Skip to main content
sharethis

กลุ่มขับเคลื่อนบำนาญผู้สูงวัยจังหวัดเชียงใหม่และประชาชนประมาณ 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอขึ้นเบี้ยยังชีพจาก 600 บาท เป็น 3,000 บาท ชี้ไม่พอดำรงชีพ ทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่ ระบุจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนดีกว่าชิมช้อปใช้ที่ให้ซื้อสินค้าของกลุ่มนายทุน ไม่อาจกระจายสู่ท้องถิ่น

 

20 ธ.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มขับเคลื่อนบำนาญผู้สูงวัยจังหวัดเชียงใหม่และประชาชนประมาณ 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่าน คมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดือนละ 600 บาทเป็นเดือนละ 3000 บาท เนื่องจากปัจจุบันนี้รัฐบาลได้ให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท หรือเพียงวันละ 20 บาท ซึ่งน้อยเกินไป ไม่พอเพียงต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ

สมเพชร วงศ์บุญชา ตัวแทนกลุ่มขับเคลื่อนบำนาญผู้สูงวัยจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า รองผู้ว่าฯ ได้ระบุว่าจะรีบทำความเห็นเพิ่มเติมและเรียนไปที่นายกรัฐมนตรีโดยตรง

สมเพชรยังกล่าวว่า เบี้ยยังชีพที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพนี้ทำให้ผู้สูงอายุอดอยาก และบางส่วนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ถูกสังคมทอดทิ้ง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีงบประมาณมหาศาลถึง 3.2 ล้านล้านบาท แต่กลับไม่จัดสรรให้ผู้สูงอายุ งบประมารเหล่านี้มาจากภาษีอากรของประชาชน และผู้สูงอายุก็คือผู้ที่ได้ทำงานและเสียภาษีให้กับสังคมมาโดยตลอด ถ้าใช้แค่ 1% ของภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถจ่ายเบี้ยบำนาญได้อย่างสบาย 3,000 บาท

ตัวแทนกลุ่มขับเคลื่อนบำนาญผู้สูงวัยจังหวัดเชียงใหม่ยังชี้ว่า รู้สึกผิดหวังมากกับการหาเสียงของพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคหาเสียงเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐซึ่งหาเสียงไว้ที่ 1,000 บาท แต่ยังไม่มีการขยับขึ้นหลังจากได้บริหารงาน หรือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติซึ่งหาเสียงไว้ที่ 3,000 บาท สองพรรคนี้ก็ยังเงียบอยู่ สะท้อนว่าเป็นแค่การหาเสียงแต่กลับไม่ทำอะไรให้เป็นรูปธรรม

"เงินที่เพิ่มขึ้นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง เมื่อได้รับแล้วก็จะได้นำไปจับจ่ายใช้สอยเศรษฐกิจชุมชน ดีกว่าชิมช้อปใช้ เพราะชิมช้อปใช้ถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าของกลุ่มนายทุน เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส ซึ่งไม่สามารถกระจายไปสู่ท้องถิ่น และสิ่งที่เราเรียกร้องจะเป็นฐานไปสู่บำนาญถ้วนหน้าในอนาคต" สมเพชรระบุ

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net