แทบทุกภูมิภาคของประเทศ | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

หลังการเกิดคลัสเตอร์สถานบันเทิงขึ้นมากมายทำให้มีมาตรการปิดสถานบันเทิงถูกยกระดับให้เข้มงวด และเอาจริงเอาจังมากขึ้นในทุกพื้นที่ แต่ก็กลับพบว่าได้มีการรวมตัวกันสังสรรค์หรือจัด “ปาร์ตี้” อันถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมโรคในช่วงการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งพบการแพร่ระบาดในวงปาร์ตี้เหล่านี้อยู่เป็นระยะ ตัวอย่างเช่น ย้อนกลับไปก่อนการเกิดคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทางหล่อเมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 ได้เกิด “คลัสเตอร์ปาร์ตี้ดีเจมะตูม” ขึ้นก่อนในเดือนมกราคม 2564 จากการจัดงานวันเกิดบนชั้นดาดฟ้าโรงแรมบันยันทรี กรุงเทพฯ โดยมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้ถึง 26 คน ตามด้วยอีกหลายกรณี ซึ่งยังไม่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ จากนั้นหลังการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมาถึงสามารถพบปรากฏการณ์ทำนองนี้ได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ของประเทศ ตัวอย่างเช่นที่สงขลา ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 มีการจับกุมวัยรุ่นชายหญิงได้จำนวน 48 รายที่จัดปาร์ตี้ริมสระน้ำที่พักหรู เดอะเลกเฮาส์ เกาะยอ ภายหลังพบผู้ติดเชื้อจำนวน 5 ราย โดยคลัสเตอร์ปาร์ตี้ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุดครั้งหนึ่งมาจากการจัดงานวันเกิดในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้อย่างน้อย 99 คน ส่งผลทำให้การท่องเที่ยวบนเกาะซบเซาลงอย่างมาก ในเดือนสิงหาคม 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่พบคลัสเตอร์ใหม่ที่ดีฮัทรีสอร์ท รวมโชค ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เป็นเพื่อนกัน 4 คน ไม่รายงานตัว ไม่กักตัว และจัดปาร์ตี้โดยเรียกเด็กเอ็นมาให้บริการ 4 คน ในจำนวนนี้พบผู้ติดเชื้อถึง 6 คน เดือนกันยายน 2564 ตำรวจชุดสืบสวนจังหวัดระยองแถลงผลการจับกุมกลุ่มวัยรุ่นมั่วสุมเสพยาเสพติดในบ้านสวนพูลวิลล่า สามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 39 ราย โดยส่วนใหญ่รู้จักกันในสถานที่กักกันโรค และมีการนัดหมายกันว่าหลังพ้นจากการกักตัวจะจัดปาร์ตี้ฉลองวันเกิดย้อนหลังให้กับเพื่อนในกลุ่ม ช่วงเดือนตุลาคม 2564 พื้นที่สถานีตำรวจภูธรหนองแค จังหวัดสระบุรี มีการจับกุมกลุ่มวัยรุ่นที่จัดงานปาร์ตี้กันมากกว่า 220 คน โดยอ้างว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดไว้ให้ปิดได้ไม่เกิน 22.00 น. และพบบางส่วนมียาเสพติดในครอบครอง

การจัดปาร์ตี้เช่นนี้ได้กลายเป็นคลัสเตอร์ย่อย ๆ ขึ้นมาในหลายจังหวัด แทนที่คลัสเตอร์สถานบันเทิงที่ถูกสั่งปิดเพื่อควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดในช่วงที่ประเทศไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อสูง

ปาร์ตี้ฉลองปิดเทอมใหญ่ที่เชียงใหม่: การเดินทางของเชื้อไวรัสจากเมืองสู่ชนบท

คลัสเตอร์สถานบันเทิงเชียงใหม่มีการระบาดที่สำคัญ 2 ช่วง คือ การระบาดในช่วงปลายปี 2563 ต้นตอมาจากผู้ติดเชื้อที่ทำงานในสถานบันเทิงประเทศเพื่อนบ้านแล้วลักลอบกลับเข้าประเทศ รวมถึงผู้ติดเชื้อจากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ที่มาท่องเที่ยวและฉลองเทศกาลรับปีใหม่ในช่วงปลายปี 2563 และการระบาดที่มีจุดเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 มีความเชื่อมโยงกับนักเที่ยวจากกรุงเทพฯ (ทั้ง 2 ช่วงเวลาอยู่ในระยะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของประเทศไทย)

คลัสเตอร์สถานบันเทิงเชียงใหม่ระลอกแรก ๆ ช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 ถือเป็นช่วงแรกที่เชียงใหม่เกิดการระบาดของ COVID-19 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงเป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ) โดยมีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในประเทศเพื่อนบ้าน โดยคนไทยที่ข้ามไปทำงานที่สถานบันเทิงในโรงแรม 1G1 จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้ติดเชื้อโควิด แล้วนำมาแพร่ระบาดในสถานบันเทิงในเชียงใหม่

การระบาดเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เที่ยวสถานบันเทิงเชียงใหม่อย่างเงียบ ๆ ในวงจำกัดมาจนถึงช่วงต้นปี 2564 จึงเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้ง เมื่อมีการยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 2 ราย จากการสืบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยรายหนึ่งมีประวัติไปสถานบันเทิงย่านนิมมานเหมินทร์ อย่างร้านวอร์มอัพ คาเฟ่ และร้านพริตตี้คลับ เอ็กซ์คลูซีฟ ส่วนผู้ติดเชื้ออีกรายเป็นชาวไทใหญ่ที่ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟร้านวอร์มอัพ คาเฟ่ ต่อมาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จึงมีคำสั่งปิดสถานบันเทิง 5 แห่ง 3 วัน ในครั้งนั้นสถิติผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงเชียงใหม่ทั้งหมดพบว่ามีทั้งสิ้น 23 ราย โดยยอดของผู้ติดเชื้อหยุดไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยอนุญาตให้สถานบันเทิงกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการผ่อนปรนในระยะสั้น ๆ เท่านั้น ก่อนประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการระบาดในระลอกที่ 3 เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ที่ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

คลัสเตอร์ฉลองปิดเทอมใหญ่ในระลอกที่สาม การระบาดใหญ่หนนี้ก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 นับแต่มีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 เป็นครั้งแรกในรอบ 83 วัน จำนวน 4 ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และมีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ จากนั้นก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยอดจากหลักสิบต่อวันกลายเป็นหลักร้อย จนต้องปรับเปลี่ยนมาตรการให้สถานบริการ รวมถึงสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ปิดตั้งแต่เวลา 23.00 น.เป็นต้นไป ส่วนร้านอาหารสามารถให้ลูกค้านั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้แค่เวลา 23.00 น. พร้อมสั่งปิดร้านวอร์มอัพ คาเฟ่, ร้านกราวน์, ร้านลิฟวิ่งแมชชีน, ร้านดีซีเชียงใหม่, ร้านท่าช้าง คาเฟ่, ร้านอินฟินิตี้คลับ, ร้านพริตตี้คลับ เอ็กซ์คลูซีฟ และร้านทูไนท์ คาเฟ่ชั่วคราว เป็นเวลา 14 วัน เพราะเป็นร้านที่ปรากฏในไทม์ไลน์ที่ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าได้เข้าใช้บริการ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณลานประเสริฐแลนด์ และย่านนิมมาน โดยผู้ติดเชื้อตลอดทั้งเดือนเมษายน 2564 รวมแล้วมากถึง 3,575 รายเลยทีเดียว ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ติดเชื้อในระลอกนี้เป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและผู้ใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่

จากการตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อหลายรายในช่วงดังกล่าวมีข้อสังเกตว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาได้เข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ปิด เช่น ระหว่าง 00.00-02.00 น. ช่วง 02.00-04.00 น. เวลา 00.30-02.00 น. เป็นต้น ทั้งที่ร้านเหล่านี้เปิดให้บริการได้ถึงเวลา 00.00 น.เท่านั้น (หากไม่ได้รับใบอนุญาตสถานบริการ) ในที่นี้บางร้านมีประวัติเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการระบาดในสองระลอกแรก แต่กลับไม่ปรากฏว่าเคยโดนดำเนินคดีแต่อย่างใด

สถานการณ์โควิดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างในตอนนั้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คงต้องยอมรับความจริงว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ไม่ว่าเป็นการปล่อยให้มีการลักลอบข้ามแดน ความไม่เข้มงวดในการคัดกรองคนเข้าจังหวัด ตลอดจนการยอมให้สถานบันเทิงเปิดเกินเวลา

ทั้งนี้การระบาดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาในเชียงใหม่ที่นัดปาร์ตี้ฉลองปิดเทอมตามสถานบันเทิงต่าง ๆ ก่อนจะพากันกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ส่งผลให้โควิด-19 ลุกลามไปทั่วภาคเหนือจนครบ 17 จังหวัด ช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 จากการคัดกรองของโรงพยาบาลชุมชนในแต่ละอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีการกระจายตัวของเชื้อโควิด-19 ไปยังอำเภอรอบนอกด้วย เกิดปรากฏการณ์ระบาดทั้งในเขตเมืองสู่ชนบทตั้งแต่พื้นราบถึงยอดดอย ทั้งที่ก่อนหน้านี้แทบที่จะไม่มีการระบาดในพื้นที่เหล่านั้นเลย

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “บ่อน บาร์ ปารตี้” ธุรกิจกลุ่มนี้ (ร้านเหล้า ผับ บาร์ คลับ เลาจน์ สถานบันเทิง อาบอบนวด คาราโอเกะ สนามม้า สนามมวย บ่อนไก่ บ่อนไพ่ หวยใต้ดิน ฯลฯ) ทั้งที่เผยโฉมอยู่บนดินและซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ที่แม้จะมีการตั้งคำถามเชิงศีลธรรมถึงความเหมาะสม แต่ก็ได้สร้างเม็ดเงินให้แก่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาลหลายแสนล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานไม่ว่าในหรือนอกระบบรวมกันหลักหลายล้านคน และเป็นห่วงโซ่ผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากมาย จนเรียกได้ว่าเป็น “ปิศาจที่จำเป็น” ของสังคมไทย

แม้ยามสถานการณ์ปกติ ปีศาจเหล่านี้จะวนเวียนอยู่รอบตัวเรา ทว่ายังไม่ทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวได้เท่ากับตอนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งธุรกิจจำพวกนี้ถือเป็นต้นตอของหลาย ๆ คลัสเตอร์ใหญ่ ช่วยเผยให้เห็นถึงอคติที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจผู้คน และการตีตราแบบเหมารวมของสังคมได้พอสมควร นำมาซึ่งการถูกเลือกปฏิบัติจากหลายมาตรการของภาครัฐอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน.

 

รายงานข่าวเจาะชิ้นนี้เป็นทั้งผลลัพธ์และต่อยอดจากการศึกษา เรื่อง “บ่อน บาร์ ปาร์ตี้: เขตอโคจร อิทธิพล อำนาจ และการควบคุมโรค” โดยณัฐกร วิทิตานนท์และคณะ ภายใต้โครงการวิจัย “โควิด-19 กับสังคมไทย: บันทึกวิกฤตและประสบการณ์การรับมือไวรัสโคโรนา” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ศมส.) ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คำว่า “บ่อน บาร์ ปาร์ตี้” ในชื่อของรายงานชิ้นนี้มาจากความคิดของนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ผู้เขียนและคณะจึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net